"....ไวรัสโควิด-19 นั้น แม้ว่าอาจจะเป็นข้ออ้างให้ฝ่ายรัฐบาลสามารถใช้อำนาจพิเศษได้ แต่ในทางกลับกันก็เป็นสิ่งที่บ่งชี้ในระยะยาวได้เช่นกันว่า การใช้อำนาจกฎหมายอย่างผูกขาดไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต่อการควบคุมไวรัสโควิด-19 นั่นเอง ..."
.............................
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไวรัสโคโรน่า ที่กำลังเกิดขึ้นในทั่วโลก ณ เวลานี้ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่กำลังถูกจับตามองว่า การสร้างแรงกระเพื่อมต่อความนิยมทางการเมืองของผู้นำทางการเมืองทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าว The Diplomat ของสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอบทความที่น่าสนในเกี่ยวกับประเด็นเรื่องโควิด-19 กับสภาวะประชาธิปไตยที่กำลังเสื่อมถอยในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีข้อมูลที่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยด้วย
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
จากสถานการณ์ในภูมิภาคอาเซียน ที่แต่ละประเทศ มีผลลัพธ์ในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือไวรัสโคโรน่าในทิศทางที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรค กำลังถูกผูกโยงไปกับสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ทางการเมืองให้กับกลุ่มผู้นำทางการเมืองสายอำนาจนิยมเช่นกัน
ต้องยอมรับกันว่าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนนั้น ผู้นำประเทศ ที่มีอำนาจเด็ดขาด ซึ่งบางคนได้ผูกขาดความนิยมเป็นระยะเวลายาวนาน ได้ใช้สถานการณ์การระบาดของไวรัสเป็นกลไกในการกระชับอำนาจทางการเมือง และบางครั้งก็ไม่ได้สนใจด้วยว่า การการกระทำดังกล่าวนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการตอบสนองของระบบสาธารณสุขสาธารณะหรือไม่
อันที่จริงแล้วภูมิภาคอาเซียนนั้นถือได้ว่าเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ไวรัสโควิด-19 เข้าไปเป็นส่วนเสริมให้เกิดการเสื่อมถอยของประชาธิปไตยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
จากการศึกษาของสถาบัน Freedom House พบว่านับตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 ได้แพร่ระบาด สถานะของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเกิดการเสื่อมถอยในพื้นที่กว่า 80 ประเทศทั่วโลก โดยในบางประเทศนั้นก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัส ก็มีเหตุการณ์การผูกขาดทางการเมือง การผูกขาดความนิยม การแบ่งพรรคแบ่งพวก การใช้อำนาจนิยม และการสร้างอิทธิพลทางการเมืองอย่างต่อเนื่องของกองทัพ เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว
สิ่งเหล่านี้ กำลังเกิดขึ้นกับหลายประเทศในอาเซียน และไวรัสโควิด-19 ก็กลายเป็นสิ่งที่เร่งการเสื่อมถอยนั้นให้เร็วขึ้นไปอีก
อันดับประชาธิปไตยในอาเซียนซึ่งวัดโดย Economist Intelligence Unit (อ้างอิงรูปภาพจาก https://theaseanpost.com/article/thailand-flawed-democracy)
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ควรจะต้องมีกลไกการรับมือกับการผูกขาดทางการเมืองอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองสามารถใช้โรคระบาดเป็นข้ออ้างในการเสริมสร้างอำนาจแบบถาวรได้
โดยในภูมิภาคอาเซียน กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยหรือสถาบันต่างๆ นั้น ควรมีบทบาทในการสนับสนุนการเลือกตั้งและควรจะทำหน้าที่เพื่อยืนยันว่าอำนาจอันมีมากมายเพื่อใช้ในการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดนั้นจะเป็นอำนาจที่จำกัดเวลา ซึ่งในประเทศที่มีการระบาดน้อย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยเช่นที่ประเทศไทย ทั้งสถาบันประชาธิปไตยต่างๆ กลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังชุมนุมอยู่บนท้องถนน กลไกรัฐสภา รวมไปถึงสื่อโซเชียลมีเดียก็ควรที่จะมีการออกมาเรียกร้องอย่างเหมาะสมภายใต้ข้อบังคับการป้องกันโรคระบาดเช่นกัน เพื่อที่จะกดดันให้รัฐบาลใช้อำนาจอย่างเหมาะสม
ขณะที่ในประเทศซึ่งล้มเหลวในการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลก็ควรจะเน้นย้ำถึงข้อผิดพลาดนี้ และชี้ให้เห็นว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพในด้านการแสดงออกทางการเมืองนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่จะยืนยันว่าจะได้รับผลลัพท์ทางสาธารณสุขที่ดีตามมา
ส่วนหน่วยงานภายนอกเองก็ควรจะมีบทบาทในเรื่องนี้เช่นกัน ด้วยการแสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องของแนวคิดว่าการปกครองแบบอำนาจนิยมนั้นสามารถจะรับมือกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ได้ดีกว่ารูปแบบปกครองด้วยกลไกในระบอบประชาธิปไตย เพื่อที่จะสร้างข้อโต้แย้งกับผู้นำประเทศที่มีพฤติกรรมอำนาจนิยมซึ่งมักจะอ้างว่าการปกครองแบบอำนาจนิยมนั้นเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรับมือกับไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ ถ้าหากย้อนมองอดีตจะเห็นได้ชัดเจนว่ากระบวนการประชาธิปไตยในอาเซียนนั้นถือว่าอยู่ในทิศทางถอยหลังลงหลังจากปี 2553 เป็นต้นมา และการมาถึงของไวรัสโควิด-19 ก็เป็นสิ่งที่เร่งให้เกิดการถอยหลังนั้นเร็วขึ้นไปอีก ทั้งที่ในช่วงปี 2533-2543 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้พยายามจะส่งเสริมส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน
แต่พอมาถึงช่วงหลังปี 2553 ประเทศต่างๆอาทิ ติมอร์ เลสเต,อินโดนีเซีย,ประเทศฟิลิปปินส์,ประเทศไทย,ประเทศสิงคโปร์ ประเทศกัมพูชา และประเทศพม่านั้น ล้วนมีกระบวนการทางการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ อันส่งผลทำให้ประชาธิปไตยในภูมิภาคเกิดความชะงักงัน
โดยก่อนจะถึงช่วงสิ้นปี 2562 มีรายงานว่า 7 จาก 11 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนนั้นมีสิทธิเสรีภาพน้อยกว่าเมื่อช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้เกิดการถดถอยของประชาธิปไตย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ประสบปัญหาเดียวกัน คือ กองทัพนั้นไม่เคยจะกลับเข้าสู่กรมกองได้อย่างแท้จริงเลย
ในประเทศเหล่านี้นั้น กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางก็จะเริ่มมีความไม่พอใจในกลุ่มพรรคการเมืองที่ปกครองประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าพรรคการเมืองเหล่านี้ไม่ได้มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการให้บริการสาธารณะและสนับสนุนการลดช่องว่างความเท่าเทียมกันในสังคมแต่ประการใด
ที่ผ่านมานั้นพฤติกรรม และความนิยมทางการเมืองของกลุ่มชนที่มีรายได้ต่ำหรือรายได้ปานกลาง จะมีลักษณะสนับสนุนขั้วการเมือง, นักการเมืองที่มีลักษณะน่าดึงดูด หรือมีลักษณะของการผูกขาดความนิยมเอาไว้ เช่น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย หรือนายโรดริโก้ ดูเตอร์เต้ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
และต้องยอมรับว่าผู้นำที่มีลักษณะผูกขาดความนิยมหลายรายในภูมิภาคอาเซียนนั้นมักจะขยายประเด็นเรื่องการแบ่งพรรคแบ่งพวก การแยก 2 ขั้วอำนาจในความเชื่อทางการเมืองอย่างชัดเจน และการใช้โซเชียลมีเดียมาเป็นปัจจัยเพื่อเสริมสร้างอำนาจทางการเมืองของตัวเอง
พร้อมทั้งกล่าวโทษว่าคนกลุ่มน้อยไม่กี่กลุ่มในประเทศนั้น เป็นสาเหตุของปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศตามมาอีก
ขณะที่ประเทศมหาอำนาจทั่วโลกซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศญี่ปุ่น และประเทศออสเตรเลีย มีรายงานว่า ประเทศเหล่านี้เริ่มที่จะลดการให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างประชาธิปไตยทั้งในอาเซียนและในเอเชียใต้ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะว่าประชาชนในประเทศเหล่านี้เริ่มที่จะมีความสนใจกับความเป็นไปของนานาชาติน้อยลงเช่นกัน
ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งในประเทศเหล่านี้ ที่หลังการเลือกตั้งจะได้ผู้นำประเทศที่สนใจในนโยบายด้านการสนับสนุนประชาธิปไตยน้อยลงไปเรื่อยๆ
และเมื่อการมาถึงของไวรัสโควิด-19 ในสภาวะที่ประชาธิปไตยในภูมิภาคอาเซียนกำลังอยู่ในทิศทางที่เสื่อมถอยลงไปนั้น ก็ทำให้ประเทศอย่างกัมพูชา ไทย และประเทศอื่นๆ ได้มีการขยายช่วงเวลาสำหรับการใช้อำนาจฉุกเฉิน
แต่คำถามที่สำคัญก็คือว่า ผู้นำประเทศเหล่านี้ จะเสพติดอำนาจฉุกเฉินนี้ต่อไปหรือไม่ เมื่อภาวะโรคระบาดสามารถควบคุมได้แล้ว
แม้ว่าโรคระบาดนั้นจะทำให้รัฐบาลในอาเซียนและในเอเชียใต้กลายเป็นรัฐบาลที่มีลักษณะอำนาจนิยมได้ในระยะสั้น แต่สิ่งที่ต้องพูดถึงต่อมาก็คือปัจจัยในระยะยาว ซึ่งถ้าหากรัฐบาลเหล่านี้ประสบกับความล้มเหลว โดยไม่สามารถจำกัดโรคระบาดไว้ได้อย่างเพียงพอ
นี่จะถือเป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามนั้นจะใช้เพื่อท้าทายอำนาจในการบริหารประเทศ ด้วยข้อครหาที่ว่าแม้ว่าจะมีการรวมศูนย์อำนาจ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาโรคระบาดได้อยู่ดี
สำหรับในประเทศไทยซึ่งมีการควบคุมการระบาดของไวรัสได้เป็นอย่างดี และยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนน้อยอยู่นั้น จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้นำประเทศก็จะเริ่มมีข้ออ้างในการคงไว้ซึ่งกฎหมายพิเศษอันเป็นสิ่งที่จำกัดต่อสิทธิเสรีภาพในการพูดและการรวมกลุ่มน้อยลงไปเรื่อยๆ
การประท้วงต่อต้านรัฐบาลในประเทศไทย (อ้างอิงรูปภาพจากสยามรัฐ)
ในเวลานี้มีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวนั้นก็ไม่ได้ทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเลย
ดังนั้น นี่จึงเป็นข้อบ่งชี้อันเด่นชัดขึ้นไปอีกว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการใช้งานกฎหมายพิเศษต่างๆ เพื่อจำกัดสิทธิพลเมือง ด้วยเหตุผลว่าจะควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ประการใด
หรือสรุปก็คือ ไวรัสโควิด-19 นั้น แม้ว่าอาจจะเป็นข้ออ้างให้ฝ่ายรัฐบาลสามารถใช้อำนาจพิเศษได้ แต่ในทางกลับกันก็เป็นสิ่งที่บ่งชี้ในระยะยาวได้เช่นกันว่า การใช้อำนาจกฎหมายอย่างผูกขาดไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต่อการควบคุมไวรัสโควิด-19 นั่นเอง
ทั้งหมดนี่คือ มุมมองของสื่อต่างชาติ ที่มีต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสภาวะประชาธิปไตยในภูมิภาคอาเซียน ที่ถูกเผยแพร่ออกมาล่าสุด
เรียบเรียงจาก:https://thediplomat.com/2020/11/can-covid-19s-impact-on-democracy-in-southeast-asia-be-reversed/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage