"...ในวันที่ 25 ม.ค. หนังสือพิมพ์สัญชาติเยอรมนีที่ชื่อว่า Handelsblatt ได้อ้างถึงแหล่งข้อมูลไม่ระบุนาม โดยแหล่งข้อมูลว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพต่ำอยู่แค่ 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่พอมีข่าวนี้ออกมา บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้ออกมาตอบโต้ทันที โดยกล่าวว่าข้อมูลนี้ไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนีที่ออกมาให้ข้อมูลดังกล่าวด้วยเช่นกัน ..."
......................
เป็นประเด็นที่กำลังถูกจับตามองทั่วโลก ต่อกรณีหน่วยงานควบคุมโรคของประเทศเยอรมนี ได้ออกคำแนะนำว่าการฉีดวัคซีนที่ผลิตจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้นไม่ควรจะฉีดให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นอยู่ที่ 6.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อใช้สำหรับผู้สูงอายุ
ล่าสุด สำนักข่าวการ์เดี้ยนของอังกฤษ ได้จัดทำรายงานสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อข้อมูลดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปล/เรียบเรียงข้อมูลมานำเสนอ ณ ที่นี้
@ทำไมประเทศเยอรมนีถึงออกคำแนะนำว่าห้ามฉีดวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ?
คณะกรรมการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนที่สถาบันโรเบิร์ต คอช ในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมโรคของเยอรมนี ออกมาระบุว่า ณ เวลานี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพเท่าไร เมื่อต้องฉีดให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
อ้างอิงรายงานข่าวคำแนะนำการใช้วัคซีนบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าจากสำนักข่าวอารีรัง
โดยในช่วงปีที่ผ่านมานั้นมีการเปิดเผยบทความลงบนวารสารการแพทย์ Lancet ระบุว่า นักวิจัยได้กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้ยังคงมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งเป็นผู้สูงอายุไม่เพียงพอที่จะทำให้ได้ข้อมูลว่าวัคซีนจะสามารถปกป้องพวกเขาจากโรคภัยได้หรือไม่
“ประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุไม่สามารถประเมินได้ แต่จะได้รับการพิจารณาหากมีข้อมูลเพียงพอในการวิเคราะห์ในอนาคตหลังจากมีกรณีผู้ป่วยเกิดขึ้นมากขึ้น” ทีมวิจัยระบุ
โดยทางด้าน นพ.แอนดี้ โพลลาร์ด ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดซึ่งมีส่วนในการรับผิดชอบวัคซีน ระบุว่า ประเด็นการขาดข้อมูลนั้นถือเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้
“ในการทดลองของเรา ผู้สูงอายุได้รับการคัดเลือกในภายหลัง และเพราะพวกเขาได้รับการคัดเลือกในภายหลังทำให้มีเวลาน้อยลงสําหรับกรณีการป่วยที่จะเกิดขึ้นและผู้สูงอายุก็เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อสถานการณ์การระบาดจึงหมายความว่า อัตราการป่วยของผู้สูงอายุนั้นมีค่อนข้างต่ำ” นพ.โพลลาร์ดกล่าว
ขณะที่ทางด้านของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ได้เน้นย้ำเช่นกันว่ากลุ่มผู้สูงอายุจะถูกนำมาทดลองในลำดับหลังๆ เพราะทีมงานต้องการให้มั่นใจว่าวัคซีนนั้นปลอดภัยก่อนที่จะมีการใช้งานกับกลุ่มผู้สูงอายุ
@หมายความว่าวัคซีนจะใช้ไม่ได้ผลสำหรับผู้สูงอายุใช่หรือไม่ ?
...ไม่ใช่
"นี่ถือเป็นประเด็นที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเน้นย้ำว่า นี่ไม่ใช่หลักฐานที่จะบ่งชี้ว่าวัคซีนไม่สามารถใช้งานได้ เพียงแต่ว่าหลักฐานที่มี ณ เวลานี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้หน่วยงานของประเทศเยอรมนีมีความพึงพอใจต่อวัคซีน" นพ.ไซมอน คลาร์ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยรีดดิงส์กล่าว
ส่วนผู้เชี่ยวชาญคนอื่นก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ณ เวลานี้ยังมีหลักฐานไม่พอที่จะบอกว่าวัคซีนใช้งานไม่ได้
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลบางแหล่งที่ออกมาและเป็นแง่บวกสำหรับการใช้งานวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ
โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ออกมาเปิดเผยถึงระบบภูมิคุ้มกันที่มีความคล้ายคลึงกัน 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยและกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งหลังจากที่มีการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ไปแล้ว ก็พบว่าร่างกายสามารถผลิตสารภูมิคุ้มกันที่สามารถจะจับตัวโปรตีนหนามของไวรัสได้
"เราเห็นระบบภูมิคุ้มกันที่ดีในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีสุขภาพดีในกระบวนการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 2 และหน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (MHRA) ก็ได้มีการทบทวนข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันอีก ในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 " นพ.โพลลาร์ดกล่าว
โดย MHRA ได้กล่าวเพิ่มเติมว่ายังไม่เห็นข้อมูลที่จะเป็นข้อบ่งชี้ว่าวัคซีนนั้นจะไม่สามารถปกป้องผู้สูงอายุเกินน 65 ปีได้
ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้เคยกล่าวไปแล้ว ผลการทดลองเบื้องต้นนั้นให้ผลลัพท์ที่ดี และข้อมูลประสิทธิภาพขั้นต้นนั้นในกลุ่มอาสาสมัครผู้สูงอายุแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่จะต้องฉีดวัคซีนนี้ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุด้วย
ส่วนทางด้านของ นพ.แดนนี่ อัลท์แมน ศาสตราจารย์ภูมิคุ้มกันวิทยา วิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า ตัวเขาเองก็สับสนกับท่าทีของทางเยอรมนี
"เมื่อผมได้ดูผลการทดลองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในระยะที่ 3 สำหรับกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ผมก็เห็นการตอบสนองที่ดี เหมือนกับที่ผมเห็นในกลุ่มช่วงอายุอื่นๆ" นพ.อัลท์แมนกล่าว
นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษให้คำรับรองกับวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ในกลุ่มผู้ป่วยทุกวัย (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวเดอะเทเลกราฟ)
@นี่จะส่งผลเกี่ยวพันกับแง่มุมอื่นๆเกี่ยวกับวัคซีนอย่างไรบ้าง?
ในวันที่ 25 ม.ค. หนังสือพิมพ์สัญชาติเยอรมนีที่ชื่อว่า Handelsblatt ได้อ้างถึงแหล่งข้อมูลไม่ระบุนาม โดยแหล่งข้อมูลว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพต่ำอยู่แค่ 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่พอมีข่าวนี้ออกมา บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้ออกมาตอบโต้ทันที่
โดยกล่าวว่าข้อมูลนี้ไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนีที่ออกมาให้ข้อมูลดังกล่าวด้วยเช่นกัน
จากการคำนวณของหน่วยงานในประเทศเยอรมนีจนนำไปสู่ร่างคำแนะนำการใช้วัคซีนเบื้องต้นที่ระบุว่าประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นอยู่ที่ 6.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อใช้สำหรับผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้กล่าวว่าการสรุปข้อมูลเช่นนี้นั้นถือว่าไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง เพราะข้อมูลนี้มีที่มาจากการพบผู้สูงอายุจำนวน 2 รายที่ป่วยในช่วงที่มีการทดสอบวัคซีน โดยหนึ่งในผู้ติดเชื้อเป็นผู้เข้าร่วมการทดลองวัคซีน และอีกรายเป็นผู้ที่ได้รับยาหลอก และทางหน่วยงานของประเทศเยอรมนีก็ได้เป็นผู้ยืนยันข้อมูลดังกล่าว
“ขณะที่ยังไม่สามารถจะสรุปอะไรได้จากข้อมูลที่ว่ามานี้” นพ.พอล มอร์แกน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์กล่าว
ด้านบริษัทแอสตร้าแซนเนก้า ได้กล่าวว่ารายงานที่ระบุว่าวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดมีประสิทธิภาพต่ำเมื่อฉีดผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีนั้นไม่ใช่รายงานที่สะท้อนข้อมูลทั้งหมดอย่างแม่นยำ
และขอยืนยันว่ารายงานการวิเคราะห์ล่าสุดนั้นพบว่าวัคซีนนี้แสดงประสิทธิภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยบริษัทคาดว่ารายงานนี้จะถูกตีพิมพ์ในสำนักงานยาแห่งยุโรป (EMA) ต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการวิจารณ์ว่าการที่สหภาพยุโรป (อียู) กำลังมีประเด็นกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้านั้นอาจจะทำให้ส่งผลต่อการตัดสินใจออกคำแนะนำเรื่องวัคซีนดังกล่าวด้วยเช่นกัน
“การตัดสินใจดังกล่าวอยู่ในบริบทด้านการจัดส่งวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทค ซึ่งวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์นั้นปรากฎข้อมูลมากมายว่ามีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันทั้งการฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ที่อายุน้อยกว่า ดังนั้น ในสถานการณ์นี้ก็ดูจะมีเหตุผลที่จะเลือกฉีดวัคซีนชนิดหนึ่งให้กับกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยกว่า และวัคซีนอีกชนิดหนึ่งกับกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า” นพ.สตีเฟ่น อีวานส์ ศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาที่วิทยาลัยสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนลอนดอนกล่าว
@เราควรเป็นกังวลหรือไม่ ถ้าหากเป็นผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า?
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่าวัคซีนนั้นมีความสำคัญและมีความปลอดภัยกับผู้ที่เป็นผู้สูงอายุ
“เรารู้ว่าวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าสามารถมอบการปกป้องได้ไม่มากก็น้อย แต่เพราะว่ากระบวนการทดลองนั้นมีการเกณฑ์อาสาสมัครซึ่งมีอายุเกิน 65 ปีมาเป็นจำนวนแค่ไม่กี่ร้อยคน ดังนั้นข้อมูลจึงไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะชี้ชัดว่าวัคซีนนั้นจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน”นพ.ไซมอน คลาร์ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยรีดดิงส์กล่าว
นพ.อีวานส์เองก็ได้แสดงความเห็นด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า “ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอสำหรับประชาชนในประเทศอังกฤษหรือที่อื่นๆที่จะคิดว่าวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจะไร้ประสิทธิภาพไม่ว่ากับช่วงอายุใดๆก็ตาม โดยขีดความสามารถของวัคซีนที่จะถูกส่งไปยังทีมแพทย์ในประเทศอังกฤษ รวมไปถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรานั้นถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุความพยายามที่จะลดจำนวนผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและผู้ที่เสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ”
ย้อนกลัมบมาดูข้อมูลในประเทศไทย นพ.โอภาส การะกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดข้อมูลอะไรตรงนี้มากนัก แต่จากการติดตามข้อมูล ณ เวลานี้ มีการอนุมัติวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าแล้วในหลายประเทศ และก็มีการสั่งซื้อในหลายประเทศเช่นกัน รวมไปถึงที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย
"ดังนั้นการจะตัดสินใจว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพใช้งานได้จริงหรือไม่ ก็ต้องดูแหล่งข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลอย่างเป็นทางการด้วย ไม่ใช่แค่แหล่งข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ และไม่ระบุชื่ออย่างเดียวและจะมาตัดสินใจได้ เพราะในกระบวนการทดลองวัคซีนในระยะที่ 3 นั้นจะต้องมีการเปรียบเทียบกันให้ชัดเจนระหว่างการใช้วัคซีนจริงกับการฉีดยาหลอก ว่ากลุ่มใดจะมีการติดเชื้อมากกว่ากัน และมีการรับรองจากนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นกลางนำมาประกอบกันด้วย"
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค
เรียบเรียงจาก:https://www.theguardian.com/world/2021/jan/28/why-has-germany-advised-against-oxfordastrazeneca-jab-for-over-65s
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/