"...ขณะเกิดเหตุจําเลยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตําบลซึ่งจะต้องทําหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนและตามที่กฎหมายกําหนด แต่จําเลยได้อาศัยโอกาสที่มีตําแหน่งหน้าที่ดูแลรักษาต้นพะยอม 3 ต้น ที่ปลูกอยู่บริเวณที่ทําการของผู้เสียหาย โดยขายต้นพะยอม 3 ต้น ให้แก่นายอับดุลวอพัตร์ มะดาโอะ ราคา 5,000 บาท แล้วเบียดบังเงินจํานวนดังกล่าวเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตนอกจากเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบแล้วยังเป็นการทําลายทรัพยากรธรรมชาติด้วย กรณีจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ซึ่งสมควรที่จะลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่พนักงานที่มีภาระหน้าที่อย่างเช่นจําเลยจะได้ไม่กระทําความผิดอีก..."
......................
แม้จะไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จำเลยกระทำความผิดเป็นครั้งแรก จำเลยชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายหรือมีเหตุอื่นดังที่อ้างในอุทธรณ์ก็ตาม กรณียังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้รับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลชั้นต้นไม่รอลงโทษจำเลยนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์ในการกระทำผิดของจำเลยแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย คำอุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น
คือ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติ ในคดีกล่าวหา นายยูโซ๊ะ ยะเอ๊ะ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลาโละ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กรณีลักลอบขายต้นพะยอมในที่ทำการ อบต.ลาโละ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของ อบต.ลาโละ ให้แก่บุคคลอื่น ทำให้ราชการเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด และส่งสำนวนการไต่สวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นเรื่องฟ้องคดีอาญา ที่สำนักอิศรา (www.isranews.org) เคยนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้วก่อนหน้านี้
(อ่านประกอบ : ต้องลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง! คุก 2 ปี 6 เดือนอดีตนายก อบต.ลาโละตัดต้นพะยอมขาย 5 พันบ.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นคำพิพากษาคดีนี้ ของ ศาลอุทธรณ์ ปรากฎรายละเอียดพฤติการณ์กระทำความผิดของ นายยูโซ๊ะ ยะเอ๊ะ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลาโละ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ไว้ดังนี้
คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 (ศาลชั้นต้น)
อัยการสูงสุด ในฐานะโจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจําเลยดํารงตําแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนตําบลลาโละ อําเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามพระราชบัญญัติสภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบลพ.ศ. 2537 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีอํานาจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตําบลลาโละ ให้เป็นไปตามกฎหมายนโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตําบล ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ สั่งอนุญาต อนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์การบริหารส่วนตําบลคุ้มครอง ดูแล บํารุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตําบลลาโละ ระหว่างปลายเดือนธันวาคม 2558 ถึงต้นเดือนมกราคม 2559 วันเดือนปีและเวลาใดไม่ปรากฏชัด
จําเลย มีหน้าที่คุ้มครอง ดูแลรักษาต้นพะยอม 3 ต้น ที่ปลูกอยู่บริเวณที่ทําการขององค์การบริหารส่วนตําบลลาโละ อันเป็นทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตําบลลาโละได้กระทําความผิดต่อกฎหมาย
กล่าวคือ จําเลยขายต้นพะยอม 3 ต้น ให้แก่นายอับดุลวอพัตร์ มะดาโอะ ราคา 5,000 บาท โดยไม่ได้รับอนุมัติจากสภาองค์การบริหารส่วนตําบลลาโละแล้วเบียดบังเงินจํานวนดังกล่าวเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริต ทําให้เสียหาย ทําลาย เอาไปเสียซึ่งทรัพย์อันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทําเช่นนั้นเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท เหตุเกิดที่ ตําบลลาโละ อําเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 151 , 157 และ 158 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1
จําเลย ให้การรับสารภาพข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ แต่ก่อนไต่สวนพยาน จําเลยขอถอนคําให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้น พิจารณาแล้วพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 147, 151 , 158 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 การกระทําของจําเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 147, 151 ซึ่งเป็นบทหนักแต่ความผิดทั้งสองบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ตามมาตรา 147 เพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จําคุก 5 ปี
จําเลย ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจําคุก 2 ปี 6 เดือน
ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จําเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยว่า สมควรลงโทษจําเลยในสถานเบาหรือรอการลงโทษให้แก่จําเลยหรือไม่
เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจําเลยต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีหรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
ศาลชั้นต้นกําหนดโทษก่อนลดโทษให้จําคุก 5 ปี เป็นการลงโทษขั้นต่ำ ของกฎหมายไม่อาจกําหนดให้ต่ำกว่านี้
ส่วนที่จําเลยขอให้รอการลงโทษนั้นเห็นว่า ขณะเกิดเหตุจําเลยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตําบลซึ่งจะต้องทําหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนและตามที่กฎหมายกําหนด
แต่จําเลยได้อาศัยโอกาสที่มีตําแหน่งหน้าที่ดูแลรักษาต้นพะยอม 3 ต้น ที่ปลูกอยู่บริเวณที่ทําการของผู้เสียหาย โดยขายต้นพะยอม 3 ต้น ให้แก่นายอับดุลวอพัตร์ มะดาโอะ ราคา 5,000 บาท แล้วเบียดบังเงินจํานวนดังกล่าวเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต
นอกจากเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบแล้วยังเป็นการทําลายทรัพยากรธรรมชาติด้วย กรณีจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ซึ่งสมควรที่จะลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่พนักงานที่มีภาระหน้าที่อย่างเช่นจําเลยจะได้ไม่กระทําความผิดอีก
ดังนั้น แม้จะไม่ปรากฏว่าจําเลยเคยได้รับโทษจําคุกมาก่อน จําเลยกระทําความผิด เป็นครั้งแรก จําเลยชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายหรือมีเหตุอื่นดังที่อ้างในอุทธรณ์ก็ตามกรณีก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้รับฟังเพื่อรอการลงโทษจําคุกให้แก่จําเลยที่ศาลชั้นต้นไม่รอการลงโทษจําคุกให้แก่จําเลยนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์ในการกระทําความผิดของจําเลยแล้ว
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจําเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อการกระทําความผิดของจําเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 , 151 และ 158 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่ผิดมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกนั้น เห็นว่า แม้มาตรา 147 และ มาตรา 151 จะเป็นบทเฉพาะของมาตรา 15 ปี แต่มาตรา 158 มิใช่บทเฉพาะ ของมาตรา 157 ดังนั้น จึงต้องปรับบทความผิดมาตรา 157 อีกบทหนึ่งด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อีกบทหนึ่งด้วย การกระทําของจําเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น
อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/