"....ประเทศไทย ต้องการที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุม 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศภายในปี 2564 โดย ณ เวลานี้รัฐบาลไทยได้มีแผนการที่จะจัดหาวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส จากโครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้การสนับสนุนของ WHO และจะจัดหาวัคซีนอีกจำนวน 26 ล้านโดสจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่าประเทศไทยจะจัดหาวัคซีนเพิ่มอีกจำนวน 13 ล้านโดสจากแหล่งที่มาอื่นๆ เพื่อจะให้ครอบคลุมกับประชากรจำนวน 30 ล้านคน และเนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ต้องการจะพึ่งพาต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ประเทศไทยจึงได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของประเทศตัวเองด้วยเช่นกัน.."
.....................................
สืบเนื่องจากกระแสข่าวการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีรายงานข่าวว่า ประเทศสิงคโปร์นั้นเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่จะได้วัคซีนโควิด-19 มาครอบครอง ทำให้ ณ เวลานี้ เกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วประเทศไทยจะมีความพร้อมในการจัดหาวัคซีนได้เมื่อไร และจะสอดรับกับการจัดหาวัคซีนของประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบหรือไม่
ล่าสุด สำนักข่าวบลูมเบิร์กของสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอรายงานข่าวเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การจัดหาวัคซีนของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทยเอาไว้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปลและเรียบเรียงข้อมูลมาเสนอนำต่อ มีรายละเอียดดังนี้
@ ประเทศอินโดนีเซีย
ประเทศอินโดนีเซีย นั้นมีความต้องการวัคซีนเป็นจำนวนอย่างน้อย 246 ล้านโดส เพื่อจะนำไปฉีดให้กับประชากรช่วงอายุ 18 ถึง 59 ปี ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 107 ล้านคน ปัจจุบันอินโดนีเซียถือว่ามีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ได้พยามยามสั่งจองวัคซีนจากทั้งผู้ผลิตวัคซีนจากตะวันตกและจากประเทศจีน โดยมีการสั่งวัคซีนไปแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 125.5 ล้านโดสจากรัฐวิสาหกิจจีนชื่อว่าซีโน่แวกซ์ และมีการสั่งวัคซีนจำนวนกว่า 30 ล้านโดสจากบริษัทโนวาแวกซ์ สัญชาติสหรัฐอเมริกา และยังมีรายงานว่า อินโดนีเซียยังได้พยายามจะพัฒนาวัคซีนของตัวเองซึ่งชื่อว่า Merah Putih อีกจำนวนกว่า 57.6 ล้านโดสด้วย
แผนการใช้วัคซีน
-อินโดนีเซียมีแผนการที่จะจัดหาวัคซีนจากกาวี หรือกลุ่มพันธมิตรวัคซีนอีกว่า 16 ล้านโดส และขณะนี้ก็มีการเจรจาวัคซีนอีกจำนวนกว่า 100 ล้านโดสจากทั้งบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและบริษัทไฟเซอร์
-อินโดนีเซียวางแผนที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเดือนละประมาณ 16 ล้านคน จะใช้กระบวนการผลิตวัคซีนในแต่ละพื้นที่แทนการขนส่งวัคซีนไปยังเกาะนับพันเกาะของอินโดนีเซีย
-อินโดนีเซียจะมีการฉีดวัคซีนฟรีให้กับประชาชนของตัวเอง และนายโจโค วิโดโด้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้ออกคำสั่งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ดำเนินการโยกงบประมาณมาเพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีนในครั้งนี้
โดยนายโจโคจะเป็นคนแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อพิสูจน์ว่าวัคซีนนั้นปลอดภัย
ช่วงเวลา
ไตรมาสที่ 4 ของปี : วัคซีนจากรัฐวิสาหกิจซีโน่แว็ก
-ประเทศอินโดนีเซียได้รับวัคซีนจำนวน 1.2 ล้านโดสจากรัฐวิสาหกิจซีโน่แวกในช่วงต้นเดือน ธ.ค.ก่อนหน้านี้ และในช่วงเดือน ม.ค. จะได้รับวัคซีนอีกจำนวน 1.2 ล้านโดส
-มีรายงานว่าหน่วยงานควบคุมด้านยาของประเทศอินโดนีเซียกำลังตรวจสอบวัคซีน เพื่อจะมีการอนุมัติการใช้งานวัคซีนแบบฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด ซึ่งหลังจากการอนุมัติแบบฉุกเฉินแล้ว จะมีการเริ่มฉีดวัคซีนให้กับบุคลกรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร
-รัฐวิสาหกิจซีโน่แว็กจะมีการจัดส่งวัตถุดิบวัคซีนจำนวน 45 ล้านโดส ในช่วงเดือน ม.ค. เพื่อให้ รัฐวิสาหกิจ PT BioFarma ได้ดำเนินการผลิตวัคซีน โดยทาง PT BioFarma ได้วางเป้าหมายว่าจะผลิตวัคซีนให้อินโดนีเซียจำนวนกว่า 24 ล้านโดสต่อเดือน
@ ประเทศฟิลิปปินส์
ประเทศฟิลิปปินส์ต้องการวัคซีนเป็นจำนวนอย่างน้อย 50 ล้านโดสในช่วงปี 2564 เพื่อที่จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชากรจำนวนอย่างน้อย 1 ใน 4 ของประเทศ โดยคาดการณ์ว่าประเทศฟิลิปปินส์จะได้วัคซีนได้ในช่วงปลายปี 2564 หรือไม่ก็ต้นปี 2565
จะเน้นการฉีดวัคซีนไปยังกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ คนงานในอุตสาหกรรมที่อยู่นสภาวะวิกฤติ รวมไปถึงกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำและประชากรกลุ่มเสี่ยง
แผนการใช้วัคซีน
-ประเทศฟิลิปปินส์ ใช้เงินจำนวน 7.32 หมื่นล้านเปโซ (44,662,500,000 บาท) ในการจัดซื้อวัคซีน
โดยนายคาร์ลอส โดมินเกส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าจะมีการจัดหาเงินทุนจากทั้งบริษัทชั้นนำ ธนาคารของรัฐ และจะมีการระดมทุนจากกลุ่มการเมืองต่างๆ
ช่วงเวลา
ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 : วัคซีนจากรัฐวิสาหกิจซีโน่แว็ก, วัคซีนสปุตนิก 5
-นายคาร์ลิโต กาลเวซ ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องการฉีดวัคซีนของประเทศ ระบุว่า กระบวนการฉีดวัคซีนจะเริ่มต้นในช่วงต้นปี 2564 โดยใช้วัคซีนจากซีโน่แว็กและวัคซีนสปุตนิก 5 จากรัสเซีย
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ได้ยืนยันกับรัฐวิสาหกิจจากประเทศจีนว่า มีความต้องการวัคซีนจำนวน 25 ล้านโดสในปี 2564 โดยซีโน่แว็กได้ให้คำมั่นว่าจะมีการจัดส่งวัคซีนในระยะเวลา 60 วันหลังจากที่มีการเซ็นสัญญาแล้ว ขณะที่ฟิลิปปินส์มีการตั้งเป้าหมายว่าจะปิดข้อตกลงได้ภายในเดือน ธ.ค. นี้
-นายโรดริโก้ ดูเตอร์เต้ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ได้ออกคำสั่งให้องค์การอาหารและยาของประเทศฟิลิปปินส์ อนุมัติการใช้งานวัคซีนแบบฉุกเฉินทันทีเมื่อมีข้อมูลที่เพียงพอรวมไปถึงกระบวนการควบคุมที่เหมาะสม ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะร่นระยะเวลาการอนุมัติวัคซีนจากขั้นตอนปกติที่ต้องใช้ระยะเวลา 6 เดือน ให้เหลือแค่ 3 สัปดาห์
อย่างไรก็ดี วัคซีนจากซีโน่แว็กและวัคซีนสปุตนิก 5 ยังคงไม่ได้รับการอนุมัติ ณ เวลานี้
ส่วนวัคซีนจากบริษัทแอสตร้า เซนเนก้า มีรายงานว่า ในเดือน พ.ค. 2564 ฟิลิปปินส์จะได้รับวัคซีนจำนวน 2.6 ล้านโดสจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า โดยมีบริษัทในประเทศฟิลิปปินส์หลายแห่งร่วมระดมทุนเป็นงิน 800 ล้านเปโซ (506,302,500 บาท) เพื่อจัดซื้อวัคซีนกว่า 3 ล้านโดส
@ ประเทศมาเลเซีย
เมื่อเร็วๆ นี้ นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ออกมาเปิดเผยว่า ประเทศมาเลเซียมีความต้องการจัดซื้อวัคซีนเป็นจำนวน 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร นอกจากนี้จะมีการวางแผนหารือกับโครงการโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อที่จะจัดหาวัคซีนเป็นจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรมาเลเซีย และยังมีรายงานด้วยว่ามาเลเซียได้หารือกับอีก 10 บริษัทผู้ผลิตวัคซีน ซึ่งมีวัคซีนอยู่ในขั้นตอนทดลองการรักษาระยะที่ 3 ด้วยเช่นกัน
แผนการใช้วัคซีน
-มาเลเซียจะมีการทดลองการรักษาด้วยวัคซีนโควิด-19 เป็นครั้งแรกในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลมาเลเซีย
-การทดลองวัคซีนโควิดระยะ 3 ในประเทศมาเลเซียนั้นเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยสถาบันชีวและวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน (Institute of Medical Biology Chinese Academy of Medical Sciences) โดยในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา จีนและมาเลเซีย มีการทำข้อตกลงกันเพื่อที่จะสามารถเข้าถึงวัคซีนที่จีนกำลังพัฒนาอยู่
ช่วงเวลา
ไตรมาสที่ 1 ปี 2564 : วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์
-นายมูห์ยัดดิน เคยกล่าวว่า บริษัทไฟเซอร์ของสหรัฐอเมริกาจะมีการจัดส่งวัคซีนจำนวน 1 ล้านโดส ในช่วงไตรมาสแตกของปี 2564 อีก 1.7 ล้านโดส ในช่วงไตรมาสที่ 2 และอีก 5.8 ล้านโดสในช่วงไตรมาสที่ 3 และอีก 4.3 ล้านโดสในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564
-ข้อตกลงระหว่างมาเลเซียกับบริษัทไฟเซอร์นั้นจะครอบคลุมวัคซีนจำนวน 12.8 ล้านโดส เพื่อใช้สำหรับการฉีดวัคซีนให้กับประชากรจำนวนกว่า 6.4 ล้านคน
@ ประเทศสิงคโปร์
ประเทศสิงคโปร์มีแผนการใช้งบประมาณ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (22,342,500,000 บาท) ในการจัดหาวัคซีน โดยมีการติดต่อกับบริษัท อาทิ บริษัทอาร์กทูรัส เธราพิวติกส์ โฮลดิ้งส์ อิ้งค์(Arcturus Therapeutics Holdings Inc) บริษัทมอร์เดอน่า และบริษัทไฟเซอร์ของสหรัฐฯ และยังมีการติดต่อกับรัฐวิสาหกิจซีโน่แว็กของประเทศจีน เพื่อให้จัดส่งวัคซีนให้กับสิงคโปร์
มีการประมาณการณ์ว่า จะมีวัคซีนจำนวนเพียงพอกับประชากรทั้งประเทศของสิงคโปร์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 หลังจากนั้นจะมีการเสนอให้ฉีดวัคซีนกับประชากรของทั้งประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 5 ล้านคน ได้ในช่วงสิ้นปี 2564
แผนการใช้วัคซีน
-บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงจะเป็นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนก่อนตามแผนการฉีดวัคซีนแห่งชาติ
-สิงคโปร์มีเป้าหมายว่าจะฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มประชากรซึ่งเป็นผู้ใหญ่ของทั้งประเทศ แม้ว่าจะเป็นการเปิดให้ฉีดวัคซีนโดยสมัครใจก็ตาม
-จะมีการฉีดวัคซีนฟรีให้กับทั้งชาวสิงคโปร์และผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศระยะยาว
-มีรายงานว่า บริษัทมอเดอร์นาได้มีข้อตกลงกับกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสิงคโปร์ในการจัดส่งวัคซีนแบบ mRNA-1273 ให้กับทางประเทศสิงคโปร์ด้วย
ช่วงเวลา
ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 : วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์
-ประเทศสิงคโปร์จะได้รับวัคซีนล็อตแรกจากบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทคในช่วงสิ้นเดือน ธ.ค.นี้
โดยหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของประเทศจะเป็นผู้อนุมัติการฉีดวัคซีน
ต้นปี 2564 : วัคซีนจากบริษัทอาร์กทูรัส
-บริษัทอาร์กทูรัสและคณะกรรมการบอร์ดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์ ได้มีการหารือถึงข้อตกลงในการจัดซื้อวัคซีน ARCT-021 ของบริษัทอาร์กทูรัส
-มีรายงานว่าบริษัทอาร์กทูรัสจะส่งวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกของบริษัท ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนามายังสิงคโปร์ในช่วงต้นปี 2564
-ณ เวลานี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าวัคซีนของบริษัทอาร์กทูรัส ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะใช้การฉีดแค่โดสเดียวนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่
ผลการทดลองวัคซีนของบริษัทอาร์กทูรัส (อ้างอิงวิดีโอจาก Sky News Australia)
@ ประเทศไทย
ประเทศไทย ต้องการที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุม 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศภายในปี 2564 โดย ณ เวลานี้รัฐบาลไทยได้มีแผนการที่จะจัดหาวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส จากโครงการโคแวกซ์ ซึ่งเป็นโครงการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้การสนับสนุนของ WHO และจะจัดหาวัคซีนอีกจำนวน 26 ล้านโดสจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่าประเทศไทยจะจัดหาวัคซีนเพิ่มอีกจำนวน 13 ล้านโดสจากแหล่งที่มาอื่นๆ เพื่อจะให้ครอบคลุมกับประชากรจำนวน 30 ล้านคน และเนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ต้องการจะพึ่งพาต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ประเทศไทยจึงได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ของประเทศตัวเองด้วยเช่นกัน
แผนการฉีดวัคซีน
- การพัฒนาวัคซีน mRNA ของประเทศไทยนั้น ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเริ่มกระบวนการทดลองทางคลินิกหรือการทดลองการรักษาในระยะที่ 1 ได้ในช่วงเดือน เม.ย. 2564 ในระยะ 2 ได้ในช่วง มิ.ย. 2564
โดยคาดการณ์กันว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทยนั้นอาจจะใช้งานได้จริงในช่วงสิ้นปี 2564 โดยจะเป็นการอนุญาตใช้งานวัคซีนแบบฉุกเฉิน
ช่วงเวลา
กลางปี 2564 : วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า
-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวว่าประเทศไทยได้มีข้อตกลงล่วงหน้ากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อจะจัดหาวัคซีนโควิด-9 คาดว่าจะมีการอนุมัติและมีการผลิตได้ในช่วงกลางปี 2564
-ประเทศไทยคาดว่าจะได้รับโดสวัคซีนในช่วงกลางปี 2564 และจะมีการแจกจ่ายวัคซีนหลังจากนั้น
-ภายใต้ข้อตกลงกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทสยามไบโอไซน์ของประเทศไทยจะเป็นผู้ดำเนินการผลิตวัคซีน โดยใช้โรงงานของบริษัท และประเทศไทย จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้วยเช่นกัน
-พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ประเทศไทยจะเป็นผู้จัดส่งวัคซีนด้วยราคาที่สมเหตุสมผลไปให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้แก่ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม โดยจะเริ่มจัดส่งได้เมื่อมีการเริ่มกระบวนการผลิตแล้ว
พิธีการลงนามจัดหาวัคซีนระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (อ้างอิงวิดีโอจากช่องกระทรวงสาธารณสุข)
@ ประเทศเวียดนาม
แผนการฉีดวัคซีน
กระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม ระบุว่า เวียดนามกำลังพัฒนาวัคซีนของตัวเอง และจะทำงานร่วมกับบริษัทผู้จัดหาวัคซีนจากประเทศอื่นประกอบกัน
- มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขว่าประเทศเวียดนามกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทไฟเซอร์และบริษัทยาอื่นๆในประเทศสหรัฐฯ ประเทศอังกฤษ ประเทศจีน และประเทศรัสเซียเพื่อที่จัดหาวัคซีน
-บริษัท Nanogen Pharmaceutical Biotechnology JSC ของประเทศเวียดนามได้เริ่มกระบวนการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 1 ด้วยวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา และมีการคาดการณ์ว่าถ้าหากวัคซีนชื่อว่า Nanocovax ของบริษัทประสบความสำเร็จ จะมีการเริ่มกระบวนการผลิตวัคซีนได้ในช่วงปี 2565
-มีรายงานว่ามีบริษัทผลิตวัคซีนของเวียดนามอีกอย่างน้อย 2 แห่งที่จะเริ่มการทดลองวัคซีนทางคลินิกได้ในช่วงเดือน ก.พ. 64 และเดือน มี.ค. 64 นี้
เรียบเรียงจาก:https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-12-16/southeast-asia-covid-19-vaccine-tracker-who-will-get-what-when
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage