"...ปัจจัยเสี่ยงที่พบ ยังเป็นการคลุกคลีกัน การอาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด ไม่มีมาตรการป้องกันทั้งมาตรการสถานที่ และมาตรการส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด..."
.............................................
นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศไทยว่า ขณะนี้ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน กทม. สมุทรสาคร และปริมณฑล รวมถึงผู้ลักลอบเข้าออกในพื้นที่ชายแดน
โดยพบการติดเชื้อต่อเนื่องจากสถานที่เดิม ได้แก่ ตลาด ชุมชนใกล้เคียง ชุมชนแรงงานข้ามชาติ (ที่พักและตลาดที่แรงงานข้ามชาติใช้บริการ) และโรงงาน
"ปัจจัยเสี่ยงที่พบ ยังเป็นการคลุกคลีกัน การอาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด ไม่มีมาตรการป้องกันทั้งมาตรการสถานที่ และมาตรการส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด" นพ.เฉวตสรร กล่าว
การระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรงงานทำขนมปัง บางขุนเทียน เป็นการระบาดภายในพื้นที่ กทม. พบผู้ติดเชื้อ 17 ราย แบ่งเป็น ชาวไทย 3 ราย และชาวเมียนมา 14 ราย ซึ่งเป็นการระบาดที่มีความเกี่ยวข้องสถานที่พัก และที่ทำงานเป็นสถานที่เดียวกัน มีข้อมูลที่น่านำไปถอดบทเรียนดังนี้
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงผลการสอบสวนพื้นที่โรงงานทำขนมปัง บางขุนเทียนว่า เจ้าหน้าที่พบปัจจัยเสี่ยง คือ การมีหน้าร้านที่มีลูกค้าผ่านเข้า-ออกตลอดเวลา นอกจากนั้นมีที่พักอาศัยเป็นอาคารพาณิชย์แบ่งห้องเช่า มีผู้พักอาศัยประมาณ 70 คน ซึ่งไม่ได้ดำเนินตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค คือ ไม่มีการลงทะเบียน การวัดอุณหภูมิร่างกาย ไม่มีจุดบริการเจลล้างมือ และไม่เคร่งครัดการสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงยังมีสถานที่ทำงานเป็นอาคารพาณิชย์ มีพนักงานประมาณ 71 คน แม้ว่าจะมีการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค เช่น การวัดอุณหภูมิก่อนเข้างาน มีจุดล้างมือ มีการทำความสะอาดเป็นเวลา และการเน้นย้ำให้พนักงานทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ยังดำเนินการละหลวม ไม่ครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคได้ให้ผู้ติดเชื้อทั้ง 17 ราย เข้าสู่การกักกันจนถึงวันที่ 2 เม.ย.2564 เรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้นยังเฝ้าระวังผู้อาศัยร่วมบ้าน และผู้ที่ทำงานร้านเดียวกันให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการแยกกักกัน การติดตามอาการ และการรายงานผลการติดตามผู้สัมผัสอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 วัน
@ ประเมินสถานการณ์ระบาดทั่วโลก ยังต้องยก 'การ์ดสูง' แม้จะมีวัคซีน
ขณะที่ นพ.เฉวตสรร ได้นำผลการประเมินการระบาดของต่างประเทศทั่วโลกที่น่าสนใจ มีข้อมูลดังนี้
สหรัฐอเมริกา มีมาตรการในการผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ เร็วเกินไป ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยไม่มีมาตรการป้องกันส่วนบุคคล หรือสวมใส่หน้ากากอนามัยมากนัก ทำให้พบการติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นอย่างมาก และรวดเร็ว แล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างก้าวกระโดด
บราซิล การให้วัคซีนกับประชาชนดำเนินการช้า ส่งผลให้การระบาดของโรคโควิด กลายพันธุ์ชนิดใหม่ ซึ่งถูกเรียกว่าสายพันธุ์ P.1 และบราซิลกลายเป็นจุดเสี่ยงสำคัญของการแพร่ระบาด
รัสเซีย ในช่วงปลายเดือน ก.พ.-มี.ค.2564 ไม่มีการควบคุมการเดินทางจากยุโรป ขณะที่ประเทศอื่นทั่วโลกเริ่มระงับไฟล์ทบิน และเริ่มจัดการกักกันตัวผู้ที่เดินทางมาจากยุโรป ประกอบการดำเนินมาตรการควบคุมของประเทศยังละหลวม ทำให้การระบาดของรัสเซีย เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหนึ่ง
ฝรั่งเศส ยังมีพื้นที่เสี่ยงสูงบางพื้นที่ คือ กรุงปารีส และเมืองมาร์กเซย ซึ่งยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยติดเชื้อกว่า 2,500 ราย ติดต่อกัน และยังมีคลัสเตอร์ต่างๆ 252 แห่งทั่วประเทศ
อิตาลี มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น โดยกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะมีอาการป่วยรุนแรงจากโควิด นอกจากนั้นพฤติกรรมของหนุ่มสาวที่นิยมไปหาปู่ย่าตายายของตน ต้องหอมแก้ม ไปโบสถ์ หรือทานอาหารร่วมกัน ยังเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการระบาดของโควิด
เยอรมนี การตรวจหาเชื้อเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลอย่างมากต่อการลดอัตราการเสียชีวิตของโควิด โดยเยอรมนีได้ผลักดันมาตรการตรวจหาเชื้อแบบเชิงรุกอย่างจริงจัง และตรวจเชื้อประชาชนที่ติดต่อสัมผัสกับผู้ติดเชื้อทุกคน รวมถึงผู้มีอาการอ่อนๆ ภายในช่วง 1 สัปดาห์ พบว่าเยอรมนีสามารถตรวจเชื้อได้มากถึง 500,000 ราย
นพ.เฉวตสรร กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า หลายประเทศที่ดำเนินมาตรการป้องกันโรคที่ละหลวม จะพบการระบาดรายใหม่ขึ้นมา แม้ว่าจะมีวัคซีนแล้วก็ตาม แต่วัคซีนเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการลดความรุนแรงของโรค แต่ไม่สามารป้องกันการป่วยและแพร่เชื้อได้ รวมถึงมาตรการคัดกรองเชิงรุกเป็นสิ่งสำคัญที่ยังดำเนินต่อไป เพื่อความปลอดภัยต่อประชาชน ดังนั้นยังคงต้องยกการ์ดสูง
@ เปิดแผนกระจายวัคซีนล็อต 2 ไป 22 จังหวัดเป้าหมาย
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนโควิดเป็นวัคซีนที่ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคโควิด
ขณะนี้ประเทศไทยได้นำเข้าวัคซีนอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนซิโนแวค ที่ยังมีข้อมูลสนับสนุนให้ฉีดในประชากรอายุ 18 - 59 ปี และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งแนะนำให้ใช้กับประชากรอายุตั้งแต่ 18 ปี ไปจนถึงมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
วัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้ ยังมีจำนวนจำกัด ดังนั้นในระยะแรก เดือนก.พ.-เม.ย.2564 จะดำเนินการฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากการติดเชื้อ รวมถึงบุคคลากรการแพทย์ สาธารณสุข และอสม.ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อโควิด
โดยไทยได้รับวัคซีนจากซิโนแวคมาแล้ว 200,000 โดส กระจายไปยัง 13 จังหวัด มีผู้ได้รับวัคซีนรวมแล้วทั้งสิ้น 102,050 โดส แบ่งเป็น ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก จำนวน 96,188 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 5,862 ราย
ขณะที่เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา ไทยพึ่งได้รับวัคซีนจากซิโนแวคมาอีก 800,000 โดส เป็นล็อตที่ 2 ซึ่งมีแผนกระจายวัคซีน ให้กลุ่มเป้าหมาย 22 จังหวัด แบ่งเป็น พื้นที่ควบคุมการระบาด 6 จังหวัด จำนวน 300,000 โดส ได้แก่ สมุทรสาคร กทม. ตาก ปทุมธานี สมุทรปราการ และนนทบุรี
กลุ่มท่องเที่ยว 8 จังหวัด จำนวน 240,000 โดส ได้แก่ ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ ขอนแก่น กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต
กลุ่มชายแดน 8 จังหวัด จำนวน 50,000 โดส ได้แก่ สงขลา สระแก้ว เชียงราย มุกดาหาร นราธิวาส ระนอง หนองคาย และจันทบุรี
นอกจากนั้นได้แบ่ง 210,000 โดส สำรองให้บุคลากรสาธารณสุข อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่กลุ่มอื่นๆ ที่จำเป็นและควบคุมการระบาดในจังหวัดใหม่ อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารในจังหวัดตนเองว่าจะกระจายไปยังกลุ่มเสี่ยงใดหรืออำเภอใดบ้าง
@ สธ.พร้อมแจกเอกสารรับรองวัคซีน ให้ผู้ได้รับครบ 2 เข็มแล้ว
สำหรับเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน นพ.โสภณ กล่าวว่า เอกสารดังกล่าว จะมีทั้งแบบกระดาษ และแบบดิจิทัล โดยแบบกระดาษ ประกอบด้วย ชื่อ-นามสกุล เพศ หมายเลขบัตรประชาชน เลขที่หนังสือสำคัญของการได้รับวัคซีน กำหนดวันฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 รวมถึงรายชื่อลงนามของผู้รับรองที่ได้รับการมอบหมาย
ส่วนเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนแบบดิจิทัล หรือ Vaccine Certificate จะอยู่ในแอปพลิเคชันหมอพร้อม ประกอบด้วย ชื่อ-นามสกุล ชื่อชนิดวัคซีน กำหนดการรับวัคซีน สถานที่ฉีด และลำดับการรับรองการฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ เอกสารรับรองทั้ง 2 รูปแบบจะมีคิวอาร์โค้ด (QR Code) ประกอบด้วย ผู้ที่สงสัยสามารถแสกนเข้าไปดูข้อมูลได้ เพื่อไปตรวจสอบยืนยันว่าเป็นเอกสารรับรองที่ถูกต้อง ออกโดยกระทรวงสาธารณสุข
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า หากต้องการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังให้มีการเดินทางในกรณีที่มีความจำเป็นก่อน สามารถใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีน นำไปขอสมุดเล่มเหลือง หรือพาสปอร์ตวัคซีนได้ อย่างไรก็ตามการจะเดินทางไปยังประเทศปลายทางยังต้องรอให้มีการตกลงร่วมกันผ่านประเทศปลายทาง หรือองค์กรระหว่างประเทศก่อน
"การฉีดครบ 2 เข็มจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี แต่อย่างไรก็ตาม วัคซีนเป็นเพียงเครื่อมือลดอาการการป่วยรุนแรง ซึ่งยังสามารถได้รับและแพร่เชื้อได้ จึงขอให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัย และดำเนินมาตรการป้องกันส่วนบุคคลต่อไป เพื่อความปลอดภัยของผู้ฉีด และลดโอกาสการแพร่เชื้อให้กับประชาชนผู้ยังไม่ได้รับวัคซีนด้วย" นพ.โสภณ กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage