“…เชื้อโรค (โควิด-19) เรามองไม่เห็น และเวลาเราก็มองไม่เห็น จึงต้องให้สิ่งที่มองไม่เห็น มันฟัดกัน ให้มันสู้กัน ถามว่าวิธีอย่างนี้ใช้ตังก์ไหม ก็ไม่ได้ใช้ตังก์ จึงอยากตะโกนแบงก์ชาติให้ตื่นได้แล้ว และเคยรู้หรือไม่ว่า คนที่มีหนี้และไม่ได้ส่งดอก เหงื่อมันไหลออกตอนกลางคืน…”
.................
เป็นเวลา 9 เดือนเศษ หรือนับจากปลายเดือนมี.ค. ที่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ต้องยืนหยัดต่อสู้กับวิกฤตการณ์โควิด-19 อย่างอดทน นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เคยคราคร่ำบนเกาะ ย่านท่องเที่ยว และบนหาดทราย วันนี้แทบไม่มีเหลืออยู่เลย กระทั่งเมืองทั้งเมืองแทบกลายเป็นเมืองร้าง
ที่สำคัญจนถึงตอนนี้ไม่มีใครรู้แน่ว่า อีกกี่เดือนหรืออีกกี่ปี กว่าธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะสวรรค์แห่งนี้จะกลับมาคึกคักเช่นเดิม ท่ามกลางความหวั่นใจของผู้ประกอบการและธุรกิจห้างร้านบนเกาะที่ต่างกังวลว่า ธุรกิจที่สร้างมาด้วยน้ำพักน้ำแรงเป็นเวลายาวนาน กำลังจะถูก ‘ยึด’ ไปต่อหน้าต่อตา
“ถ้ารอฝรั่งตายแน่ ท่องเที่ยวตรงนี้ต้องรอไม่ต่ำกว่า 3 ปี แต่ระหว่าง 3 ปีนี้ เราจะมีเลือดมาเลี้ยงหรือไม่ นี่ก็เป็นปัญหา และถ้าไปดูนโยบายของรัฐก็ดูเหมือนคล้ายๆว่าจะให้ทุนใหญ่มายึด เข้ามาซื้อสินทรัพย์ในราคาถูก” วิรัช พงศ์ฉบับนภา หรือ ‘โกฉุย’ เจ้าของโรงแรมพาวิลเลี่ยน สมุย วิลล่า แอนด์รีสอร์ท ซึ่งตั้งอยู่ในบนเนื้อที่ 6 ไร่ ริมหาดละไม กล่าว
โกฉุย เล่าว่า ก่อนโควิดมา อัตราเข้าพักโรงแรมแห่งนี้ไม่เคยต่ำกว่า 70% และแม้ว่าจะเป็นโรงแรม 3 ดาว ของคนท้องถิ่น มีห้องพัก 90 ห้อง และพนักงาน 90-95 คน แต่สู้กับโรงแรม 4 ดาว 5 ดาว ซึ่งเป็นเชนโรงแรมต่างชาติได้สบายๆ โดยแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น อังกฤษ เยอรมนี สวิสฯ และอิสราเอล เป็นต้น เข้ามาพักโรงแรมแห่งนี้ 5 หมื่นคน
แต่หลังโควิดระบาดและรัฐบาลห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีสัดส่วนการเข้าพักคิดเป็นเกือบ 100% หายไปแทบจะในทันที โรงแรมต้องลดวันทำงานของพนักงาน เงินเดือนที่พนักงานเคยได้กันเดือนละ 2 หมื่นบาท ตอนนี้เหลือ 4,000 บาท ส่วนที่ลาออกไปก็มาก ออกไป 20-30 คน เราไม่ได้ไล่ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
“เดิมเรามีรายได้ เราเลี้ยงพนักงานได้พอสมควร แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวเราเป็นศูนย์ ส่วนนักท่องเที่ยวไทยที่เข้ามาก็นิดๆหน่อยๆ ซึ่งมันเทียบกันไม่ได้ นักท่องเที่ยวไทยที่มาสมุยจะมาได้พักอยู่ 2-3 วัน มาเฉพาะวันหยุด วันธรรมดาไม่ได้มา ต่างจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่พักกันเป็นเดือนๆ” โกฉุยบอก
(วิรัช พงศ์ฉบับนภา หรือ ‘โกฉุย’)
@ท่องเที่ยวทรุดตั้งแต่บาทแข็ง-เจอโควิดซ้ำเติมหนักสุดรอบ 33 ปี
โกฉุย ย้ำว่า “ทำโรงแรมมา 33 ปี ทำมาตั้งแต่ปี 2530 ผ่านอุปสรรคมาก็มาก แต่ไม่เคยเจออย่างนี้ และไม่นึกไม่ฝันว่าจะเจอแบบนี้” พร้อมบอกว่า “ก่อนโควิดมา ท่องเที่ยวเราทรุดทั้งแต่บาทแข็งแล้ว แต่แบงก์ชาติบอกว่าบาทแข็งไม่มีผลกระทบการท่องเที่ยว พูดอย่างนี้เอาปริญญาฮาวาร์ดคืนไปเลย เอาอะไรมาพูด”
โกฉุย กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่เกาะสมุยมีนักท่องเที่ยวชาวไทยน้อยมาก โดยมีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดบนเกาะ เพราะค่าสนามบินแพง ไปมาเป็นหมื่นบาท นักท่องเที่ยวไทยจึงไม่ค่อยมา เพราะถ้าบินราคานี้ เขาไปเที่ยวฮ่องกง สิงคโปร์ ได้เลย หรือหากมาโดยเรือเฟอร์รี่เขาต้องรอคิวนาน 3 ชั่วโมง นี่ยังไม่นับค่าอาหารบนเกาะที่มีราคาแพง
“ไม่มีใครปิดกั้นใครอยู่แล้ว เพราะตังก์ไม่มีสัญชาติ แต่อุปสรรค คือ เครื่องบิน และเฟอร์รี่ อย่างเรือเฟอร์รี่ ถ้าจะมา ต้องรอคิว 3 ชั่วโมง ถ้ามาเครื่องบินไปมาเป็นหมื่นบาท ราคานี้คุณไปสิงคโปร์ได้ ไปฮ่องกงได้ จะมาสมุยทำไม นี่ยังไม่ค่าใช้จ่ายบนเกาะที่แพง เพราะต้นทุนการขนส่งสินค้ามาเกาะนี้มันสูง” โกฉุยบอก
โกฉุย บอกว่า “ค่ากิน ค่ารักษาพยาบาลแพง และถ้ามาเกาะสมุย อย่าล้มนะ ถ้าล้มกระดูกแตก นี่เสียหลักล้าน นักท่องเที่ยวโวยวายกันหมด”
@ห่วงทุนไทย-ต่างชาติไล่ซื้อโรงแรมถูก-ปลายปีหน้าเปลี่ยนเจ้าของหลายเจ้า
เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเข้าพักโรงแรมหายไปเกือบ 100% และโรงแรมเริ่มขาดสภาพคล่อง โกฉุย บอกว่า เขาเคยขอให้ธนาคารเจ้าหนี้ ปล่อยสินเชื่อซอฟโลนต์ที่มาจากพ.ร.ก.แบงก์ชาติ (พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563) คิดดอกเบี้ย 2% นาน 2 ปี
แต่ปรากฏว่า แบงก์นอกแห่งนี้ไม่ปล่อยให้ โดยให้เหตุผลว่า ‘ไม่รู้ว่ากี่เดือนจึงจะฟื้น’ และไม่ยอมเสี่ยงที่มีหนี้เสีย
“ผมใช้แบงก์นอกแห่งหนึ่งอยู่ แต่นโยบายเขาจะยึดผม” โกฉุย บอก เมื่อถามต่อว่าอะไรทำให้คิดเช่นนั้น โกฉุย ตอบว่า “เบอร์สองของแบงก์แห่งนี้ พูดต่อหน้าผมเลยว่า ถ้าคุณไปไม่ได้ ผมมีนายทุนพร้อม”
โกฉุย กล่าวต่อว่า “นายทุนไทยเองได้ตั้งกองทุน 2 หมื่นล้านบาท ไม่ต้องห่วงพวกนี้มาแน่ มันซื้อสาด ปีหน้า ปลายปีจะหาย เปลี่ยนชื่อไปหลายเจ้า ยิ่งตอนนี้มีการแก้กฎหมายล้มละลายแล้ว ขึ้นศาลไม่กี่ครั้งยึดเลย ยิ่งตอนนี้ทุนจีนมารอทั้งที่ภูเก็ต ทั้งที่สมุย โดยเฉพาะที่ภูเก็ตเข้าไปมากแล้ว จีนเขาแผ่ไปเรื่อยๆ”
เมื่อถามว่าเหตุใดจึงไม่หาทางกู้แบงก์จากไทย โกฉุย บอกว่า “แบงก์พาณิชย์ไทยไม่มีเข้ามาช่วย เพราะหน้าที่ของเขา คือ หากำไร การที่จะมาแบกภาระกับภาวะที่ไม่รู้จักจบ ก็เป็นเรื่องที่ต้องเห็นใจเขา แต่ถ้าเราไปไม่ไหวจริงๆ และเราติด (หนี้) มาก เขาบอกว่ามีนายทุนพร้อม ทั้งทุนต่างชาติ ทั้งทุนไทย มีคนกลางคอยวิ่งผ่านแบงก์ได้ทั้งนั้น”
แต่ทว่าก่อนเส้นตายการสิ้นสุดการพักชำระหนี้วันที่ 31 ธ.ค.2563 โกฉุย บอกว่า เป็นโชคดีมากโรงแรมของเขา ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารออมสิน ในการรีไฟแนนซ์หนี้จากแบงก์เดิมมาอยู่กับออมสิน และแบงก์ออมสินยังปล่อยกู้เพิ่มสภาพคล่องให้อีก 10 ล้านบาท ภายใต้โครงการ ‘ออมสินเพื่อสมุย’ หรือ ‘สมุยโมเดล’ โดยใช้ที่ดินและโรงแรมค้ำประกัน
โกฉุย หวังว่า เงินกู้ก้อนนี้จะทำให้โรงแรมแห่งนี้ยืนต้านโควิด-19 ได้นาน 6 เดือน ควบคู่ไปกับการหารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งออมสินจะนำบัตรที่พักของโรงแรมไปจัดแคมเปญขายให้ลูกค้า เมื่อได้เงินมา เงินเหล่านี้จะจ่ายเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับแบงก์ออมสินเลย รวมถึงการขายข้าวหลามบะจ่าง ‘ชักพรึด’ สูตรเด็ด กระบอกละ 200 บาท
“เราไม่ต้องการเป็นหนี้เสีย…แต่ตอนนี้หน้ามืดแล้ว ต้องเอาเงินมาก่อน อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนหนัก ช่วยประคับประคองกัน” โกฉุยย้ำ
โกฉุย เป็นห่วงว่า ปลายปีหน้าพรรคพวกของเขาที่ทำโรงแรมบนเกาะสมุยเช่นเดียวกัน อาจต้องล้มหายตายจากไปหลายราย หรือจำใจต้องขายโรงแรมไป เพราะไม่มีรายได้มาจ่ายหนี้
“ตอนนี้แบงก์พาณิชย์เขาหยุดต้นหยุด แต่ขึ้นปีหน้า ถ้าจ่ายไม่ได้ ขึ้นศาลครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 พอปลายปี ก็จะค่อยๆหายไป” โกฉุยประเมิน ส่วนนายทุนที่ซื้อโรงแรงในราคาถูกๆนั้น โกฉุย บอกว่า “ถ้ามีวัคซีน เขาก็ลอยลำ รวยเลย”
@เรียกร้อง 3 ข้อช่วยเหลือธุรกิจโรงแรม-ขอแบงก์ชาติตื่นได้แล้ว
โกฉุย มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลและธปท. ใน 3 ข้อ ได้แก่
หนึ่ง เสนอสร้างสะพานข้ามทะเลเชื่อมจาก อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช มายังเกาะสมุย ระยะทาง 18 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มทางเลือกให้นักท่องเที่ยวไทยจะเดินทางเที่ยวเกาะสมุย และช่วยลดค่าครองชีพบนเกาะ
“ญี่ปุ่นมีสะพานเชื่อทุกเกาะ ที่ปีนังตอนนี้จะขึ้นสะพานที่สามแล้ว ซึ่งการสร้างสะพานมาเกาะสมุย จะเพิ่มทางเลือก ลดการผูกขาด ถามว่าจะเลือกข้างนายทุนสนามบิน เรือเฟอร์รี่ หรือประชาชนส่วนใหญ่ และเราพูดวันนี้ ไม่ได้ความว่าจะสร้างทันที ต้องศึกษา แต่ต้องหาจุดเริ่มต้น ถ้ารัฐไม่มีเงิน ก็เปิดให้เอกชนมาร่วมทุนแบบ PPP ก็ว่าไป”
สอง ให้แบงก์ชาติขยายระยะเวลาการเป็นหนี้เสีย (NPL) จากเดิมที่ผิดนัดชำระหนี้ 3 เดือนให้เป็นเอ็นพีแอล แต่ขอให้ขยายเป็น 1 ปี เพื่อที่ว่าเมื่อผู้ประกอบธุรกิจไม่เป็นเอ็นพีแอลก็ไม่ต้องเข้าเครดิตบูโร เพราะถ้าติดเครดิตบูโรแล้วจะกู้อะไรก็ไม่ได้ และหวังว่าผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่จะทำ และเห็นไหว้ครูมาก็หลายวันแล้ว
“ขอให้ทำแบบเมืองนอก คือ หยุดต้นหยุดดอกออกไป 1 ปี เพราะขณะนี้เราไม่มีรายได้” โกฉุยกล่าว
สาม ขยายระยะเวลาการชำระหนี้จาก 10 ปี เป็น 20 ปี และปรับวิธีการคิดอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็นแบบขั้นบันได
“เชื้อโรค (โควิด-19) เรามองไม่เห็น และเวลาเราก็มองไม่เห็น จึงต้องให้สิ่งที่มองไม่เห็น มันฟัดกัน ให้มันสู้กัน ถามว่าวิธีอย่างนี้ใช้ตังก์ไหม ก็ไม่ได้ใช้ตังก์ จึงอยากตะโกนแบงก์ชาติให้ตื่นได้แล้ว และเคยรู้หรือไม่ว่า คนที่มีหนี้และไม่ได้ส่งดอก เหงื่อมันไหลออกตอนกลางคืน” โกฉุยบอก
เมื่อถามว่าหลังรัฐบาลมีโครงการ ‘เที่ยวคนละครึ่ง’ โรงแรมบนเกาะสมุยได้อานิสงส์หรือไม่ โกฉุย บอกว่า “พอมีไทยเที่ยวไทย คนไทยไปเชียงใหม่ เพราะมีไฟล์ทเยอะ ตอนนี้ที่มากันมากก็ ‘ไอ้ไข่’ ที่นครศรีธรรมราช”
โกฉุย ทิ้งท้ายว่า “ถ้าเราได้เอาวัคซีนมาสู้ทัน ถ้าฝรั่งต่างชาติมาเราก็สบาย แต่วันนี้ต้นแม่น้ำยังเต็มไปด้วยเชื้อโรค (โควิด-19) แล้วนักท่องเที่ยวจะมาได้อย่างไร”
@โรงแรม 5 ดาวพึ่งโซเชียลมีเดียทำตลาดลูกค้าคนไทย
ด้าน สิริมณี ทองคณารักษ์ ผู้ดูแลโรงแรมขวัญ บีช รีสอร์ต แอนด์ ลักชัวรี แกลมปิง แอนด์ พูล วิลลา สมุย โรงแรม 5 ดาว ห้องพัก 21 ห้อง ตั้งอยู่บนพื้นที่เช่า 2 ไร่ครึ่ง อายุสัญญาเช่า 30 ปี ใกล้หาดแม่น้ำ ซึ่งเป็นหาดสาธารณะ บนเกาะสมุย มีเจ้าของเป็นชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่โรงแรมได้รับผลกระทบหนักสุดจากโควิด-19 หลังจากที่เปิดมาเป็นปีที่ 6
“ลูกค้าชาวต่างชาติ โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐ ที่เคยเข้าพักคิดเป็นสัดส่วน 97% ก่อนมีโควิด และสร้างรายได้หลายสิบล้านบาทในปี 2562 จากจำนวนผู้เข้าพัก 5,000 คืน แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว มีแต่นักท่องเที่ยวชาวไทย พนักงานที่เคยทำงาน 25 คน ตอนนี้ทำงานกัน 5-6 คน ที่เหลือกลับบ้าน และถ้าพร้อมเมื่อไหร่เราก็ให้เขามาทำงานทันที” สิริมณีกล่าว
สิริมณี บอกว่า โควิด-19 ทำให้โรงแรมต้องหันมาทำตลาดลูกค้าชาวไทย จากเดิมที่ไม่เคยทำตลาดมาก่อนเลย เพราะเมื่อทุกอย่างปิด นักท่องเที่ยวต่างชาติก็เข้ามาไม่ได้ ขณะที่โครงการ ‘เที่ยวด้วยกัน’ ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเข้าพักที่โรงแรมคึกคัก โดยเฉพาะในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. และเมื่อวันที่ 10-11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ห้องพักของเราเต็มทั้ง 21 ห้อง
“หลังมีโควิด เราหันมาทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และเป็นแอดมินเอง ซึ่งมีลูกค้าคนไทยทักเข้ามาเยอะมาก จากเดิมที่เราใช้แอดมินเป็นคนฝรั่งเศส และตอบเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด รวมทั้งมีบล็อกเกอร์ นักรีวิว และอินฟลูเซอร์ เข้ามารีวิว จากเดิมที่ไม่มีใครรู้จักที่นี่เลย” สิริมณีกล่าว
(สิริมณี ทองคณารักษ์)
สิริมณี มองว่า เมื่อสถานการณ์โควิดทั่วโลกดีขึ้น และไทยเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าได้ เชื่อไทยจะเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะต่างประเทศเชื่อมั่นในประเทศไทย เนื่องจากเราดูแลโควิดได้ดี
“มีอีเมล์ลูกค้าเก่าๆมาถึงเรา เป็นลูกค้าแคนาดา บอกว่าเขาพร้อมเข้ามาพักที่นี่ รอแค่เปิดประเทศเท่านั้น โดยเขาเหมาทั้งห้องพักทั้งโรงแรมเป็นเวลา 2 เดือน ในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.ปีหน้า ถ้าเราเปิดประเทศเมื่อไหร่เขาก็มาได้”สิริมณี บอก
สิริมณี ระบุว่า โรงแรมจะไม่ทิ้งลูกค้าชาวไทยและจะทำตลาดลูกค้าชาวต่างชาติควบคู่กับลูกค้าชาวไทย เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยจะพัก 1 คืน ต่างจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่พักกัน 2-3 สัปดาห์ จึงมีช่องรอยต่อที่นักท่องเที่ยวชาวไทยจะเข้าพักได้
“โควิดทำให้เรามีโอกาสพิจารณาตัวเรา จากเดิมเราที่ไม่ได้เจาะกลุ่มคนไทยมาก่อน” สิริมณีกล่าว
ขณะที่ วิชัย มาลัย ลูกจ้างขับรถขนส่งน้ำจืดส่งโรงแรมและที่พักบนเกาะสมุย ชาวจังหวัดหนองคาย ซึ่งมายื่นกู้เงิน 10,000 บาท จากธนาคารออมสิน บอกว่า ก่อนโควิดเคยขับรถส่งน้ำ 7-8 โรงแรม แต่ตอนนี้เหลือแค่ 1 โรงแรม และโรงแรมนี้เคยส่งน้ำจืด 5-6 เที่ยว (เที่ยวละ 2 หมื่นลิตร) แต่ตอนนี้เหลือ 5 วันต่อ 1 เที่ยว
“เดิมเงินเดือนที่เคยได้อยู่ที่เดือนละ 15,000 บาท ตอนนี้ลดลงเหลือ 8,500 บาท ต้องส่งให้ลูกเรียนเดือนละ 3,000 บาท และเงินเดือนที่เหลือระดับนี้ไม่พอใช้จ่ายแน่นอน สำหรับค่าครองชีพบนเกาะสมุย แต่ยังดีที่เจ้านายยังช่วยประคับประคองกันมาเรื่อยๆ มีข้าว อาหาร และที่พักฟรีจากเจ้านาย จึงอยู่ได้” วิชัยกล่าว
วิชัย บอกว่า พรรคพวกเพื่อนฝูงบนเกาะสมุยที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันเขามีเป็นจำนวนมาก บางคนที่เช่าบ้านอยู่ เมื่อถูกลดเงินเดือนก็ต้องกลับบ้านในต่างจังหวัด
“ตอนที่เพื่อนทยอยออกจากเกาะไป มันน่าใจหาย บ้านเช่าที่เพื่อนผมเคยอยู่ 18 หลัง ตอนนี้มีคนพักอยู่หลังเดียว นอกนั้นมันก็เงียบหมดเลย” วิชัยย้ำ
เหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการโรงแรม และลูกจ้างบนเกาะสมุย หลังจากยืนต้านวิกฤตการณ์โควิด-19 มาแล้ว 8-9 เดือน และยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยจะกลับสู่ภาวะปกติ ?
อ่านประกอบ :
สกัดเอ็นพีแอลไหล! ‘ออมสิน’ ลุยปรับโครงสร้างหนี้-ชงบอร์ดตั้งสำรองส่วนเกิน 1.24 หมื่นล.
‘ออมสินเพื่อสมุย’ อัดฉีดสินเชื่อ 1.5 พันล้าน อุ้ม ‘SME-รายย่อย’ ฝ่าวิกฤติท่องเที่ยว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage