"...จากปัญหาชาวบ้านบางกลอย สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของฐานคิดของนโยบายของรัฐในการที่จะนำคนออกมาจากป่า ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากผู้บริหารหรือคนที่มีอำนาจไม่เข้าใจสังคมการพึ่งพาระหว่างคนกับป่า ความล้มเหลวที่สอง คือ การทำให้คนไทยดั้งเดิมกลายเป็นอื่น คือการกำหนดกรอบการเป็นไทย โดยการละเลยประวัติศาตร์ของกลุ่มคนชายขอบหรือชายแดน พร้อมทั้งกล่าวว่าจะทำหน้าที่ผลักดันและสื่อสารในรัฐสภาเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเต็มที่..."
.....................................................
ป่าใหญ่ ‘ใจกลางแผ่นดิน’ หมู่บ้านดั้งเดิมของชาวบ้านบางกลอย หรือ กะเหรี่ยงบางกลอย ที่ตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่บรรพบุรุษรวมระยะเวลามากกว่าร้อยปี กระทั่งปี 2539 กรมป่าไม้ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 29 และจังหวัดเพชรบุรี เห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงและอ่อนไหวต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความมั่นคงทางการทหาร การปกครองเขตแนวชายแดน จึงอพยพชาวบ้านบางกลอยที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายตามแนวชายแดนไทย-พม่า มาอาศัยอยู่รวมกันในพื้นที่ที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ คือหมู่บ้านบางกลอยล่าง-โป่งลึกในปัจจุบัน
จากคำบอกเล่าของนายอภิสิทธิ์ เจริญสุข ชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนาในเวทีสาธารณะออนไลน์ ในหัวข้อ ‘จากกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์’ บอกว่า หลังจากการอพยพลงมาบ้านบางกลอยล่าง ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินประมาณครอบครัวละ 7 ไร่ และสำหรับที่อยู่อาศัย 1 ไร่ เวลาผ่านมากว่า 20 ปี หลังจากการอพยพครั้งแรก จำนวนผู้อพยพและประชากรในหมู่บ้านเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณที่ดินยังคงเท่าเดิม ทั้งนี้เคยเสนอยื่นขอสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รวมถึงสถานะทางทะเบียน หรือสัญชาติ ก็ยังไม่มีการจัดการจากรัฐ ทำให้คุณภาพแย่ลงกว่าเดิม บางครอบครัวไม่มีแม้กระทั่งที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย ต้องอาศัยอยู่อย่างแออัด อีกทั้งพื้นที่ที่จัดสรรให้นั้น ไม่เหมาะแก่วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน ภูมิประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นหิน ไม่เอื้ออำนวยให้สามารถเพาะปลูกได้ อีกทั้งการบริหารจัดการน้ำที่รัฐรับปากว่าจะจัดหาให้ ก็ไม่มี รวมถึงสถาการณ์ปัจจุบันที่เผชิญหน้ากับโควิด ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายของชาวบ้านกว่า 50 คนเดินเท้ากลับใจกลางแผ่นดิน เพื่อเป็นหนทางการมีชีวิตรอดต่อไป
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงที่มาและหลักฐานการมีอยู่ของชาวบ้านบางกลอยในพื้นที่ใจแผ่นดิน ว่า พื้นที่ใจแผ่นดินหรือบ้านบางกลอยบนนั้น เป็นป่าที่มีคนอาศัยอยู่มาตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ โดยพบหลักฐานเป็นขวานหินในถ้ำในพื้นที่ใจแผ่นดิน ในปี 2512 มีการมอบเอกสารรับรองตัวตน หรือที่เรียกว่า 'เหรียญชาวเขา' ชาวบ้านที่ใจแผ่นดินได้รับเหรียญยืนยันตัวตนนี้ นายโคอิ มีมิ หรือ 'ปู่คออี้' ผู้อาวุโสชาวไทยพื้นเมืองดั้งเดิมเชื้อสายกระเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ก็ได้รับด้วยเช่นกัน
ปี 2528 ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดกาญจนบุรี ได้ลงสำรวจพื้นที่และพบว่าปู่คออี้และชาวบ้านบางกลอยได้อาศัยอยู่ที่ใจแผ่นดินมาตลอด ถือเป็นการลงสำรวจและมีการบันทึกอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐ
ปี 2531 ได้มีการทำเอกสารสำรวจชาวเขา เป็นเอกสารที่รัฐรับรองเพื่อแสดงว่าชาวบ้านเป็นใคร ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ก็พบปู่คออี้และชาวบ้านบางกลอยอาศัยอยู่ที่ใจแผ่นดินเช่นกัน
ปี 2539 มีการบังคับอพยพชาวบ้าน แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่ยอมอพยพลงมา หรือบ้างก็กลับขึ้นไป
จนกระทั่งอุทยานฯได้ใช้ยุทธการตะนาวศรีเผากระท่อมและยุ้งข้าวของชาวบ้านเมื่อปี 2554 และกดดันให้ชาวบ้านย้ายลงมาอยู่หมู่บ้านบางกลอยล่าง-โป่งลึก จนมาสู่การฟ้องร้องศาลปกครอง โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีอำนาจในการกระทำดังกล่าว ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติฯ เนื่องจากชาวบ้านบุกรุกป่า และอ้างตาม มติ ครม. ปี 2541 ให้ชาวบ้านมาดำเนินการแล้ว แต่ชาวบ้านไม่มา ส่วนชาวบ้านก็ยืนยันว่าตนเองเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม โดยอ้าง มติ ครม. 3 ส.ค. 2553 การฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง จนเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องระหว่างอุทยานฯและชาวบ้าน
"และเมื่อปี 2561 ศาลปกครองสูงสุด มีคำวินิจฉัยว่า บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินเป็นชุมชนท้องถิ่นตั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในเขตอุทยานแห่งขาติแก่งกระจาน อีกทั้งการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ รื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และความเสียหายเกิดจากการกระทำละเมิดที่เกิดจกาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่" นายสุรพงษ์ กล่าว
ด้าน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเรื้อรัง อีกทั้งโยงใยหลายเรื่อง ทำให้ยากต่อการแก้ไข และเมื่อเวลามีปัญหาจากกลุ่มชาติพันธุ์ สังคมส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจและมีอคติเหมารวม จากภาพจำเหมารวมที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อ 30-50 ปีก่อน จากการทำลายป่า เข้าเมืองผิดกฎหมาย และการค้ายาเสพติด ฉะนั้นจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อลดอคตินี้แก่สังคม ส่วนกรณีชาวบ้านบางกลอยที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด โดยโควิดเป็นเสมือนตัวเปิดแผลปัญหาเรื้อรังในสังคม ถ้ามองในแง่ดีก็ถือว่าเป็นโอกาสที่จะแก้ปัญหา โดยวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านบางกลอยไม่ได้เสี่ยงกับโรคภัยเหล่านี้ กลุ่มชาติพันธุ์มักจะไม่ค่อยมีโรคระบาดใหญ่เกิดขึ้นจึงไม่มีภูมิคุ้มกัน เมื่อมีเชื้อโรคจึงติดง่าย
นพ.โกมาตร กล่าวอีกว่า หลักฐานต่างๆ ที่นำออกมาชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านบางกลอยนั้นเป็นคนดั้งเดิมของพื้นที่โดยไม่มีข้อโต้แย้ง ตอนนี้เหลือเพียงเรื่องมนุษยธรรมว่าจะมีใจให้พวกเขาหรือไม่ จากการศึกษาทุกครั้งที่มีการเจ็บป่วย ทุกคนอยากกลับบ้าน เพราะบ้านคือที่ที่ปลอดภัย ดังนั้นเมื่อชาวบางกลอยถูกย้ายลงมาเผชิญชะตากรรม 20 ปี เมื่อเกิดโควิด จึงเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจกลับไปก็เพื่อความอยู่รอด
ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาบ้านบางกลอยมาถึงจุดที่ต้องตั้งคำถามกับสำนึกของสังคมไทยจะอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรได้หรือไม่ จะปล่อยปละละเลยและใช้มาตรการด้านกฎหมายอย่างเดียวเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อนที่บังคับอพยพคนเหล่านี้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าเป็นเหตุปลุกเร้าสำนึกว่ารัฐควรปฎิบัติอย่างไร บางหน่วยงานอาทร ร้อนใจในการหาทางออก แต่บางหน่วยงานยึดแต่กฎหมายจึงทำให้ปัญหาทับซ้อนยิ่งขึ้น อีกทั้งเน้นย้ำว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ รัฐบาลต้องยืดหยุ่นและประนีประนอมให้ชาวบ้านบางกลอยเพราะเขาเพียงต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่จิตวิญญาณเท่านั้น
ส่วนด้านการดำเนินนโยบาย กฎหมาย หรือมาตราหารการให้ความช่วยเหลือ นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส. พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เช่นกัน กล่าวว่า ในกรณีเร่งด่วน ทุกฝ่ายจะต้องพูดคุยและทำเข้าใจถึงปัญหา แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงใดๆทั้งสิ้น และต้องให้การช่วยเหลือในแง่ของมนุษยธรรม ส่วนระยะกลาง จะต้องมีกลไกการพูดคุยที่ชัดเจน ถ้าไม่ให้กลับไปอยู่พื้นที่ดั้งเดิม จะอยู่พื้นที่ใหม่ที่จัดสรรให้ก็ต้องมีการเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งกระบวนการผลิตและที่อยู่อาศัย หรือว่าจะกลับไปใช้สิทธิชุมชนหรือสิทธิดินแดนถิ่นเกิด ก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย
นายมานพ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัญหาชาวบ้านบางกลอย สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของฐานคิดของนโยบายของรัฐในการที่จะนำคนออกมาจากป่า ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากผู้บริหารหรือคนที่มีอำนาจไม่เข้าใจสังคมการพึ่งพาระหว่างคนกับป่า ความล้มเหลวที่สอง คือ การทำให้คนไทยดั้งเดิมกลายเป็นอื่น คือการกำหนดกรอบการเป็นไทย โดยการละเลยประวัติศาตร์ของกลุ่มคนชายขอบหรือชายแดน พร้อมทั้งกล่าวว่าจะทำหน้าที่ผลักดันและสื่อสารในรัฐสภาเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเต็มที่
นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ได้เสนอแนะข้อเสนอของชนเผ่าพื้นเมืองต่อกฎหมาย ว่า ขอให้เคารพและปฎิบัติตาม มติ ครม. เรื่องพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษของทุกชาติพันธุ์ พร้อมทั้งพัฒนา มติ ครม. และสิทธิชุมชนท้องถิ่น ให้เป็นกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ในปัจจุบันมีร่างกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งหมด 3 ร่าง โดยร่างที่ 1 จัดทำโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ร่างที่ 2 ส่วนของสภาผู้แทนราษฎรอนุชาติพันธุ์กำลังจัดทำอยู่ และร่างที่ 3 จัดทำโดยกลุ่มสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยมายื่นเสนอกฎหมายเข้าชื่อต่อประธานรัฐสภา
ข้อเสนอสุดท้ายคือการทบทวนกฎหมายว่าด้วยป่าที่ล้าหลังที่ไม่ยอมรับสิทธิชุมชน ซึ่งจะเป็นทางออกของปัญหาเหล่านี้ในระยะยาว พร้อมทั้งยกตัวอย่างบ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) จังหวัดอุทัยธานี ที่ได้มีการประกาศพื้นที่เป็นพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษบ้านภูเหม็น ในขณะที่อยู่ในขั้นตอนขบวนการทางศาลปกครอง ชี้ให้เห็นว่าสามารถประกาศถอนคำสั่งอุทยานได้เมื่ออุทยานประกาศผิด หรือจะประกาศยกเว้นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านก็ได้เช่นกัน พร้อมชี้ว่าอย่ามองให้ตายตัวว่าเมื่อมีการฟ้องร้องแล้ว มีคดีแล้ว จะปรับเปลี่ยนไม่ได้หรือไม่สามารถทำอะไรได้
นายพฤ โอ่โดเชา ตัวแทนชาวกะเหรี่ยง จ.เชียงใหม่ ได้กล่าวทิ้งทายการเสวนาว่า ตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีท่าทีอะไรในการผลักดันหรือจัดการเรื่องกฎหมายชาติพันธุ์อย่างจริงจัง จึงอยากจะขอวิงวอนให้สังคมช่วยกันส่งเสียงไปสู่รัฐบาล อีกทั้งชี้แนวทางการแก้ไขเฉพาะหน้าเรื่องกรณีพื้นที่อยู่อาศัยหรือทำกินนั้น สามารถตรวจสอบย้อนหลังจากภาพถ่ายทางอากาศได้และเป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่มาแต่เดิมหรือบุกรุกเพิ่มขึ้น
จากเวทีเสวนา สรุปข้อเสนอในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในกรณีชาวบ้านบางกลอยว่า จะต้องไม่ดำเนินคดีกับชาวบ้านและต้องไม่ใช้ความรุนแรง มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะหน้าเพื่อมาดูแลกรณีนี้โดยที่ต้องมีอำนาจจาการสั่งการจากนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพียงคนเดียวนั้น อาจจะไม่หนักแน่นมากพออีกแล้ว และสุดท้ายคือการแก้กฎหมายที่มีปัญหา ให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิมีเสียง เช่น กฎหมายพื้นที่ทำกิน กฎหมายที่ทับซ้อนกัน รวมถึงการร่างกฎหมายใหม่เพื่อคุ้มครองและมอบสิทธิให้แก่หลุ่มชาติพันธุ์
(หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก สำนักข่าวชายขอบ)
ข่าวประกอบ :
เสวนาแก้ปัญหา'กะเหรี่ยงบางกลอย'อพยพกลับ'ใจแผ่นดิน'วอนรัฐอย่าใช้กำลัง-ขอเจรจาหาทางออก