“...ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชัยชนะของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลมาจากการดีลกับ ‘บ้านใหญ่’ ในแต่ละท้องที่ ตั้งแต่ช่วงรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 ผูกสัมพันธ์เรื่อยมาจนกระทั่งก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 ที่มีข่าวสะพัดว่า ‘บิ๊ก ๆ’ เข้าพบ-กินข้าว-ตีกอล์ฟกับบรรดา ‘บ้านใหญ่’ ในหลายจังหวัด เกิดการ ‘พลิกขั้ว-ย้ายข้าง’ กับระนาว?...”
......................
เรียกได้ว่ารู้ผลอย่างไม่เป็นทางการไปแล้วครบ 76 จังหวัด สำหรับผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา
การชิงชัยกันระหว่างการเมืองภาพใหญ่ 3 ฝ่าย ได้แก่ พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และคณะก้าวหน้า บทสรุปคือ พรรคร่วมรัฐบาล ‘กินขาด’ ซิวชัยชนะไปได้ค่อนประเทศ ส่วนพรรคฝ่ายค้านคือเพื่อไทย ได้ 9 ที่นั่งนายก อบจ. จากที่ส่งลงไป 25 จังหวัด ส่วนคณะก้าวหน้า ‘แห้ว’ ไม่ได้เก้าอี้นายก อบจ.แม้แต่แห่งเดียว แต่ยังได้ ส.อบจ. ปลอบใจรวม 57 รายใน 20 จังหวัด จากที่ส่งไปทั้งหมด 42 จังหวัด ถือว่าไม่เลวสำหรับกลุ่มการเมืองที่ลงเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรก (อ่านประกอบ : เปิดว่าที่นายก อบจ. 76 จว.เบื้องต้น-เชียงใหม่‘อดีต ส.ว.ก๊อง’ชนะ-หลายแห่งบ้านใหญ่ฉลุย)
อย่างไรก็ดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดตอบคำถามสื่อมวลชนยอมรับว่า การพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ‘มีผลกระทบ’ ในการตัดสินใจลงคะแนนให้คณะก้าวหน้าในการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : รับพูดปฏิรูปสถาบันฯมีผล! ‘ธนาธร’ขอโทษ ปชช.หลังคณะก้าวหน้าชวดเก้าอี้นายก อบจ.ทั่ว ปท.)
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชัยชนะของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลมาจากการดีลกับ ‘บ้านใหญ่’ หรือตระกูลการเมืองที่ทรงอำนาจ-บารมี-อิทธิพลในแต่ละท้องที่ ตั้งแต่ช่วงรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 ผูกสัมพันธ์เรื่อยมาจนกระทั่งก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 ที่มีข่าวสะพัดว่า ‘บิ๊ก ๆ’ เข้าพบ-กินข้าว-ตีกอล์ฟกับบรรดา ‘บ้านใหญ่’ ในหลายจังหวัด เกิดการ ‘พลิกขั้ว-ย้ายข้าง’ กับระนาว?
เกมของฝ่ายรัฐบาลในการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ อย่างที่ทราบกันว่า หลายพื้นที่ไม่ได้ส่งคนของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นการหารือและ ‘แพ็ค’ รวมกันแล้วว่า พื้นที่ใดจะส่งใครลง โดยคนที่เหลือจะหลีกทางให้ เพื่อจะได้ไม่แย่งคะแนนกันเอง และชนกับฝ่ายค้านได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ยกตัวอย่างพื้นที่ จ.นครราชสีมา ที่มี ‘บ้านใหญ่’ หลายบ้านแต่สุดท้ายพรรคร่วมรัฐบาลหารือกันแล้ว ‘บ้านใหญ่’ อื่น ๆ หลีกทางให้ และตัดสินใจส่งนางยลดา หวังศุภกิจโกศล ภริยานายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ ของพรรคภูมิใจไทย ลงสมัคร จนได้รับชัยชนะท่วมท้น เป็นต้น
ภายหลังการเลือกตั้ง อบจ. พรรคเพื่อไทย โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงถึงความพอใจแม้จะได้เก้าอี้นายก อบจ. 9 จังหวัด จากที่ส่งลง 25 จังหวัด เท่ากับว่าได้รับชัยชนะราว 40% โดยเฉพาะโซนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางแห่ง
ชัยชนะสำคัญของพรรคเพื่อไทยหนีไม่พ้นพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่ 2 พี่น้องตระกูล ‘ชินวัตร’ ซึ่งหลบหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯอยู่ในต่างประเทศ ถึงขนาดต้องออกแรงมาช่วยหาเสียง เนื่องจากเกรงว่า ‘บ้าน’ จะถูกตีแตกโดย ‘อดีตคนเคยรัก’ จนสุดท้ายนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรืออดีต ส.ว.ก๊อง จากเพื่อไทยได้รับชัยชนะ ส่วนนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ หรือพ่อเลี้ยงโต๊ะ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ 2 สมัย พ่ายแพ้ไปประมาณ 50,000 คะแนน
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลที่พรรคพลังประชารัฐแท็กทีมกับพรรคภูมิใจไทย แม้ไม่ส่งโควตาในนามพรรค แต่ชื่อของผู้สมัครนายก อบจ.ต่างคุ้นหู-ผ่านตาเป็น ‘คนคุ้นเคย’ กันอย่างดี และได้รับชัยชนะอย่างน้อย 20 จังหวัด โดยเกือบทั้งหมดอยู่ภายใต้บารมีของ ‘บ้านใหญ่’ เช่น จ.กำแพงเพชร นายสุนทร รัตนากร พี่ชายนายวราเทพ รัตนากร แกนนำพรรคพลังประชารัฐ จ.พะเยา นายอัครา พรหมเผ่า น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ จ.ราชบุรี นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา สามีนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ 1 แกนนำกลุ่ม ‘มัชฌิมา’
จ.สุโขทัย นายมนู พุกประเสริฐ พี่ชายนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ภริยานายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แกนนำพรรคพลังประชารัฐ จ.ชัยนาท นายอนุสรณ์ นาคาศัย น้องชายนายอนุชา นาคาศัย รมต.สำนักนายกฯ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ จ.เพชรบูรณ์ นายอัครเดช ทองใจสด อดีตนายก อบจ.เพชรบูรณ์ 5 สมัย สายตรง ‘กลุ่มเพชรบูรณ์’ ของนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง จ.นครปฐม นายจิราวัฒน์ สะสมทรัพย์ บุตรชายนายไชยา สะสมทรัพย์ อดีต รมต.หลายสมัยผู้ล่วงลับ และย้ายพรรคมาอยู่ชาติไทยพัฒนาช่วงเลือกตั้งปี 2562 เป็นต้น
อย่างไรก็ดีในเกือบทุกจังหวัดของไทย พรรคร่วมรัฐบาลจะแพ็คทีมส่งผู้สมัครลงเพียงรายเดียว แต่ในโซนภาคใต้นั้น มีหลายจังหวัดที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในช่วงเลือกตั้งปี 2562 ได้เวลากลับมาทวงคืนเก้าอี้ท้องถิ่น เห็นได้ชัดคือใน จ.สงขลา ที่ ‘ผู้การชาติ’ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล แกนนำพลังประชารัฐภาคใต้ และเพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชิงชัยกับว่าที่ ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ์ จากพรรคสีฟ้า สุดท้าย ‘ผู้การชาติ’ พ่ายแพ้ไป
ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช นางกนกพร เดชเดโช มารดานายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ซิวชัยชนะไปจากนายอำนวย ยุติธรรม น้องชายนายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น
อาจเรียกได้ว่าเป็นการ ‘Strike Back’ ของพรรคประชาธิปัตย์ กู้หน้าความเป็น ‘พรรคภาคใต้’ กลับคืนมาอีกครั้ง?
บีบีซีไทย รายงานข้อมูลเชิงสถิติการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ไว้น่าสนใจ เช่น มีอย่างน้อย 34 จังหวัดที่ประชาชนยังเลือก นายก อบจ. ‘หน้าเดิม’ ให้ทำหน้าที่ต่อ และมีบางแห่งที่ ‘พลิกโผ’ หน้าใหม่โค่นหน้าเดิม เช่น จ.ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีต ผบช.น. คว้าชัยชนะแบบฉิวเฉียดจากนายชาญ พวงเพ็ชร์ อดีตนายก อบจ.ปทุมธานี 3 สมัย ส่วน จ.นครพนม น.ส.ศุภพานี โพธิ์สุ บุตรสาวนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 จากภูมิใจไทย ชนะนายสมชอบ นิติพจน์ อดีตนายก อบจ.นครพนม 2 สมัยจากเพื่อไทยลงได้ เป็นต้น (อ้างอิงข้อมูลจาก บีบีซีไทย: https://www.bbc.com/thai/thailand-55394623)
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งแรกในรอบ 8 ปี
อย่างไรก็ดีคงต้องรอผลคะแนนอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่คาดว่าจะเผยแพร่ในวันที่ 22 ธ.ค. 2563 อีกครั้ง
หมายเหตุ : ภาพประกอบคูหาเลือกตั้งจาก https://www.thairath.co.th/
อ่านประกอบ :
ผ่าแผน'พรรค-กลุ่มการเมือง'สู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น-ใครคือ'ของจริง'กุมฐานเสียง ปชช.?
เปิดว่าที่นายก อบจ. 76 จว.เบื้องต้น-เชียงใหม่‘อดีต ส.ว.ก๊อง’ชนะ-หลายแห่งบ้านใหญ่ฉลุย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage