"...เรื่องที่เกิดขึ้น ต่อไปก็ทำให้คนที่อยากไปทำงานรับใช้ชาวบ้านเสียกำลังใจ คนดีๆ ที่เขาอยากมาทำงานให้บ้านเมือง ก็ไม่อยากเข้ามา ถูกผิดไม่รู้ ร้องเรียนไว้ก่อน ซึ่ง กกต.ก็ต้องรับเรื่องไว้พิจารณา ทำให้รับรองผลล่าช้า เรื่องนี้ผมได้เคยถามไปยังทาง กกต. แต่ก็ยังไม่คืบหน้า เพราะติดเรื่องร้องเรียน แต่ผมเชื่อมั่นด้วยความบริสุทธิ์ว่าสุดท้ายแล้ว กกต.ก็ต้องประกาศให้เรา..."
....................................................................
แม้การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) จะจบลงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2563 แต่สำหรับคอการเมืองท้องถิ่น เรียกได้ว่ายังหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะในขั้นตอนการรับรองผลการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังมีเรื่องราวให้พิจารณาอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องร้องเรียนที่มีมากมายก่ายกอง ทั้งจากผู้สมัครด้วยกันเอง
จนถึงปัจจุบัน กกต.พิจารณาผลการเลือกตั้งไปแล้ว 68 จังหวัด รับรองผลเลือกตั้งนายก อบจ. 27 จังหวัด แขวนไว้ 41 จังหวัด เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียน
จังหวัดตรัง เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีเรื่องร้องเรียน และในพื้นที่ก็มีบรรยากาศตึงเครียดมาตั้งแต่วันนับคะแนนเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2563 โดยผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่า’โกเล้ง’ หรือ ‘นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ’ หัวหน้าทีมกิจปวงชน เบอร์ 1 พี่ชายของ ‘โกหนอ’ หรือ ‘นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ’ อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนน 162,419 คะแนน ขึ้นเป็นว่าที่นายก อบจ.ตรัง ขณะที่ ‘นายสาธร วงศ์หนองเตย’ หัวหน้าทีม 'ตรังพัฒนาเมืองตรัง' เบอร์ 2 ได้คะแนน 116,366 คะแนน ส่วน 'นายภูผา ทองนอก' เบอร์ 3 ในนาม 'กลุ่มตรังก้าวใหม่’ ได้คะแนน 13,141 คะแนน
ส่วนผลเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ.ตรัง อย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่า ทีม 'ทีมกิจปวงชน’ ของ ‘บุ่นเล้ง’ ได้ไป 19 คน จากทั้งหมด 30 เขตเลือกตั้ง
สนามเลือกตั้งนายก อบจ.ตรัง ดุเดือดตั้งแต่วันนับคะแนน โดยเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ‘นายสาวุฒิ วงศ์หนองเตย’ น้องชายของ ‘นายสาธร วงศ์หนองเตย’ ผู้สมัครนายกอบจ.ตรัง ‘ทีมตรังพัฒนาเมืองตรัง’ ทั้งสองเป็นน้องชายของ ‘นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย’ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นท้ายรถกระบะติดเครื่องเสียงเปิดเวทีปราศรัยเรียกร้องให้มีการนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ และ ชะลอการประกาศผลเลือกตั้งออกไปก่อน เพราะพบความเคลือบแคลงสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากล
และเป็นที่น่าสนใจว่ามีบางหน่วยเลือกตั้งสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งว่าด้วยการซื้อสิทธิขายเสียง จับกุมผู้ต้องหาได้พร้อมหลักฐานและคำรับสารภาพในชั้นจับกุม จำนวน 2 คดี
1.เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 เวลาประมาณ 13.18 น. ได้รับแจ้งเบาะแสจากพลเมืองดี ว่ามีการซื้อเสียงในพื้นที่ ต.ควรปริง อ.เมือง จ.ตรัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองตรัง จึงได้ส่งกำลังชุดเคลื่อนที่เร็ว ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าตรวจสอบ พบผู้ต้องหาพร้อมของกลางเป็นเงินจำนวน 26,300 บาท และซองขาวจำนวน 7 ซอง พร้อมบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเขต 4 หน่วยที่ 5 และ หน่วยที่ 6 ต.ควนปริง อ.เมือง สอบถามผู้ต้องหายอมรับว่าได้เตรียมเงินมาจ่ายให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้เลือกผู้สมัคร ส.อบจ. รายหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย
2.เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 กลุ่มชาวบ้านและชุดเคลื่อนที่เร็วของ กกต.ติดตามจับกุมหัวคะแนนของผู้สมัคร ส.อบจ.ได้ 2 คน พร้อมเงินสด และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และบัตรแนะนำตัว หนึ่งในผู้ถูกจับกุม เป็นอดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 10 ต.ท่าสะบ้า อ.วังวิเศษ หัวคะแนนผู้สมัคร ส.อบจ. เขต 1 อ.วังวิเศษ สังกัดทีมหนึ่ง จับกุมได้พร้อมกลางเป็นเงินสด จำนวน 1,200 บาท ซึ่งเหลือจากการแจกชาวบ้านเพื่อซื้อเสียงพร้อมสายรัดเงินของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ระบุยอดเงินมัดละ 10,000 บาท สอบสวนเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ
(นายสาวุฒิ วงศ์หนองเตย ปราศรัยท้ายรถกระบะ 20 ธ.ค.63)
นายสาวุฒิ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเมืองแบบสุดขั้ว เพราะเดิมพันกันสูงและการเรียกร้องให้มีการระงับการประกาศผลการเลือกตั้งไปก่อน เนื่องจากการนับคะแนนของแต่ละอำเภอเกิดความไม่โปร่งใส
"ก่อนการเลือกตั้งทางทีมไปสอบถามเรื่องสีของบัตรเลือกตั้งว่าจะเกิดปัญหาหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ ทำให้ทราบข้อเท็จจริงว่าบัตรเลือกตั้งถูกส่งมาถึงจังหวัดตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.2563 และช่วงที่ควรให้ความสำคัญเรื่องนี้ ปลัด อบจ.ตรัง กลับไปทำเรื่องอื่น เช่น ลงนามจัดซื้อรถตีนตะขาบแบบมีแขนมูลค่าหลายล้านบาท รวมทั้งลงนามเปิดประกวดราคาทำถนนหลายสายในพื้นที่ อ.ย่านตาขาว และ อ.ปะเหลียน จึงไม่แน่ใจว่าท่านให้ความสำคัญกับเรื่องไหนมากกว่ากัน ทำไมไม่รอคณะบริหาร อบจ.ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งมาดำเนินการเรื่องดังกล่าว" นายสาวุฒิกล่าว
ต่อมาผู้สมัคร ‘กลุ่มตรังก้าวใหม่’ โดย 'นายภูผา ทองนอก' ได้ไปยื่นหนังสือต่อ กกต.ตรัง กรณีพบการทุจริตจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 2 รายในข้างต้น เพื่อให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้กระจ่างชัดว่าการ เลือกตั้ง นายกอบจ.ตรัง เป็นไปโดยเสรี สุจริต เที่ยงธรรมหรือไม่ เพื่อปกป้องคะแนนเสียงอันบริสุทธิ์
นายภูผา กล่าวเรื่องนี้ว่า ตามที่กกต.ได้มีประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาส่วนท้องถิ่นและผู้บริหารส่วนท้องถิ่นจังหวัดตรังในวันที่ 20 ธ.ค. 2563 ปรากฏว่าได้มีการจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง ในท้องที่ ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรังโดยมีการจับกุมนายทวีเกลี้ยงรัตน์อายุ 61 ปี และจับกุมนายวิชิต พลอินทร์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ต.ท่าสะบ้า อ.วังวิเศษ จ.ตรัง หัวคะแนนผู้สมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ที่ศาลาประชาคมหมู่ 4 บ้านหนองดุก ต.ท่าสะบ้า อย่างอุกอาจดังปรากฏตามข่าวไปทั่วประเทศ
(นายภูผา ทองนอก ขณะเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต.จังหวัด)
หลังจากนั้นวันที่ 28 ธ.ค.2563 ‘นายสาธร’ พร้อมทีมงานผู้สนับสนุน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ ‘นางสาวอรพิน อาชีวะสุข’ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตรัง เพื่อยื่นคัดค้านการเลือกตั้ง ซึ่งพบความผิดปกติหลายประการ ที่เป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตเลือกตั้ง ก่อนที่จะเดินทางเข้า กทม. เพื่อยื่นหนังสือให้ กกต.กลาง ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายจัดการเลือกตั้งในจังหวัดอีกด้วย
สำหรับประเด็นเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ คือ พฤติกรรมของ ‘นายกิจ หลีกภัย’ อดีต นายก อบจ.ตรัง พี่ชายของ ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้สนับสนุนทีมกิจปวงชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ ปรากฏพฤติการณ์เดินทางพร้อมกับ’ผู้ช่วย ส.ส. 2 คน’ ร่วมกันเดินสายแจกของในช่วงน้ำท่วม ซึ่งอยู่ระหว่างการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง อบจ. ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและทางราชการกระทำการใดๆ อันเป็นการให้คุณให้โทษหรือมีผลต่อผู้สมัครรายใดรายหนึ่ง ตามมาตรา 34 และมาตรที่เกี่ยวข้อง ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่โดยหลักฐานทั้งหมดคือ ภาพถ่ายที่โพสลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัวของนายกิจเอง
(นายสาธร วงศ์หนองเตย)
ต่อกรณีดังกล่าว ‘นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ’ ว่าที่ นายก อบจ.ตรัง กล่าวถึงกรณีที่กกต.ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้ง ว่า สาเหตุที่ กกต.รับรองล่าช้าเนื่องจากมีผู้สมัครไปร้องเรียน ทั้งที่เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ไปร้อง เรื่องร้องเรียนนี้เกิดขึ้นเพราะ มีเพราะมีผู้สมัครสมาชิก อบจ. ในพื้นที่ร้องกันเองเกี่ยวกับเรื่องซื้อเสียง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ตนไม่ทราบ และไม่เกี่ยวข้อง ส่วนตัวทำตามกติกาทุกอย่าง
"เรื่องที่เกิดขึ้น ต่อไปก็ทำให้คนที่อยากไปทำงานรับใช้ชาวบ้านเสียกำลังใจ คนดีๆ ที่เขาอยากมาทำงานให้บ้านเมือง ก็ไม่อยากเข้ามา ถูกผิดไม่รู้ ร้องเรียนไว้ก่อน ซึ่ง กกต.ก็ต้องรับเรื่องไว้พิจารณา ทำให้รับรองผลล่าช้า เรื่องนี้ผมได้เคยถามไปยังทาง กกต. แต่ก็ยังไม่คืบหน้า เพราะติดเรื่องร้องเรียน แต่ผมเชื่อมั่นด้วยความบริสุทธิ์ว่าสุดท้ายแล้ว กกต.ก็ต้องประกาศให้เรา โดยในวันที่ 19 ม.ค. กกต.จังหวัดได้เรียกผมไปชี้แจง แต่ไม่ทราบว่ามีประเด็นใดบ้าง" นายบุ่นเล้ง กล่าว
ต่อเรื่องการจับทุจริตซื้อเสียงการเลือกตั้ง ที่อื้อฉาวในเมืองตรังในขณะนี้ ‘นางสาวอรพิน อาชีวะสุข’ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตรัง กล่าวว่า กกต.ตรังรับเรื่องร้องเรียนการเลือกตั้งแล้ว 3-4 เรื่อง ทุกเรื่องอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรณีจับกุมการทุจริตซื้อเสียงด้วย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเรียกพยานมาสอบปากคำ
"ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และจะรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้มากที่สุด แต่การตัดสินไม่ได้อยู่ที่สำนักงาน กกต.จังหวัด จะส่งเรื่องไปยัง กกต.ส่วนกลาง และ กกต.ส่วนกลางจะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย เบื้องต้นจะสาวถึงตัวผู้สมัคร ส.อบจ.เขต หรือถึงตัวผู้สมัคร นายก อบจ. หรือไม่ อยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวน โดย กกต.ตรังได้รายงาน กกต.กลางให้ทราบเป็นระยะๆ ยืนยันไม่มีกระบวนการแทรกแซงการทำงาน แต่อย่างใด" นางสาวอรพินยืนยัน
นาทีนี้ สนามเลือกตั้ง อบจ.ตรัง ต้องติดตามอย่ากระพริบตา มีความร้อนระอุ เหมือนภูเขาไฟปะทุอยู่ภายใน กองเชียร์และเครือญาติหัวหน้าทีมหนึ่ง โพสเฟสบุ๊กเชิงเปรียบเทียบอีกฝ่ายว่าเป็น ‘โดนัลด์ ทรัมป์ 2’ ที่เลือกตั้งแพ้ (อย่างไม่เป็นทางการ) แค่คนกลับไม่ยอมแพ้
เรื่องจะจบลงอย่างไร ถือเป็นงานท้าทาย กกต. ที่จะชี้ขาดในขั้นสุดท้าย ส่วน ‘รอยร้าวคนกันเอง’ ใน ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ระหว่าง ‘ตระกูลวงศ์หนองเตย’ กับ ‘ตระกูลโล่สถาพรพิพิธ’ ยังไม่เห็นเส้นทางที่จะกลับมาบรรจบ และยังยากที่จะสมานคืน
ข่าวประกอบ :
ร้อยร้าว ปชป.สนาม อบจ.ตรัง บ้านนายหัวชวน‘โล่สถาพรพิพิธ-วงศ์หนองเตย’แตก 2 ทีมชิงกันเอง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage