"...ทั้งหมดเป็นภาพตัวอย่าง ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นที่สะท้อนภาพจำลองมาจากการเมืองระดับประเทศ ก่อนที่จะรู้ผลอย่างเป็นทางการหลังประชาชนเข้าคูหาในวันที่ 20 ธ.ค.นี้..."
สัปดาห์สุดท้ายก่อนที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน ต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวม 76 จังหวัด ถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่เหตุรัฐประหารปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ธ.ค.นี้
ในภาพรวมการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. จากทุกสังกัด รวม 331 คน และผู้สมัครสมาชิก อบจ. ประมาณ 8,000 คน
แม้จะไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งระดับประเทศ-ระดับท้องถิ่น หลายพื้นที่มีความเชื่อมโยงถึงกัน โดยเฉพาะในมิติของ 'ฐานเสียง' ย่อมส่งผลถึงการตัดสินใจ
ทั้งนี้มีอย่างน้อย 2 พรรคการเมืองที่ประกาศส่งผู้ลงสมัครในนามของพรรค พร้อมลงพื้นที่ช่วยปราศรัยหาเสียงไว้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันยังมีผู้สมัครนายก อบจ.อีกหลายจังหวัดที่ประกาศตัวหรือมีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งหลายคนมีนามสกุลเดียวกันกับ ส.ส.ในแต่ละจังหวัด
เริ่มที่ พรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัครนายก อบจ.อย่างน้อย 25 จังหวัด อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน 10 จังหวัด ภาคกลาง 9 จังหวัด และภาคเหนือ 6 จังหวัด
มี 6 นโยบายกลางที่จะนำไปให้ผู้สมัครใช้ในการขับเคลื่อนการเมืองระดับท้องถิ่น ประกอบด้วย 1.พัฒนาระบบขนส่งคุณภาพใกล้บ้าน และเชื่อมท้องถิ่นเป็นเส้นเลือดฝอยด้านคมนาคม 2.นโยบายด้านสุขภาพ เน้นให้คนในท้องถิ่นมีสุขภาพที่ดีและต้องรักษาได้ใกล้บ้าน 3.นโยบายด้านการศึกษา ที่ต้องการลดจำนวนนักเรียนหลุดจากระบบศึกษาเพราะปัญหายากจน 4.นโยบายเกษตรปลอดภัยใกล้บ้าน สู่ครัวโลก ปลูกในถิ่น กินไปทั่วโลก 5.นโยบายเอสเอ็มอีและสินค้าโอทอป และ 6.การพัฒนาเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว กีฬา และวัฒนธรรม
นอกจากนโยบายที่ยึดโยงกับพรรคการเมืองผู้สมัครนายก อบจ. 25 ยังมีเกินกว่าครึ่ง อยู่ในพิกัดที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง - มี ส.ส.มากกว่าพรรคอื่น
ภาคอีสานที่ส่งผู้สมัครนายก อบจ 10 จังหวัด ทุกพื้นที่ต่างมีความได้เปรียบในเรื่องจำนวน ส.ส. ซึ่งส่งผลถึงคะแนนนิยมจากฐานเสียงของพรรค โดยมี 7 จังหวัดที่พรรคเพื่อไทย มี ส.ส.ยกทั้งจังหวัด รวม 29 คน คือ มหาสารคาม 5 คน , อุดรธานี 8 คน , หนองคาย 3 คน , หนองบัวลำภู 3 คน , ยโสร 3 คน , กาฬสินธุ์ 5 คน , มุกดาหาร 2 คน
อีก 3 จังหวัด อยู่ในพิกัดที่พรรคมี ส.ส.มากกว่าพรรคการเมืองอื่น คือ ชัยภูมิ มี ส.ส. 4 คนจาก 6 คน , นครพนม มี ส.ส. 3 คนจาก 4 คน , อุบลราชธานี มี ส.ส. 7 คนจาก 10 คน
สวนทางกลับ ภาคกลาง ที่ส่งผู้สมัคร อบจ. 9 จังหวัด แต่มีเพียง 2 จังหวัดที่พรรคมี ส.ส. คือ นครนายก 1 คน , ประจวบคีรีขันธ์ 1 คนจาก 3 คน ส่วนอีก 7 จังหวัดที่ไม่มี ส.ส.เลย คือ สุพรรณบุรี , ระยอง , ปราจีน , นครปฐม , สมุทรสงคราม , สมุทรสาคร , สิงห์บุรี
ส่วนภาคเหนือ มี 2 จังหวัดที่มี ส.ส.ยกจังหวัด รวม 5 คน คือ ลำพูน 2 คน , น่าน 3 คน และมีอีก 3 จังหวัดที่มี ส.ส.มากกว่าครึ่ง คือ เชียงราย มี ส.ส. 5 คนจาก 7 คน , ลำปาง มี ส.ส. 3 คนจาก 4 คน และเชียงใหม่ มี ส.ส. 8 คนจาก 9 คน ส่วน แพร่ ไม่มี ส.ส.
(ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ขณะลงพื้นที่ปราศรัยช่วยผู้สมัครนายก อบจ.หนองคาย)
ขณะที่คณะก้าวหน้า ที่นำโดยนายนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ. 42 จังหวัด แบ่งเป็นผู้สมัครใน ภาคเหนือ 7 จังหวัด ภาคอีสาน 25 จังหวัด ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ภาคใต้ 5 จังหวัด และภาคตะวันตก 1 จังหวัด
คณะก้าวหน้าที่มีทีมงานส่วนหนึ่งจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองน้องใหม่ในการเลือกตั้งระดับประเทศเมื่อปี 2562 อาจทำให้ต้นทุน-ฐานเสียงทางการเมืองมีไม่มากเท่าคู่แข่งรายอื่น
แต่ นายธนาธรและคณะ ในฐานะผู้นำได้ตัดสินใจลงพื้นที่ ปราศรัยหาเสียงด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เพื่อขายนโยบายผ่านหลัก 3 จริง คือ พื้นที่จริง ประชาชนจริง และสถานการณ์จริง ภายใต้แคมเปญใหญ่ “เปลี่ยนประเทศไทย เริ่มได้ที่บ้านเรา” เพื่อรณรงค์ และเสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนในหลายจังหวัด
นโยบายถูกออกแบบมาเพื่อท้องถิ่น ผ่าน 6 ประเด็นหลัก คือ 1.เพิ่มอำนาจให้ประชาชน 2.ใส่ใจสวัสดิการพื้นฐานของประชาชนอย่างเท่าเทียม 3.บริการสาธารณเป็นสิทธิของทุกคน พัฒนาทั้งระบบสาธารณสุข ระบบขนส่ง ในราคาที่เป็นธรรม
4.สิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียว บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน 5.เศรษฐกิจในชุมชนต้องดี ผ่านการส่งเสริมสินค้าและผลิตภัณฑ์ สนับสนุนให้ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น รวมทั้งศักยภาพของคนพื้นที่ และ 6.ต้องมีพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ อาทิ สร้างพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ หรือ สร้างศูนย์การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขณะลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครนายก อบจ.พิษณุโลก)
ด้านพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ประกาศตัวชัด จะไม่มีความเคลื่อนไหวในศึกเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้สมัครนายก อบจ.หลายจังหวัด ล้วนแต่มีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงถึง ส.ส.ในสังกัดพรรคการเมือง
พรรคพลังประชารัฐ แม้จะมีมติไม่ส่งผู้สมัครลงในนามพรรค และห้ามนำรูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไปใช้หาเสียง แต่มีอย่างน้อย 8 จังหวัดที่มีความเชื่อมโยงถึงพรรคโดยตรง
โดยมี 7 จังหวัดที่ผู้สมัครนายก อบจ. นามสกุลเดียวกันกับ ส.ส.ของพรรค คือ พะเยา , เพชรบูรณ์ , กำแพงเพชร , ชัยนาท , ราชบุรี , ชลบุรี , นครศรีธรรมราช
อาทิ นายอัครา พรหมเผ่า น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงสมัครนายก อบจ.พะเยา , นายอัครเดช ทองใจสด ลูกชายนายเอี่ยม ทองใจสด ส.ส.พลังประชารัฐ ลงสมัครนายก อบจ.เพชรบูรณ์อีกครั้ง หลังดำรงตำแหน่งมาแล้ว 5 สมัย , นายสุนทร รัตนากร พี่ชายนายวราเทพ รัตนากร ลงสมัครนายก อบจ.กำแพงเพชร
นายอนุสรณ์ นาคาศัย น้องชายนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ลงสมัครนายก อบจ.ชัยนาท , นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา สามีนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.พลังประชารัฐ ลงสมัครนายกอบจ.ราชบุรี ,นายวิทยา คุณปลื้ม พี่ชายนายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ลงสมัครนายก อบจ.ชลบุรี และอีก 1 จังหวัดคือ สงขลา ที่มีผู้สมัครปราศรัยหาเสียง โดยใช้สัญลักษณ์ของพรรคอย่างชัดเจน
เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย ที่แจ้งว่าพรรคไม่อนุญาตให้นำสัญลักษณ์ของพรรคไปใช้หาเสียงเลือกตั้ง นายก อบจ. และสมาชิกสภาท้องถิ่น แต่ก็มีอย่างน้อย 6 จังหวัดที่ผู้สมัครนายก อบจ.มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงพรรค
คือ นางสาวศุภานี โพธิ์สุ ลูกสาวนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาและส.ส.ภูมิใจไทย ลงสมัครนายกอบจ.นครพนม , นายภูษิต เล็กอุดากร หลานชายนายเนวิด ชิดชอบ ลงสมัครนายกอบจ.บุรีรัมย์ , นางแว่นฟ้า ทองศรี ภรรยานายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ลงสมัครนายกอบจ.บึงกาฬ , นางยลดา หวังศุภโกศล ภรรยานายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ ลงสมัครนายกอบจ.นครราชสีมา , นายสุนทร วิลาวัลย์ บิดา นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ลงสมัครนายกอบจ.ปราจีนบุรี , นายวิชิต ไตรสรณกุล บิดา น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงสมัครนายกอบจ.ศรีสะเกษอีกครั้งหลังดำรงตำแหน่งมาแล้ว 5 สมัย
ทั้งหมดเป็นภาพตัวอย่าง ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นที่สะท้อนภาพจำลองมาจากการเมืองระดับประเทศ ก่อนที่จะรู้ผลอย่างเป็นทางการหลังประชาชนเข้าคูหาในวันที่ 20 ธ.ค.นี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage