6 อดีตแกนนำม็อบ ร่วมถอดบทเรียนประสบการณ์การชุมนุม ก่อนเยาวชนจัดชุดนุม 19 ก.ย. 'สมชาย หอมละออ' จี้ผู้บริหาร มธ.เปิดพื้นที่ปลอดภัยจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัย - 'จตุพร' ชี้รัฐเลิกสนใครอยู่เบื้องหลัง แนะเจรจาแก้ปัญหาเบื้องหน้าก่อน - 'พิภพ' ฟันธงไม่มีสูญเสีย ถ้าภาครัฐดูแลความปลอดภัยประชาชน - 'ชูวัส' เชื่อคนรุ่นใหม่เรียนรู้จากอดีต รู้วิธีเคลื่อนไหวการเมืองไร้เหตุรุนแรง - 'สาทิตย์' หวังสภาถกแก้ รธน.สัปดาห์หน้ามีทางออกให้ประเทศ - 'โบว์ ณัฐฏา' จับตาดู ส.ว.จะปิดกั้นหรือเปิดทางตามข้อเรียกข้องของมวลชน
---------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ย. คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 พร้อมด้วยองค์กรที่เกี่ยวข้อง จัดเสวนาถอดบทเรียนจากประสบการณ์การชุมนุมทางการเมืองและข้อเสนอต่อสังคม โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนาเป็นอดีตแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมในหลายเหตุการณ์
นายสมชาย หอมลออ คนเดือนตุลาและอดีตผู้ต้องหาคดี 6 ต.ค. 2519 กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ รุ่นปี 2512 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับนายแก้วสรร อติโพธิ และในฐานะศิษย์เก่าดีเด่นรุ่นดังกล่าว ขอแสดงจุดยืนคัดค้านคำสั่งคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ห้ามไม่ให้นักศึกษาใช้พื้นที่จัดการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. โดยส่วนตัวเห็นว่า การชุมนุมของเยาวชนควรมีพื้นที่ปลอดภัย และประเด็นสำคัญที่อยากเน้นย้ำคือ นักศึกษาควรมีสิทธิเสรีภาพทุกประการในการชุมนุมแสดงความคิดเห็น ดังนั้นถ้าผู้บริหารไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน สังคมไทยจะเป็นอย่างไร เพราะจะทำให้เราถือไม้บรรทัดคนละอัน และอาจเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้งจนไม่สามารถหาข้อยุติ และนำไปสู่ความรุนแรงต่อไปได้
นายสมชาย กล่าวยด้วยว่า ส่วนตัวขอสนับสนุนแนวคิดที่มีการเรียกร้องให้ปิดสวิตซ์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพราะถ้าไม่ปิด สังคมจะเคลื่อนไปข้างหน้าได้ยากมาก และเป็นเรื่องที่น่าเสียที่ ส.ส.กลุ่มหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวไม่เข้าร่วมญัตติดังกล่าว และถือว่ายังมีโอกาสในการตัดสินใจใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เงื่อนไขที่สำคัญมากของการชุมนุมคือ ยุบสภา และ ร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) จะมีส่วนในการแก้ปัญหาที่จะไม่มีความรุนแรง แต่จะยุบก่อนหรือร่าง รธน.ฉบับใหม่ให้เสร็จก่อน ยังเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ เพราะการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อร่าง รธน.อาจจะไม่ทันต่อสถานกาณณืก็ได้
นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ในฐานะอดีตกรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2534-2535 และอดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ไม่เหมือนคนในอดีต การติดตามข้อมูลข่าวสารจากแฮชแท็กในทวิตเตอร์อันเดียว อาจทำให้เขาได้เรียนรู้เหมือนค้นคว้าตำรามาหลายเล่ม ส่วนตัวเชื่อว่าการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน เขารู้ดีว่าจะต้องบริหารจัดการอย่างไรที่ไม่ให้เกิดความรุนแรง ขณะเดียวกันรัฐบาลชุดนี้เติบโตมาจากการจัดการชุมนุมและรัฐประหาร เขาก็รู้เช่นกันว่า การชุมนุมจะล้มรัฐบาลได้อย่างไร ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทำหน้าที่ปกป้องประชาชนผู้ชุมนุม และสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เคยพูดว่า ถ้าเกิดความวุ่นวายขึ้นใครจะรับผิดชอบ ตนเห็นว่า ก็ต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องรับผิดชอบ ฉะนั้นความรุนแรงจะไม่มีทางเกิดขึ้นจากผู้ชุมนุม และเชื่อว่าทุกคนเติบโตมาเพื่อต่อต้านความรุนแรงด้วย
ส่วนนายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า จากประสบการณ์การชุมนุมจะพบว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในที่ชุมนุมทุกครั้ง ล้วนมีที่มาจากอำนาจรัฐ ตนขอสรุปให้เลยว่า ถ้าอำนาจรัฐไม่คิดจะใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ความรุนแรงก็จะไม่เกิดขึ้น และสิ่งที่อำนาจรัฐควรจะต้องทำในรอบนี้คือ ถ้าผู้ชุมนุมอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือสนามหลวง หรือแม้แต่จะเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล ภาครัฐรู้ระยะยิงของเครื่องกระสุนทุกประเภทอยู่แล้ว เขาสามารถกำหนดรัศมีปลอดภัยได้อยู่แล้วว่ามีระยะกี่ร้อยเมตร ถ้าท่านวางผังไว้ทั้งหมดก็สามารถกำกับดูแลไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมได้
นายพิภพ กล่าวด้วยว่า ในการชุมนุมครั้งนี้ตนคิดว่ารัฐบาลมีทางออก แต่ว่ารัฐบาลชะล่าใจ ไปเชื่อว่าผู้ชุมนุมไม่มีพลัง สิ่งที่เป็นปัญหาลึกๆ คือ รัฐธรรมนูญปี 2560 และบทเฉพาะกาลเรื่อง ส.ว. หลังจากนี้ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยอมตั้ง สสร. ส่วนตัวคิดว่าการชุมนุมต้องทำให้ชัดว่า กระบวนการตั้ง สสร.ควรจะเป็นแบบไหน เนื้อหาสาระใน รธน.ฉบับใหม่เป็นอย่างไร และควรจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรบ้าง เป็นสิ่งที่หวังว่าจะได้ฟังบนเวทีของผู้ชุมนุม 19 ก.ย.นี้
ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การตัดสินใจลงท้องถนนของประชาชน แปลความได้ว่าเป็นการตัดสินใจต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่ต่อสู้ทางการทหาร เพราะทุกคนตัดสินใจอยู่ในที่โล่งแจ้ง แสดงจุดยืนในที่สิ่งที่ตนเองเรียกร้อง ในประวัติศาสตร์ความเป็นรัฐ จะไม่มีทางดำเนินการถึงขั้นแตกหัก จนกว่าจะถึงจุดที่ทนกันไม่ได้ และจะเป็นเหมือนกันทุกครั้งว่า ปฏิบัติการทหารจะเริ่มต้นและเริ่มทำลายจุดแรกคือกระบวนการสันติวิธี ซึ่งจะทำให้เกิดความรุนแรงตามมา
นายจตุพร กล่าวด้วยว่า ตนเคยพูดอยู่เสมอว่า การแก้ปัญหาการชุมนุมของภาครัฐในทุกยุคทุกสมัย คือการแก้ไขเบื้องหน้า ไม่ต้องไปสนใจว่าเบื้องหลังคือใคร เพราะถ้าคุณแก้ไขปัญหาที่อยู่เบื้องหน้าได้สำเร็จ ใครอยู่เบื้องหลังก็ไม่มีความหมาย ดังนั้นอย่าไปสนใจท่อน้ำเลี้ยง เพราะทุกการชุมนุมมีคนบริจาคอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลยังเชื่อและสนใจว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ขอให้สนใจประเด็นที่อยู่เบื้องหน้าการชุมนุม
ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กล่าวในฐานะอดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ว่า หนึ่งในสิ่งที่น่ากังวลคือการกำหนดทิศทางการชุมนุมของแกนนำ ต้องคิดวิธีการขับเคลื่อนอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้งจนขยายผลเป็นความรุนแรง และที่เราเจอมาคือการสร้างข่าวในกลุ่มผู้ชุมนุมกันเอง ซึ่งหลายครั้งแกนนำต้องระวังและสื่อสารถึงกับผู้ชุมนุมตลอดเวลา บางครั้งการชุมนุมมีหลากหลายกลุ่ม และไม่ได้มีแนวคิดตรงกันทั้งหมดก็เป็นปัญหา อย่างไรก็ตามการชุมนุม หากเอาอารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผลก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งได้เช่นกัน
นายสาทิตย์ กล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่การชุมนุมของคนหนุ่สาวหลายครั้งที่ผ่านมา รัฐสภาก็มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก และอยากให้ทุกฝ่ายติดตามดูการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้าที่จะมีการพิจารณาญัตติแก้ไข รธน. ซึ่งเราคาดหวังว่าจะออกมาในทิศทางที่ดี
ปิดท้ายที่ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา อดีตแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวย้ำว่า ในการชุมนุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีบริบทของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดการชุมนุมที่ยากลำบาก บางครั้งชุมนุมอย่างเงียบสงบ ก็ถูกตั้งข้อหาขัดคำสั่ง คสช. นอกจากนั้นปัจจุบันยังมีการขยายผลดำเนินคดีถึงผู้ชุมนุม แทนที่จะเป็นการดำเนินคดีกับเฉพาะแกนนำเหมือนในอดีต ส่วนประเด็นการเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม ยังยืนยันว่า ส.ว.มีที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และจะมีส่วนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ โดยเปลี่ยนไปสู่ รธน.ฉบับใหม่ ซึ่งกฎกติกาที่เกิดจากฉันทามติของทุกฝ่ายจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ส.ว.ด้วยว่าจะเปิดทางหรือสกัดกั้นหลังจากนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/