‘วิทัย’ สั่งเจ้าหน้าที่แบงก์ออมสินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ 1.1 ล้านล้านบาท สกัดหนี้เสียทะลัก แยกลูกหนี้เป็น ‘เขียว-เหลือง-แดง’ เปิดทางปรับหนี้ผ่านแอพฯ ‘MyMo’ ชงบอร์ดตั้งสำรองส่วนเกินอีก 1.24 หมื่นล้านบาท สร้าง ‘กันชน’ รองรับความไม่แน่นอน
...................
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงมาตรการดูแลลูกหนี้ของธนาคารออมสินหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในวันที่ 31 ม.ค.2563 ว่า ธนาคารฯมีลูกหนี้ที่ได้รับการพักชำระหนี้โดยอัตโนมัติ คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 1.1 ล้านล้านบาท จากสินเชื่อทั้งหมด 2.1 ล้านล้านบาท โดยที่ผ่านมาธนาคารฯได้เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารเข้าไปดูแลลูกหนี้เหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหยุดยั้งไม่ให้หนี้ดังกล่าวไหลไปเป็นหนี้เสีย (NPL)
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสินเชื่อที่ถูกพักไว้ 1.1 ล้านล้านบาทดังกล่าว จะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.สินเชื่อของกลุ่มข้าราชการ ครู และลูกค้าสวัสดิการ วงเงินสินเชื่อรวม 4 แสนล้านบาท แม้ว่าคุณภาพหนี้กลุ่มนี้ไม่ได้สูงมาก แต่ไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเอ็นพีแอล เนื่องจากมีการหักเงินต้นและดอกเบี้ยผ่านบัญชีอยู่แล้ว 2.สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อตกแต่งที่อยู่อาศัย วงเงินสินเชื่อรวม 4 แสนล้านบาท ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงเช่นกัน เพราะเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน
3.สินเชื่ออื่นๆ รวมถึงสินเชื่อรายย่อย วงเงินสินเชื่อรวม 3 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อในธุรกิจเอสเอ็มอี 6-7 หมื่นล้านบาท และบางส่วนลูกหนี้ภายใต้มาตรการของรัฐ (PSA) ซึ่งรัฐบาลดูแลเรื่องเอ็นพีแอล โดยลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ธนาคารฯจะต้องเร่งเข้าไปดูแลโดยเร็ว ส่วนวิธีการดูแลและจัดการหนี้ไม่ให้กลายเป็นเอ็นพีแอลนั้น จะพิจารณาตามความสามารถของลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ตกงาน หรือลูกหนี้ SME ที่ต้องปิดกิจการ จะมีมาตรเสริมตามมาอีก
“ถ้าเป็นลูกหนี้กลุ่มสีแดง ก็จะให้พักต้นและลดดอกเบี้ย ถ้าเป็นกลุ่มสีเหลืองจะให้พักต้นและให้จ่ายแต่ดอกเบี้ย แต่ถ้าเป็นลูกหนี้กลุ่มสีเขียวก็จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยตามปกติ โดยเฉพาะกลุ่มสีแดง เช่น พวกที่ตกงาน ปิดกิจการ ธนาคารฯจะต้องมีมาตรการเสริมตามมาอีก ส่วนการขอปรับโครงสร้างหนี้ก็ไม่ยาก เพราะล่าสุดออมสินไปพัฒนาแอพฯ MyMo by GSB ให้ลูกหนี้เข้ามาลงทะเบียนขอปรับโครงสร้างหนี้ได้แล้ว” นายวิทัยกล่าว
นายวิทัย กล่าวต่อว่า ภายในเดือนธ.ค.นี้ จะมีการเสนอให้บอร์ดออมสินพิจารณาอนุมัติตั้งสำรองส่วนเกินเพิ่มอีก 1.24 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นกันชนที่จะรองรับกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนในอนาคต
“จากนี้ไปเรื่องการดูแลหนี้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งคิดว่าอยู่ในจุดที่ดูแลได้ แต่สิ่งที่ผมจะทำต่อ คือ ออมสินต้องมีสำรองส่วนเกินเยอะขึ้น แม้ว่าปัจจุบันออมสินได้ตั้งสำรองฯครอบคลุมเอ็นพีแอลครบ 100% แล้ว โดยเราจะตั้งสำรองส่วนเกินอีกก้อนหนึ่ง ซึ่งเป็นการตั้งสำรองส่วนที่เกินเพื่อให้เป็น Buffer (กันชน) เพราะไม่มีใครดูอนาคตออก แต่วิธีการจัดการที่ดีที่สุดเพื่อทำให้เราแข็งแรง ยั่งยืน และยั่งยืนยาวๆ คือ เราต้องมี Buffer ซึ่งก็คือการกันสำรองส่วนเกินเอาไว้” นายวิทัยกล่าว
นายวิทัย กล่าวว่า แม้ว่าปีนี้ธนาคารจะมีกำไรจากการดำเนินการงานกว่าปีที่แล้ว แต่เนื่องจากธนาคารฯมีการตั้งสำรองส่วนเกินเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าปีนี้ธนาคารฯจะมีกำไร 1.8 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไร 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีการตั้งสำรองปกติเพียง 200 ล้านบาท
“ปีที่แล้วไม่เน้นตั้งสำรองฯ แต่ปีนี้เราสาดสำรอง เพื่อให้เรามีสำรองเยอะ และปีหน้าก็จะกันสำรองเพิ่มขึ้นอีก เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และของเดิมมันน้อย ซึ่งถ้าพูดกันตรงไปตรงมา การที่ธนาคารตั้งไว้น้อยๆ ก็เพื่อให้ได้กำไรเยอะ และการที่เรามีสำรองก้อนใหญ่เอาไว้เยอะๆ จะทำให้เกิดความปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน ซึ่งการจะทำให้ยั่งยืน balance sheet (งบดุล) ต้องแข็งแรง” นายวิทัยกล่าว
นายวิทัย กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้าว่า น่าจะอยู่ในภาวะ ‘อึนๆ’ โดยบางเซ็กเตอร์จะฟื้นตัวชัดเจน แต่บางเซ็กเตอร์จะยังไม่ดี ส่วนภาคท่องเที่ยวเองก็จะต้องดูเป็นจุดๆไป บางจุดดี แต่บางจุดไม่ดี เช่น หากเป็นพัทยาและหัวหิน จะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวเต็ม ส่วนที่เกาะสมุยไม่ดีเลย หรือกรณีภูเก็ต จะพบว่าโรงแรม 4 ดาว และ 5 ดาวมีคนพักเต็ม เพราะลดราคาลงมาทับกับโรงแรม 3 ดาวและ 2 ดาว เช่นเดียวกับร้านขายของที่ระลึกที่อยู่ไม่ได้
“มีปัจจัยว่าโควิดจะมารอบสองหรือไม่ เชียงใหม่จะเอาอยู่หรือไม่ ถ้ายั้งไว้ไม่อยู่ ก็แย่ และแน่นอนเราผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่พูดอีกก็ถูกอีก เพราะจุดต่ำสุด คือ มันปิดทั้งเมือง” นายวิทัยกล่าว
อ่านประกอบ :
‘ออมสินเพื่อสมุย’ อัดฉีดสินเชื่อ 1.5 พันล้าน อุ้ม ‘SME-รายย่อย’ ฝ่าวิกฤติท่องเที่ยว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage