"...บทลงโทษอีกส่วนหนึ่ง นายศุภชัย หล่อโลหการ ได้รับไปแล้ว และไม่มีผลย้อนหลัง คือ การถูกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงมติเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิต ของนายศุภชัย หลังมีการตรวจพบว่าวิทยานิพนธ์ของนายศุภชัยมีการคัดลอก หรือลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism) และการเพิกถอนปริญญาครั้งนี้ ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย...."
.......................................
จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี!
คือ คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง ต่อ กรณี นายศุภชัย หล่อโลหการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ นำผลงานวิจัยของผู้กล่าวหาไปพิมพ์จำหน่ายในนามของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้งบประมาณของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จัดจ้าง ผู้รับจ้างทำการวิจัยเพื่อนำไปคัดลอกเป็นวิทยานิพนธ์ของตน ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช ลงมติชี้มูลความผิดตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2563 และเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลางเอง โดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด (อสส.) ตั้งแต่ช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันไปแล้ว
(อ่านประกอบ : คุก 8 ปี! ป.ป.ช.ฟ้องเอง 'อดีตผอ.นวัตกรรมแห่งชาติ' ใช้งบหลวง-คัดลอกงานวิจัย)
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
แต่บทลงโทษอีกส่วนหนึ่ง นายศุภชัย หล่อโลหการ ได้รับไปแล้ว และไม่มีผลย้อนหลัง คือ การถูกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงมติเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิต ของนายศุภชัย หลังมีการตรวจพบว่าวิทยานิพนธ์ของนายศุภชัยมีการคัดลอก หรือลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism) และการเพิกถอนปริญญาครั้งนี้ ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย
ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เคยถูกสำนักข่าวไทยพับลิก้า https://thaipublica.org/2012/06/plagiarism-5 รายงานข่าวเป็นทางการในช่วงเดือนมิถุนายน 2555 ระบุว่า วันที่ 21 มิถุนายน 2555 มีการประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวาระการเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิต ของนายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติในประเด็นดังกล่าว
โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยว่า สภามหาวิทยาลัยได้มีมติให้เพิกถอนมติของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้ “บุคคล” นั้น ตามข้อเสนอและมติของคณะกรรมการบัณฑิตวิทยาลัย และคณะกรรมการบริหารคณะวิทยาศาสตร์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2555 เป็นต้นไป
เนื่องมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับแจ้งว่า วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัย ได้ลอกเลียนผลงานวิชาการ และนำไปเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษา และได้รับอนุมัติปริญญาโดยสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมเดือนพฤษภาคม 2551
เมื่อมหาวิทยาลัยได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว จึงได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยการสอบสวนหาข้อเท็จจริง และพบว่าวิทยานิพนธ์ดังกล่าวได้มีการคัดลอกผลงานจากเอกสารงานวิจัย หรือบทความอื่นอย่างมีนัยสำคัญ และในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism)
ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงได้ให้ผู้เสนอวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าว ได้มีโอกาสเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง และแสดงหลักฐานฝ่ายตน ต่อคณะกรรมการบริหารคณะที่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติการสำเร็จการศึกษา ที่จะทำให้ผู้สำเร็จการศึกษามีสิทธิได้รับปริญญา
และเมื่อคณะกรรมการดังกล่าว ได้พิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหลายจากรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริง และจากการให้ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานของผู้เสนอวิทยานิพนธ์เห็นว่า วิทยานิพนธ์มิได้เป็นไปตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2542 ทั้งการกระทำดังกล่าว ยังเป็นการประพฤติผิดจริยธรรมทางวิชาการ อันทำให้ผู้เสนอวิทยานิพนธ์ขาดคุณสมบัติข้อที่เป็นผู้มีความประพฤติดีตามระเบียบดังกล่าวด้วย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์กล่าวว่า ทั้งนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า หากปรากฎว่าบุคคลที่สภามหาวิทยาลัยได้มีมติอนุมัติการให้ปริญญาไปแล้วนั้นขาดคุณสมบัติ หรือมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนที่จะสำเร็จการศึกษาตามที่กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับของมหาวิทยาลัยกำหนดไว้ ซึ่งมีผลให้มติสภามหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการอนุมัติการให้ปริญญาแก่บุคคลดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบ สถามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการให้ปริญญา ย่อมมีอำนาจที่จะเพิกถอนมติดังกล่าวได้
ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ ได้กล่าวว่า การเพิกถอนปริญญาในครั้งนี้ เป็นการเพิกถอนปริญญาครั้งแรกของของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ ผู้ถูกเพิกถอนปริญญาจะมีสถานะเป็นอย่างไร ระหว่างอดีตดุษฎีบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือถือว่าไม่เคยมีสถานะดังกล่าวเลย เนื่องจากมติเพิกถอนให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2555
ดร.บวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่ต้องการจะให้เกิดปัญหา เพราะถ้าเพิกถอนย้อนหลังแล้ว หากในอดีตมีการนำวุฒิการศึกษาไปใช้โดยสุจริต จะทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนมีสิทธิ์จะได้รับค่าทดแทนตามกฎหมายเนื่องจากความเชื่อในการคงอยู่ของมติดังกล่าว ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา จึงใช้อำนาจตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ที่บอกว่าคำสั่งทางปกครองเมื่อมีการเพิกถอน จะเพิกถอนย้อนหลังหรือไม่ก็ได้ เราจึงคิดว่าไม่ควรเพิกถอนย้อนหลัง
ส่วนหลักฐานทั้งหมดที่นำมาใช้เป็นหลักฐานในการลงมติของสภามหาวิทยาลัยในครั้งนี้ กรรมการบริหารคณะผู้เสนอให้อนุมัติปริญญา ได้มีการนำข้อเท็จจริงจากรายงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ มาประกอบ และให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง แล้วจึงมีมติส่งเรื่องขึ้นมาตามลำดับจนถึงสภามหาวิทยาลัย โดยในวันนี้ได้มีการเชิญศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง มาให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในสภาด้วย
ดร.บวรศักดิ์ยืนยันว่าเป็นการพิจารณาโดยถี่ถ้วน ไม่รีบร้อน และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงอย่างเต็มที่
“โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้แตะเรื่องลิขสิทธิ์เลยแม้แต่น้อย เพราะไม่มีหน้าที่ในการดูเรื่องลิขสิทธิ์ ดูแต่เพียงว่ามีการกระทบมาตรฐานทางวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น ในเรื่องลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องไปว่ากันเอง” ดร.บวรศักดิ์กล่าว
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์กล่าวว่า ที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการส่งเสริมเรื่องมาตรฐานทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ได้มีการแจกหนังสือเรื่อง “การลอกเลียนวรรณกรรม (Plagiarism)” ให้กับบัณฑิตทุกคน และมีการจัดสัมนาในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาโปรแกรมตรวจการคัดลอก และตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและป้องกันการลอกเลียนวรรณกรรมขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่นิสิต
ทั้งนี้ในการเปิดแถลงข่าว มติที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังกล่าว ไม่มีการอ้างชื่อถึง นายศุภชัย หล่อโลหการ แต่อย่างใด
แต่สาธารณชนก็รับทราบกันดีอยู่แล้วว่า “บุคคล” ที่ถูกเพิกถอนปริญญาดังกล่าว คือ นายศุภชัย หล่อโลหการเนื่องจากปัญหาเรื่องการคัดลอกวิทยานิพนธ์ เกิดขึ้นหลังจากที่นายศุภชัย หล่อโลหการ ได้จบการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2550
ต่อมานายวิลเลียม วิน เอลลิส ได้ร้องเรียนต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่านายศุภชัยได้ลอกเลียนผลงานทางวิชาการของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย, บริษัท สวิฟท์ จำกัด และของตน เพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ของนายศุภชัย โดยไม่มีการอ้างแหล่งที่มา
@ วิลเลียม วิน เอลลิส /ภาพจาก สำนักข่าวไทยพับลิก้า
จากข้อมูลที่ปรากฏนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งลับ โดยมีหนังสือออกมาในเดือนกรกฎาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง กรณีมหาวิทยาลัยได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายวิลเลียม วิน วิลลิส โดยมีประธานคณะกรรมการสอบสวนคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ และมีกรรมการอีก 6 คน
ต่อมา วันที่ 13 สิงหาคม 2552 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แจ้งว่า กรณีการร้องเรียนเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนในข้อเท็จจริง และนายศุภชัยได้โต้แย้งข้อกล่าวหาของนายวิลเลียม และได้มีการดำเนินคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทและคดีแพ่ง จุฬาฯ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
จากนั้น ก็มีข้อพิพากเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง จนกระทั่งในเดือนเมษายน 2555 สื่อต่างชาติ ได้นำเสนอข่าว กล่าวหาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ไม่สามารถจัดการกับกรณีของนายศุภชัยได้ โดยปล่อยให้ระยะเวลาผ่านไปหลายปีโดยไม่มีความคืบหน้า ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ทำให้มีการนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาอย่างจริงจังอีกครั้ง
ก่อนที่ในวันที่ 21 มินายน 2555 สภามหาวิทยาลัย จะมีมติให้เพิกถอนมติของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้บุคคลนั้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2555 เป็นต้นไป
ทั้งหมดนี้ คือ บทลงโทษอีกส่วนหนึ่ง นายศุภชัย หล่อโลหการ ได้รับไปแล้ว ก่อนที่จะถูกศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี ตามที่ปรากฎเป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage