"....สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า บริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) จํากัด และ นางอรัญญา อุปัติสิงห์ เป็น 2 ใน 4 กลุ่มบุคคลที่อ้างสิทธิต่อกรมศุลกากร เพื่อขอคืนไม้พะยูงของกลางด้วย และยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า นางอรัญญา อุปัติสิงห์ และ บริษัท ที.แอล เอ็นเตอร์ไพรส์ มีสถานะเป็นเพียง "ผู้รับจ้างขนไม้" เข้ามายังประเทศไทย ไม่ใช่ "ผู้ว่าจ้าง" ที่น่าจะมีสถานะเป็นเจ้าของไม้ตัวจริงมากกว่า แต่ทำไมถึงได้ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ในการครอบครองไม้พะยูงของกลางจำนวนนี้ด้วย?..."
................
ประเด็นตรวจสอบกรณีไม้พะยูงจำนวนกว่า 11 ตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 1,664 ท่อน 155 ลูกบาศก์เมตร มูลค่าหลายร้อยล้านบาท ที่อ้างว่าถูกนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และถูกยึดไว้ที่สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง (ด่านลาดกระบัง) เมื่อปี พ.ศ.2549 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการนำไม้ดังกล่าวส่งคืนให้กับ สปป.ลาวแต่อย่างใด ทั้งที่เมื่อปี 2556 กระทรวงการต่างประเทศได้มีมติเตรียมจะคืนไม้ของกลางทั้งหมดให้กับรัฐบาล สปป.ลาว เรียบร้อยแล้ว ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
กลายมาเป็นประเด็นร้อนที่อยู่ในความสนใจของสังคม เมื่อปรากฎข่าวว่า กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก.) ได้ทำการจับกุมตัวนายสุรเดช อัคราช อายุ 56 ปี ผู้อำนวยการสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.มุกดาหาร และน.ส.กชพรรณ แสงวิรุณ หรือ น.ส.ทิพย์เกษร แสงวิรุณทร อายุ 27 ปี จากการเรียกรับสินบนนักค้าไม้ชาวลาว เป็นเงิน 2 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกการคืนของกลางไม้พะยูง จับกุมได้ที่ร้านกาแฟใกล้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.มุกดาหาร พร้อมของกลางเงินสด 2 ล้านบาท และโทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง
ในระหว่างการแถลงข่าวผลการจับกุมตัว พล.ต.ต.ปัญญา ปิ่นสุข รอง ผบช.ก. ระบุว่า คดีนี้เริ่มจากเมื่อปี 2549 ตำรวจป่าไม้ได้ตรวจยึดไม้พะยูง 11 ตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ตรวจสอบพบว่า ไม้ดังกล่าวถูกสวมเป็นไม้ต่างแดน และใช้เอกสารผ่านแดนเป็นเอกสารปลอม จึงจับกุมฐานมีไม้และครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีการดำเนินคดีใช้เอกสารปลอมที่ จ.มุกดาหาร ส่วนคดียึดไม้ อัยการสั่งไม่ฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ศาลฎีกาจึงสั่งให้คืนไม้ของกลางกับบริษัทผู้เสียหาย แต่เนื่องจากเป็นไม้ของประเทศลาว จึงมีผู้แจ้งสิทธิ์จากลาวเข้ามาหลายราย
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลสำคัญว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายคำสะไหว พมมะจัน อายุ 51 ปี นักค้าไม้ชาวลาว เป็นตัวแทนบริษัท Phongsavanh Wood Industry อ้างเป็นเจ้าของสิทธิ์ไม้พะยูงดังกล่าว มาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน บก.ปปป. ให้ดำเนินคดีนายสุรเดช ที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมไม้ดังกล่าวในขณะนั้น ได้ติดต่อผู้เสียหายเพื่อขอรับเงิน 2 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการส่งคืนไม้ และนายสุรเดช นัดรับเงินที่ จ.มุกดาหาร ผู้เสียหายจึงแจ้งชุดจับกุม ร่วมกันนำเงินสด 2 ล้านบาท ทำตำหนิไว้บนธนบัตร ใส่ถุงพลาสติกหูหิ้วนำไปให้นายสุรเดช ตามสถานที่นัดหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่ร่วมสังเกตการณ์กระทั่งพบนายสุรเดช พูดคุยกับผู้เสียหายก่อนจะเรียก น.ส.กชพรรณ เข้าไปรับเงินจากผู้เสียหายที่จอดรถรออยู่หน้าร้านกาแฟ ตำรวจจึงแสดงตัวจับกุม
(อ่านประกอบ : รวบตัวพร้อมเงินสด2ล.! บช.ก.จับ ผอ.สำนักทรัพยากรฯ มุกดาหาร เรียกสินบนคืนไม้พะยูง600ล.)
ขณะที่ในการแถลงข่าวดังกล่าว ได้มีการเผยแพร่แผนผังคดีที่มาที่ไปไม้พะยูงของกลางเป็นทางการด้วย
สำนักข่าวอิศรา แกะรอยข้อมูลสำคัญที่ปรากฎอยู่ในแผนผังคดีดังกล่าวมานำเสนอ ณ ที่นี้
@ ช่วงเวลา
เกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่ปี 2549-2550 พื้นที่เกิดเหตุมีทั้งใน สปป.ลาว และในประเทศไทย
@เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาว
-ในช่วงปี 2549 มีการตัดไม้และส่งไปยังเจ้าหน้าที่ป่าไม้แขวงคำม่วน หลังจากนั้นมีการส่งไม้ไปยังโรงไม้พงสะหวันแขวงสะหวันนะเขต จากนั้นมีการนำไม้ผ่านขั้นตอนการชิปปิ้งและเสียภาษีให้เจ้าหน้าที่แขวงสะหวันนะเขต
-หลังจากที่มีการเสียภาษีมีการส่งไม้จำนวน 1,664 ท่อน ไปยังด่านท่าเรือสะหวันนะเขต โดยมีการสำแดงใบแจ้งภาษี กับใบอนุญาตผ่านแดนหมายเลข 2420/กปข. โดยเมื่อผ่านกระบวนการดังกล่าวไปแล้ว ก็มีการนำส่งไม้ไปยังด่านท่าเรือสะหวันนะเขต
@เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
-ไม้จำนวน 1,664 ท่อนดังกล่าว มีการเดินทางจากด่านท่าเรือสะหวันนะเขตไปยัง ด่านมุกดาหาร ประเทศไทย
-เจ้าหน้าที่ศุลกากร และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กล่าวหาว่า การใช้ใบอนุญาตผ่านแดนหมายเลข 2420/กปข.นั้นเป็นของปลอม ทางด้านของสถานีตำรวจภูธรมุกดาหารจึงได้ดำเนินคดีกับ หจก.ภัทรมาศ (1993) ซึ่งเป็นบริษัทที่นำไม้ผ่านแดนและบริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) ซึ่งเป็นผู้ที่ดำเนินการขนไม้ไปยังท่าเรือในประเทศไทย
โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และทางกรมป่าไม้จึงได้มีการยึดไม้เป็นของกลาง
แต่หลังการตรวจยึดอัยการนั้นมีคำสั่งไม่ฟ้องและพนักงานสอบสวนคืนของกลางดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในแผนผังดังกล่าว ไม่ได้มีการข้อมูลเรื่องไม้ไทยถูกสวมเป็นไม้ต่างแดนไว้ด้วย ก่อนที่ศาลฎีกาจึงสั่งให้คืนไม้ของกลางกับบริษัทผู้เสียหาย แต่เนื่องจากเป็นไม้ของประเทศลาว จึงมีผู้แจ้งสิทธิ์จากลาวเข้ามาหลายราย ตามที่ พล.ต.ต.ปัญญา ปิ่นสุข รอง ผบช.ก. ระบุไว้ด้วย
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจาก ทีมงานของนางสาวิตรี นันทวิวัฒน์ ซึ่งเป็นตัวแทนทางกฎหมายอย่างเป็นทางการของนายสอนแก้ว สิดทิไช กรรมการวิสาหกิจส่วนบุคคล บริษัท พงสะหวันอุตสาหกรรมไม้ หนึ่งในกลุ่มบุคคลที่อ้างสิทธิ์ขอคืนไม้ดังกล่าวเพิ่มเติมว่า "ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องและให้คืนของกลางนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในปี 2553 แต่ให้มีการสั่งฟ้องต่อ หจก.ภัทรมาศ (1993) และบริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) ในคดีการใช้เอกสารปลอม แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2562 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 2 รายคือ หจก.ภัทรมาศ (1993) และบริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) ในข้อหาการใช้เอกสารปลอมไปแล้ว"
ทีมงานของนางสาวิตรี ยังยืนยันด้วยว่า ไม้กองนี้เป็นไม้จากประเทศลาว ที่ส่งเข้ามาในประเทศไทย
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) จำกัด นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า จดทะเบียนจัดตั้ง 4 มิถุนายน 2534 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 216/35 อาคารแอลพีเอ็นทาวเวอร์ ชั้น 11 ถนนนางลิ้นจี่ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าภายในประเทศ ปรากฎชื่อ นาย จิตรชัย บวรโชคชัย และ นาย สุภชัย หนุนภักดี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาง เตือนจิต ไกรสรรณ์ ถือหุ้นใหญ่ ณ 29 กรกฎาคม 2563
ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ภัทรมาศ (1993) จากการตรวจสอบพบว่า จดทะเบียนจัดตั้ง 4 ตุลาคม 2536 ทุน 3,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 24 ซอยสนิทวงศ์ ถนนวิวิธสุรการ ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร แจ้งประกอบธุรกิจส่งออกน้ำมันเครื่องและอะไหล่รถจักรยานยนต์ ปรากฎชื่อ นาง อรัญญา อุปัติสิงห์ นาย ศุภโชค วรวิริยะประเสริฐ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจ ณ 7 ธันวาคม 2559 นาง อรัญญา อุปัติสิงห์ ถือหุ้นใหญ่สุด
อนึ่ง สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า บริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) จํากัด และ นางอรัญญา อุปัติสิงห์ เป็น 2 ใน 7 กลุ่มบุคคลที่อ้างสิทธิต่อกรมศุลกากร เพื่อขอคืนไม้พะยูงของกลางด้วย
และยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า นางอรัญญา อุปัติสิงห์ และ บริษัท ที.แอล เอ็นเตอร์ไพรส์ มีสถานะเป็นเพียง "ผู้รับจ้างขนไม้" เข้ามายังประเทศไทย ไม่ใช่ "ผู้ว่าจ้าง" ที่น่าจะมีสถานะเป็นเจ้าของไม้ตัวจริงมากกว่า
แต่ทำไมถึงได้ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ในการครอบครองไม้พะยูงของกลางจำนวนนี้ด้วย?
บทบาทและความเกี่ยวข้องของ บริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) จํากัด และ นางอรัญญา อุปัติสิงห์ สำหรับศึกชิงไม้พะยูงครั้งนี้
จึงไม่ควรถูกมองข้ามโดยเด็ดขาด!
อ่านประกอบ:
อ้างตัวแทน สปป.ลาว ตามทวงคืนไม้พะยูง 200 ล.โดนยึดปี 49-ผู้การ ปทส.ยันคืนให้บริษัทแล้ว
ศึกชิงไม้พะยูงของกลาง 200 ล.ระอุ! คนกลุ่ม 3 โผล่ อ้างเจ้าของกรรมสิทธิ์ตัวจริง
ปมคืนไม้พะยูงของกลาง 200 ล.วุ่น! บ.ลาว อ้างมีคนหวังฮุบ ยื่นสำนักนายกฯ ขอความเป็นธรรม
ร้องผู้ตรวจการฯ สางปมศึกชิงไม้พะยูง 200 ล.- จี้ ปทส.แจงหลักเกณฑ์คืนของกลาง
จำแนก 4 กลุ่ม ศึกชิงไม้พะยูง 200 ล.! ผู้รับจ้างขนเข้าไทย โผล่อ้างสิทธิ์ขอคืนด้วย?
รวบตัวพร้อมเงินสด2ล.! บช.ก.จับ ผอ.สำนักทรัพยากรฯ มุกดาหาร เรียกสินบนคืนไม้พะยูง600ล.
เป็นลูกอดีต รมต.! ปปป. คุ้ยประวัติ ผอ.สำนักทรัพยากรฯ มุกดาหาร-เคยเรียกเงินมาแล้ว 1 ล.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage