".....พิเคราะห์รายงานสืบเสาะและพินิจถึงนิสัยความประพฤติของจําเลยแล้ว ไม่ปรากฏว่าจําเลยเคยต้องโทษจําคุกมาก่อน จําเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบอาชีพสุจริต มีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงจากสํานวนคดีว่า ขณะกระทําผิดจําเลยอายุยังน้อย อ่อนด้อยด้วยวุฒิภาวะและกระทําความผิดด้วยความยากจน ด้วยต้องรับภาระหนักในครอบครัวหลังเกิดเหตุได้ถูกลงโทษทางวินัยร้ายแรงไล่ออกจากราชการมาตั้งแต่ปี 2554 และไม่กลับไปกระทําความผิดใด ๆ ขึ้นอีก..."
........................................
จำคุก กระทงละ 5 ปี และปรับกระทงละ 2,000 บาท รวม 17 กระทง เป็น 85 ปี และปรับ 34,000 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 42 ปี 6 เดือน และปรับ 17,000 บาท
โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี !
คือ คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ในคดีกล่าวหา นางสาวรุ่งนภา แสงโคตรมา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานเภสัชกรรม 3 โรงพยาบาลเต่างอย จังหวัดสกลนคร ยักยอกเงินรายได้-เงินบำรุงโรงพยาบาลของโรงพยาบาลเต่างอย ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญาตาม ป.อ.มาตรา 147, 157 , 161, 264 , 265 , 266(1) , 268 , 162 (1) (2) และ (4)
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
(อ่านประกอบ: คุก 42 ปี 6 ด.แต่รอลงโทษ! อดีตเจ้าพนง.เภสัชกรรม รพ.เต่างอย ยักยอกเงิน-ป.ป.ช.เสนออุทธรณ์)
น่าสนใจว่า ทำไมนางสาวรุ่งนภา แสงโคตรมา ถูกตัดสินให้จำคุกนานถึง 42 ปี 6 เดือน และปรับ 17,000 บาท แต่โทษจำคุกศาลให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ในคดีนี้ เรียบเรียงข้อมูลมานำเสนอดังนี้
คดีนี้ นางสาวรุ่งนภา แสงโคตรมา ในฐานะ "จำเลย" ให้การรับสารภาพ
ศาลฯ พิเคราะห์ฟ้อง สำนวนรายงานการไต่สวน และคำเบิกความพยานในขั้นพิจารณาไต่สวนประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ระบุว่า ขณะเกิดเหตุประมาณปี 2542-2543 นางสาวรุ่งนภา แสงโคตรมา ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานเภสัชกรรม ส่วนงานฝ่ายเภสัชกรรมชุมชนของโรงพยาบาลเต่างอย ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่คิดราคา ค่าตรวจ ค่ารักษา ค่ายา จากผู้ป่วย พร้อมทั้งออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ป่วย และต้องนำเงินสดประจำวันที่เก็บจากผู้ป่วยหรือคนไข้ส่งให้การเงิน
ซึ่ง นางสาวรุ่งนภา แสงโคตรมา ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเรื่อยมา
กระทั่งต่อมามีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตรวจสอบพบว่า ฝ่ายเภสัชกรรมปฏิบัติงานบกพร่องเกี่ยวกับการรับชำระเงิน กรณีเขียนใบสั่งยาและสําเนาใบเสร็จรับเงินมีตัวเลขจํานวนเงินไม่ตรงกัน จึงแจ้งให้โรงพยาบาลตรวจสอบ
จากการตรวจสอบหลักฐานใบเสร็จรับเงินฉบับสําเนา ซึ่งออกโดยนางสาวรุ่งนภา แสงโคตรมา เปรียบเทียบกับรายการใบสั่งยา พบว่า มีบางส่วนที่มีจํานวนเงินไม่ตรงกัน โดยยอดเงินตามสําเนาใบเสร็จรับเงินต่ำกว่าในใบสั่งยา
เมื่อเรียกนางสาวรุ่งนภา มาสอบถามแล้ว นางสาวรุ่งนภา ยอมรับว่านําเงินส่วนต่างดังกล่าวไปจริง และต่อมา นางสาวรุ่งนภา ได้นําเงินส่วนที่ขาดมาคืนให้แก่โรงพยาบาลจนครบถ้วนตามจํานวนที่ตรวจสอบพบในขณะนั้น
ต่อมา โรงพยาบาลและสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ดําเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย กับนางสาวรุ่งนภา
ทั้งยังมีนาย ธ. (ชื่อย่อ) เบิกความเป็นพยานยืนยันบันทึกคําให้การที่ให้ไว้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยว่า ขณะเกิดเหตุพยานรับราชการสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร ในตําแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้รับคําสั่งแต่งตั้งให้ร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย กรณีพบ การกระทําความผิดของนางสาวรุ่งนภา โดยการเขียนใบเสร็จรับเงินฉบับสําเนาจํานวนเงินต่ำกว่าฉบับจริง แล้วยักยอกเอาเงินส่วนต่างไป
พยานตรวจสอบจากพยานหลักฐานแล้วพบว่านางสาวรุ่งนภา กระทําการดังกล่าวจริง สอดคล้องกับรายงานการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง ที่สรุปผลว่านางสาวรุ่งนภากระทําความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
จึงมีน้ำหนัก ให้เชื่อได้ว่า นางสาวรุ่งนภา ได้กระทําการดังกล่าวจริง และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นางสาวรุ่งนภา ได้รับคําสั่งโดยชอบจากผู้บังคับบัญชาให้ทําหน้าที่เรียกเก็บเงินค่าตรวจและค่ายาจากผู้มีชื่อมาไว้ในความดูแลรักษา พร้อมทั้งออกใบเสร็จรับเงินแสดงว่าได้รับเงินไว้จากผู้มีชื่อเป็นการถูกต้อง มอบต้นฉบับใบเสร็จรับเงินดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อ
ส่วนสําเนาใบเสร็จรับเงินดังกล่าว นางสาวรุ่งนภา เก็บรักษาไว้เพื่อใช้ในการตรวจสอบและต้องนําเงินที่ได้รับในแต่ละวันส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาล
แต่นางสาวรุ่งนภา ได้อาศัยโอกาสที่มีหน้าที่ดูแลรักษาสําเนาใบเสร็จรับเงินทําการปลอมเอกสาร โดยแก้ไขจํานวนเงินในใบเสร็จรับเงินค่ารักษาระบุจํานวนเงินต่ำกว่าที่เรียกเก็บจากผู้มีชื่อ อันเป็นการ กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าสําเนาใบเสร็จรับเงินดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริง แล้วเบียดบังเอาจํานวนเงิน ส่วนต่างไปเป็นของตนโดยทุจริต
อาทิ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 เวลากลางวัน นางสาวรุ่งนภา ได้เรียกเก็บเงินค่าตรวจและค่ายาจากนาง บ. (ชื่อย่อ) จํานวน 190 บาท มาไว้ในความดูแลรักษา พร้อมทั้งออกใบเสร็จรับเงิน แสดงว่าได้รับเงินจํานวน 190 บาท ไว้จากนาง บ. เป็นการถูกต้องแล้ว และมอบต้นฉบับใบเสร็จรับเงินดังกล่าวให้กับนาง บ. ไป ส่วนสําเนาใบเสร็จรับเงินดังกล่าวนางสาวรุ่งนภา เก็บรักษาไว้ และได้ทําการปลอมเอกสารโดยแก้ไขจํานวนเงินในใบเสร็จรับเงินค่ารักษาดังกล่าวเป็น 90 บาท อันเป็นการกระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าสําเนาใบเสร็จรับเงินดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริง ซึ่งนางสาวรุ่งนภา ได้เรียกเก็บเงินจากนางบุญมาเป็นเงิน 90 บาท โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นาง บ. และนางสาวรุ่งนภา ได้กระทำการปลอมเอกสารดังกล่าว โดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ดูแลรักษาสำเนาใบเสร็จรับเงินนั้นและในวันเวลาเดียวกันนั้นเอง ได้เบียดบังเอาเงินจำนวน 100 บาทเป็นของตนเองโดยทุจริต เป็นต้น
การกระทําของนางสาวรุ่งนภา จึงครบองค์ประกอบเป็นความผิดตามฟ้อง
อนึ่งต่อมาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 236) พ.ศ. 2560 มาตรา 7 ให้แก้ไขอัตราโทษในมาตรา 147 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จําเลย จึงต้องใช้กฎหมายขณะกระทําความผิดบังคับแก่จําเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
ศาลพิพากษาว่า จําเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 (เดิม) การกระทําของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จําคุกกระทงละ 5 ปี และปรับกระทงละ 2,000 บาท รวม 17 กระทง เป็นจําคุก 85 ปี และปรับ 35,000 บาท
จําเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจําคุก 42 ปี 6 เดือน และปรับ 17,000 บาท
พิเคราะห์รายงานสืบเสาะและพินิจถึงนิสัยความประพฤติของจําเลยแล้ว ไม่ปรากฏว่าจําเลยเคยต้องโทษจําคุกมาก่อน
จําเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบอาชีพสุจริต มีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว
ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงจากสํานวนคดีว่า ขณะกระทําผิดจําเลยอายุยังน้อย อ่อนด้อยด้วยวุฒิภาวะและกระทําความผิดด้วยความยากจน ด้วยต้องรับภาระหนักในครอบครัว
หลังเกิดเหตุได้ถูกลงโทษทางวินัยร้ายแรงไล่ออกจากราชการมาตั้งแต่ปี 2554 และไม่กลับไปกระทําความผิดใด ๆ ขึ้นอีก
ประกอบกับได้ความว่า จําเลยได้ชดใช้เงินคืนแก่ทางราชการจนครบถ้วนแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีและความเสียหายในการกระทําของจําเลยในแต่ละครั้งเป็นจํานวนเงินเพียงเล็กน้อย ไม่ถือว่าร้ายแรงนัก
เห็นสมควรให้โอกาสจําเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี
โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้มีกําหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจําเลยไว้มีกําหนด 5 ปี
โดยให้จําเลย ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ภายในระยะเวลาคุมความประพฤติ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 , 30
ส่วนคําขอให้ชดใช้เงินคืนเมื่อรับฟังได้ว่าจําเลยชดใช้เงินคืนแก่โรงพยาบาลเต่างอยครบถ้วนแล้ว จึงให้ยกคําขอ
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นควรให้อัยการสูงสุด (อสส.) อุทธรณ์คำพิพากษาในส่วนที่ศาลรอการลงโทษจำคุกกับจำเลยต่อไป
ผลสรุปคดีในชั้นอุทธรณ์จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป
อ่านข่าวในหมวดเดียวกัน:
คุก 5 ปี! อดีตนายกเทศมนตรีดอยแก้ว เชียงใหม่ ทุจริตซื้อสัญญาณไฟกระพริบ-กระจกโค้งจราจร
ศาลอุทธรณ์ ยืนโทษคุก15ปี! รศ.ดร.คณะวิทย์ ม.เชียงใหม่ ลักไก่เบิกเงินโครงการให้ตนเอง-เมีย
คุก1ปี ไม่รอลงโทษ! อดีตนายกฯโนนท่อน ละเว้นรับรองคุณสมบัติสอบเปลี่ยนสายงาน
คุก 2 ปี! อดีตปลัดอบต.พระกลางทุ่ง นครพนม เอื้อปย.ผู้รับเหมาสร้างอาคาร
ศาลอาญาคดีทุจริตฯภาค 8 จำคุก 6 ปี รองอธิบดี ทช.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ-ยื่น 6 แสนประกันตัว
ยืนโทษคุก 2 ปี 6 ด.! อดีตผอ.ม.เทคโนฯราชมงคลตะวันออก เบียดบังทุนเขียนเรียงความเด็ก
คดีที่ 2! ศาลทุจริตฯ สั่งจำคุก 3 ปี 9 ด. อดีตนายกอบต.บางรักพัฒนา จ้างปิดกั้นคลองเท็จ
คุก 2 ปี 6 ด.! อดีตหัวหน้าคลัง อบต.ไผ่หลิ่ว รับสารภาพยักยอกเงินหลวง
ยืนโทษคุก 2 ปี 6 ด.! อดีตนายกฯท่านา พังงา จ่ายเงินก่อสร้างบ่อน้ำดิบ-โรงเรือนมิชอบ
คุก 8 ปี! ป.ป.ช.ฟ้องเอง 'อดีตผอ.นวัตกรรมแห่งชาติ' ใช้งบหลวง-คัดลอกงานวิจัย
คุกคนละ 3 ปี 4 ด.! อดีตนายกฯหนองไผ่ล้อมโคราช-พวก 2 ราย จัดหาพัสดุงานสงกรานต์มิชอบ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage