"...ความเป็นจริงภาคอีสานไม่ได้ขาดน้ำ เพราะแต่ละปีมีน้ำ 4.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรไหลเข้ามาในพื้นที่ แต่สามารถกักเก็บได้เพียง 17% เท่านั้น เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินทราย ดังนั้นการออกแบบแหล่งเก็บน้ำ ต้องไม่ใช่แหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่ต้องทำขนาดเล็กในไร่นาต่างๆ และโดยส่วนใหญ่ไม่อยากเสียพื้นที่การเพาะปลูก จึงทำให้มีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้น้อยลง..."
-------------------------------------------
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่ลุกลามไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงพฤติกรรมของประชาชนในแต่ละพื้นที่
และเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งตัวเร่งให้กระแสโลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ด้วยเหตุนี้ทำให้คนไทยต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
เป็นที่มาของเวทีสาธารณะ ‘คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ’ ที่จัดขึ้นโดยองค์กรชั้นนำของประเทศ นำโดย สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดาริ ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา , สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ , ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร , มหาวิทยาลัยมหิดล , สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ และสำนักข่าวไทยพับลิก้า
และเป็นเวทีสาธารณะ เพื่อเสนอแนวทางช่วยคนไทยให้ปรับตัว รู้เท่าทันกับสังคมโลกที่เปลี่ยนไป ศึกษาความรู้ใหม่ ปรับรูปแบบทำงาน สร้างงานเพิ่ม ลดการกระจุกตัวด้านธุรกิจ
โดยครั้งนี้เป็นเวทีที่ 2 ที่จัดขึ้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนาและการรับมือสถานการณ์ต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
(ประสาท สมจิตรนึก ผอ.อาวุโส ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
@ ‘น้ำ’ ตัวชี้วัดรายได้หลักคนอีสาน
นายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า พื้นที่และประชากรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็น 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งครอบลุม 20 จังหวัด แต่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น โครงสร้างทางเศรษฐกิจในภาคอีสาน จะสวนทางกับของประเทศ โดยจะพึ่งการเกษตรเป็นหลัก มีการบริหารจัดการน้ำประมาณร้อยละ 70 เกษตรกร จึงต้องพึ่งพาน้ำฝน และภัยแล้งมีผลกระทบต่อรายได้โดยตรง ดังนั้นรายได้มีการผันผวนสูง จึงมีการก่อหนี้ เพื่อการบริโภคในครัวเรือนและเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนทางการเกษตร
@หลังวิกฤติโควิดเศรษฐกิจมีเสถียรภาพดีว่าภาคอื่น
นายประสาท กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของภาคอีสาน มีการหดตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 เนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ประกอบกับปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของการอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และโรคระบาดจากเชื้อโควิดเริ่มเข้ามามีผลกระทบมากขึ้น ในไตรมาสที่ 2 ส่วนภาวะเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความคล้ายคลึงกับทั่วประเทศ แต่พึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและในประเทศน้อย ในขณะที่ภาคอื่น ๆ ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบน้อยมาก ดังนั้นภาวะเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีกว่าภูมิภาคอื่น
(โชคชัย คุณวาสี ที่ปรึกษาอาวุโสหอการค้าจังหวัดขอนแก่น)
@พื้นที่ไม่ได้ขาดน้ำ แต่ขาดแหล่งกักเก็บน้ำ
นายโชคชัย คุณวาสี ที่ปรึกษาอาวุโสหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดให้มีการบูรณาการกันระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านและความรู้เชิงวิจัยใหม่ๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เช่น ภาครัฐต้องช่วยส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีที่จะช่วยยกระดับมูลค่าสินค้าทางการเกษตร เช่นเดียวกับการบริหารจัดการน้ำต้องศึกษาสภาพพื้นที่และเส้นทางน้ำธรรมชาติ และต้องอาศัยความร่วมมือจากกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ เพราะเชื่อว่าเมื่อมีน้ำ ชาวบ้านก็เพาะปลูกได้ และเมื่อมีองค์ความรู้ด้านการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ก็ขายสินค้าได้ราคาดีขึ้น และจะส่งผลใหคุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น ตามลำดับ
นายโชคชัย กล่าวด้วยว่า ความเป็นจริงภาคอีสานไม่ได้ขาดน้ำ เพราะแต่ละปีมีน้ำ 4.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรไหลเข้ามาในพื้นที่ แต่สามารถกักเก็บได้เพียง 17% เท่านั้น เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินทราย ดังนั้นการออกแบบแหล่งเก็บน้ำ ต้องไม่ใช่แหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่ต้องทำขนาดเล็กในไร่นาต่างๆ และโดยส่วนใหญ่ไม่อยากเสียพื้นที่การเพาะปลูก จึงทำให้มีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้น้อยลง
@แนะรัฐคิดสูตรแก้ปมโรงงานลดพนักงาน-ลดต้นทุน
นายโชคชัย เปิดเผยว่า ส่วนภาคอุตสาหกรรมผู้ประกอบการเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น เริ่มมีการส่งออก มีความเชื่อมั่นต่อผลประกอบการมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสภาพคล่อง และการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเวลานี้ คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ที่มียอดขายลดลง และกำลังซื้อชะลอตัว
ขณะที่การแก้ปัญหาด้านแรงงานของรัฐ ยังทำได้ไม่ตรงจุด เนื่องจากภาครัฐไม่ต้องการลดการจ้างงาน แต่ธุรกิจไปต่อไม่ได้ เพราะภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ได้สนับสนุนให้ไปต่อได้ และในช่วง 2-4 ปีที่คาดการณ์กันว่าธุรกิจจะฟื้นได้ ธุรกิจที่มีศักยภาพก็จะดำเนินการต่อได้ ถ้าจะลดพนักงานเพื่อลดต้นทุน ก็ต้องลดอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ลดแล้วเกิดปัญหาสังคมต่อ ก็จะเกิดปัญหาลูกโซ่ตามมา ภาครัฐก็ต้องจุนเจือในช่วงที่คนตกงาน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเข้มแข็งกว่านี้ และช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพื่อให้ปัญหาเกิดตามมาน้อยที่สุด
ส่วนภาคการท่องเที่ยว หอการค้าจังหวัดกำลังบูรณาการพัฒนาการท่องเที่ยว 7 จังหวัดริมแม่น้ำโขง โดยการวางแผนให้เป็นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ส่วนการท่องเที่ยวโดยชุมชนจะเน้นเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มในงานด้านหัตถ์กรรมมากขึ้น เช่น ผ้าไหม ผ้าทอมือ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสินค้า เพื่อนำไปสู่การต่อยอดการท่องเที่ยวโดยชุมชน
(มนตรี ดีมานพ ผอ.สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ภาคจะวันออกเฉียงเหนือ)
@ปรับวิถีการเกษตร-เพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น
นายมนตรี ดีมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวย้ำถึงการพัฒนาด้านการเกษตรว่า ชาวบ้านจะคิดเรื่องปลูกเพื่อบริโภคอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเปลี่ยนไปตามโครงสร้างของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการปลูกเพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่า อาทิ ผลิตเป็นแคปซูลอาหารเสริม เครื่องสำอาง ตามบริบทโลกที่เปลี่ยนไป โดยใช้งานวิจัยและพัฒนามาช่วย เพื่อไปสู่ Bio Economy ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กำลังทำต้นแบบกันอยู่ หรือต้องหาวิธีจัดการให้มีมูลค่า ตั้งแต่พันธุ์ไหม เส้นไหม ตัวหม่อน คุณภาพ เช่น สีไม่ตก มีการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมให้เกิดเรื่องราว (Story) อัตลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันดูกันที่ราคา ไม่ได้ดูที่คุณค่าเชิงวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์ ทำอย่างไรจึงจะคุณภาพสินค้า ให้มีมูลค่า พัฒนาคนในห่วงโซ่ให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
ทั้งหมดเป็นข้อเสนอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่คาดหวังว่า ภาคอีสานจะมีอัตราการเติบทางเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่า ภาคอีสานที่วิถีชีวิตผูกติดกับการเกษตรจะกลายเป็นหนึ่งในเครื่องจักรสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้หลุดพ้นจากวิกฤตโลกหลังสถนาการณ์โควิด
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage