"...ถ้าเขาดูแลผู้ชุมนุมอย่างดี เขาต้องกระจายตัวเจ้าหน้าที่ไปจุดเฝ้าระวังทำให้ผู้ไม่หวังดีไม่สามารถยิงเข้าหาผู้ชุมนุมได้ ผมขอสรุปว่าหากมีความรุนแรงในวันที่ 19 ก.ย.นี้ ถ้าจะเกิดขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล เหตุนี้จะไม่ได้มาจากผู้ชุมนุม แต่จะเกิดจากอำนาจรัฐ คือรัฐบาลต้องรับผิดชอบเท่านั้น นายพิภพ ธงไชย กล่าว..."
---------------------------------------------------
การชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ เป็นการชุมนุมที่หลายฝ่ายยังมิอาจคาดเดาตอนจบของเรื่อง แม้ว่าข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อยังคงเดิมคือ หยุดคุกคามประชาน แก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) และยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่
หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะเป็นการชุมนุมใหญ่ ที่มีมวลชนเดินทางมามากที่สุดในรอบหลายปี นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557
และเป็นการชุมนุมที่หลายฝ่ายวิตกกังวลกว่าหลายครั้งว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นได้
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 พร้อมด้วยองค์กรที่เกี่ยวข้อง จัดเสวนาถอดบทเรียนจากประสบการณ์การชุมนุมทางการเมืองและข้อเสนอต่อสังคม โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนาเป็นอดีตแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมในหลายเหตุการณ์
ถือเป็นการถอดบทเรียนจาก ‘ม็อบรุ่นพี่’ ก่อนที่เยาวชนคนรุ่นใหม่จะเริ่มการชุมนุมของตัวเองในวันที่ 19 ก.ย.นี้
@ต่อต้านเผด็จการจุดร่วมเหมือนคนเดือนตุลาฯ
นายสมชาย หอมละออ คนเดือนตุลาและอดีตผู้ต้องหาคดี 6 ต.ค.2519 กล่าวว่า ปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวช่วง 14 ต.ค.2516 มีความคล้ายกับสถานการณ์ปัจจุบัน คือเริ่มจากการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาที่เป็นพลังอันบริสุทธิ์ มีจุดร่วมตรงกันคือ การคัดค้านต่อต้านเผด็จการทหาร คัดค้านการสืบทอดอำนาจ และเรียกร้องประชาธิปไตย ทำให้เป้าหมายการเคลื่อนไหวชัดเจน และคล้ายกับปัจจุบัน อย่างไรก็ตามคิดว่าตอนนี้มีความก้าวหน้ามากกว่า ก้าวไปถึงขั้นที่จะสะท้อนปัญหาความเละเทะเหลวแหลกของผู้ใหญ่ที่อยู่ในสถาบันต่าง ๆ
ต้องยอมรับว่าการชุมนุมหลายยุคหลายสมัยบางครั้งอำนาจรัฐได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น กรณี 6 ต.ค.2519 รัฐบาลเป็นพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่สามารถคุมกองทัพ ตำรวจ ทหาร หรือแม้กระทั่งมวลชนที่จัดตั้งโดยฝ่ายความมั่นคงก็ควบคุมไม่ได้ การใช้ความรุนแรงยุคนั้น เป็นความรุนแรงที่คนยุคนี้จินตนาการไม่ได้เลยว่าเป็นอย่างไร ขณะที่ย้อนกลับไป 14 ต.ค.2516 แทบไม่มีใครรู้ว่า มีผู้นำนิสิตนักศึกษา กรรมกร ชาวนา ถูกสังหารไปไม่น้อยกว่า 60 คน และยังไม่นับรวมกับคนที่เราไม่ทราบว่าเสียชีวิตไปอีกเท่าไร สูญหายเท่าไร ประวัติศาสตร์เหล่านี้ถูกฝังดินไปในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตามในการชุมนุม 14 ต.ค.2516 มีความรุนแรงที่ไม่ได้เกิดจากการชุมนุม บางอย่างแกนนำก็ไม่สามารถควบคุมได้ เหตุการณ์วันนั้นแกนนำสลายการชุมนุมไปแล้ว ทุกคนก็ไม่รู้ว่าความรุนแรงเกิดขึ้นได้อย่างไร ตำรวจที่รักษาการในพื้นที่ไม่ยอมให้ผู้ชุมนุมที่สลายการชุมนุมไปแล้วฝ่าด่านเดินทางกลับจนกระทั่งเกิดเหตุรุนแรง
“การชุมนุมเมื่อส่งผลให้ฝ่ายที่เป็นอนุรักษนิยมสูญเสียอำนาจ เขาคงไม่ยอมมากนัก และมักจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเสมอ ทุกสิบปีมีการฉีกรัฐธรรมนูญ ทุกสิบปีมีความรุนแรง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลังการชุมนุมทุกครั้ง สังคมไม่ผลักดันให้มีการปฏิรูปเชิงครงสร้างอย่างจริงจัง สุดท้ายโครงสร้างแบบเดิมก็กลับมาอีก” นายสมชาย กล่าว
@ระบอบคนดี มรดกที่เกิดจากพฤษภา 35
นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข อดีตกรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2534-2535 และอดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 กล่าวว่า ยุคนั้นก็เกิดจากการเริ่มต้นต่อต้านรัฐประหาร มีจุดเริ่มต้นจากนักศึกษาไม่กี่คน ก่อนที่จะขยายผลไปทั่วประเทศ เหตุการณ์ภาพรวมมีความคล้ายกับช่วงปี 2549 และปี 2557
ต่อมาหลังเหตุการณ์การชุมนุมก็ทำให้เกิดมรดก 3 อย่างที่เป็นผลพวงมาจนถึงปัจจุบัน คือ 1.ทหารกลับเข้ากรมกอง 2.เกิดกระแสปฏิรูปสื่อ เนื่องจากสื่อยุคนั้นไม่มีการรายงานข่าวเหตุการณ์ชุมนุม แม้ว่าสื่อยุคนั้นจะไม่โจมตีเหยื่อของระบบที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบจากคณะรัฐประหาร แต่ยุคนั้นสื่อไม่รายงานข่าวเหตุการณ์การชุมนุม จนเกิดกระแสเรียกร้องและเป็นที่มาของการเกิดสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในเวลาต่อมา ที่หวังจะให้เป็นสื่อสาธารณะ และ 3.เกิดรัฐธรรมนูยปี 2540
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากมรดกเหล่านี้ มีและร้ายแรงมาจนถึงปัจจุบัน ขณะนั้นนักศึกษาเริ่มต้นด้วยการเรียกร้องนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ผลก็คือมีการเสนอชื่อนายอานันท์ ปัญยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนอก ขณะนั้นคนก็ร้องเฮ ขณะที่นักศึกษาส่วนหนึ่งตกใจ ตกลงเราต้องการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีหรือต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจาการเลือกตั้ง
“คำถามเหล่านี้แผ่วเบาและเลือนหายไป และการชุมนุมพฤษภาฯ 35 เกิดสิ่งที่เรียกว่าระบอบคนดี อะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี และคนดีต้องมีอำนาจด้วย ถึงจะนิยามความดีกันได้ ขณะที่ รธน.2540 เอาระบอบคนดีแฝงอยู่ในองค์กรอิสระ คอยชี้นำนักการเมืองที่กลายเป็นอาชีพเลวร้ายไปในขณะนั้น” นายชูวัส กล่าว
@เหตุรุนแรงมักมีจุดเริ่มต้นจากรัฐ
นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า เราชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลนานกว่า 190 วัน จนกระทั่งเกิดความรุนแรงเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 เมื่อมีการเคลื่อนบวนไปที่หน้ารัฐสภา แม้จะเป็นการชุมนุมอย่างสงบ ปิดล้อมรัฐสภาในขณะที่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะแถลงนโยบาย จนมีความรุนแรงเกิดจากตำรวจ มีการยิงปืน ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตามไม่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่เสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงหรืออาวุธของผู้ชุมนุมแต่อย่างใด
ที่ผ่านมามักมีข้อกล่าวหากันว่าความรุนแรงมักเกิดจากผู้ชุมนุม ขอถกเถียงว่าไม่เป็นความจริง ในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ตนเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องทิศทางระเบิด ทิศทางของ M79 เรารู้ว่าถ้าชุมนุมทำเนียบรัฐบาล ทิศทางจะมาจากทางฝั่งสนามม้านางเลิ้ง และวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม หรือถ้าชุมนุมสนามหลวง ให้ระวังจุดยิงจากกระทรวงกลาโหม
“สรุปก็คือว่า ถ้าเกิดความรุนแรง มีการยิงไปที่ผู้ชุมนุมไม่ว่าจะระเบิดหรือกระสุน รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เพราะภาครัฐรู้ระยะยิงของประเภทกระสุนและระเบิดทั้งหมด ถ้าเขาดูแลผู้ชุมนุมอย่างดี เขาต้องกระจายตัวเจ้าหน้าที่ไปจุดเฝ้าระวังทำให้ผู้ไม่หวังดีไม่สามารถยิงเข้าหาผู้ชุมนุมได้ ผมขอสรุปว่าหากมีความรุนแรงในวันที่ 19 ก.ย.นี้ ถ้าจะเกิดขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล เหตุนี้จะไม่ได้มาจากผู้ชุมนุม แต่จะเกิดจากอำนาจรัฐ คือรัฐบาลต้องรับผิดชอบเท่านั้น” นายพิภพ กล่าว
@ระวังโรคแทรกซ้อน-สร้างข่าวปลอมในกลุ่มผู้ชุมนุม
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การตัดสินใจลงท้องถนน แปลความได้ว่าเป็นการตัดสินใจต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่การต่อสู้ทางการทหาร เพราะเราลงถนน เราตกเป็นเป้าได้ตลอดเวลา ส่วนประวัติศาสตร์ความเป็นรัฐ ถ้าไม่ถึงจุดแตกหักจะไม่มีความตายหรือเรื่องราวเกิดขึ้น จนกว่าจะถึงจุดที่ทนกันไม่ได้ และจะเริ่มเกิดปฏิบัติการทางทหาร เริ่มทำลายจุดแข็งของการชุมนุมคือสิ่งที่เรียกว่าสันติวิธี เพื่อทำลายความชอบธรรมจนทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงตามมา
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังขณะที่จัดการชุมนุมคือโรคแทรกซ้อน เพราะต่อให้เราออกแบบการบริหารจัดการดีอย่างไร ก็ยังสู้กลไกรัฐไม่ได้ ขอพูดไว้เลยว่า การชุมนุมไม่ว่าสีเสื้อใด จะมีเจ้าหน้าที่ใส่เสื้อสีนั้นด้วยเสมอ เหล่านี้เป็นสิ่งที่แกนนำต้องระวังและสื่อสารกับผู้ชุมนุมให้มาก เช่น การชุมนุมมักมีข่าวแปลก ๆ เกิดขึ้นในกลุ่มมวลชนเราเอง ยกตัวอย่างเมื่อเริ่มเคลื่อนขบวนก็จะคนประเภทปล่อยข่าวว่าแนวหน้าถูกยิง หรือพวกประเภทที่วิ่งไปตีรังแตนให้แตก และตัวเองวิ่งหนี สุดท้ายคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็ได้รับผลกระทบกันหมด เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่แกนนำต้องระวังและสื่อสารกับมวลชนให้มากที่สุด
“การจัดการแต่ละยุคสมัยจะเห็นว่า การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร เวลาเฝ้าผู้ชุมนุมจะใช้เจ้าหน้าที่ชุดหนึ่ง แต่เมื่อเวลาเข้าปราบปรามเขาจะเปลี่ยนอีกชุดเข้ามา เพราะชุดที่เฝ้าการชุมนุมเขาทำร้ายประชาชนไม่ลง นั่งฟังปราศรัยทุกวันจนกระทั่งเห็นด้วย อยู่กับผู้ชุมนุมจนคุ้นเคย แต่เมื่อเวลาเขาต้องการปราบปรามหรือฆ่ากัน เขาจะเปลี่ยนชุดใหม่ที่มีการอบรมกันมาตลอดว่า ผู้ชุมนุมมีพฤติการณ์ไม่ดี คนพวกนี้เมื่อลงสนามแล้วก็จะยิงเรากันอย่างบ้าคลั่ง” นายจตุพร กล่าว
วันนี้ถ้ารัฐเห็นว่าการชุมนุมของประชาชนเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ก็จะพบว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสารธารณะฯ ควรที่จะเล็กกว่ารัฐธรรมนูญ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนจะทำให้ความตายไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามส่วนตัวไม่เชื่อว่าถ้ามีคนตายแล้วรัฐจะอยู่ไม่ได้ ความตายไม่สามารถหยุดอำนาจรับได้ แต่อาจจะทำให้อำนาจอื่นเปิดประตูเข้ามาใหม่แทน
@เตรียมพื้นที่พูดคุยระหว่างแกนนำ-เจ้าหน้าที่
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องรู้คือ การชุมนุมทุกครั้งมีเงื่อนไขของมัน มีเงื่อนไขให้ทุกคนออกจากบ้านมาชุมนุม ออกมาทนลำบากบนถนน และไม่มีใครอยากมาเสี่ยงตายด้วยเงิน 100-500 บาทแน่นอน การชุมนุมของ กปปส. มีเงื่อนไขที่ถูกสะสมมาเกือบ 10 ปี และจบลงด้วยกฎหมายนิรโทษกรรม ที่จะมีการนิรโทษคนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจากคดีทุจริตและคดีอาญา หากเงื่อนไขเหล่านี้ไม่เกิด ก็เชื่อว่า กปปส.ก็จะไม่เกิดขึ้นเช่นกัน
หลายคนมักค่อนขอดว่า กปปส. เป็นม็อบมีเส้น แต่เอาเข้าจริงมีคนเสียชีวิตไป 25 คน บาดเจ็บอีกนับพันคน มีแกนนำกับผู้ชุมนุมรวม 51 คน มีคดีในศาล และคาดว่าจะถูกตัดสินคดีในปีหน้า
การชุมนุช่วง 10 ปีทีผ่านมา มีพื้นที่โซเชียลที่จะสร้างความเห็นต่าง ๆ มากมาย มีสื่อประเภทเลือกข้างที่จะผลิตข้อมูลหรือวาทกรรมแห่งความขัดแย้ง สร้างความเกลียดชังหรือด้อยค่าอีกฝ่าย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดความรุนแรงได้ทั้งนั้น กระบวนการเหล่านี้มีการผลิตความรู้สึกที่ให้ร้ายอีกฝ่าย ที่ผมพยายามอธิบายเรื่องนี้ เพราะผมสังเกตดูการชุมนุมครั้งนี้ว่า ตั้งแต่มีการจุดประเด็นขึ้นมา มีการแสดงเห็นแยกเป็นฝักฝ่าย และนับวันจะสุดโต่งมากขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าเป็นห่วง ผมกังวลว่าเราจะมีพื้นที่ตรงกลางเหลือให้พูดคุยกลับมาพูดคุยกันได้อีกหรือไม่
“ในความเชื่อของผม ไม่มีการชุมนุมครั้งไหนที่ฝ่ายของรัฐจะไม่มีการพูดคุยกับแกนนำผู้ชุมนุมบางคน สิ่งที่ผมจะบอกก็คือ ไม่ว่าการชุมนุม 19 ก.ย.นี้จะเดินทางไปไหน ต้องมีพื้นที่ไว้สำหรับพูดคุย แลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ ผมคิดว่าขอเรียกร้องฝ่ายรัฐและผู้ชุมนุมต้องมีพื้นที่พูดคุยกันด้วย เพื่อกำหนดพื้นที่ปลอดภัยในการชุมนุม หรือหารือในจุดที่เป็นข้อกังวลของทั้งสองฝ่าย” นายสาทิตย์ กล่าว
@กฎหมายปัจจุบันทำผู้ชุมนุมถูกตั้งข้อหาได้ง่าย
น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา อดีตแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวว่า การชุมนุมในยุคที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการออกกฎหมายและคำสั่งเป็นร้อยฉบับ มี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน ทำให้การชุมนุมยุคนี้ลำบาก ถูกตั้งข้อหาได้อย่างง่ายดาย และพบว่า ผู้ชุมนุมเริ่มถูกดำเนินคดี แทนที่จะเป็นแกนนำ ซึ่งถือเป็นความรุนแรงรูปแบบใหม่ที่ไม่มีใครเอาปืนมาจ่อหัว แต่ใช้กฎหมายปกติมาจัดการ
เราเริ่มพบการตั้งข้อหาเพื่อใช้ปิดปากให้คนไม่กล้าเข้ามามีส่วนร่วมกับการชุมนุม จะเห็นว่าเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในปัจจุบันก็เริ่มปรากฎเหตุการณ์ให้เห็น ดังนั้น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯต้องถูกแก้ไข เพื่อไม่ให้รัฐใช้เป็นเครื่องมือได้อีก
อย่างไรก็ตามการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ไม่ได้มีแรงปะทะมากนัก และไม่ได้มีเงื่อนไขจนทำให้ประชาชนรู้สึกว่าจะต้องแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่าย แต่ศัตรูที่ชัดเจนของเราคือคณะรัฐประหาร ที่ไม่ยอมคืนอำนาจสักที และจึงได้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง
“หนึ่งสิ่งที่อยากฝากไว้ให้การชุมนุม 19 ก.ย. คือ อย่าปฏิเสธกลไกรัฐสภา อย่าปฏิเสธรับฟังบริบทรอบด้าน ณ วันแรกที่เริ่มชุมนุมบริบททางการเมืองอาจจะเป็นแบบหนึ่ง แต่ผ่านไปบริบทก็อาจจะเปลี่ยน หากภาคการเมืองเขาตอบรับวาระหรือประเด็นของผู้ชุมนุม แกนนำต้องคิดแล้วว่าจะมียุทธศาสตร์อย่างไร ต้องปรับหรือไม่ ซึ่งประเด็นการชุมนุมครั้งนี้คคือการแก้ไข รธน. ดังนั้น รธน.ฉบับใหม่จะถูกกติกาเป็นฉันทามติหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่าจะตัดสินใจเปิดทางหรือสกัดกั้นสิ่งเหล่านี้” น.ส.ณัฏฐา กล่าว
อ่านประกอบ :
6 อดีตแกนนำม็อบเสวนาลดเหตุรุนแรง'สมชาย'จี้ มธ.เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้จัดชุมนุม 19 ก.ย.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/