“...สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งคำร้อง น.ส.ปารีณา ให้ศาลฎีกาพิจารณา หากศาลฎีการับคำร้องแล้ว น.ส.ปารีณา จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วย! เนื่องจากตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ข้อ 12 ระบุเมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องแล้ว ผู้คัดค้านต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา…”
..............................
หลังจากมาตรฐานจริยธรรมฯถูกคลอดออกมาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา
เรียกได้ว่า น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นนักการเมือง ‘รายแรก’ ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลผิด กรณีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานจริยธรรมฯ พ.ศ. 2561 กรณีถูกกล่าวหาว่า บุกรุกป่าสงวนและที่ดินของรัฐ ตามที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ (บก.ปทส.) แจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาไปก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : ส่งศาลฎีกา! ป.ป.ช.ชี้มูล‘ปารีณา’ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงคดีรุกป่า-ที่ดินรัฐ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช.ด้วยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 'เป็นเอกฉันท์' ในกรณีนี้
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า กลไกนี้ถือเป็น ‘เรื่องใหม่’ ในรัฐธรรมนูญ โดยหากบุคคลที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดตามมาตรฐานจริยธรรมฯดังกล่าว ต้องถูกส่งคำร้องไปยังศาลฎีกา เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป โดยหากศาลฎีการับคำร้องไว้ไต่สวนแล้ว บุคคลนั้นจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วย?
สำนักข่าวอิศราเรียบเรียงข้อกฎหมายให้ทราบดังนี้
มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 โดยในข้อ 3 (4) วรรคสอง ระบุว่าให้ใช้บังคับแก่สมาชิก ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 วรรคสอง
ส่วนรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) บัญญัติว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจและหน้าที่ในการไต่สวนและมีความเห็นกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
มาตรา 235 กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระผู้ใดกระทำผิดตามมาตรา 234 (1) ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง หากมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เห็นว่าผู้นั้นมีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ไต่สวนให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ถ้าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาวินิจฉัย
(2) กรณีอื่นนอกจาก (1) ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือดำเนินการอื่นตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.
โดยตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 (ฉบับใหม่) มาตรา 87 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาวินิจฉัย โดยในวรรคสาม ระบุว่า ให้นำความในมาตรา 81 และมาตรา 86 มาใช้บังคับด้วยอนุโลม
มาตรา 81 ระบุว่า กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับฟ้องตามมาตรา 77 ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาฯมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลฎีกาฯ พิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาให้ผู้ต้องคำพิพากษานั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้ โดยวรรคสองระบุใจความสำคัญว่า หากถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแล้ว ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองอีกตลอดไป
ส่วน มาตรา 86 ระบุว่า กรณีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และยังมิได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อน ให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา (อ่าน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ประกอบ : https://nacc.go.th/files/article/attachments/main_old_article_20190708153254.pdf)
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งคำร้อง น.ส.ปารีณา ให้ศาลฎีกาพิจารณา หากศาลฎีการับคำร้องแล้ว น.ส.ปารีณา อาจจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วย?
(ระเบียบการไต่สวนศาลฎีกาฯกรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม บัญญัติให้ ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หากศาลรับคำร้อง)
เนื่องจากตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ระบุว่า เมื่อผู้ร้องเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลโดยทำเป็นคำร้อง โดยคำร้องดังกล่าวต้องระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวหาให้เพื่อให้ศาลวินิจฉัย พร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการกระบวนพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้ ในกรณีที่ศาลเห็นว่าคำร้องไม่ถูกต้อง ศาลอาจสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด หากไม่ดำเนินการ ศาลมีอำนาจสั่งไม่รับคำร้องทั้งหมดหรือบางส่วน
ข้อ 12 ระบุว่า เมื่อผู้ร้องดำเนินการครบถ้วนตามข้อ 11 แล้ว ให้ศาลมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาโดยเร็ว แล้วให้ส่งคำร้องพร้อมเอกสารประกอบแก่ผู้คัดค้านหรือมีคำสั่งแจ้งให้ผู้คัดค้านมารับสำเนาคำร้องภายในเวลากำหนด
เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องแล้ว ผู้คัดค้านต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และให้ศาลแจ้งคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ
เมื่อผู้คัดค้านได้รับสำเนาคำร้องและยื่นคำคัดค้านแล้ว หรือผู้คัดค้านไม่ยื่นคำคัดค้านภายใน 14 วันนับแต่วันรับสำเนาคำร้อง หรือไม่มารับสำเนาคำร้องภายในเวลากำหนด ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยเร็ว
การส่งสำเนาคำร้องหรือคำสั่งแจ้งผู้คัดค้านตามวรรคหนึ่ง ถ้าไม่มีผู้รับหรือไม่สามารถทำได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ปิดหมายไว้ ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของผู้คัดค้าน และการส่งนั้นให้มีผลใช้ได้ทันที
ทั้งหมดคือขั้นตอนการไต่สวนคดีฝ่าฝืนจริยธรรมของ น.ส.ปารีณา ที่เป็นนักการเมืองคนแรก ‘ประเดิม’ ตามกลไกใหม่ในรัฐธรรมนูญปี 2560
ผลจะเป็นเช่นไร ต้องติดตามกันต่อไป!
หมายเหตุ : ภาพประกอบ น.ส.ปารีณา จาก https://news.mthai.com/
อ่านประกอบ :
ส่งศาลฎีกา! ป.ป.ช.ชี้มูล‘ปารีณา’ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงคดีรุกป่า-ที่ดินรัฐ
‘บิ๊กตู่-ปารีณา-ช่อ’ 3 รายแรกโดนสอบฝ่าฝืนจริยธรรมฯปี 63-กลไกใหม่กำกับนักการเมือง?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/