9 กรณีการตรวจสอบตสำคัญในมือองค์กรอิสระ-อัยการ ยังไร้บทสรุปในปี 63 ‘ปารีณา’รุกป่า-แจ้งบัญชีทรัพย์สินคลาดเคลื่อน ‘สกุลธร’ โดน บก.ป.ขยายผลปมให้สินบน ‘สมพร’รุกป่าสงวน 450 ไร่ ‘นิพนธ์’ ไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถให้เอกชน ‘ขส.ทบ.-ปภ.’ จัดซื้อรถ 14 โครงการ 4.6 พันล้าน ‘ลูกเก้งเผือกพระราชทาน’หายจากสวนสัตว์สงขลา เอาผิด จนท.รัฐไม่สั่งฟ้อง ‘บอส อยู่วิทยา’ 3 คดีสินบนข้ามชาติยังอืดในมือ ป.ป.ช. ลุ้นต่อปี 64
.............................
ในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา มีคดีความหลายคดีที่ถูกหน่วยงานในองค์กรอิสระ หรือองค์กรยุติธรรม ดำเนินการสืบสวนสอบสวน หลายคดีถึงชั้นศาล มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว แต่ยังมีอีกไม่น้อยเช่นกันที่คดียังค้างคาอยู่ มีอะไรบ้าง สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
1.คดีกล่าวหา น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ บุกรุกป่า
น.ส.ปารีณา ถูกกล่าวหา 2 กรณีด้วยกัน ได้แก่ หนึ่ง กรณีบุกรุกป่าสงวนอย่างน้อย 711 ไร่ 2 งาน 92 ตารางวา โดยกรมป่าไม้ ดำเนินการตรวจสอบที่ดิน ภ.บ.ท.5 และที่ดินอื่น ๆ ของ น.ส.ปารีณา ที่ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และพบว่า ‘เขาสนฟาร์ม’ ฟาร์มเลี้ยงไก่ของ น.ส.ปารีณา มีการบุกรุกที่ดินป่าสงวนดังกล่าว โดยเมื่อต้นเดือน พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา กองบังคับการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) แจ้งข้อหาแก่ น.ส.ปารีณา อย่างน้อย 4 ข้อหาในกรณีบุกรุกป่าสงวน นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบที่ดินของนายทวี ไกรคุปต์ บิดา น.ส.ปารีณา กว่า 1 พันไร่เศษด้วย (อ่านประกอบ : 3 ปม ภ.บ.ท.5 ‘ปารีณา’กี่ไร่กันแน่-ทำไมไม่แจ้งช่วง ส.ส.ปี 54-57-ไฉนราคาแค่ 2 แสน?)
ประเด็นนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ปารีณา กรณีผิดมาตรฐานจริยธรรม ส.ส.อย่างร้ายแรง เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินป่าสงวนด้วย ขณะนี้รวบรวมข้อมูลเสร็จแล้ว และเตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อลงมติอย่างหนึ่งอย่างใดในช่วงต้นปี 2564 (อ่านประกอบ : ‘ปารีณา’ขอขยายเวลาแจงคดียื่นทรัพย์สินเท็จ-ชงที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาภายใน พ.ย.รู้ผล)
สอง กรณีแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินถือครอง ภ.บ.ท.5 จำนวน 1,700 ไร่เศษ ทั้งที่การตรวจสอบของกรมป่าไม้พบว่า น.ส.ปารีณา มีที่ดินประเภท ภ.บ.ท.5 ประมาณ 600 ไร่เศษ โดยเจ้าตัว และนายทวี บิดา เคยยืนยันเช่นกันว่ามี ภ.บ.ท.5 แค่ 600 ไร่เศษ เบื้องต้น น.ส.ปารีณา อ้างว่า เป็นการกรอกข้อมูลคลาดเคลื่อน และทำหนังสือชี้แจงไปยังประธานกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว (อ่านประกอบ : บก.ปทส.สรุปสำนวนส่งอัยการฟ้อง‘ปารีณา’คดีรุกป่า 4 ข้อหา-สอบ‘ทวี’รุกที่ดินรัฐพันไร่)
2.กรณีกล่าวหานายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกขยายผลสอบสวนปมให้สินบนอดีต จนท.สำนักงานทรัพย์สินฯ
กรณีนี้กองปราบปราม (บก.ป.) ดำเนินการสอบสวน และขยายผลเพิ่มเติมภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีคำพิพากษา พิพากษาลงโทษจำคุก นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) และนายสุรกิจ ตั้งวิทูวณิช ตัวกลางผู้ประสานงานนายหน้า คดีร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ บริเวณชิดลม และรับสินบนจากนายสกุลธร อย่างน้อย 3 ครั้ง วงเงิน 20 ล้านบาท
โดย บก.ป. อยู่ระหว่างสอบสวนหาต้นตอการให้สินบนแก่อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินฯ และอดีตนายหน้าข้างต้น ความคืบหน้าขณะนี้ นายประสิทธิ์ และนายสุรกิจ ได้พ้นโทษออกจากเรือนจำ และถูกเรียกมาให้ปากคำเพิ่มเติมแก่ บก.ป. แล้ว โดยนายสุรกิจ ยืนยันว่าได้รับเช็คจากนายสกุลธรจริง ก่อนนำไปมอบต่อให้แก่นายประสิทธิ์ อย่างไรก็ดีขณะนี้ บก.ป. ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายสกุลธรแต่อย่างใด (อ่านประกอบ : ยันรับเช็คจาก‘สกุลธร’! อดีตนายหน้าให้ปากคำ บก.ป.คดีสินบนเช่าที่ สนง.ทรัพย์สินฯ)
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกแถลงการณ์เป็นเอกสารข่าว (Press Release) ชี้แจงกรณีนี้ 3 หน้ากระดาษ โดยยืนยันความบริสุทธิ์ และตนเองตกเป็นผู้เสียหาย เพิ่งมาทราบทีหลังว่าเป็นเอกสารปลอม ที่ผ่านมาให้ความร่วมมือกับตำรวจสอบสวนเต็มที่จนจับผู้กระทำผิดได้ ส่วนการจ่ายเงินนั้น เป็นค่านายหน้าที่มีลักษณะเป็นที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ โดยเป็นไปตามมาตรฐานสากลวิชาชีพ (อ่านประกอบ : รู้ทีหลังว่าเอกสารปลอม-ยันบริสุทธิ์! ‘สกุลธร’แจง 6 ข้อคดี จนท.สนง.ทรัพย์สินฯรับสินบน)
3.กรณีกล่าวหานางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีบุกรุกป่าสงวน 450 ไร่
เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา กรมป่าไม้ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) กล่าวหานางสมพรว่า บุกรุกที่ดินป่าสงวน 450 ไร่ และทำหนังสือแจ้งกรมที่ดินเพิกถอนที่ดิน น.ส.3 ก ของนางสมพรด้วยกว่า 2,000 ไร่
โดยที่ดินที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่า 450 ไร่นั้น เป็นที่ดินประเภท น.ส.3 ก 55 ฉบับ ออกโดยไม่มีหลักฐานเดิม (ส.ค.1) ในพื้นที่เขตป่าไม้ถาวรหมานยเลข 85 ซึ่งประกาศใช้ก่อนที่จะมีการออก น.ส.3 ก ดังกล่าวได้ ทำให้เป็นเอกสารที่มิชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงมีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่านางสมพร มีเจตนาครอบครองที่ดินประเภท น.ส.2 โดยซื้อเปลี่ยนมือจากบุคคลอื่น 7 แปลง เนื้อที่ประมาณ 350 ไร่ ขณะเดียวกันยังครอบครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 อีก 1 แปลง 90 ไร่ ซึ่งอาจได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (อ่านประกอบ : กรมป่าไม้แจ้งความ บก.ปทส.กล่าวหา‘สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ’รุกป่าสงวน 450 ไร่)
4.กรณีกล่าวหานายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ละเลยการปฏิบัติหน้าที่
นายนิพนธ์ ถูกร้องเรียนตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ไม่ยอมเบิกจ่ายเงินให้บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เป็นค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ 2 คัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 50,850,000 บาท ทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2556 โดยประเด็นนี้นายนิพนธ์ ชี้แจงหลายครั้งว่า เนื่องจากบริษัทเอกชนรายดังกล่าว และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้นอาจไม่โปร่งใส อาจมีการฮั้วประมูล เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ อบจ.สงขลา จึงยังไม่เบิกจ่ายเงิน
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มองว่า ประเด็นที่นายนิพนธ์แจง เป็นคนละกรณีกัน และเรื่องการฮั้วประมูลอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. เช่นกัน แต่พฤติการณ์ตามการไต่สวนของ ป.ป.ช. กล่าวหาว่า พฤติการณ์ของนายนิพนธ์มีลักษณะถ่วงเวลาไม่เบิกจ่ายเงินให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เพราะกรณีนี้ อบจ.สงขลา ทำเรื่องรับมอบและตรวจสอบรถดังกล่าวเมื่อเดือน ต.ค. 2556 อย่างไรก็ดีมีการร้องเรียนว่ากลุ่มเอกชนมีพฤติการณ์ฮั้วประมูลเมื่อ ธ.ค. 2556 แม้ว่านายนิพนธ์จะมีคำสั่งให้ อบจ.สงขลา ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ก็ตาม และมีการแจ้งความร้องทุกข์แก่ตำรวจ แต่ไม่ได้มีการร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. เป็นต้น จึงเห็นว่านายนิพนธ์ไม่ได้มีการทำตามสัญญาซื้อขาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติชี้มูลความผิดดังกล่าว
ปัจจุบันนายนิพนธ์ ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย และสำนวนคดีนี้ถูกส่งไปยังสำนักงานอัยการปราบปรามการทุจริต ภาค 9 เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 แล้ว (อ่านประกอบ : สนง.อัยการปราบทุจริตฯภาค 9 ตั้งคณะทำงานพิจารณาคดี‘นิพนธ์’-ขีดเส้นเสร็จใน 90 วัน)
5.กรณีกล่าวหา ขส.ทบ-ปภ.จัดซื้อรถ 14 โครงการ 4.6 พันล้าน
ประเด็นนี้สำนักข่าวอิศราตรวจสอบมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 กรณีกรณีกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) จัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ปรับอากาศ แบบที่ 4 แบบที่ 6 และ แบบที่ 7 ในช่วง 4 ปีงบประมาณ ได้แก่ ปี 2558 ,2561-2563 รวม 7 ครั้ง (สัญญา) จำนวน 429 คัน เป็นเงินประมาณ 2,250 ล้านบาท จาก บริษัท อิทธิพรอิมปอร์ต จำกัด พบว่า กระบวนการประกวดราคา 5 ครั้งใน 7 ครั้ง (สัญญา) มีเอกชน หจก. ที.ไอ.พี.ออโต้พาร์ท เป็นคู่เทียบเพียงรายเดียว และถูกร้องเรียนว่าอาจเอื้อประโยชน์ให้เอกชน
โดยข้อสังเกตสำคัญที่ตรวจสอบพบคือ เอกชนทั้ง 3 รายที่ยื่นประมูลมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน นอกจากนี้ยังถูกอ้างอิงแหล่งที่มาราคากลางในการจัดซื้อรถยนต์บางสัญญาด้วย
นอกจากนี้ 3 เอกชนดังกล่าว พบว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการ มีการเชื่อมโยงกับบริษัท ท็อปเบส์ท จำกัด คู่สัญญาการจัดซื้อรถประกอบอาหารพร้อมอุปกรณ์ และ การจัดซื้อรถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยพร้อมอุปกรณ์ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สังกัด กระทรวงมหาดไทย ในการกำกับของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีฯ ในช่วงตั้งแต่ปี 2559 - 2563 จำนวน 7 โครงการ มูลค่ารวม 2,358.2 ล้านบาท ในจำนวนนี้ มี 5 โครงการ ประมาณ 2,042 ล้านบาท ผู้เสนอราคา 2 ราย (คู่เทียบรายเดียว) อีกด้วย (อ่านประกอบ : ตีแผ่จัดซื้อรถ 'ขส.ทบ.-ปภ.' 4.6 พันล. ยุค‘บิ๊กตู่ บิ๊กป๊อก’ เงื่อนปมที่ยังไม่มีคำชี้แจง)
ความคืบหน้ากรณีนี้เมื่อเดือน พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงรายละเอียดไปแล้ว แต่ข้อมูลจนถึง ณ วันที่ 2 ม.ค. 2564 ยังไม่มีการชี้แจงอย่างเป็นทางการแก่สาธารณะแต่อย่างใด
6.กรณี ‘ลูกเก้งเผือกพระราชทาน’ หายไปจากสวนสัตว์สงขลา
ประเด็นนี้สำนักข่าวอิศราติดตามตรวจสอบมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 ภายหลังได้รับการร้องเรียนว่าลูกเก้งเผือกพระราชทานหายไปจากสวนสัตว์สงขลาอย่างเป็นปริศนา โดยจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มีลูกเก้งเผือกหายไปจริงอย่างน้อย 2 ตัว โดยมีการอ้างว่าถูกงูเหลือมกินไปทั้งคู่ อย่างไรก็ดีมีข้อโต้แย้งหลายประการ เช่น ถ้าหากลูกเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานถูกงูกินเข้าไป โดยธรรมชาติงูเหลือมจะเลื้อย ออกไปไหนไม่ได้ เนื่องจากเก้งเผือกมีอายุ 3 เดือนน้ำหนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม ขณะที่ช่วงเวลาที่ตรวจสอบพบ ซากกระดูกสัตว์ดังกล่าว ก็ห่างจากช่วงเวลาที่มีการตรวจพบว่า ลูกเก้งเผือกหายตัวไปกว่า 2 เดือน และที่สำคัญการพบซากกระดูกดังกล่าว ไม่มีทำเรื่องแจ้งเข้ามาให้องค์การสวนสัตว์ส่วนกลาง รับทราบเป็นทางการตามระเบียบขั้นตอนปฏิบัติที่สวนสัตว์ในสังกัดองค์การสวนสัตว์ ทุกแห่งจะต้องมีการรายงานตัวเลขจำนวนประชากรสัตว์ทั้งเกิด ป่วย ตาย ให้ส่วนกลางรับทราบเป็นประจำทุกเดือน
กรณีการตรวจสอบพบซากกระดูกเก้งแล้ว ไม่มีการรายงานเข้ามาให้ส่วนกลางรับทราบ ทำให้สวนสัตว์สงขลา ถูกตั้งข้อสงสัยอย่างมาก ว่า 1.มีใครที่ต้องการทำอะไรเพื่อปกปิดหลักฐานการหายตัวไปของลูกเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานที่หายไปหรือไม่ 2. ถ้าซากกระดูกเก้ง ที่ตรวจสอบพบ ไม่ใช่ ลูกเก้งเผือก แล้วเป็นเก้งจากไหน 3. ถ้าซากกระดูกเก้งที่พบเป็นเก้งในสวนสัตว์ตัวใหม่ที่ตายลง ทำไมถึงไม่มีการรายงานข้อมูลเรื่องนี้ให้ส่วนกลางรับทราบเป็นทางการ? 4. นอกจากเก้ง ที่หายไปแล้ว มีสัตว์ชนิดอื่น ที่หายไปในลักษณะเดียวกันนี้อีกหรือไม่ และ 5. สวนสัตว์ของรัฐ กำลังถูกคนบางกลุ่มใช้เป็นฐานฟอกสัตว์ของขบวนการลักลอบค้าสัตว์ที่ผิดกฎหมายหรือไม่
ปัจจุบันกรณีนี้ องค์การสวนสัตว์ ส่งพิสูจน์ซากกระดูกลูกเก้งเผือกตัวแรก เพื่อเปรียบเทียบสายพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยล่าสุดมีกระแสข่าวว่า สีขน และความยาวของซากกระดูกบางส่วนที่ส่งไปตรวจสอบส่อว่ามีความผิดปกติ ส่วนลูกเก้งเผือกตัวที่ 2 ที่สรุปสาเหตุการตายแล้วว่าถูกงูเหลือมกินจริง แต่ทำไมงูถึงกินเข้าไปได้อีก มีใครจัดฉากหรือไม่ ยังไม่มีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) องค์การสวนสัตว์ เตรียมขยายผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ให้ครอบคลุมการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงในสวนสัตว์สงขลาว่า มีส่วนรู้เห็นกรณีนี้หรือไม่ แม้ว่าเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2563 นายเฉลิมวุฒิ เกษตรสมบูรณ์ ผอ.สวนสัตว์สงขลา ทำหนังสือขอลาออกจากราชการ หลังไปบวชอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งและลาสึกออกมาแล้ว (อ่านประกอบ : จับตาผลสอบดีเอ็นเอ 'ลูกเก้ง' & 7 เรื่องร้องเรียนองค์การสวนสัตว์ รอสะสางปี 64)
7.กรณีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์
ประเด็นนี้สำนักข่าวอิศราติดตามตรวจสอบมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ ร.อ.ธรรมนัส ดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ โดยข้อตรวจสอบสำคัญพบว่า นางอริสยา พรหมเผ่า ภรรยา ร.อ.ธรรมนัส ถือครองหุ้นธุรกิจเกิน 5% ของทุนจดทะเบียน โดยไม่แจ้งต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายใน 90 วัน ตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543
สำนักข่าวอิศราเปิดประเด็นตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 2563 โดยพบว่า นางอริสรา พรหมเผ่า ภรรยา ร.อ.ธรรมนัส แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณี ร.อ.ธรรมนัส รับตำแหน่ง ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 (ป.ป.ช. เปิดเผย 22 ส.ค. 2562) ถือครองหุ้น 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท สบายใจ มาร์เก็ต จำกัด ถือ 40,000 หุ้น (80% ของทุนจดทะเบียน) บริษัท ฮันนี สไมล์ ฮอลิเดย์ (2018) จำกัด ถือ 8,000 หุ้น (80% ของทุนจดทะเบียน) และบริษัท รักษาความปลอดภัย พี.ที.การ์ด จำกัด ถือ 140,000 หุ้น (70% ของทุนจดทะเบียน) โดยนางอริสรายังถือครองหุ้นอยู่แม้แต่ในช่วง ร.อ.ธรรมนัส รับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ กระทั่งเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 นางอริสรา มีการแจ้งลดการถือครองหุ้นทั้ง 3 บริษัท ให้ไม่เกิน 5%
อย่างไรก็ดีความคืบหน้าขณะนี้แม้จะผ่านมากว่า 5 เดือนแล้ว แต่สำนักงาน ป.ป.ช. ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเท่านั้น และยังไม่มีการตรวจสอบเชิงลึก หรือมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแต่อย่างใด (อ่านประกอบ : ผ่าน 5 เดือน ป.ป.ช.ยังสอบเบื้องต้นอยู่! ปมเมีย‘ธรรมนัส’ถือหุ้นเกิน 5% หรือไม่)
8.กรณีการสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยวไม่สั่งฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชน ตร.เสียชีวิต
ประเด็นนี้กลายเป็นข่าวโด่งดังอย่างมากในปี 2563 ภายหลังสื่อต่างประเทศตีแผ่ว่ารองอัยการสูงสุด (รอง อสส.) คือนายเนตร นาคสุข ลงนามคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ คดีขับรถชนผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยประมาท กระทั่งนำไปสู่การรื้อฟื้นผลการสอบสวนคดีนี้ รัฐบาลตั้งคณะทำงานฯศึกษากรณีนี้ โดยมีนายวิชา มหาคุณ โดยท้ายที่สุดมีการส่งรายงานเล่มนี้ไปยังหน่วยงานตรวจสอบเพื่อดำเนินการขยายผลเพิ่มเติม
เท่าที่ผ่านมาในปี 2563 มีหน่วยงานตรวจสอบอย่างน้อย 2 องค์กรที่ออกแอ็คชั่นเรื่องนี้ ได้แก่ หนึ่ง สำนักงานอัยการสูงสุด โดยคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) มีการตั้งคณะกรรมการสอบการใช้ดุลพินิจของนายเนตร กรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุธ ไปแล้ว (อ่านประกอบ : ‘ไพรัช’ไขก๊อก-ก.อ.มติเอกฉันท์ตั้ง‘ประสาน หัตถกรรม’ปธ.สอบ‘เนตร’ปมไม่สั่งฟ้องคดีบอส)
สอง สำนักงาน ป.ป.ช. ที่เคยไต่สวนและชี้มูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรงแก่อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 กับพวก กรณีสอบสวนเพื่อช่วยเหลือนายวรยุทธ โดยสำนักงาน ป.ป.ช. เตรียมรื้อคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาตามพยานหลักฐานใหม่ในรายงานของคณะกรรมการศึกษาฯชุดนายวิชา มหาคุณ อีกครั้ง ปัจจุบันมีการส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอีกครั้งด้วย (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ชง ปปง.สอบเส้นทางเงินบุคคลเอี่ยว‘คดีบอส’สาวลึกใครได้รับผลประโยชน์บ้าง)
9.คดีสินบนข้ามชาติในการไต่สวนของ ป.ป.ช.
มีอย่างน้อย 3 คดีสำคัญด้วยกัน ได้แก่
หนึ่ง กรณีโรลส์-รอยซ์จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ทางการไทย เพื่อให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดซื้อเครื่องยนต์ โดยกรณีการบินไทยนั้น ปัจจุบันคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นอดีตกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย อย่างไรก็ดีไม่มีชื่อของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม เมื่อปี 2549 ที่เดิมเคยปรากฏชื่อเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด โดยความคืบหน้าเรื่องนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า ภายในต้นปี 2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะหารือกันเพื่อลงมติอย่างหนึ่งอย่างใด (อ่านประกอบ : อดีตบิ๊กบินไทยแก้ข้อกล่าวหาคดีโรลส์รอยซ์แล้ว! ป.ป.ช.จ่อสรุปสำนวน-ไร้ชื่อนักการเมือง)
สอง คดีสินบนเหมืองแร่ทองคำ กรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ส่งข้อมูลและหลักฐานที่ได้รับจาก ก.ล.ต.ออสเตรเลีย (ASIC) มาให้กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐไทย รับสินบนจากกลุ่มบริษัทคิงส์เกตฯ บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ได้ประโยชน์ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ในพื้นที่ จ.สระบุรี จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก โดยมิชอบ โดยความคืบหน้ากรณีนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า มีกระแสเงินไหลไปที่ฮ่องกง ก่อนมาที่ไทย เบื้องต้นได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้องในฮ่องกงแล้ว แต่ปัจจุบันผ่านมาปีเศษ ทางการฮ่องกงยังไม่ได้ส่งข้อมูลมาให้ ทำให้เรื่องยังคงไม่สามารถเดินหน้าได้เท่าที่ควร (อ่านประกอบ : เบื้องหลังคดีสินบนเหมืองช้า! พบกระแสเงินไหลไปฮ่องกง-ป.ป.ช.ขอไปปีกว่ายังไม่ได้ข้อมูล)
สาม คดีสินบนปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวน (กรรมการ ป.ป.ช. 9 ราย) เพื่อไต่สวนกรณีกล่าวหา ผู้บริหารระดับสูงในบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ หรือ PTT.GE บริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถูกกล่าวหาว่าลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่พบความไม่ชอบมาพากลในการลงทุน และมีการจ่ายค่านายหน้าแพงเกินจริงกว่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมามีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้ว อย่างไรก็ดีกรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวนดังกล่าว มีการเสนอชื่อ อดีตผู้บริหารระดับสูงในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เป็นบุคคลสำคัญเชื่อมระหว่าง PTT.GE และ ปตท. เพื่อให้องค์คณะไต่สวนฯ พิจารณาเพิ่มชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหามาแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง ทว่าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติไม่ไต่สวนอดีตผู้บริหารรายนี้ โดยอ้างว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ และส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ไปหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันว่า คาดว่าคดีนี้จะดำเนินการเสร็จให้ทันภายในปี 2563 ตามกรอบเวลาที่วางไว้ อย่างไรก็ดีข้อมูลจนถึงวันที่ 2 ม.ค. 2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่มีการเปิดเผยมติอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับกรณีนี้ (อ่านประกอบ : ชงที่ประชุมเป็นครั้งที่ 4-ป.ป.ช.ยังไม่ไต่สวน‘อดีตบิ๊ก ปตท.’คีย์แมนคดีปาล์มอินโดฯ)
ทั้งหมดคือ 9 กรณีสำคัญ ๆ ที่ยังไม่มีบทสรุปภายในปี 2563 ที่ผ่านมา คงต้องรอจับตาดูกันในปี 2564 ว่า จะมีเรื่องใดถึงที่สุดกันบ้าง?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/