"...ความตึงเครียด อิหร่าน-สหรัฐฯ สะเทือนมิติความมั่นคงโลกตลอดปี 63 -โควิดโลกจากเมืองอู่ฮั่น สู่ยอดทะลุ 80 ล้านคนทั่วโลก-การประท้วงแบล็กไลฟส์แมตเทอร์ สะเทือนทั่วโลก-ทรัมป์แพ้เลือกตั้ง สหรัฐฯหลุดเก้าอี้ โจ ไบเด้น ว่าที่ ปธน.สหรัฐฯ-ICIJ ประกาศรายงานธนาคารทั่วโลกส่อเอี่ยวธุรกรรมการเงินผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2562..."
..........................
ในปี 2563 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้น เป็นปีที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส รวมไปถึงประเด็นความมั่นคงและประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อร่วมบันทึกข้อมูลสำคัญต่างๆ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข่าวเด่นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นรอบโลกมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
@ ความตึงเครียด อิหร่าน-สหรัฐฯ สะเทือนมิติความมั่นคงโลกตลอดปี 63
เริ่มต้นปี 2563 กันด้วยประเด็นเรื่องปัญหาความตึงเครียดระหว่งประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอิหร่าน โดยเมื่อวันที่ 3 ม.ค. สื่อของทางการอิหร่านรายงานข่าวที่ยืนยันว่า พล.อ.กัสซิม โซเลมานี (Qassem Suleimani) ผู้บัญชาการกองกำลัง Quds Force ซึ่งเป็นกองกำลังสำคัญในสังกัดของกองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน ได้เสียชึวิตจากเหตุโจมตีสนามบินแบกแดนในอิรัก
โดยรายงานจากสื่อฝั่งอิหร่านระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นช่วงรุ่งสางของวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น มีจรวดไม่ทราบฝ่ายสามลูก ยิงใส่รถยนต์สองคันที่กำลังวิ่งไปสนามบินนานาชาติแบกแดด เป็นเหตุนายพลกัสซิม และทหารอิรัก 5 รายเสียชีวิต และเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นแขกของอิรักอีก 2 รายที่อยูในรถยนต์
ต่อมาด้านกระทรวงกลาโหมสหรัฐได้แถลงยืนยันว่า สหรัฐได้มีปฏิบัติการโดรนโจมตีทางอากาศเพื่อมุ่งหมายปลิดชีพนายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลัง Quds Force ของอิหร่านที่สนามบินในกรุงแบกแดด ด้วยเหตุผลเพื่อปกป้องบุคคลากรของสหรัฐ
โดยทางด้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯให้เหตุผลว่า "นายพลโซเลมานี กำลังวางแผนโจมตีสถานทูตสหรัฐหลายแห่ง รวมถึงกองกำลังทหารอเมริกันในอิรักและในภูมิภาค นายพลโซเลมานีและกองกำลังภายใต้การนำของเขามีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของทหารอเมริกันและพันธมิตรหลายร้อยนาย รวมถึงเหยื่อผู้บาดเจ็บอีกนับพันคน"
อย่างไรก็ตาม จากการสังหาร พล.อ.โซเลมานีทำให้เมื่อวันที่ 8 ม.ค. กองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน(ไออาร์จีซี) ได้ทำการโจมตีฐานทัพอากาศของสหรัฐในอิรักด้วยขีปนาวุธมากกว่า 10 ลูก แต่ทั้งนี้ไม่ปรากฎข้อมูลอย่างเป็นทางการว่าการโจมตีดังกล่าวนั้นทำให้มีเจ้าหน้าที่สหรัฐฯบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด
และความตึงเครียดของอิหร่านกับสหรัฐฯก็กลับมาคุกรุ่นอีกครั้งในช่วงปลายปี 2563 โดนเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมายืนยันว่า อิสราเอลเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารนายโมห์เซน ฟาครีซาเดห์ นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์คนสำคัญของอิหร่านเมื่อวันที่ 28 พ.ย. แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียดว่า รัฐบาลสหรัฐฯ รู้เกี่ยวกับการโจมตีครั้งนี้ก่อนเกิดเหตุ หรือให้การสนับสนุนหรือไม่
ซึ่งจากกรณีดังกล่าวนั้นทำให้ทางรัฐบาลอิหร่านได้ประกาศว่าจะเอาคืนกับทั้งประเทศอิสราเอลและประเทศสหรัฐฯ
@โควิดโลกจากเมืองอู่ฮั่น สู่ยอดทะลุ 80 ล้านคนทั่วโลก
ประเด็นถัดมานั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสที่เริ่มมาจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ก่อนที่จะมีการระบาดไปทั่วโลก และ ณ เวลานี้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกไปแล้วจำนวน 82,362,373 คน
โดยไทม์ไลน์คร่าวๆเกี่ยวกับช่วงเวลาการระบาดของโควิด-19 มีดังนี้
31 ธ.ค. 2562 – สำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศจีนเจอแถลงการณ์ของสำนักงานสาธารณสุขอู่ฮั่น ที่ระบุว่ามีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งเป็นโรคปอดบวมจากเชื้อไวรัส หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกที่ทราบข่าวเริ่มติดต่อไปยัง WHO เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
1 ม.ค. 2563 – WHO ติดต่อทางการจีนเพื่อขอรายงานเพิ่มเติม และส่งสัญญาณให้หน่วยงานของ WHO เตรียมพร้อมรับมือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
3 ม.ค. – ทางการจีนส่งข้อมูลให้ WHO
5 ม.ค.– WHO แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมรวมทั้งสื่อทั่วโลก และแนะนำให้สังเกตอาการของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเป็นพิเศษ
9 ม.ค. – จีนแจ้งว่าโรคนี้เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่
11 ม.ค.– WHO แจ้งว่าได้รับลำดับดีเอ็นเอของเชื้อจากจีนแล้ว และทางสื่อจีนได้รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตคนแรก
13 ม.ค. – กระทรวงสาธารณสุขของไทยรายงาน WHO ว่ามีผลตรวจยืนยันถึงเชื้อโคโรนาไวรัสตัวนี้ในไทย นับเป็นการตรวจพบครั้งแรกนอกสาธารณรัฐประชาชนจีน
14 ม.ค. – WHO แถลงต่อสื่อมวลชนว่าเชื้อตัวนี้อาจติดต่อจากคนสู่คนได้ แต่ผลของทางการจีนรายงานว่าไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าเชื้อสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้
16 ม.ค. – กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับมาจากอู่ฮั่น นับเป็นรายที่ 2 ที่พบนอกประเทศจีน
20-21 ม.ค. – WHO เดินทางไปอู่ฮั่นเป็นครั้งแรกในการปฏิบัติภารกิจเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดเชื้อ และพบว่ามีหลักฐานชัดเจนว่าเชื้อสามารถติดจากคนสู่คนได้ (แต่ยังไม่ยืนยัน 100%) และเริ่มมีบุคลากรทางสาธารณสุขติดเชื้อแล้ว และพบผู้ป่วยที่สหรัฐอเมริกา 1 ราย
24 ม.ค. – พบผู้ติดเชื้อ 3 รายในฝรั่งเศสที่มีประวัติเดินทางไปอู่ฮั่น นับเป็นเคสแรกในยุโรป
29 ม.ค.. – พบผู้ติดเชื้อรายแรกในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นับเป็นเคสแรกในตะวันออกกลาง WHO ตีพิมพ์บทความเรื่องแนะนำให้ใช้หน้ากากในผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วย
30 ม.ค. – มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเชื้อตัวนี้ติดจากคนสู่คนได้
4 ก.พ. – ผู้ติดเชื้อ 99% ยังอยู่ในจีน ส่วนประเทศอื่นมีการยืนยันติดเชื้อ 176 ราย
11 ก.พ. – ประกาศให้เรียกชื่อโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนาตัวนี้ว่า โควิด-19
24 ก.พ. – ประกาศให้ทุกประเทศเฝ้าระวังในระดับสูงสุด
25 ก.พ.– พบผู้ติดเชื้อรายแรกในอัลจีเรียและอียิปต์ เป็นเคสแรกในทวีปแอฟริกา
27 ก.พ. – WHO แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละคน เนื่องจากกลัวหน้ากากอนามัยมีไม่เพียงพอสำหรับบุคลากรทางแพทย์
11 มี.ค. – WHO ประกาศให้โควิด-19 เป็นการระบาดทั่วโลก (Pandemic) อย่างเป็นทางการ
13 มี.ค. – ยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่แทนที่จีน WHO ได้รับเงินบริจาคกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากผู้บริจาค 187,000 ราย
4 เม.ย. – ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกแตะ 1 ล้านราย
30 เม.ย. – ผู้อำนวยการ WHO เห็นชอบกับคำแนะนำของคณะกรรมให้ดำเนินการตรวจสอบว่าเชื้อไวรัสมาจากสัตว์ชนิดใด
5 มิ.ย. – WHO อัปเดตคำแนะนำเรื่องการใส่หน้ากาก โดยแนะนำให้คนทั่วไปที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างทางสังคมใส่หน้ากากที่ทำจากผ้า
26 มิ.ย.– หน่วยงาน Access to COVID-19 Tools Accelerator (ACT-Accelerator) ของ WHO ประกาศขอทุนจำนวน 3.13 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน 12 เดือนข้างหน้าเพื่อนำไปจัดซื้อชุดตรวจเชื้อ ยกรักษา และวัคซีน
28 มิ.ย.- มีรายงานว่ายอดผู้ป่วยติดโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นถึง 10 ล้านราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 5 แสนรายทั่วโลก
3 ก.ค.-มีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Cell ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุกรรมที่บ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยเรียกว่า G614 กลายเป็นสายพันธ์หลักที่ระบาดในทวีปยุโรป
2 ธ.ค.-กระทรวงสาธารณสุข ประกาศอนุมัติให้มีการใช้งานวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอนเทคอย่างเป็นทางการเป็นรายแรกของโลก
@ การประท้วงแบล็กไลฟส์แมตเทอร์ สะเทือนทั่วโลก
อีกหนึ่งประเด็นที่จะต้องพูดถึงกันในปี 2563 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้นก็คือกรณีการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ค. นายจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา เสียชีวิตในย่านพาวเดอร์ฮอร์นทางทิศใต้ของย่านกลางเมืองมินนีแอโพลิสในสหรัฐ ขณะที่นายฟลอยด์ถูกใส่กุญแจมือและนอนคว่ำหน้ากับพื้นถนนระหว่างถูกจับกุมนายเดริก ชอวิน เจ้าหน้าที่ตำรวจมินนีแอโพลิสซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยุโรปใช้เข่ากดคอด้านหลังของฟลอยด์เป็นเวลานาน 8 นาที 46 วินาที โดย 2 นาที 53 วินาทีในระยะเวลาดังกล่าวดำเนินไปหลังจากฟลอยด์ไม่ตอบสนอง ซึ่งการชันสูตรพลิกศพเบื้องต้นพบว่า ไม่มีข้อบ่งชี้ว่านายฟลอยด์เสียชีวิตจากการหายใจไม่ออกเหตุบีบรัดคอหรือการขาดอากาศหายใจเหตุช่องอกถูกกดทับ แต่ผลกระทบที่ผสมกันจากความตึงเครียดระหว่างถูกควบคุมตัว โรคประจำตัวซึ่งได้แก่โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจและโรคหัวใจเหตุความดันสูง และสารมึนเมาที่อาจมีอยู่ในร่างกายของเขานั้นน่าจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต
อย่างไรก็ตามการชันสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ครอบครัวของนายฟลอยด์มอบอำนาจให้พบว่า การเสียชีวิตของนายฟลอยด์ เกิดจากภาวะขาดอากาศหายใจเนื่องมาจากแรงกดทับที่คอและหลังซึ่งนำไปสู่การขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง
โดยหลังการเสียชีวิตของฟลอยด์ ก็มีการเดินขบวนและการประท้วงในเขตมหานครมินนีแอโพลิส–เซนต์พอลเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ซึ่งการประท้วงเป็นไปด้วยความสงบในช่วงแรก แต่ต่อมาในวันเดียวกันก็ลุกลามเป็นการจลาจล โดยกระจกหน้าต่างสถานีตำรวจแห่งหนึ่งถูกทุบแตก ร้านค้าสองร้านถูกวางเพลิง และร้านค้าอีกหลายร้านถูกฉกชิงทรัพย์สินและถูกทำลาย ผู้ประท้วงบางคนปะทะกับตำรวจซึ่งยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง การประท้วงเพิ่มเติมเกิดขึ้นในมากกว่า 100 เมืองทั่วทั้ง 50 รัฐในสหรัฐฯ และ ต่อมาการประท้วงก็ลามไปหลายประเทศ อาทิ ที่ฝรั่งเศส แคนาดา เม็กซิโก อังกฤษ และอิสราเอล
@ ทรัมป์แพ้เลือกตั้ง สหรัฐฯหลุดเก้าอี้ โจ ไบเด้น ว่าที่ ปธน.สหรัฐฯ
ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาทั้งจากโรคระบาด รวมไปถึงสถานการณ์การประท้วงในสหรัฐอเมริกานั้น ทุกอย่างได้กลายมาเป็นอุปสรรคกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่จะต้องลงเลือกตั้งเพื่อรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯจากนายโจ ไบเด้น คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต โดยการเลือกตั้งดังกล่าวนั้นมีกำหนดการในวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ทำให้มีผู้มาใช้สิทธิการลงเลือกตั้งทางไปรษณีย์และการเลือกตั้งล่วงหน้ามากที่สุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเป็นต้นมา จึงทำให้การนับคะแนนนั้นเป็นไปอย่างล่าช้า
แต่ในที่สุดเมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 8 พ.ย. ตามเวลาที่ประเทศไทย สำนักข่าวเอพีรายงานผลการนับคะแนนคณะผู้เลือกตั้งสหรัฐ (Electoral Vote) ว่านายโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต มีคะแนนนำอยู่ที่ 290 คะแนน ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ มีคะแนนอยู่ที่ 214 คะแนน หลังจากที่มีการประกาศผลอย่างเป็นทางการที่รัฐเพนซิลวาเนีย ขึ้นเป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ
และต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. คณะผู้เลือกตั้งจำนวน 538 คนทั่วสหรัฐฯก็ได้ประกาศคะแนนว่านายไบเด้นได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งอยู่ 306 คะแนน และนายทรัมป์ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งอยู่ที่ 232 คะแนน และก่อนหน้านี้นั้น ศาลฎีกาของสหรัฐปฏิเสธการยื่นฟ้องร้องของรัฐเท็กซัสที่ได้รับการสนับสนุนจากนายทรัมป์ ที่ต้องการให้ยกเลิกผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งนายไบเดน ชนะการเลือกตั้งใน 4 รัฐซึ่งเป็นรัฐสมรภูมิการเลือกตั้ง
จึงทำให้ ณ เวลานี้ ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่านายไบเด้นนั้นจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนถัดไป และจะเข้ารับการสาบานตนในวันที่ 20 ม.ค.
@ICIJ ประกาศรายงานธนาคารทั่วโลกส่อเอี่ยวธุรกรรมการเงินผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2562
ประเด็นสุดท้ายที่ทั่วโลกให้ความสนใจถือว่าเป็นสิ่งที่สะเทือนต่อแวดวงธนาคารโลกและลามมาถึงธนาคารยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์สมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ หรือ ICIJ ได้เผยแพร่ข้อมูลธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทั่วโลกได้ปล่อยให้มีการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายจำนวนมากเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี จากเอกสารของเครือข่ายสืบสวนอาชญากรรมทางการเงินสหรัฐ หรือ FinCen ที่หลุดออกไปถึงสื่อของสหรัฐ และถูกแชร์เป็นวงกว้างโดย ICIJ
โดยในฐานข้อมูลมีการระบุถึง ธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งของไทยถูกใช้เป็นเส้นทางในการทำธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัยดังกล่าว จำนวน 92 ครั้งผ่าน 4 ธนาคารพาณิชย์ของไทย ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย คิดเป็นมูลค่ารวม 41,308,752 ดอลลาร์สหรัฐ(1,294,244,508 บาท) โดยเป็นการรับเงิน 9,558,752 ดอลลาร์สหรัฐ และการส่งเงิน 31,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ (299,485,258 บาท) ซึ่งกิจกรรมธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดที่มีการบันทึกไว้อยู่ในช่วงเดือน ธ.ค. 2555- ม.ค. 2559
โดยธุรกรรมการเงินที่มีค่ามากที่สุดในส่วนของการรับเงินเข้าได้แก่การรับเงินจากธนาคาร Israel Discount Bank Ltd จากประเทศอิสราเอลมายังธนาคารกรุงเทพในช่วง 2 ก.ค. 2556 - 12 พ.ย. 2556 คิดเป็นจำนวนการโอนเงินทั้งสิ้น 45 ครั้ง คิดเป็นมูลค่ารวม 5,920,731 ดอลลาร์สหรัฐฯ (185,555,709 บาท)
ส่วนการโอนเงินออกจากธนาคารในประเทศไทยไปยังประเทศอื่นที่มีมูลค่าสูงที่สุด ได้แก่ การโอนเงินจากธนาคารกรุงเทพไปยังธนาคาร CIMB Bank Berhad ของประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2556 คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 22,300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (698,993,500 บาท)
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทั่วโลกได้ปล่อยให้มีการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายจำนวนมากเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี แม้จะมีสัญญาณเตือนเกี่ยวกับแหล่งที่มีของเงินดังกล่าวก็ตาม โดยเอกสารลับของ FinCen ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับการโอนเงินมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (62,720,000,000,000 บาท)ในระหว่างปี 2542- 2560 คิดเป็นจำนวนธุรกรรมทั้งสิ้น 18,153 ครั้ง ซึ่งเงินเหล่านี้ได้รับอนุมัติการทำธุรกรรมโดยหน่วยงานภายในของสถาบันการเงินที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย
ขณะที่ทางด้านของนายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากกรณีปรากฏรายงานข่าวทางเว็บไซต์ ICIJ เกี่ยวกับธุรกรรมการโอนเงินที่ต้องสงสัยที่เกิดขึ้นในอดีตตั้งแต่ปี 2542 โดยกล่าวว่าธนาคารฯยังไม่สามารถทราบต้นตอและรายละเอียดของเอกสารข้อมูลที่ชัดเจน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าธุรกรรมต่างๆ ที่ปรากฏน่าจะเป็นการรายงานข้อมูลธุรกรรมต้องสงสัยไปยัง FinCen ภายใต้กฏหมายป้องกันการฟอกเงินและต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นกระบวนการดำเนินงานปกติของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาที่อาจทำหน้าที่เป็นธนาคารตัวแทนในธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ
"ธนาคารพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามข้อบังคับและแนวทางปฏิบัติ ของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเข้มงวด" นายทวีลาภกล่าว
ทั้งหมดนี้ เป็นข่าวเด่นเหตุการณ์สำคัญโลกในปี 2563 ที่สำนักข่าวอิศรา รวบรวมมาไว้ ณ โอกาสนี้
ส่วนในปี 2564 จะข่าวเด่นเหตุการณ์สำคัญโลกเรื่องไหนเกิดขึ้นอีกบ้าง ต้องติดตามดูกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/