"....รัฐบาลได้มีความพยายามจะตอบสนองต่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงนับพันรายในหอพักแรงงานข้ามชาติต่างๆด้วยการออกมาตรการกำหนดเขตกักกันโรคในพื้นที่หอพักเหล่านี้ ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และจนถึงบัดนี้ก็มีแค่แรงงานที่แข็งแรงเท่านั้นที่ถูกพาไปทำงานที่ไซต์งานและได้รับอนุญาตให้ออกมาซื้อของในร้านค้าที่ถูกกำหนดไว้ใกล้กับหอพักที่อยู่อาศัยได้เป็นบางครั้ง..."
...........................................
สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ในประเทศไทย โดยตัวเลขล่าสุดพบผู้ติดเชื้อใน จ.สมุทรสาคร รวม 821 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและติดตามผู้สัมผัส 33 ราย และอีก 788 รายเป็นการค้นหาในชุมชน ซึ่งได้ทำการตรวจคัดกรองแล้ว 5,838 ราย เข้าเกณฑ์และส่งตรวจแลปทั้งหมด 4,688 ราย โดยผลออกแล้ว 1,861 ราย หรือสรุปก็คือ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนสูงถึงหนึ่งในสามของที่ทำการตรวจหาเชื้อทั้งหมด ทำให้เกิดความกังวลว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นหลังการลงพื้นที่ตรวจชุมชนแรงงานเมียนมามากขึ้น
ทั้งนี้ ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดจากกลุ่มแรงงานต่างชาตินั้น ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นที่แรก หลายประเทศก็ประสบปัญหาแบบเดียวกัน
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือ สิงคโปร์
น่าสนใจว่ารูปแบบการเกิดปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาของสิงคโปร์ ทำอย่างไรบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลพบว่า สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ รายงานข่าวว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา สิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานต่างชาติ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 152,000 คน หรือคิดเป็น 47 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มแรงงานต่างชาติซึ่งติดเชื้อโควิด-19
โดยตัวเลขนี้ ถ้าหากเปรียบเทียบเป็นสัดส่วนแล้วจะถือว่ามากกว่ากรุงลอนดอนซึ่งมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณน้อยกว่า 11 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร
แต่ถ้าหากไม่นับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานต่างชาติ ก็จะพบว่าสิงคโปร์นั้นมีผู้ติดเชื้อที่แท้จริงอยู่ที่ 4,000 ราย ซึ่งถือว่าน้อยกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ
ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน เม.ย. ที่มีการระบาดเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นในสิงคโปร์ ทางการสิงคโปร์ได้พยายามดำเนินการกักกันพื้นที่อาศัยของแรงงานต่างชาติ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ชาย อาศัยอยู่ในโซนหอพักขนาดใหญ่ หลายๆหอ และในแต่ละหนึ่งห้อง ก็มีกลุ่มแรงงานอาศัยกันอย่างแออัด ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ค่อนข้างจำกัด
อ้างอิงวิดีโอจาก CBC News International
ทั้งนี้ ด้วยมาตรการดังกล่าวของสิงคโปร์ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งในกลุ่มประชากรและในกลุ่มที่อาศัยหอพักแรงงานต่างชาติลดน้อยลงจนเกือบเหลือศูนย์ และทางการสิงคโปร์ก็ได้มีการออกประกาศเพื่อผ่อนปรนมาตรการต้องห้ามเพื่อป้องกันไวรัสต่างๆในหมู่ประชากร
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งของกลุ่มแรงงานข้ามชาติในสิงคโปร์ก็คือว่า แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ล้วนเป็นแรงงานก่อสร้างจากประเทศในเอเชียใต้ที่ได้รับค่าแรงเป็นจำนวนต่ำมาก และแรงงานเหล่านี้ก็จะยังคงถูกจำกัดพื้นที่การเคลื่อนไหว แม้ว่าประเทศสิงคโปร์จะเริ่มผ่อนปรนมาตรการจำกัดต่างๆตามลำดับแล้วในช่วงปี 2564
“มันไม่เป็นเหตุเป็นผลเลยที่ประเทศสิงคโปร์จะปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นเสมือนกับนักโทษ โดยเฉพาะกับหลายคนที่ถูกคุมขังเป็นระยะเวลานานกว่า 8 เดือน” นาย Alex Au จากองค์กร Transient Workers Count Too (TWC2) กล่าว
@ทำไมตัวเลขผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติถึงพุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด
ทิศทางของผู้ติดเชื้อของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการใช้วิธีการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด 2 วิธีประกอบกัน ได้แก่ การตรวจหาผู้ติดเชื้อแบบ PCR ซึ่งเป็นการตรวจหาดีเอ็นเอเชื้อโควิด ควบคู่ไปกับการตรวจหาเชื้อแบบเซรุ่มวิทยา จะติดตามว่าผู้ที่ถูกตรวจนั้นเคยติดเชื้อโควิด19 หรือไม่
โดย ณ เวลานี้พบข้อมูลว่ามีแรงงานต่างชาติจำนวนกว่า 54,500 คน ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ผ่านการตรวจแบบ PCR และอีกว่า 98,000 คน พบว่าติดเชื้อโควิด-19 ผ่านการตรวจทางเซรุ่มวิทยา
ขณะที่ ก่อนหน้านี้ ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ เคยระบุไว้ว่า กลุ่มประชากรซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติของประเทศสิงคโปร์นั้นได้รับการตรวจโควิด-19 แล้วอย่างน้อยครั้งหนึ่ง ด้วยวิธีการตรวจอย่างน้อยหนึ่งในสองวิธีตรวจหาโควิดดังที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น
หากใครที่ถูกตรวจพบว่ามีผลเป็นบวกจะถูกแยกออกไป เช่นเดียวกับผู้ที่ถูกตรวจว่าเคยเป็นพาหะนำไวรัสในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ทางการสิงคโปร์ ยืนยันว่าจะมีการให้บริการทั้งทางการแพทย์และการช่วยเหลือสำหรับแรงงานเหล่านี้
ณ ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์มีแรงงานต่างชาติที่ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 152,000 ราย จากจำนวนแรงงานต่างชาติทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในหอพักทั่วเกาะประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 323,000 ราย
ขณะที่ สิงคโปร์กำลังดำเนินการตรวจทางเซรุ่มวิทยากับแรงงานต่างชาติอีกจำนวน 65,000 ราย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อของสิงคโปร์จะมีโอกาสพุ่งสูงขึ้นอีก
นาย Alex Au จากองค์กร Transient Workers Count Too (TWC2) ออกมาระบุว่า ตัวเขาไม่แปลกใจกับข้อมูลดังกล่าวเลย เพราะในช่วงกลางปีที่ผ่านมานั้น มีแรงงานซึ่งถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดกล่าวกับองค์กรว่าพวกเขาถูกสั่งให้อยู่แต่ในห้อง และไม่ได้ถูกพาไปกักกันตัวแต่อย่างใด และพวกเขาก็ยังคงติดต่อกับเพื่อนร่วมห้องอยู่เช่นเดิม
นาย Alex กล่าวอีกว่า แต่ประเด็นดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นอดีตไปแล้ว สิ่งที่องค์กรมีความกังวลมากกว่า ก็คือว่า สิงคโปร์จะยังคงปฏิบัติกับแรงงานเหล่านี้ว่าเป็นนักโทษต่อไปหรือไม่ หลังจากในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศว่าไม่พบแรงงานซึ่งติดโควิดในหอพักเป็นระยะเวลาหลายวันแล้ว และ ณ เวลานี้ สิงคโปร์มีอัตราการติดเชื้อใกล้จะเป็นศูนย์และแรงงานชาวต่างชาติก็ได้รับการตรวจทุก 2 สัปดาห์ ดังนั้นไม่น่าจะมีเหตุผลอะไรที่ต้องใช้มาตรการกักกันขั้นรุนแรงกับแรงงานชาวต่างชาติ
@ ความสำเร็จและล้มเหลวของประเทศสิงคโปร์
สิงคโปร์ ตรวจพบเจอผู้ติดเชื้อโควิดเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็มีการใช้โปรแกรมการตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มข้นเพื่อตรวจสอบการติดเชื้อในขั้นต้นในกลุ่มประชากร
อย่างไรก็ตาม เมื่อไวรัสได้ระบาดไปในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทางการสิงคโปร์ ก็ประสบกับความยากลำบากทั้งในการตามตัวและกักบริเวณผู้ติดเชื้อ ส่งผลทำให้ผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างชาตินั้นพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดย ณ เวลานี้ จากการตรวจ PCR ทั่วประเทศสิงคโปร์ พบว่ามีผู้ติดเชื้อจากการตรวจเป็นจำนวนทั้งสิ้น 58,341 ราย และยังพบข้อมูลอีกด้วยว่า 93 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนดังกล่าวนั้นอยู่ในชุมชนแรงงานข้ามชาติ
รัฐบาลได้มีความพยายามจะตอบสนองต่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงนับพันรายในหอพักแรงงานข้ามชาติต่างๆด้วยการออกมาตรการกำหนดเขตกักกันโรคในพื้นที่หอพักเหล่านี้ ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และจนถึงบัดนี้ก็มีแค่แรงงานที่แข็งแรงเท่านั้นที่ถูกพาไปทำงานที่ไซต์งานและได้รับอนุญาตให้ออกมาซื้อของในร้านค้าที่ถูกกำหนดไว้ใกล้กับหอพักที่อยู่อาศัยได้เป็นบางครั้ง โดยนาย Alex ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลได้มีการผ่อนปรนและให้เสรีภาพการเคลื่อนไหวของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ให้มากกว่านี้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทางการสิงคโปร์ ได้กล่าวยืนยันว่า การระบาดในหอพักแรงงานต่างชาตินั้นอยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว ซึ่งจะนำไปสู่การผ่อนปรนมาตรการจำกัดสิทธิแรงงานต่างชาติตามลำดับในอนาคตต่อไป
โดยในขั้นตอนแรกของการผ่อนปรนนั้นกำหนดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 จะเริ่มมีการอนุญาตแรงงานต่างชาติบางรายสามารถเข้าถึงชุมชนสาธารณะของสิงคโปร์ได้เป็นจำนวนอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ด้วยการสวมใส่อุปกรณ์ติดตามตัวพร้อมกับการออกข้อบังคับให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
ทั้งหมดนี้ คือ ปัญหาที่ประเทศสิงคโปร์เคยประสบกับการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างชาติ รวมไปถึงความพยายามที่จะออกมาตรการต่างๆเพื่อนำไปสู่การแก้ไขต่อไป
ส่วนประเทศไทยจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จหรือไม่นั้น เป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด
เรียบเรียงจาก:https://www.bbc.com/news/world-asia-55314862
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/