"....เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เลขที่ 39/2547 ลงวันที่ 13 มกราคม 2547 ให้แก่นางอิ่ม กําหนด สิ้นอายุใบอนุญาต วันที่ 12 มกราคม 2548 ทั้งที่ แบบแปลนผังบริเวณตามใบอนุญาตด้าน ทิศตะวันออกมีแนวชิดติดกับห้องแถวเลขที่ 63 น้อยกว่า 40 เซนติเมตร และไม่มีหนังสือยินยอมจาก เจ้าของที่ดินข้างเคียง ทั้งนี้ การตรวจแบบแปลนดังกล่าว จําเลยที่ 4 จําเลยที่ 5 จําเลยที่ 6 นาย น. นาย ว. นาย ป. และนางสาว ส. ลงลายมือชื่อตรวจสอบ แบบแปลนไว้ด้านหลังของแบบแปลนผังบริเวณ และแผนที่สังเขป หลังจากนางอิ่ม รับใบอนุญาต ก่อสร้างอาคารเลขที่ 39/2547 ไปแล้ว นางอิ่ม ไม่ได้ก่อสร้างอาคารโรงแรมแต่อย่างใด..."
........................
คดีการอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงแรมสินเกียรติธานี หรือ โรงแรมสินเกียรติบุรี โดยมิชอบของเทศบาลเมืองสตูล จังหวัดสตูล ในยุคที่ นายพิบูลย์ รัชกิจประการ ดำรงตำแหน่งเป็น นายกเทศมนตรีเมืองสตูล ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญากับผู้เกี่ยวข้อง และส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสูด (อสส.) ฟ้องร้องตามขั้นตอนทางกฎหมายไปตั้งแต่ช่วงปี 2561
โดยผู้เกี่ยวข้องที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญาในคดีนี้ ประกอบไปด้วย นายพิบูลย์ รัชกิจประการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกเทศมนตรีเมืองสตูล จำเลยที่ 1 นายประสิทธิ์ แบ้สกุล จำเลยที่ 2 นายวิเชียร ตันติอาภรณ์ จำเลยที่ 3 นายสุชาติ ขวัญเซ่ง จำเลยที่ 4 นายสุกิจ ฐิติวรการ จำเลยที่ 5 และ นายสมบูรณ์ วัฒนธรรม จำเลยที่ 6
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลมานำเสนอไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษา ลงโทษ นายสุชาติ ขวัญเซ่ง จำเลยที่ 4 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 4 กระทง รวมจำคุก 4 ปี ลงโทษ นายสมบูรณ์ วัฒนธรรม จำเลยที่ 6 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง รวมจำคุก 2 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 78 คงลงโทษ นายสุชาติ ขวัญเซ่ง จำคุกก ระทงละ 6 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 24 เดือน คงลงโทษ นายสมบูรณ์ วัฒนธรรม จำคุก กระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน
อย่างไรก็ดี คดีนี้เป็นการสร้างความเดือดร้อน ภาระและความเป็นอยู่ โดยปกติสูงของชุมชนเกินสมควรเป็นเวลานาน จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
สำหรับคดีในส่วน นายพิบูลย์ รัชกิจประการ จำเลยที่ 1 นายประสิทธิ์ แบ้สกุล จำเลยที่ 2 นายวิเชียร ตันติอาภรณ์ จำเลยที่ 3 และ นายสุกิจ ฐิติวรการ จำเลยที่ 5 ให้การปฏิเสธ
ศาลฯ ได้มีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่
(อ่านประกอบ : คดีอนุญาตสร้าง รร.สินเกียรติธานี! ศาลจำคุก 2 จนท.- 'พิบูลย์-พวก 4 ราย' แยกฟ้องใหม่)
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดในคำฟ้องคดีที่ อสส. ในฐานะโจทก์ยื่นเรื่องฟ้องต่อจำเลยทั้ง 6 ราย
โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุ นายพิบูลย์ รัชกิจประการ จําเลยที่ 1 ดํารงตําแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสตูล อําเภอ เมืองสตูล จังหวัดสตูล มีอํานาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร รวมทั้งมีอํานาจหน้าที่ออกคําสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคาร ออกคําสั่งให้รื้อถอนอาคารหรือแก้ไขระยะถอยร่นในกรณีที่มีการก่อสร้างอาคารฝ่าฝืนกฎหมาย นายประสิทธิ์ แบ้สกุล จําเลยที่ 2 และ นายวิเชียร ตันติอาภรณ์ จําเลยที่ 3 ดํารงตําแหน่งรองนายกเทศมนตรีเมืองสตูล อําเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล นายสุชาติ ขวัญเซ่ง จําเลยที่ 4 ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการกองช่าง เทศบาลเมืองสตูล อําเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล
จําเลยที่ 1 ถึง จําเลยที่ 4 เป็นพนักงานเทศบาล เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตามพระราชบัญญัติ เทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 48 เอกวีสติ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอํานาจ หน้าที่บริหารงานช่าง กํากับดูแล บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและลูกจ้างของกองช่างทั้งหมดในการ ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย โดยให้ปฏิบัติหน้าที่และรับผิดชอบตรวจควบคุมการ ก่อสร้างให้เป็นไปตามกฎหมาย เทศบัญญัติและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องในลักษณะผู้เชี่ยวชาญ รวมถึง ตรวจควบคุม เสนอความเห็นและติดตามการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและให้ต่ออายุใบอนุญาต ก่อสร้างอาคารให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบคําสั่งของทางราชการ
นายสุกิจ ฐิติวรการ จําเลยที่ 5 ดํารงตําแหน่งวิศวกร โยธา 8 วช กองช่าง เทศบาลเมืองสตูล อําเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล นายสมบูรณ์ วัฒนธรรม จําเลยที่ 6 ดํารงตําแหน่ง ช่างโยธา 3 กองช่าง เทศบาลเมืองสตูล
จําเลยที่ 5 และจําเลยที่ 6 เป็นพนักงานเทศบาล เป็น เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไข เพิ่มเติม มาตรา 48 เอกวีสติ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบควบคุมการก่อสร้าง อาคารภายในเขตเทศบาลเมืองสตูล และตรวจแบบแปลนการขอรับอนุญาตปลูกสร้างอาคารที่ราษฎร ยื่นคําร้อง และได้รับคําสั่งแต่งตั้งให้เป็น “นายตรวจ” ปฏิบัติหน้าที่และรับผิดชอบในการตรวจควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามกฎหมาย เทศบัญญัติ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบแผนผังบริเวณ พื้นที่ก่อสร้าง ตรวจสอบอาคารและที่ตั้งอาคาร รายงานการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ลักษณะผู้มีประสบการณ์ รวมถึงมีอํานาจหน้าที่ตรวจควบคุม เสนอความเห็นและติดตามการออก ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และการต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้างอาคารให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบ คําสั่งของทางราชการ
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2546 นางอิ่ม จึงพาณิชย์ ยื่นคําขออนุญาตก่อสร้าง อาคารโรงแรมสินเกียรติธานี หรือ โรงแรมสินเกียรติบุรี บนที่ดินโฉนดเลขที่ 14344, 14345, 14346, 14347 และ 14348 ตําบลพิมาน อําเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล พร้อมคําขอให้ไปตรวจ ผังบริเวณที่ดินก่อสร้าง ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลเมืองสตูล พื้นที่ก่อสร้างอยู่ห่างจากสํานักงาน เทศบาลเมืองสตูล ประมาณ 300 เมตร อาคารที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างเป็นอาคารชนิดคอนกรีตเสริม เหล็ก 8 ชั้น จํานวน 1 หลัง
อาคารแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ติดกับถนนอภัยนุราชรําลึก สูง 22.90 เมตร และส่วนที่ติดกับอาคารข้างเคียงเลขที่ 63 ถึง 69 เป็นอาคาร 2 ชั้น สูง 11.20 เมตร ขนาด พื้นที่การก่อสร้าง 4,658 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นโรงแรม เป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้
นางอิ่ม แนบแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน รายการคํานวณ และเอกสารหลักฐาน อื่น ๆ ประกอบการยื่นขออนุญาต รวมทั้งได้แสดงขอบนอกของอาคารข้างเคียงเลขที่ 63 ถึง 69 ที่มีอยู่แล้ว และระยะห่างจากขอบนอกของอาคารโรงแรมถึงขอบเขตของที่ดินทุกด้าน ระยะถอยร่นแนว ก่อสร้างด้านทิศตะวันออก ตามแบบแปลนแผนผังบริเวณที่ขออนุญาตก่อสร้างมีแนวชิดติดกับห้องแถว เลขที่ 63
