“...จึงเชื่อได้ว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในแบบ บอจ.5 ที่ระบุว่าเป็นรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 ซึ่งไม่ปรากฏชื่อนายธัญญ์วารินถือหุ้น แต่ปรากฏชื่อ น.ส.นันท์มนัส และนายณัฐวัฒน์ เป็นผู้ถือหุ้นตามจำนวนและหมายเลขดังกล่าวแทน โดยระบุเลขหมายใบหุ้น และวันลงทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 11 ม.ค. 2562 เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกทำขึ้นเพื่อให้บุคคลภายนอกเข้าใจว่านายธัญญ์วารินไม่ได้ถือหุ้นในบริษัท เฮด อัพฯ และบริษัท แอมฟายน์ฯ แล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันก่อนที่นายธัญญ์วาริน สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. โดยที่ไม่ได้มีการประชุมและไม่มีการโอนหุ้นกันจริง….”
.........................
จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สิ้นสภาพความเป็น ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2562 อันเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส. เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากกรณีถือครองหุ้นสื่อ 2 แห่ง คือ บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด (อ่านประกอบ : 63 ส.ส.ฝ่าย รบ.-ค้านรอดคดีหุ้นสื่อ! 'ธัญญ์วาริน'โดนรายเดียว-พบพิรุธโอนย้อนหลัง)
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็ม กรณีการวินิจฉัย ส.ส. รวม 64 ราย ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ที่ถูกกล่าวหาว่าถือครองหุ้นสื่อ รวมถึงกรณีของนายธัญญ์วารินด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปรายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วนของการถือครองหุ้นสื่อของนายธัญญ์วาริน ให้ทราบ ดังนี้
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาพยานหลักฐานจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เอกสารการเสียภาษีจากกรมสรรพากร ข้อมูลจากสำนักหอสมุดแห่งชาติ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรม
นายธัญญ์วาริน (ผู้ถูกร้องที่ 2) ชี้แจงว่า บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด ประกอบกิจการและมีรายได้จากกิจการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ สารคดี ละคร ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ซีรีย์ รับจ้างถ่ายโฆษณา ถ่ายภาพ โฆษณาผลิตภัณฑ์ และสื่อโฆษณาทุกชนิด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด เคยประกอบกิจการดำเนินการสร้างภาพยนตร์
เบื้องต้นศาลมีคำสั่งให้นายธัญญ์วาริน ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการถือหุ้นในบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด และจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำเนาใบโอนหุ้น สำเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น สำเนารายงานการประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ดีนายธัญญ์วาริน ไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ยื่นเอกสารตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกทั้งหมด โดยยื่นเพียงเอกสารบางรายการ ได้แก่ สำเนาหนังสือสัญญาโอนหุ้นของบริษัท เฮด อัพฯ ระหว่างนายธัญญ์วาริน ในฐานะผู้โอน กับ น.ส.นันท์มนัส ไกรหา ผู้รับโอน พร้อมทั้งสำเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท เฮด อัพฯ
@บ.เฮด อัพฯ-บ.แอมฟายน์ฯ ทำธุรกิจสื่อหรือไม่?
ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมาก เห็นว่า
1.บริษัท เฮด อัพฯ แจ้งวัตถุประสงค์ข้อที่ 10, 11, 22, 23, 24 สรุปได้ว่า ประกอบกิจการเกี่ยวกับการจัดทำ จัดพิมพ์ ผลิตรายการโทรทัศน์ สารคดี ละคร ภาพยนตร์ ซีรีย์ สื่อบันเทิงทุกประเภท สื่อออนไลน์ รับจ้างถ่ายโฆษณา ถ่ายภาพ สื่อโฆษณาทุกชนิด ในนิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รับจ้างจัดงาน และจัดรายการทางสถานีวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิลทีวี และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ส่วนนายธัญญ์วาริน ชี้แจงว่า บริษัท เฮด อัพฯ ประกอบกิจการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ สารคดี ละคร ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ซีรีย์ รับจ้างถ่ายโฆษณา ถ่ายภาพ โฆษณาผลิตภัณฑ์ และสื่อโฆษณาทุกชนิดในนิตยสาร
เห็นว่า เอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แบบ สสช.1 ระบุว่า ประกอบกิจการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ สารคดี ละคร ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ซีรีย์ ประกอบกิจการรับจ้างถ่ายโฆษณา ถ่ายภาพ โฆษณาผลิตภัณฑ์ และสื่อโฆษณาทุกชนิด ในนิตยสาร และแบบ ส.บช.3 รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2560 ระบุว่า รับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ อัตราร้อยละของรายได้รวม ร้อยละ 100 รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2561 รับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ รับจัดงานโทรทัศน์ อัตราร้อยละของรายได้รวม ร้อยละ 100
ส่วนหมายเหตุประกอบงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2560 และรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2561 ระบุว่า ประกอบกิจการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ นอกจากนี้เอกสารรายได้ของบริษัท ระบุว่า มีรายได้จากค่าบริการผลิตงานถ่ายทอดสด ค่าบริการผลิตละครสั้น และค่าลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ประกอบกับหนังสือรับรองและวัตถุประสงค์ที่ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ของบริษัท เฮด อัพฯ ข้อ 22 ถึงข้อ 24 ฟังได้ว่า บริษัท เฮด อัพฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ สารคดี ละคร ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ซีรีย์ และรับจ้างถ่ายโฆษณา ถ่ายภาพ โฆษณาผลิตภัณฑ์ และสื่อโฆษณาทุกชนิด ในนิตยสาร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกิจการเกี่ยวกับการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ สารคดี ละคร ภาพยนตร์โฆษณา ซีรีย์ ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นสื่อตัวกลางในการส่งข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระไปสู่มวลชนที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป แม้จะไม่ปรากฏข้อมูลหลักฐานว่า บริษัท เฮด อัพฯ เคยยื่นคำร้องหรือได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ. 2553 และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ก็ตาม แต่บริษัทย่อมสามารถจะดำเนินการขออนุญาตต่อนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการในเรื่องนั้น ๆ ได้ตามวัตถุประสงค์ที่มีการระบุเพิ่มเติมและตามแบบ สสช.1 ที่แสดงเจตนาให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนอันเป็นกิจการตามนัยความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริษัท เฮด อัพฯ ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน
2.บริษัท แอมฟายน์ฯ มีวัตถุประสงค์ข้อที่ 23 และข้อ 24 ประกอบกิจการผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดง และสื่อการตลาดต่าง ๆ ประกอบธุรกิจเป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย
อย่างไรก็ดีนายธัญญ์วาริน ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2562 หลังวันสมัครรับเลือกตั้ง นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งขีดชื่อบริษัท แอมฟายน์ฯ ออกจากทะเบียน เป็นผลให้บริษัท แอมฟายน์ฯ สิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่วันดังกล่าว ส่วนกรณีบริษัท แอมฟายน์ฯ เคยประกอบกิจการดำเนินการสร้างภาพยนตร์ เห็นว่า แบบ สสช.1 ฉบับลงวันที่ 27 พ.ค. 2554 ระบุว่า ผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดง และสื่อการตลาดต่าง ๆ และฉบับลงวันที่ 28 ก.พ. 2557 ระบุเพิ่มเติมว่า ประกอบธุรกิจเป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย
ส่วนแบบ ส.บช.3 รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2554 ระบุว่า ผลิตสื่อ ภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดง และสื่อการตลาดต่าง ๆ รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2555 ระบุว่า บริการโฆษณา รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2556 ระบุว่า บริการโฆษณา และรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2557 ระบุว่า ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการโฆษณา
ส่วนหมายเหตุประกอบงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2554 และรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2555 ระบุว่า ประกอบกิจการผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดง และสื่อการตลาดต่าง ๆ รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2556 ระบุว่า ประกอบธุรกิจบริการโฆษณา และรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2557 ระบุว่า ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการโฆษณา ประกอบกับหนังสือรับรองและวัตถุประสงค์ที่ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าของบริษัท แอมฟายน์ฯ ข้อ 23, 24 แสดงเจตนาระบุเพิ่มเติมจากแบบ ว.1 (วพ.) ข้อ 23 ประกอบกิจการผลิตส่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดง และสื่อการตลาดต่าง ๆ และข้อ 24 ระบุว่า ประกอบธุรกิจเป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย
อีกทั้งคำชี้แจงตามข้อกล่าวหาของนายธัญญ์วาริน ระบุว่า บริษัท แอมฟายน์ฯ เคยประกอบกิจการดำเนินการสร้างภาพยนตร์ รวมถึงกระทวงวัฒนธรรมมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบเกี่ยวกับการขออนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และสื่อโฆษณาตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ว่า บริษัท แอมฟายน์ฯ เคยยื่นขอตรวจพิจารณาภาพยนตร์ 2 เรื่อง คือ ‘รัก ผิด บาป’ และเรื่อง ‘คืนนั้น’
ฟังได้ว่า บริษัท แอมฟายน์ฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดง และสื่อการตลาดต่าง ๆ และประกอบธุรกิจเป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกิจการที่เกี่ยวกับการผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และสื่อการแสดง เป็นกิจการที่เป็นตัวกลางในการส่งข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระไปสู่มวลชนที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป แม้จะไม่ปรากฏข้อมูลว่า บริษัท แอมฟายน์ฯ เคยยื่นคำร้องหรือได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ. 2553 และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ก็ตาม แต่บริษัท ย่อมสามารถจะดำเนินการขออนุญาตต่อนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการในเรื่องนั้น ๆ ได้ ดังวัตถุปะสงค์ที่ได้มีการระบุเพิ่มเติม และตามแบบ สสช.1 ของบริษัท แอมฟายน์ฯ ที่แสดงเจตนาให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนอันเป็นกิจการตามนัยความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริษัท แอมฟายน์ฯ ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน
@มีการโอนหุ้นจริงหรือไม่?
เมื่อวินิจฉัยว่าวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. บริษัททั้ง 2 แห่งของนายธัญญ์วาริน ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนแล้ว มีข้อพิจารณาต่อไปว่า นายธัญญ์วาริน เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการดังกล่าวหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมาก เห็นว่า
1.บริษัท เฮด อัพฯ ข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ในวันประชุมจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 และเอกสารสำเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ปรากฏชื่อนายธัญญ์วาริน ถือหุ้น 3,400 หุ้น เลขหมายหุ้น 00001 ถึง 03400 ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. 2560
แต่ต่อมาปรากฏเอกสาร บอจ.5 ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 ที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อ 13 ส.ค. 2562 ตามหนังสือของบริษัทฯ ลงวันที่ 13 ส.ค. 2562 นำส่ง บอจ.5 ระบุว่า เป็นรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 ไม่ปรากฏชื่อนายธัญญ์วารินถือหุ้น แต่ปรากฏชื่อ น.ส.นันท์มนัส ไกรหา เป็นผู้ถือหุ้นตามจำนวนและหมายเลขดังกล่าวแทน โดยระบุเลขหมายใบหุ้น และวันลงทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 ประกอบกับมีหนังสือสำเนาหนังสือสัญญาโอนหุ้นของบริษัทฯ และสำเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ปรากฏว่านายธัญญ์วาริน โอนหุ้น 3,400 หุ้น เลขหมายหุ้นดังกล่าว ให้แก่ น.ส.นันท์มนัส ไกรหา ในวันที่ 11 ม.ค. 2562
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ที่บริษัทฯ ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2561 ระบุว่า งบการเงินดังกล่าวได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2562 แต่กลับปรากฏ บอจ.5 ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในแบบนำส่งงบการเงิน รอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2561 ดังกล่าว
เพราะเท่ากับว่าในปี 2562 มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2562 ซ้อนกัน 2 วัน คือวันที่ 30 เม.ย. 2562 (วันอนุมัติงบการเงิน) และวันที่ 31 ก.ค. 2562 (วันโอนหุ้น) ทั้งที่ตามข้อบังคับของบริษัทฯ กำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งหนึ่งทุกปี และโดยปกติแล้วการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท เฮด อัพฯ จัดให้มีขึ้นเพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือน เม.ย. ของทุกปี ดังเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสาร ส.บช.3 รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2560 และ 31 ธ.ค. 2561 รวมถึง บอจ.5 ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2563
ประกอบกับข้อเท็จจริงตามแบบ ภ.ง.ด.50 รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561-31 ธ.ค. 2561 ที่บริษัทฯยื่นต่อกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2562 ระบุข้อมูลในแบบ ภ.ง.ด.50 เป็นข้อมูลที่มาจากงบการเงินของบริษัทฯ รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2561 ต้องเป็นงบการเงินที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น
แสดงว่าบริษัทฯ มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติงบการเงินในรอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2561 ไปแล้วเมื่อ 30 เม.ย. 2562 ตามที่ปรากฏในแบบ ส.บช.3 รอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2561 ดังนั้นการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 จึงมีข้อพิรุธ และเป็นการผิดปกติวิสมัยของการประชุมสามัญประจำปีของบริษัทฯ
อีกทั้งนายธัญญ์วาริน ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมดังกล่าว และไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเชิญประชุม วาระการประชุม ลายมือชื่อผู้เข้าประชุม และบันทึกการประชุม ที่แสดงว่ามีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 จริง และแม้จะปรากฏเอกสารสำเนาหนังสือสัญญาโอนหุ้น และสำเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ว่า นายธัญญ์วาริน โอนหุ้นให้แก่ น.ส.นันท์มนัส ไกรหา วันที่ 11 ม.ค. 2562 ก็ตาม แต่ข้อพิรุธข้างต้นย่อมมีน้ำหนักเพียงพอรับฟังได้ว่า เอกสารหลักฐานดังกล่าวน่าจะถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้เจือสมกันกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎในแบบ บอจ.5 ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562
นอกจกนี้นายธัญญ์วาริน ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนหุ้นว่า มีการชำระค่าโอนหุ้นกันอย่างไร และเป็นจำนวนเงินเท่าใด และไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐานจากการชำระค่าหุ้นและหลักฐานอื่นทีเกี่ยวข้องที่สามารถยืนยันเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงฟังไม่ได้ว่านายธัญญ์วาริน โอนหุ้นให้แก่ น.ส.นันท์มนัส ในวันที่ 11 ม.ค. 2562 ตามที่ปรากฏในแบบ บอจ.5
2.บริษัท แอมฟายน์ฯ ข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารแบบ บอจ.5 ในวันประชุมจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2554 และวันประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2555, 1/2556, 1/2557 และ 1/2558 ปรากฏชื่อนายธัญญ์วาริน ถือหุ้น 3,333 หุ้น เลขหมายหุ้น 3335-6667 ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. 2554
แต่ต่อมาปรากฏตามแบบ บอจ.5 ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 ที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2562 ไม่ปรากฏชื่อนายธัญญ์วารินเป็นผู้ถือหุ้น แต่ปรากฏชื่อนายณัฐวัฒน์ สุขะพิสิษฐ์ เป็นผู้ถือหุ้นและตามจำนวนและหมายเลขดังกล่าวแทน โดยระบุเลขหมายใบหุ้น และวันลงทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในแบบ ส.บช.3 ที่บริษัทฯยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รอบปีบัญชี 2554, 2555, 2556, 2557 พบว่า บริษัทฯ มีการประชุมสามัญประจำปีเพื่อพิจารณาอนุมัติงบการเงินในเดือน เม.ย. มาโดยตลอด อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทฯ ไม่มีการประชุมสามัญประจำปีเพื่อพิจารณาอนุมัติงบการเงินและขาดส่งงบการเงินตั้งแต่ปี 2558 เรื่อยมา แต่กลับปรากฏว่าบริษัทฯประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 จึงมีข้อพิรุธ และเป็นการผิดปกติวิสัยของการประชุมสามัญประจำปี
นอกจากนี้นายธัญญ์วารินมิได้แสดงเอกสารหลักฐานแก่ศาลว่ามีการประชุมสามัญครั้งที่ 1/2562 จริง และไม่ได้จัดทำรายละเอียดว่าโอนหุ้นจัดทำขึ้นในวันและเวลาใด สถานที่ใด มีบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง มีการชำระค่าโอนหุ้นกันอย่างไร และเป็นจำนวนเงินเท่าใด และไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐานหนังสือสัญญาโอนหุ้น หลักฐานการชำระค่าหุ้น และหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องที่สามารถยืนยันพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
ทั้งนี้การที่บริษัท เฮด อัพฯ และบริษัท แอมฟายน์ฯ จัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2562 ในวันเดียวกันเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 ตามที่ปรากฏในเอกสารสำเนาแบบ บอจ.5 และมีการนำส่งแบบ บอจ.5 ดังกล่าวต่อนายทะเบียนในวันเดียวกันคือวันที่ 31 ส.ค. 2562 ย่อมเป็นข้อพิรุธ และเป็นการผิดวิสัย รวมทั้งการดำเนินการดังกล่าวเป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่มี ส.ส. เข้าชื่อยื่นเรื่องต่อผู้ร้องเพื่อส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธัญญ์วาริน
จึงเชื่อได้ว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในแบบ บอจ.5 ที่ระบุว่าเป็นรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 ซึ่งไม่ปรากฏชื่อนายธัญญ์วารินถือหุ้น แต่ปรากฏชื่อ น.ส.นันท์มนัส และนายณัฐวัฒน์ เป็นผู้ถือหุ้นตามจำนวนและหมายเลขดังกล่าวแทน โดยระบุเลขหมายใบหุ้น และวันลงทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 11 ม.ค. 2562 เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกทำขึ้นเพื่อให้บุคคลภายนอกเข้าใจว่านายธัญญ์วารินไม่ได้ถือหุ้นในบริษัท เฮด อัพฯ และบริษัท แอมฟายน์ฯ แล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันก่อนที่นายธัญญ์วาริน สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. โดยที่ไม่ได้มีการประชุมและไม่มีการโอนหุ้นกันจริง
หากนายธัญญ์วารินโอนหุ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 2562 จริง นายธัญญ์วาริน ในฐานะกรรมการของบริษัท ย่อมต้องดำเนินการส่งแบบ บอจ.5 ที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนโดยเร็ว ก่อนวันที่นายธัญญ์วาริน จะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และย่อมต้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาพร้อมกับแสดงเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องว่ามีการโอนหุ้นไปแล้วก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อพิสูจน์ข้อหักล้างในประเด็นสำคัญแห่งคดีนี้มาเสียตั้งแต่ต้น แต่นายธัญญ์วารินไม่ได้ชี้แจงโต้แย้งประเด็นดังกล่าว เป็นการผิดปกติวิสัยในการต่อสู้คดี
อีกทั้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญให้โอกาสนายธัญญ์วาริน จัดทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในประเด็นรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ถือหุ้น รวมถึงการโอนหุ้นในบริษัทฯดังกล่าว แต่นายธัญญ์วารินไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดและไม่มาให้ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในข้อพิรุธดังกล่าว นายธัญญ์วารินเพียงนำส่งเอกสารหลักฐานสำเนาหนังสือสัญญาโอนหุ้น และสำเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ที่ระบุว่ามีการโอนหุ้นให้ น.ส.นันท์มนัส และนายณัฐวัฒน์ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 เท่านั้น
ด้วยพิรุธหลายประการดังกล่าว ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีทั้งปวง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายธัญญ์วาริน เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เฮดอัพฯ และบริษัท แอมฟายน์ฯ ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอยู่ในวันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต.
ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธัญญ์วาริน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส. เสนอต่อ กกต.
อ่านประกอบ :
เปิด บอจ.5 ฉบับใหม่ 2 บริษัท‘ธัญญ์วาริน’ ไขปมพิรุธถือหุ้นสื่อ
63 ส.ส.ฝ่าย รบ.-ค้านรอดคดีหุ้นสื่อ! 'ธัญญ์วาริน'โดนรายเดียว-พบพิรุธโอนย้อนหลัง
พลิกข้อมูล ‘ธัญญ์วาริน’ ถือหุ้นสื่อ 2 บริษัท ก่อนสิ้นสภาพ ส.ส. ตามรอย‘ธนาธร’
63 ส.ส.ฝ่าย รบ.-ค้านรอดคดีหุ้นสื่อ! 'ธัญญ์วาริน'โดนรายเดียว-พบพิรุธโอนย้อนหลัง
2 บ.‘ธัญญ์วาริน’ ชื่อหราถือหุ้น 33-34% แจ้งผลิตสื่อ โฆษณา –เจ้าตัวยังไม่แจง
ขอถามพรรคก่อน! ‘ธัญญ์วาริน’ผู้สมัคร ส.ส.อนาคตใหม่ ยังไม่แจง ปมถูกยื่นสอบถือหุ้นสื่อ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/