"...ไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ติดเชื้อง่ายขึ้น อาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง หลายประเทศที่ทดสอบวัคซีน พบว่าประสิทธิภาพลดลง รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อด้วย..."
…………………………………………………..
เป็นเวลามากกว่า 1 ปีที่ทั่วโลกเเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด
ปัจจุบันเชื้อโควิด ไม่ได้มีแค่สายพันธุ์เดียว แต่จากข้อมูลพบว่ามีการกลายพันธุ์ไปอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะ 'สายพันธุ์แอฟริกาใต้' ที่กำลังได้รับความสนใจ เมื่อมีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับชาวแอฟริกาใต้ พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพเพียง 22% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ที่ 50%
ขณะเดียวกันประเทศไทยเพิ่งพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้รายแรก เป็นชายไทย อายุ 41 ปี มีโรคประจำตัวเป็นหอบหืด ความดันโลหิตสูง และมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจค้าพลอยที่แทนซาเนีย ในทวีปแอฟริกา จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยอาศัยอยู่ที่แทนซาเนียนาน 2 เดือน มีประวัติไปงานเลี้ยงโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย และเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2564 ก่อนผลตรวจพบว่าติดโควิดในสถานกักกักตัวที่รัฐจัดให้ (State Quaratine) โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่สภากาชาดไทย ยืนยันว่าเป็น 'สายพันธุ์แอฟริกา' และผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐในเวลาต่อมา (อ่านประกอบ : เปิดไทม์ไลน์ผู้ป่วยโควิดฯพันธุ์ 'แอฟริกาใต้'รายแรกของไทย-ยันยังไม่ระบาดสู่ชุมชน)
ล่าสุด ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวรายงานผลการรักษาผู้ป่วยรายดังกล่าวว่า ผู้ป่วยมีปริมาณเชื้อจำนวนมาก มีอาการไอ และปอดอักเสบ ขณะเดียวกันเมื่อตรวจหาเชื้อครั้งที่สอง ยังพบเชื้อสะสมจำนวนมากอยู่ แม้ว่าจะมีการทานยาต้านเชื้อไวรัสแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามขณะนี้ผู้ป่วยรายดังกล่าวมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับแล้ว
ผศ.นพ.โอภาส กล่าวถึงการตรวจพบไวรัส SARS-Cov-2 และไวรัสที่ทำให้เกิดโควิด เพิ่มเติมว่า ไวรัสต่างๆ เหล่านี้เป็น rNA ไวรัส ซึ่งปกติโดยธรรมชาติของไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ เพียงแต่การกลายพันธุ์ในมนุษย์หรือสัตว์ จะทำให้ไวรัสดังกล่าวกลายพันธุ์ได้เร็วกว่าปกติ ขณะเดียวกันการระบาดในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกอาจทำให้เกิดการคัดเลือกสายพันธุ์ท้องถิ่นขึ้นมาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของไวรัสเช่นกัน อย่างไรก็ตามจะมีการรายงานสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังในปัจจุบัน รวม 3 สายพันธุ์ ดังนี้
1. สายพันธุ์ B.1.1.7 (Gr,G) หรือเรียกว่า 'ยูเคสเตรน' หรือ 'สายพันธุ์อังกฤษ' พบครั้งแรกที่สหราชอาณาจักรทางตอนใต้ ก่อนจะระบาดภายในสหราชอาณาจักรเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ยังพบสายพันธุ์ดังกล่าวในทวีปยุโรปด้วย โดยไวรัสดังกล่าวกลายพันธุ์ในตำแหน่งพิเศษที่เรียกว่า N501Y เป็นตำแหน่งที่อยู่บนผิวของไวรัสที่จะทำให้ไวรัสสามารถจับกับผิวเซลล์ของมนุษย์ได้ดีขึ้น และมีความสามารถและมีประสิทธิภาพในการแบ่งตัวดีขึ้น ดังนั้นไวรัสในโพรงจมูกจะมีเยอะ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย ซึ่งขณะนี้กำลังระบาดหนักในสหราชอาณาจักรในขณะนี้ และในปัจจุบันมีหลักฐานจากอังกฤษหลายที่ว่าสายพันธุ์ดังกล่าวสัมพันธ์กับอัตราการป่วยและเสียชีวิตที่มากกว่าปกติ
ทั้งนี้ ในเมืองไทยสามารถตรวจ 'สายพันธุ์อังกฤษ' ได้แล้ว โดยพบว่าส่วนหนึ่งมาจากชาวต่างประเทศที่เดินทางไปอังกฤษหรือทวีปยุโรป ส่วนคนไทยตรวจเจอในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ซึ่งเป็นชาวไทยที่เดินทางกลับมาจากสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามขณะนี้เราสามารถดักไวรัสสายพันธุ์นี้ไว้ได้หมดที่สถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine)
2. สายพันธุ์ B.1.351 (GH,G) พบครั้งแรกที่แอฟริกา ถูกเรียกว่า 'สายพันธุ์แอฟริกา' ไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวมีการกลายพันธุ์ที่เพิ่มเติมเข้ามามา ในตำแหน่งที่เรียกว่า E484K และตำแหน่ง 501Y.V2 เป็นตำแหน่งที่ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์ได้ดีขึ้น และสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการใช้วัคซีนได้
“ไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ มีความสำคัญคือการติดเชื้อง่ายขึ้น และอาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ซึ่งมีหลายๆประเทศที่ทำการทดสอบวัคซีน พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อลดลงด้วย” ผศ.นพ.โอภาส
3. สายพันธุ์ P.1 (GR) พบครั้งแรกที่บราซิล ถูกเรียกว่า 'สายพันธุ์บราซิล' เป็นสายพันธุ์ที่มีความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์แอฟริกา แต่มีผลทำให้พลาสมาหรือระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จับกับไวรัสเหล่านี้ได้น้อย เมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และกรมควบคุมโรค มีการเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่จะเจอในประเทศไทย โดยตอนนี้ได้ตรวจหาสายพันธุ์ต่างๆ ในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีแหล่งระบาดของสายพันธุ์ที่น่าสนใจตั้งแต่แอฟริกา บราซิล และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีโอกาสติดเชื้อและมีผลต่อการใช้วัคซีนในอนาคต ขอให้ประชาชนมั่นใจได้
@ 'สายพันธุ์แอฟริกาใต้'ถูกคาดการณ์ว่าแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น
สำหรับข้อสงสัยว่า 'สายพันธุ์แอฟริกาใต้’ จะอันตรายกว่าโควิดสายพันธุ์อื่นหรือไม่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าสายพันธุ์ใหม่นี้จะเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น แต่ได้มีผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ คาดว่าโควิดสายพันธุ์นี้จะแพร่เชื้อได้มากกว่า ซึ่งอาจทำให้มีผู้ป่วยมากขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสที่จะพบผู้เสียชีวิตมากขึ้น ทั้งนี้หนึ่งในสายพันธุ์ของแอฟริกาใต้ 501Y.V2 มีแนวโน้มว่าจะแพร่เชื้อได้มากกว่า 50% ซึ่งหมายความว่าโควิดสายพันธุ์นี้ทำงานได้ดีกว่าไวรัสตัวเดิมที่เข้าสู่เซลล์มนุษย์
นายซาลิม อับดุล คาริม นักระบาดวิทยาโรคติดเชื้อทางคลินิกของโรงเรียนสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า “เมื่อไม่นานมานี้ดูเหมือนว่าจะพบการติดเชื้อรุนแรงกับเซลล์ของมนุษย์มากกว่า SARS-Cov-2 ตัวเดิมที่ทำให้เกิดโรคโควิด โดยสายพันธุ์แอฟริกาดังกล่าวอาจหลบหนีจากแอนติบอดีบางส่วนหรือทั้งหมด ที่ผู้คิดค้นพัฒนาขึ้นเพื่อต่อต้านการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยดูจากผลตรวจเลือดจากชาวแอฟริกาใต้ 44 รายที่หายจากโควิด พบว่ามากกว่า 90% มีภูมิคุ้มกันลดลงต่อสายพันธุ์ใหม่ และเกือบครึ่งหนึ่งไม่มีการป้องกันเลย”
@ 'สายพันธุ์แอฟริกาใต้'ทำวัคซีนโควิดมีประสิทธิภาพลดลง
ส่วนวัคซีนโควิดอย่างไฟเซอร์ (Pfizer) , โมเดอร์นา (Moderna) , จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) และโนวาแวกซ์ (Novavax) จะมีประสิทธิภาพอย่างไรกับ 'สายพันธุ์แอฟริกาใต้' นายชาบีร์ มาธี ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยการวิเคราะห์วัคซีนและโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์แลนด์ให้คำตอบว่า โควิดสายพันธุ์นี้ ลดระดับการป้องกันจากวัคซีนเกือบทั้งหมด แต่วัคซีนส่วนใหญ่ยังแสดงประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจในการป้องกัน และช่วยลดความรุนแรงจากอาการป่วยหรือเสียชีวิต ดังนี้
ไฟเซอร์ พบมีประสิทธิผลกับสหราชอาณาจักรและการกลายพันธุ์ในตัวแปรแอฟริกาใต้ได้
โมเดอร์นา พบมีผลกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อตัวแปรของแอฟริกาใต้ แต่กลับพบการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อตัวแปรของสหราชอาณาจักรหรือโคโรนาไวรัสดั้งเดิมที่น้อยกว่า
จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน พบมีผลการป้องกันโรคดังกล่าวน้อยลง แต่ยังมีประสิทธิภาพสูงในการลดความรุนแรงจากอาการป่วยหรือเสียชีวิต
โนวาแวกซ์ พบมีประสิทธิผลลดลง แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ 50% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐาน
ขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าถูกระงับการใช้ที่แอฟริกาใต้ หลังพบผลการฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตามมีรายงานความความคืบหน้าว่านักวิจัยของวัคซีนดังกล่าวกำลังเร่งปรับแต่งวัคซีน โดยการใส่ลำดับพันธุกรรมจากตัวแปรใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มประสิทธิผลการทำงานของวัคซีนให้ดีขึ้นได้
(เรียบเรียงจาก : Data suggests AstraZeneca's COVID-19 vaccine may not protect against South African variant. What else is there to know about the new strain?)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage