“…รายได้หลักมาจากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก หอการค้าจังหวัดชลบุรีมีนโยบายเรื่องการส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงและยั่งยืน ทั้งนี้หอการค้าจังหวัดชลบุรีจึงมองว่ารายได้ที่สำคัญที่สุดมาจากผู้ประกอบการ SME ในจังหวัด หากผู้ประกอบการ SME มีการขายสินค้าได้จะทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดเข้มแข็งได้ หากภาครัฐสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ SME ในพื้นที่ในการสร้างรายได้จะสามารถส่งเสริมด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ได้ …”
---------------------------------------------------------
โครงการ ‘คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ’ เวทีสาธารณะที่เปิดพื้นที่รับฟังข้อเสนอและแนวทางการพัฒนาพื้นที่หลังผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด
ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นเวทีที่ 4 ได้เดินทางไปที่พื้นที่ภาคคตะวันออก ณ โรงแรมอมารี พัทยา จ.ชลบุรี โดยมีพื้นที่โครงการที่น่าสนใจอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
ซึ่งภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จำนวน และหลังสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ ควรปรับตัวอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
(จักรพงศ์ ประภากรสกุล ผอ.สำนักงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี)
@งบปี 64 ล่าช้า เอกชนไม่กล้าลงทุน
นายจักรพงศ์ ประภากรสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาคตะวันออก จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ภาพรวมดัชนีเรื่องการผลิตภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมก็ลดลง ดัชนีด้านการท่องเที่ยวที่พึ่งชาวต่างชาติจะเห็นได้ว่าตอนนี้ธุรกิจโรงแรมเงียบสนิทปิดกันหมด ภาพรวมในภาคเกษตรดีขึ้นเล็กน้อย แต่ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการบริการยังต่ำลง อัตราการว่างงานสูง นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้า ส่งผลให้โครงการลงทุนช้าลง เกิดความไม่มั่นใจของภาคเอกชนที่จะลงทุนเพิ่ม ทั้งนี้สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น และจากการที่มีการปิดเมืองในหลาย ๆ ประเทศ ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยหดตัวสูง การขาดแคลนแรงงานต่างด้าวและแรงงานทักษะสูงทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรง ส่งผลให้การปรับขึ้นราคาสินค้าของผู้ประกอบการที่มีหน้าร้านเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
@เร่งเดินหน้าอีอีซีช่วยพยุงธุรกิจทั้งระบบ
นายจักรพงศ์ เปิดเผยว่า ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาคตะวันออก คือต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องและการจ้างงาน อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเน้นกระตุ้นอุปสงค์ และการท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของภาคตะวันออก รวมทั้งให้การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และสนับสนุนแนวทาง F.T.I. Fast Payment เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้มีสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้
(ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี)
@รายได้ที่สำคัญมาจากผู้ประกอบการ SME
นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า หลังรัฐบาลได้มีการคลายล็อค พื้นที่จังหวัดชลบุรีได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวหากเทียบกับเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ บ้าง แต่ยังประสบปัญหา ด้วยเป็นพื้นที่กลุ่มตลาดหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเมืองพัทยา ซึ่งรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก หอการค้าจังหวัดชลบุรีมีนโยบายเรื่องการส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงและยั่งยืน ทั้งนี้หอการค้าจังหวัดชลบุรีจึงมองว่ารายได้ที่สำคัญที่สุดมาจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในจังหวัด หากผู้ประกอบการขายสินค้าได้จะทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดเข้มแข็งได้ หากภาครัฐสนับสนุนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีในพื้นที่ในการสร้างรายได้จะสามารถส่งเสริมด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ได้
นอกจากนี้หอการค้าจังหวัดชลบุรี ยังได้มีการส่งเสริมในเรื่องของการทำนวัตกรรมในการเพิ่มรายได้จาการค้าขายในรูปแบบใหม่ ๆ ด้วยโลกที่เปลี่ยนไปและสถานการณ์โควิดที่เข้ามา การขายสินค้าการเกษตรอย่างเดียวโดยที่ไม่มีการเพิ่มนวัตกรรมเข้าไปก็จะถูกกดราคา จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพาในการสร้างนวัตกรรมให้ผู้ประกอบการร้านค้าสามารถต่อยอดการขายสินค้าที่มีอยู่ได้และสามารถสร้างมูลสินค้าได้ หอการค้าจังหวัดชลบุรีเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้กับนักธุรกิจให้เข้าหากัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดสินค้าเกษตรต่อไป
(ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ ผอ.อาวุโสฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท.)
@ลงทุนใหม่ไม่เกิด-ผู้สูงอายุเพิ่ม เสี่ยงขาดแคลนแรงงาน
ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่าเดือนมิถุนายนจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นแต่ไม่เท่าปี 2562 หากยังต้องพึ่งรายได้จากการส่งออกและการพึ่งการท่องเที่ยว อีกทั้งพบว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากสถานการณ์โควิด และเสี่ยงทำให้แรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ตกงานสูง ประเทศไทยสะสมทุนมาน้อยตั้งแต่วิกฤติปี 2540 การลงทุนไม่ได้เกิดใหม่ ในขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กำลังแรงงานเป็นภาคเกษตร 1 ใน 3 ของประชากร และกว่า 60% ของเกษตรกรอายุเกิน 50 ปี ดังนั้นในอนาคตผลิตภาพของภาคเกษตรจะยิ่งต่ำลง รวมถึงภาคอุตสาหกรรมซึ่งเมื่อคนเหล่านี้ออกจากงานแล้วกลับไปบ้านก็ปรับตัวได้ยาก
@เลิกเยียวยา-หนุนทำนโยบายตามความต้องการท้องถิ่น
ดร.จิตเกษม กล่าวว่า มีความเสี่ยงทำให้แรงงานตกงานกว่า 9 ล้านคน ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ นอกจากความเสี่ยงที่ผลิตสินค้าส่งออกไม่ได้ ผลิตได้น้อยแล้ว ยังมีเรื่องการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วย การจ้างงานของภาคยานยนต์อาจจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม ซึ่งจากสถิติพบปี 2563 มีแรงงานตกงานถึง 7 แสนคน แม้การกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศจากภาครัฐนั้นยังไม่ช่วยเศรษฐกิจโดยรวมให้ดีขึ้นได้ การกระตุ้นของภาครัฐจะต้องรับฟังนโยบายของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก เพราะแต่ละพื้นที่ต้องการนโยบายในการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต่างกัน เราจะทำนโยบายแบบหว่านแหไม่ได้จำเป็นต้องทำนโยบายที่ท้องถิ่นต้องการ จะใช้นโยบายภาคการคลังเยียวยากันต่อไปไม่ได้
ทั้งหมดเป็นข้อเสนอจากหน่วยงานของทางภาคตะวันออก จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องของแรงงานของภาคอุตสาหกรรมได้ดีขึ้น ที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่ธุรกิจการท่องเที่ยวเกิดการชะลอตัว ที่อาจทำให้มีการเข้ามาลงทุนจากต่างชาติได้อีกครั้งหลังจากผ่านวิกฤตสถานการณ์โควิดไปแล้ว
อ่านประกอบ :
กักเก็บน้ำ-เกษตรแปรรูป ถอดสูตรเศรษฐกิจพา 'อีสาน' ก้าวต่อ หลังพ้นวิกฤตโควิด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage