“...นี่คือคดีความทางการเมืองสำคัญ ที่กำลังเดินทางมาถึง ‘จุดไคลแม็กซ์’ โดยมีตัวอย่างให้เห็นกันไปแล้วสำหรับคดีชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. ที่แกนนำต้องเข้าไปติดคุกติดตาราง ด้วยข้อเท็จจริงเหล่านี้ อาจเป็นเหตุผลบางส่วนให้ ‘ตู่-จตุพร’ ตัดสินใจลงบนท้องถนนอีกครั้ง ก็เป็นไปได้…”
......................................................
กำลังเป็นสิ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างร้อนแรง!
สำหรับ ‘ม็อบไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย’ ที่นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตามรหัส 4/4/4 เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ในสวนสันติอัมพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม โดยมีแนวร่วมเป็นอดีตแกนนำพันธมิตรฯ และบุคคลสาธารณะในอดีตมาร่วมจำนวนมาก
โดยมีเป้าหมายใหญ่ขับไล่ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกจากตำแหน่ง ถึงกับออกโรงประกาศว่าเป็น ‘ภัยคุกคามของชาติ’ พร้อมกับระบุว่า “ใครก็ได้ในแผ่นดินนี้ที่ไม่ พล.อ.ประยุทธ์” ย่อมมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้?
นายจตุพร ยังนัดชุมนุมม็อบนี้อย่างต่อเนื่อง เวลา 16.00 น. ทุกวันเวลาเดิม โดยประเดิมเริ่มต้นในวันที่ 5 เม.ย. และวันที่ 7 เม.ย. 2564 โดยงดชุมนุมในวันที่ 6 เม.ย. เนื่องจากมีแนวร่วมจัดงานเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ส่วนจะยืดเยื้อหลังจากนี้อีกหรือไม่ ต้องรอฉันทามติจากประชาชนก่อน (อ่านประกอบ : ชุมนุมทุกวัน 4 โมง! 'จตุพร'ลั่นนายกฯใครก็ได้ที่ไม่ใช่'บิ๊กตู่'-ชี้ภัยคุกคามชาติ)
สำหรับบรรดาแกนนำ ‘ม็อบไทยไม่ทนฯ’ มีคีย์หลักคือ นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธาน นปช. อย่างที่ทราบไปแล้ว ที่เหลือประกอบด้วย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์เสรีภาพประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง (ไบรท์) แกนนำม็อบราษฎรนนทบุรี นายการุณ ใสงาม อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ ปชป. และอดีต ส.ว. พ.ท. แพทย์หญิง กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี แกนนำเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ - เป็นแนวร่วม พธม. นายศักดิ์ณรงค์ มงคล รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และหัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน ม.รังสิต นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของพยาบาลอาสาที่เสียชีวิตภายในวัดปทุมวนารามเมื่อปี 2553 และนายศุวิช สุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ (อ้างอิงข้อมูลจาก บีบีซีไทย : https://www.bbc.com/thai/thailand-56629540)
การเปิดหน้าชนของ ‘ตู่-จตุพร’ ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากรอยร้าวลึกระหว่างแกนนำ นปช. ฝ่าย ‘เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ และฝ่ายนายจตุพร เหมือนที่เขาให้สัมภาษณ์ว่าตอนนี้แบ่งออกเป็น ‘ฝั่งแคราย’ และ ‘ฝั่งรามอินทรา 40’
ส่วนสาเหตุการออกมานำม็อบของนายจตุพรคราวนี้ ยังคงเป็นที่สับสนของหลายคน เพราะท่าทีก่อนหน้านี้ของนายจตุพร หลังพ้นคุกคดีหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2560 ก็เก็บตัวเงียบ ไม่ค่อยวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองมากนัก แตะแค่ผิวเผิน และยังเป็นส่วนหนึ่งในแนวร่วม ‘จิตอาสา’ ด้วยซ้ำ?
แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ‘ตู่-จตุพร’ ยังคงเหลือคดีความสำคัญที่ต้องต่อสู้ในชั้นศาลอยู่?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า หากยังนับคดีทางการเมืองที่เหลืออยู่ในชั้นการพิจารณาคดีของศาล มีอย่างน้อย 2 คดีสำคัญ (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ได้แก่
1.คดีก่อการร้าย และฝ่าฝืนข้อกำหนดในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อปี 2553 ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 คดีหมายเลขดำที่ อ.2542/2553 โดยศาลอาญา (ชั้นต้น) พิพากษายกฟ้อง เมื่อปี 2562 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์
คดีนี้พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำ นปช. ได้แก่ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ น.พ.เหวง โตจิราการ นายการุณ โหสกุล กับพวกซึ่งเป็นแนวร่วม นปช. รวม 24 คนเป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินและก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์วันที่ 28 ก.พ.- 20 พ.ค. 2553
2.คดีบุกบ้านสี่เสาเทศวร์ หมายเลขดำที่ อ.2799/2557 มีพนักงานอัยการคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายศราวุธ หลงเส็ง ผู้ชุมนุม นปช. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 215, 216
โดยคดีนี้นายจตุพร ถูกสั่งฟ้องเป็นสำนวนที่ 2 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเห็นควรสั่งฟ้อง แต่อัยการแผนกคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้อง อย่างไรก็ดีตำรวจมีความเห็นแย้งเห็นควรสั่งฟ้อง ขณะที่อัยการสูงสุดขณะนั้นเป็นผู้ชี้ขาดให้สั่งฟ้องตามความเห็นแย้งดังกล่าว อย่างไรก็ดีพนักงานอัยการได้แยกสำนวนออกเป็น 2 สำนวน
สำหรับกรณีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง สำหรับสำนวนคดีที่สองนี้ อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2557 ภายหลังจากนายจตุพร ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พ้นสมัยประชุมสภา
ก่อนหน้านี้คดีสำนวนแรก หมายเลขดำ อ3531/2552 พนักงานอัยการได้ฟ้องแกนนำ นปช. และผู้ชุมนุมรวม 7 ราย ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกนายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. คนละ 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา ไปแล้ว
นี่คือคดีความทางการเมืองสำคัญ ที่กำลังเดินทางมาถึง ‘จุดไคลแม็กซ์’ โดยมีตัวอย่างให้เห็นกันไปแล้วสำหรับคดีชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. ที่แกนนำต้องเข้าไปติดคุกติดตาราง
ด้วยข้อเท็จจริงเหล่านี้ อาจเป็นเหตุผลบางส่วนให้ ‘ตู่-จตุพร’ ตัดสินใจลงบนท้องถนนอีกครั้ง ก็เป็นไปได้?
อ่านประกอบ : ชวนทุกฝ่ายไม่แบ่งสี! ‘พิภพ ธงไชย’ร่วม‘ตู่ จตุพร’นัดจัดกิจกรรมไล่นายกฯ 4 เม.ย.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage