"...บริษัท ออยเลอร์เฮอร์เมส (Euler Hermes) ซึ่งเป็นบริษัทประกันสินเชื่อที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส ได้ออกรายงานพิเศษ ประเมินสถานการณ์ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นจะมีการฟื้นตัวในยุโรปก่อน แต่จะกลับมาเป็นปกติได้อย่างน้อยก็ในช่วงก่อนปี 2567..."
...............................
ผลจากการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส กำลังมีความคืบหน้าไปมาก ณ เวลานี้จึงทำให้คนในสังคมโลกเริ่มมีความคาดหวังว่าการเดินทางระหว่างต่างประเทศน่าจะฟื้นคืนกลับมาภายในอนาคตอันำใกล้นี้
ล่าสุด บริษัท ออยเลอร์เฮอร์เมส (Euler Hermes) ซึ่งเป็นบริษัทประกันสินเชื่อที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส ได้ออกรายงานพิเศษ ประเมินสถานการณ์ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นจะมีการฟื้นตัวในยุโรปก่อน แต่จะกลับมาเป็นปกติได้อย่างน้อยก็ในช่วงก่อนปี 2567
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปลเรียบเรียงข้อมูลสำคัญ มานำเสนอ ณ ที่นี้
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19หรือโคโรน่าไวรัสในเวลานี้นั้น รัฐบาลหลายประเทศได้พยายามที่จะแข่งกับเวลาเพื่อที่จะควบคุมไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งการใช้บัตรผ่านสำหรับการเดินทางหรือวัคซีนพาสปอร์ตนั้นอาจจะไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูกิจการการท่องเที่ยวได้ และมีการคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวนั้นอาจจะฟื้นตัวได้อีกครั้งหนึ่งก็อย่างน้อยในช่วงปี 2567
โดยปัจจัยอันเกี่ยวข้องกับการคาดการณ์ช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นฟูหลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น จะต้องดูปัจจัยดังต่อไปนี้
1.จะต้องใช้เวลาเท่าไรที่หลายประเทศจะสามารถมีภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ได้ และ 2.บทเรียนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ผ่านมา
ซึ่ง ณ เวลานี้ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษกำลังอยู่บนช่วงเวลาตามแผนการฉีดวัคซีนและคาดว่าน่าจะสามารถบรรลุการมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้ก่อนช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 โดยสหภาพยุโรปหรืออียูน่าจะบรรลุภูมิคุ้มกันหมู่ได้ก่อนช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 และญี่ปุ่นน่าจะบรรลุภูมิคุ้มกันหมู่ได้ก่อนครึ่งปีแรกของปี 2565
อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ต้องทราบก็คือว่าจำนวนวัคซีนที่มีอยู่มากมาย ณ เวลานี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วไปแพร่เชื้อใส่ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งปัจจัยนี่ทำให้ประเด็นเรื่องการฟื้นฟูการท่องเที่ยวนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก
กลับมาที่การคาดการณ์ข้อมูล มีการประเมินกันว่าประเทศจีนและประเทศแอฟริกาใต้จะสามารถบรรลุภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 และต่อมาก็ประเทศอินเดียและประเทศในแถบอเมริกาใต้ ที่อาจจะประสบปัญหากับความล่าช้าในเรื่องการฉีดวัคซีน
โดยความล่าช้าดังกล่าวนั้นอาจจะมีสาเหตุมาจากความยากลำบากในการเข้าถึงวัคซีนจากประเทศจีนที่มีราคาถูกกว่า อาทิ วัคซีนโคโรน่าแว็ก ที่อาจจะประสบปัญหาในเรื่องการแจกจำหน่ายไปทั่วประเทศบราซิล นอกจากนี้หลายประเทศในแถบภูมิภาคอเมริกาใต้ยังต้องรับมือกับความไม่เต็มใจของประชากรในการฉีดวัคซีนและปัญหาในด้านการจัดการกับห่วงโซ่อุปทาน ระหว่างสถานที่ผลิตวัคซีนไปสู่กลุ่มคนที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีน
หรือสรุปก็คือจำนวนวัคซีนที่อาจจะไม่เพียงพอนั่นเอง
แผนภูมิที่ 1 ตารางการฉีดวัคซีนในแต่ละภูมิภาค
ประเด็นถัดมาก็คือ จะต้องดูว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนในการใช้งบประมาณเพื่อที่จะฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังจากที่ผ่านวิกฤติทางเศรษฐกิจไปแล้ว โดยย้อนไปในช่วงวิกฤติทั้งหลังจากเหตุการณ์ 9-11 และวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2552 การเดินทางไปต่างประเทศทั้งทางด้านการท่องเที่ยวและจุดประสงค์ทางธุรกิจนั้นก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
โดยในกรณีของเหตุการณ์ 9-11 นั้นเป็นการขาดความเชื่อมั่นในด้านของความปลอดภัย และวิกฤติในปี 2552 นั้นเป็นสภาวะการต้องการเงินทุนจำนวนมหาศาลอย่างเร่งด่วนเพื่อนำเงินไปหมุนในระบบเศรษฐกิจ
ถ้าหากเราพิจารณาถึงวิกฤติเศรษฐกิจอันตกต่ำที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ ที่เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 นี่ก็หมายความว่าการท่องเที่ยวและกิจกรรมการเดินทางทั่วโลกนั้นน่าจะกลับไปสู่ช่วงก่อนการระบาดได้ครึ่งปีหลังของปี 2565
อย่างไรก็ตาม การระบาดในครั้งนี้นั้นทำให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยการมีทั้งมาตรการคัดกรองที่เข้มงวด การปิดเมืองในหลายประเทศและการเคอร์ฟิวนั้นทำให้การฟื้นตัวในภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวไม่น่าจะเป็นไปได้มากนักในช่วงปีหน้า
แผนภูมิที่ 2 ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอดีตต่อการท่องเที่ยวและการเดินทางระหว่างประเทศ
มีการประมาณการว่ายุโรปนั้นจะสามารถเข้าสู่การฟื้นตัวทางการท่องเที่ยวได้เร็วกว่าสหรัฐฯและประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกหรือในกลุ่ม APAC โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าในช่วงปี 2567 หรือก็คือมากกว่าจำนวนจุดต่ำสุดในช่วงปี 2563 ซึ่งตัวเองดังกล่าวนั้นเป็นการคาดการณ์จากองค์การการท่องเที่ยวโลก (ดูแผนภูมิประกอบ)
แผนภูมิที่ 3.ตัวเลขการมาถึงของนักท่องเที่ยวทั่วโลก นับแต่ปี 2560 ไปจนถึงการคาดการณ์ในอนาคตในปี 2567
นอกจากนี้ผลสำรวจข้อมูลขององค์การการท่องเที่ยวโลกยังพบว่าส่วนมากของผู้ที่ได้ตอบแบบสอบถามนั้นคาดหวังว่าการท่องเที่ยวไม่น่าจะกลับไปก่อนช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสได้ ในช่วงอย่างน้อยก็ก่อนปี 2566 ซึ่งน่าจะดีที่สุดแล้ว และอันที่จริงมีจำนวนถึง 41 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามได้ให้คำตอบว่าพวกเขาคาดหวังว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติก็ในช่วงปี 2567 หรือช้ากว่านั้น
แผนภูมิที่ 4 ผู้ตอบแบบสอบถามว่าเมื่อไรการท่องเที่ยวต่างประเทศจะกลับไปสู่ภาวะก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ภูมิภาคของตัวเอง
โดยจากตัวเลขที่ได้มีการรวบรวมมานั้นจะพบได้ว่าประเทศในทวีปยุโรป จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมามากกว่าในภูมิภาคอื่นๆ เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรงจากการระบาดในช่วงปี 2563 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในภูมิภาคนั้นต้องลดลงไปกว่า 500 ล้านคน ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็มีการคาดการณ์กันว่า ประเทศในอียูที่ต่างก็ได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรงมากถึงมากที่สุดจากการห้ามไม่ให้มีการท่องเที่ยว จะสามารถทำงานร่วมมือกันได้ดีกว่าประเทศในภูมิภาคอื่นๆในยกข้อจำกัดการเดินทาง จนได้ข้อสรุปร่วมกัน
ดังนั้นทวีปยุโรปก็น่าจะเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดเช่นกันถ้าหากการท่องเที่ยวสามารถฟื้นคืนกลับมาได้ด้วยการใช้งานวัคซีนพาสปอร์ตที่เหมาะสม
แผนภูมิที่ 5 ดัชนีความเข้มงวดในการห้ามการเดินทางในแต่ละภูมิภาค
ซึ่งจากแผนภูมิที่ 5 นั้นแสดงให้เห็นถึงความเข้มงวด และมาตรการการจำกัดการเดินทางในภูมิภาคทั่วโลก ทวีปยุโรปนั้นยังคงเป็นภูมิภาคที่มีค่าความเข้มงวดมากกว่าทวีปอเมริกาเหนือถึงเกือบ 10 จุด และมากกว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถึง 20 จุด
โดยตัวเลขความเข้มงวดในด้านการจำกัดการท่องเที่ยวตรงนี้แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นเสียหายจากไวรัสมากที่สุดในภูมิภาค
ดังนั้นในบริบทนี้ถ้าหากวัคซีนพาสปอร์ตสามารถใช้งานได้จริงในช่วงเวลาเดียวกันในภูมิภาคเดียวกัน การท่องเที่ยวก็จะฟื้นคืนกลับมาในภูมิภาคยุโรป
แน่นอนว่าในอียูนั้นกำลังทำงานร่วมกันเพื่อที่จะให้มีหนังสือเดินทางเพื่อสุขภาพเพื่อที่จะลดข้อจำกัดในด้านการเดินทางในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงนี้ อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยชี้ขาดสำคัญ 2 ปัจจัยที่จะเป็นข้อกำหนดในเรื่องนี้ได้แก่ 1. ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการแพร่กระจายของโรค และ 2. การบังคับใช้นโยบาย
ประเทศในกลุ่มอียูนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์สูงที่สุด เพราะพวกเขาสามารถที่จะแชร์ฐานข้อมูลชุดเดียวกันในระบบเดียวกัน ด้วยฐานข้อมูลที่สม่ำเสมอและถูกต้อง
แต่สมมติว่าแม้ระบบวัคซีนพาสปอร์ตจะสามารถนำไปใช้งานได้จริง ก็อาจจะมีความยากลำบากใหม่ๆเกิดขึ้นตามมาได้อีก เพราะต้องมีทั้งนโยบายในเรื่องของการรับรอง ผลกระทบที่อาจจะตามมาในประเด็นว่าหนังสือเดินทางจะถูกนำไปใช้ในภาคส่วนเศรษฐกิจได้อย่างไร
โดยผู้ที่ไม่มีหนังสือเดินทางสุขภาพที่ว่ามานั้นอาจถูกกีดกัน ไม่ให้มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหวได้เหมือนกับคนอื่นๆทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศ ซึ่งนี่ก็จะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากอีกเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆตามมาอีกที่อาจจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวทั่วโลก อาทิ ภูมิภาคอเมริกาและเอเชียแปซิฟิกอาจจะต้องมีการจำกัดการเดินทางอย่างยืดเยื้อ เนื่องจากการเกิดใหม่ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้วัคซีนที่มีอยู่นั้นมีประสิทธิภาพน้อยลง หรือไม่ก็ไม่มีประสิทธิภาพเลยสำหรับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มาถึง
เมื่อดูที่แต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกันออกไป จะพบได้ว่ามีแค่การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเท่านั้นที่อาจจะฟื้นฟูได้ในช่วงปี 2565 แต่นี่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับความสูญเสียจากการที่ไม่สามารถเดินทางได้ด้วยจุดประสงค์การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวหรือเพื่อจุดประสงค์ทางด้านธุรกิจ ที่คาดว่าจะต้องบอบช้ำไปจนถึงช่วงปี 2566 แต่การเดินทางภายในประเทศนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ใช้เงินมากเท่ากับการเดินทางไปต่างประเทศในช่วงก่อนการระบาด
ทั้งนี้จากข้อมูลตามแผนภูมิแล้วคาดว่าการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศนั้นน่าจะยังคงติดลบด้วยอัตรา -8 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับก่อนการระบาดต่อไปจนกว่าจะถึงอย่างน้อยก็ในช่วงปี 2566
โดยอีกปัจจัยที่ทำให้การใช้จ่ายการท่องเที่ยวนั้นประสบปัญหาก็คือการเพิ่มขึ้นของตัวเลขผู้ที่ว่างงานก็จะส่งผลทำให้มีการลดการใช้จ่ายของผู้บริโภคอันเกี่ยวกับการท่องเที่ยวลงไป
หรือจะให้สรุปสั้นๆก็คือว่าไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการยุติการท่องเที่ยวและการเดินทางไปเป็นระยะเวลายาวนาน จนส่งผลบังคับให้ธุรกิจอันเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการเดินทางนั้นต้องเปลี่ยนรูแบบธุรกิจไปนั่นเอง
แผนภูมิที่ 6 ตารางเวลาที่คาดว่าจะมีการฟื้นฟูการท่องเที่ยว โดยดูจากตัวเลขการใช้จ่ายนับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงการคาดการณ์ไปในปี 2567 (เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์กับช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19) โดยแบ่งออกเป็นสีได้แก่ สีฟ้าคือการเดินทางไปต่างประเทศด้วยจุดประสงค์ทางธุรกิจ สีส้มคือการเดินทางไปต่างประเทศด้วยจุดประสงค์ทางการท่องเที่ยว สีเทาคือการเดินทางในประเทศด้วยจุดประสงค์ทางธุรกิจ และสีเหลืองคือการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศด้วยจุดประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว
เรียบเรียงและอ้างอิงข้อมูลจาก:https://www.eulerhermes.com/en_global/news-insights/economic-insights/Tourism-Europe-will-be-at-the-frontline-of-the-recovery-but-only-in-2024.html
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage