เผยข้อมูล ป.ป.ช. ลุยฟ้องคดีเองระหว่างปี 56-63 อย่างน้อย 69 เรื่อง ถึงที่สุดแค่ 20 เรื่อง ลงโทษ 11 ยกฟ้อง 9 พบใช้เวลาตั้งแต่ชี้มูล-ตั้งคณะทำงานร่วมฯ-ดึงสำนวนกลับมาฟ้องเองนานเป็นปี – ปี 62 ชี้มูลรวม 293 สำนวน ค้างในชั้นอัยการ 74 เรื่อง
....................................
ปฏิเสธไม่ได้ว่า องค์กรที่มีบทบาทสูงในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภายในประเทศไทยในรอบ 20 ปีเศษที่ผ่านมา หนีไม่พ้นองค์กรอิสระที่ชื่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ถูกจัดตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540
อย่างไรก็ดีองค์กรแห่งนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเสมอ โดยเฉพาะประเด็น ‘หลายมาตรฐาน’ ในการทำคดี จนกระทั่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ-โครงสร้างองค์กร เพื่อลดข้อครหาเหล่านี้ลง แต่ยังคงถูกค่อนขอดถึงความน่าเชื่ออยู่?
ประเด็นที่น่าสนใจในกรณีนี้คือ หลายคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด และส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินการฟ้องคดี แต่ปรากฏว่า ‘สำนวนไม่สมบูรณ์’ จนต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมฯ และท้ายที่สุดฝ่ายอัยการไม่ฟ้อง ส่งสำนวนคืนกลับ ป.ป.ช. ดำเนินการฟ้องคดีเองนั้น มีหลายคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง จนทำให้บางฝ่ายมองว่า ป.ป.ช. รีบร้อน-ทำสำนวนไม่รอบคอบหรือไม่?
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า ในรอบปี 2556-2563 หรือ 8 ปีที่ผ่านมา มีคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องเองอย่างน้อย 69 คดี โดยถึงที่สุดแล้ว 20 คดี โดยศาลพิพากษาลงโทษ 11 คดี ที่เหลือศาลยกฟ้อง 9 คดี หรือเกือบ ‘ครึ่งต่อครึ่ง’ เลยทีเดียว
ข้อมูลจากสำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช. พบว่า ระหว่างปีงบประมาณ 2556-วันที่ 22 ต.ค. 2563 สำนักงาน ป.ป.ช. มีมติให้สำนักคดีดำเนินการฟ้องคดีอาญาเองต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา อย่างน้อย 69 คดี ดังนี้
โดยสถิติและสถานะคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช. (ข้อมูลปีงบประมาณ 2556-วันที่ 22 ต.ค. 2563) พบว่า ระหว่างปี 2556-2563 สำนักงาน ป.ป.ช. มีมติให้สำนักคดีดำเนินการฟ้องคดีอาญาเองต่อศาล อย่างน้อย 69 คดี
แบ่งเป็น ปี 2556 จำนวน 1 คดี โดยศาลพิพากษาลงโทษ 1 คดี
ปี 2557 ไม่มี
ปี 2558 จำนวน 7 คดี ศาลพิพากษาลงโทษ 3 คดี ยกฟ้อง 4 คดี
ปี 2559 จำนวน 6 คดี ศาลพิพากษาลงโทษ 1 คดี ยกฟ้อง 5 คดี
ปี 2560 จำนวน 3 คดี ศาลพิพากษาลงโทษ 2 คดี ยกฟ้อง 1 คดี
ปี 2561 จำนวน 13 คดี ศาลพิพากษาลงโทษ 5 คดี ยกฟ้อง 7 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณา 1 คดี
ปี 2562 จำนวน 16 คดี ศาลพิพากษาลงโทษ 7 คดี ยกฟ้อง 2 คดี อยู่ระหว่างพิจารณา 7 คดี
และปี 2563 จำนวน 23 คดี ศาลพิพากษาลงโทษ 2 คดี ยังไม่มีกรณียกฟ้อง อยู่ระหว่างการพิจารณา 16 คดี และอยู่ระหว่างยกร่างคำฟ้อง 5 คดี
ในส่วนของ 69 คดีดังกล่าว แบ่งเป็น อยู่ระหว่างยกร่างคำฟ้อง 5 คดี อยู่ระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น 21 คดี อยู่ระหว่างพิจารณาในศาลอุทธรณ์ 13 คดี อยู่ระหว่างพิจารณาในศาลฎีกา 7 คดี อยู่ระหว่างพิจารณาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 คดี อยู่ระหว่างออกหมายจับ 1 คดี
คดีถึงที่สุดศาลพิพากษาลงโทษ 11 คดี คดีถึงที่สุดยกฟ้อง 9 คดี
สำหรับระยะเวลาเฉลี่ยภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และมีการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวน ระหว่างฝ่ายอัยการ และฝ่าย ป.ป.ช. จนถึงช่วงที่ฝ่ายอัยการคืนสำนวนแก่ ป.ป.ช. เพื่อฟ้องคดีเองนั้น พบว่า กินเวลานานหลายพันวันด้วยกัน
โดยระยะเวลาก่อนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บังคับใช้ มีระยะเวลาเฉลี่ยอย่างน้อย 1,142 วัน หรือประมาณ 3 ปีเศษ
ส่วนระยะเวลาภายหลัง พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ มีระยะเวลาเฉลี่ยอย่างน้อย 593 วัน หรือประมาณ 1 ปีเศษ
สำหรักรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนการไต่สวนเมื่อปี 2562 อย่างน้อย 300 คดี มีมติชี้มูลความผิด 293 คดี และมีมติเป็นอย่างอื่น 7 คดี โดยสำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับแจ้งความเคลื่อนไหวคดีต่าง ๆ แล้วอย่างน้อย 241 เรื่อง แบ่งเป็น อยู่ระหว่างอัยการพิจารณาดำเนินการ 46 คดี อัยการตั้งข้อไม่สมบูรณ์ 28 คดี อัยการฟ้องแล้วโดยยังไม่มีคำพิพากษา 93 คดี และชี้มูลผิดทางวินัย 32 คดี ส่วนกรณีที่ศาลพิพากษาแล้ว ลงโทษจำนวน 32 คดี ยกฟ้อง 3 คดี
ทั้งหมดคือข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับการ ‘ฟ้องเอง’ ของสำนักงาน ป.ป.ช. สถิติข้างต้นชี้ให้เห็นได้ว่าเกิดความล่าช้าอย่างมากในกระบวนการ ‘ตั้งคณะทำงานร่วมฯ’ ระหว่างฝ่ายอัยการและ ป.ป.ช. ขณะที่คดีที่ถึงที่สุดนั้น ศาลพิพากษาลงโทษ กับศาลยกฟ้อง แทบจะเท่ากัน?
สำนักงาน ป.ป.ช. จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/