แต่ไม่ได้แนบเอกสารหลักฐานหนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างชิดเขตที่ดินจากเจ้าของอาคาร ที่ดินข้างเคียง และแบบแปลนแผนผังบริเวณไม่แสดงระยะห่างระหว่างอาคารโรงแรมสินเกียรติธานี กับห้องแถวหรือตึกแถวข้างเคียงเลขที่ 63 ถึง 69
สําหรับห้องแถวเลขที่ 63 เป็นกรรมสิทธิ์ ของนาย ก. อยู่ติดกับพื้นที่ก่อสร้างโรงแรมสินเกียรติธานีเป็นหลังแรก
เดิมพื้นที่ก่อสร้าง โรงแรมสินเกียรติธานี มีโกดังเก็บสินค้าของนางอิ่ม เลขที่ 20 อยู่ชิดติดแนวเขตที่ดินของนาย ก. ผนังเดิมของโกดังเก็บสินค้ามีระยะห่างจากผนังของห้องแถวหรือตึกแถวของนายเกียรติ กว้าง ประมาณ 20 เซนติเมตร
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 นาง ธ. เจ้าหน้าที่กองช่าง เทศบาลเมืองสตูล ได้รับเอกสารการยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารโรงแรมสินเกียรติธานีแล้วส่งเอกสารให้แก่ จําเลยที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมเขตอาคารและช่างควบคุม เขต 11
ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 จําเลยที่ 6 ลงพื้นที่บันทึกตรวจแผนผังบริเวณที่ดิน ที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารโรงแรมสินเกียรติธานีตามที่นางอิ่มนําชี้แนวเขต
แต่จําเลยที่ 6 ไม่ได้บันทึก ตรวจแผนผังบริเวณให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
แต่กลับบันทึกแสดงรูปแผนที่สังเขปว่า ทิศเหนือ จดทางหลวงเทศบาล เว้นห่างแนวเขต 33.00 เมตร ทิศใต้ จดถนนสมันตประดิษฐ์ เว้นห่างแนวเขต 6.20 เมตร ทิศตะวันออก จดทางหลวงเทศบาล เว้นห่างแนวเขต 88.00 เมตร ทิศตะวันตก จดถนนอภัยนุราชรําลึก เว้นห่างแนวเขต 2.00 เมตร ตามบันทึกการตรวจแผนผังบริเวณ ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2546
ทางด้านทิศตะวันออก จําเลยที่ 6 ไม่ได้บันทึกแสดงห้องแถวหรือตึกแถวเลขที่ 63 ไว้
ส่วนถนนหรือทางสาธารณะติดกับที่ดิน บันทึกว่า เขตทางกว้าง 10.90 เมตร เขตถนนผังเมืองกว้าง 18.00 เมตร ได้กันแนวอาคารหรือสิ่งก่อสร้าง ห่างจากแนวเขตทาง 6.40 เมตร และแนวศูนย์กลาง
ทางหรือถนน 11.85 เมตร (รวมระยะถอยร่น 2 เมตร แล้ว) ระยะถอนรุ่นจากถนนสาธารณะเป็นไปตามกฎหมายถูกต้อง
ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2546 นาย ว. หัวหน้างาน สถาปัตยกรรม ทําบันทึกการตรวจแบบแปลนและรายการก่อสร้างเสนอผ่าน จําเลยที่ 1 มีความเห็นให้ แก้ไขเพิ่มเติมรายการเอกสารประกอบการขออนุญาต ได้แก่ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปนิก หมดอายุ และเพิ่มหนังสือรับรองใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไฟฟ้า วิศวกรสุขาภิบาล พร้อมกับให้แก้ไข รายการแบบแปลน ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535 ) เสนอผ่านจําเลยที่ 1
ต่อมา นาย ป. หัวหน้าฝ่ายแบบแผนและก่อสร้างเสนอความเห็นให้แก้ไขตามความเห็นของนายวิษุวัต
จําเลยที่ 4 มีคําสั่งให้แจ้งนางอิ่มแก้ไขแบบแปลนและเพิ่มเติมหลักฐานข้างต้นแต่ไม่ได้พิจารณาหนังสือ แสดงความยินยอมของเจ้าของที่ดินข้างเคียงให้ก่อสร้างชิดแนวเขตที่ดินหรือหนังสือยินยอมให้ก่อสร้าง ฝาผนังหรือฐานรากร่วมกัน
หลังแก้ไข จําเลยที่ 6 ทําความเห็น เสนอว่า “ได้ตรวจสอบผังบริเวณ ก่อสร้างอาคารของนางอิ่ม จึงพาณิชย์ ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ค.ส.ล. 8 ชั้น 1 หลัง เพื่อใช้ประกอบการพาณิชย์ (โรงแรม) เห็นควรอนุญาตให้ก่อสร้างได้ตามคําขอ”
และนาย ว. มีความเห็นด้านสถาปัตยกรรม ว่า “ได้ตรวจสอบแบบแปลนผังบริเวณ ตึก 8 ชั้น เพื่อใช้เป็นโรงแรมถูกต้องตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร และกฎหมายอื่น ๆ” และมีความเห็นด้านผังเมืองว่า “การใช้ประโยชน์ ที่ดินถูกต้อง แนวถนนผังเมืองถูกต้อง ผู้ออกแบบและควบคุมงานคุณวุฒิถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติ วิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2508 ควรอนุญาต”
จําเลยที่ 5 ตรวจสอบแบบแปลนด้านวิศวกรรมแล้ว เสนอความเห็นว่า “โครงสร้างของอาคารมีวิศวกรโยธาประเภทสามัญสมาชิกแสดงรายการคํานวณและ รับรองแบบแปลนถูกต้อง ผู้ออกแบบคํานวณและผู้ควบคุมงานมีคุณวุฒิถูกต้องตามพระราชบัญญัติ วิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505 เห็นควรอนุญาตให้ก่อสร้างได้”
นาย ป. หัวหน้าฝ่ายแผนแบบและก่อสร้างมีความเห็นว่า “ควรอนุญาต”
จําเลยที่ 4 มีความเห็นว่า “ควรอนุญาตให้ก่อสร้างได้”
นางสาว ส. รองปลัดเทศบาลรักษาราชการแทนปลัดเทศบาลมีความเห็นว่า “เห็นควรอนุญาต” นาย น. รักษาการแทนนายกเทศมนตรี มีคําสั่ง “อนุญาต”
นอกจากนี้ จําเลยที่ 4 ทําบันทึกข้อความกองช่าง ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2547 เสนอนายกเทศมนตรีเมืองสตูล ว่า “กองช่างได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อ 1 เอกสารประกอบการขออนุญาตครบถ้วน และถูกต้อง เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 2) และเทศบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2505 แบบแปลนแผนผังบริเวณ รายการประกอบแบบแปลน หรือรายการคํานวณถูกต้องตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ กฎกระทรวงฯ เทศบัญญัติฯ ประกาศ หรือคําสั่ง ซึ่งออกโดยอาศัย อํานาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ ตลอดจนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เห็นควรอนุญาตให้ทําการ ก่อสร้างอาคารดังกล่าวได้”
นางสาว ส. มีความเห็นว่า “ควรอนุญาต” และนาย น. รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีมีคําสั่ง “อนุญาต”
ต่อมา เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร เลขที่ 39/2547 ลงวันที่ 13 มกราคม 2547 ให้แก่นางอิ่ม กําหนด สิ้นอายุใบอนุญาต วันที่ 12 มกราคม 2548 ทั้งที่ แบบแปลนผังบริเวณตามใบอนุญาตด้าน ทิศตะวันออกมีแนวชิดติดกับห้องแถวเลขที่ 63 น้อยกว่า 40 เซนติเมตร และไม่มีหนังสือยินยอมจาก เจ้าของที่ดินข้างเคียง
ทั้งนี้ การตรวจแบบแปลนดังกล่าว จําเลยที่ 4 จําเลยที่ 5 จําเลยที่ 6 นาย น. นาย ว. นาย ป. และนางสาว ส. ลงลายมือชื่อตรวจสอบ แบบแปลนไว้ด้านหลังของแบบแปลนผังบริเวณ และแผนที่สังเขป หลังจากนางอิ่ม รับใบอนุญาต ก่อสร้างอาคารเลขที่ 39/2547 ไปแล้ว
นางอิ่ม ไม่ได้ก่อสร้างอาคารโรงแรมแต่อย่างใด
ต่อมาระหว่าง วันที่ 9 ธันวาคม 2548 เวลากลางวันถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน จําเลยทั้งหกในฐานะเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้อาศัยโอกาสที่ตนมีอํานาจหน้าที่ข้างต้น ร่วมกัน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และคําสั่งของทางราชการ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันจำนวน 5 กรณี ด้วยกัน
อนึ่งเกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2563 พิจารณาแล้วมีมติชอบเห็นในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9
แต่ไม่ได้การระบุถึงกรณี ศาลฯ มีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องคดีใหม่ ในส่วนของ นายพิบูลย์ รัชกิจประการ นายประสิทธิ์ แบ้สกุล นายวิเชียร ตันติอาภรณ์ และ นายสุกิจ ฐิติวรการ แต่อย่างใด
ขณะที่ นายพิบูลย์ รัชกิจประการ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น ส.ส. พรรคภูมิใจไทย จังหวัดสตูล เขต 1 เป็นน้องชายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
ผลคดีส่วนนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร? เมื่อไร? ต้องติดตามดูกันต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage