"...ทั้งหมดเป็นเพียงความสัมพันธ์เบื้องต้นระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับพรรคการเมืองระดับชาติ ซึ่งในหลายพื้นที่ยังพบด้วยว่า 'บ้านใหญ่' ยังแผ่บารมีก้าวไกลเหนือกว่าพรรคการเมือง และที่สำคัญกว่านั้นการชนะเลือกตั้งในเวที ส.ส. มิอาจทำให้มีผลลัพธ์ผูกขาดในการเลือกตั้งระดับ อบจ.แต่อย่างใด!..."
................................................
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แพร่ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวม 76 แห่ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2563
ในภาพใหญ่ แม้ว่าระดับพรรคการเมืองจะส่งคนลงสมัครนายก อบจ. เพียง 2 พรรคการเมือง 1 กลุ่ม คือ พรรคเพื่อไทย 25 จังหวัด พรรคประชาธิปัตย์ 3 จังหวัด และคณะก้าวหน้า 42 จังหวัด ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย ประกาศไม่ส่งผู้สมัครลงในนามพรรค
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า รายชื่อ นายก อบจ.เกินกว่าครึ่ง กลับมีความเชื่อมโยงถึงพรรคการเมือง ทั้งในฐานะเครือญาติ ส.ส. หรือตัวเองเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งรวมถึงหลายคนก็เป็นสมาชิก 'บ้านใหญ่' ตระกูลการเมืองผู้ทรงอิทธิพลในพื้นที่
@11 จังหวัดเชื่อมถึง ‘เพื่อไทย’
แม้ว่า พรรคเพื่อไทย จะประกาศส่งผู้สมัครนายก อบจ. 25 จังหวัด โดยแต่ละพิกัดแทบจะมี ส.ส.ยกจังหวัดอยู่แล้ว แต่ท้ายที่สุดสนามเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ กลับคว้าชัยชนะมาได้เพียง 9 จังหวัด และมีอีก 2 จังหวัดที่ปรากฏภาพการสนับสนุนจากพรรค เท่ากับว่า ในศึกเลือกตั้งนายก อบจ.มีเก้าอี้สังกัดพรรคเพื่อไทยอย่างน้อย 11 จังหวัด
โดยภาคอีสาน ชนะ 4 จาก 10 จังหวัด คือ มุกดาหาร - พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะมุกดาธนพงศ์ , ยโสธร - นายวิเชียร สมวงศ์ , อุบลราชธานี - นายกานต์ กัลป์ตินันท์ และอุดรธานี - นายวิเชียร ขาวขำ
อย่างไรก็ตามในภาคอีสานยังมี สกลนคร - นายชูพงศ์ คำจวง ที่ใช้สัญลักษณ์พรรคในการหาเสียง ขณะเดียวกันแกนนำระดับรองหัวหน้าพรรคยังเดินทางไปร่วมแถลงข่าวขอบคุณประชาชนหลังจากได้รับชัยชนะอีกด้วย
ภาคเหนือ ชนะ 5 จาก 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ - นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร , น่าน - นายนพรัตน์ ถาวงศ์ , แพร่ - นายอนุวัธ วงศ์วรรณ , ลำปาง - นางสาวดวงรัตน์ โล่ห์สุนทร , ลำพูน - นายอุนสรณ์ วงศ์วรรณ
ส่วนภาคกลาง ที่ส่งผู้สมัครลงในนามพรรค รวม 9 จังหวัด ไม่ได้รับชัยชนะแม้แต่จังหวัดเดียว แต่ยังมีผู้ชนะที่ ปทุมธานี - พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรค
(เพื่อไทยขณะช่วย นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร ปราศรัยหาเสียง นายก อบจ.เชียงใหม่)
@‘ประชาธิปัตย์’ มีเก้าอี้นายก 9 จังหวัด
แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะมีผู้สมัครที่ประกาศลงในนามพรรคเพียงแค่ 3 จังหวัด คือ สตูล สุราษฎร์ธานี และสงขลา แต่ท้ายที่สุดมีอย่างน้อย 9 จังหวัดที่มีความเชื่อมโยงกลับมาถึงพรรคที่ยากจะปฏิเสธ
ศึกใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของพรรค คือชัยชนะที่ สงขลา หลังจากนายไพเจน มากสุวรรณ์ มีชัยเหนือ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล เพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นผู้สมัครคนเดียวที่ใช้สัญลักษณ์พรรคพลังประชารัฐในการหาเสียง
ชัยชนะครั้งนี้ ทำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค พร้อมด้วย นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม และนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย นำทีมผู้สมัคร ขึ้นรถแห่ขอบคุณประชาชนรอบจังหวัด
ส่วนอีก 8 จังหวัดที่มีความเชื่อมโยงกับพรรค ประกอบด้วย ชัยภูมิ - นายอร่าม โล่วีระ อดีต รมช.คมนาคมในวัย 70 ปี ที่เพิ่งยกทัพร่วมทีมกับพรรคเมื่อปี 2561 , ระยอง - นายปิยะ ปิตุเตชะ น้องชายนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข , ชุมพร - นายนพพร อุสิทธิ์ น้องเขย นายชุมพล จุลใส ส.ส.พรรค
ตรัง - นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ หัวหน้าทีมกิจปวงชน ที่เพิ่งรับไม้ต่อจาก นายกิจ หลีกภัย พี่ชายนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา , นครศรีธรรมราช - นางสาวกนกพร เดชเดโช มารดาของนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.พรรค ซึ่งรวมไปถึง ประจวบคีรีขันธ์ - นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ , พัทลุง - นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร และ ภูเก็ต - นายเรวัติ อารีรอบ
(ประชาธิปัตย์แห่ขอบคุณหลัง นายไพเจน มากสุวรรณ์ ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา)
@โยงยี่ห้อ ‘พลังประชารัฐ’ 16 จังหวัด
พรรคพลังประชารัฐ ที่มีมติพรรคว่าจะไม่ส่งผู้สมัครลงในนามพรรค แต่ท้ายที่สุดก็มีอย่างน้อย 16 จังหวัด ที่นายก อบจ.เชื่อมโยงกลับมาที่พรรค
กาฬสินธุ์ - นายชานุวัฒน์ วรามิตร เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค , กำแพงเพชร - นายสุนทร รัตนากร พี่ชายนายวราเทพ รัตนากร , ฉะเชิงเทรา - นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ บิดา นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ส.ส.พรรค , ชลบุรี - นายวิทยา คุณปลื้ม พี่ชายนายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม , ชัยนาท - นายอนุสรณ์ นาคาศัย น้องชายนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ตาก - นายณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ บิดา นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.พรรค , พะเยา - นายอัครา พรหมเผ่า น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ , เพชรบุรี - นายชัยยะ อังกินันทน์ มีภรรยาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.แรงงาน , เพชรบูรณ์ - นายอัครเดช ทองใจสด ลูกชาย นายเอี่ยม ทองใจสด ส.ส.พรรค , ร้อยเอ็ด - นายเอกภาพ พลซื่อ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรค
ราชบุรี - นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา สามีนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.พรรค , สมุทรปราการ - น.ส.นันทิดา แก้วบัวสาย ภรรยานายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม , สมุทรสงคราม - นางสาวสุกานดา ปานะสุทธะ , สระแก้ว - นางขวัญเรือน เทียนทอง , สระบุรี - นายสัญญา บุญ-หลง ที่ได้รับการสนับสนุนจากบ้านใหญ่อย่างตระกูลอดิเรกสาร และ สุโขทัย - นายมนู พุกประเสริฐ พี่ชายนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ภรรยานายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม
(น.ส.นันทิดา แก้วบัวสาย ว่าที่ นายก อบจ.สมุทรปราการ : ภาพจากสยามรัฐ)
@15 จังหวัดใต้เงา ‘ภูมิใจไทย’
เป็นอีกหนึ่งพรรคที่ไม่ได้ประกาศส่งผู้สมัครอย่างเป็นทางการ แต่มีอย่างน้อย 15 จังหวัดที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงพรรคภูมิใจไทย
นครพนม - น.ส.ศุภพานี โพธิ์สุ ลูกสาวนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา และ ส.ส.พรรค , บุรีรัมย์ - นายภูษิต เล็กอุดากร หลานชายนายเนวิด ชิดชอบ , บึงกาฬ - นางแว่นฟ้า ทองศรี ภรรยานายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย , นครราชสีมา - นางยลดา หวังศุภโกศล ภรรยานายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ , ปราจีนบุรี - นายสุนทร วิลาวัลย์ บิดา นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ , ศรีสะเกษ - นายวิชิต ไตรสรณกุล บิดา น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
พระนครศรีอยุธยา - นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล มารดา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ส.ส.พรรค , มหาสารคาม - นางคมคาย อุดรพิมพ์ มารดา นายธนวัฒน์ และนายธนกร อุดรพิมพ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรค , ลพบุรี - นางอรพิน จิระพันธุ์วาณิช , สตูล - นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ , สุรินทร์ - นายพรชัย มุ่งเจริญพร อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรค
หนองบัวลำภู - นายวุฒิพงษ์ ศิริสถิตย์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรค , อ่างทอง - นายสุรเชษ นิ่มกุล , อำนาจเจริญ - นางสาววันเพ็ญ ตั้งสกุล อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรค และอุทัยธานี - นายเผด็จ นุ้ยปรี ที่ได้รับการสนับสนุนจากนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.พรรค
@'บ้านใหญ่'แชมป์เก่ายังแกร่ง
แม้จะอยู่ในสังกัดพรรคการเมืองขนาดเล็กแต่ตระกูลสะสมทรัพย์ที่ นครปฐม ยังแผ่บารมีให้ นายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ เป็นนายก อบจ.ได้สำเร็จ ขณะที่ความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด มี ส.ส. 2 คนในตระกูลนี้อยู่ในสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา
ขณะที่ ยะลา - นายมุขตาร์ มะทา น้องชายนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ยังได้รับชัยชนะอีกสมัย
ที่เหลืออีก 23 จังหวัด แม้ว่าจะไม่สามารถระบุความเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง ผ่านความสัมพันธ์ทั้งในแง่มุมของเครือญาติ และการลงสมัครรับเลือกตั้งสนามใหญ่
แต่มีอย่างน้อย 13 จังหวัดที่สามารถรักษาเก้าอี้ในฐานะ 'แชมป์เก่า' เอาไว้ได้ คือ กระบี่ - นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล , ขอนแก่น - นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ , จันทบุรี - นายธนภณ กิจกาญจน์ , ตราด - นายวิเชียร ทรัพย์เจริญ , นนทบุรี - พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ , นราธิวาส - นายกูเซ็ง ยาวอะหะซัน , ปัตตานี - นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี , พิษณุโลก - นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์
แม่ฮ่องสอน - นายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ , เลย - นายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ , สุพรรณบุรี - นายบุญชู จันทร์สุวรรณ , หนองคาย - นายยุทธนา ศรีตะบุตร และ อุตรดิตถ์ - นายชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา
ทั้งหมดเป็นเพียงความสัมพันธ์เบื้องต้นระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับพรรคการเมืองระดับชาติ ซึ่งในหลายพื้นที่ยังพบด้วยว่า 'บ้านใหญ่' ยังแผ่บารมีก้าวไกลเหนือกว่าพรรคการเมือง
และที่สำคัญกว่านั้นการชนะเลือกตั้งในเวที ส.ส. มิอาจทำให้มีผลลัพธ์ผูกขาดในการเลือกตั้งระดับ อบจ.แต่อย่างใด!
อ่านประกอบ :
เช็คที่นี่! กกต.แพร่ผลเลือกตั้ง อบจ.-บ้านใหญ่ยังแกร่ง-พัทลุงแชมป์มาใช้สิทธิมากสุด
บทสรุปเลือกตั้ง อบจ.พรรค รบ.ดีล‘บ้านใหญ่’เข้าวิน-‘ชินวัตร’ยังขลัง-ปชป.เอาคืนภาคใต้?
เปิดว่าที่นายก อบจ. 76 จว.เบื้องต้น-เชียงใหม่‘อดีต ส.ว.ก๊อง’ชนะ-หลายแห่งบ้านใหญ่ฉลุย
แข่งกับตัวเอง!กระบี่-เพชรบุรี-อุทัยธานี 3 บ้านใหญ่ไร้คู่ต่อสู้ศึกชิงเก้าอี้นายก อบจ.
รับพูดปฏิรูปสถาบันฯมีผล! ‘ธนาธร’ขอโทษ ปชช.หลังคณะก้าวหน้าชวดเก้าอี้นายก อบจ.ทั่ว ปท.
ผ่าแผน'พรรค-กลุ่มการเมือง'สู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น-ใครคือ'ของจริง'กุมฐานเสียง ปชช.?
เปิดว่าที่นายก อบจ. 76 จว.เบื้องต้น-เชียงใหม่‘อดีต ส.ว.ก๊อง’ชนะ-หลายแห่งบ้านใหญ่ฉลุย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage