"...ดังนั้นความเป็นไปได้ที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกน่าจะใช้เวลารอสักประมาณ 6-12 เดือน หลังจากที่ประชากรในประเทศมีภูมิคุ้มกันหมู่ ก่อนที่ประเทศนั้นๆจะเริ่มเปิดประเทศให้กับนักท่องเที่ยว และผู้ที่ไม่ใช่ผู้อยู่อาศัยเดินทางเข้าออกประเทศได้อีกครั้ง ซึ่งการรอดังกล่าวก็เพื่อสร้างความมั่นใจว่าภูมิคุ้มกันหมู่นั้นได้ผลจริง และจะไม่มีการระบาดพุ่งสูงในประเทศเกิดขึ้นมาอีกหลังจากที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้ว ........ซึ่งนี่หมายความว่าการเดินทางข้ามพรมแดนจะถูกระงับไว้จะกว่าจะถึงปี 2566 โดยนี่ถือเป็นการประเมินในแง่บวกที่สุดแล้ว..."
---------------------------
จากกรณีปรากฏเป็นข่าวทั่วโลกเกี่ยวกับการปรับตัวของสายการบินนานาชาติจำนวนหลายแห่ง ที่จำเป็นต้องลดเที่ยวบิน ลดจำนวนพนักงานลงเป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส ซึ่ง ณ เวลานี้มีการประเมินเบื้องต้นแล้วว่าจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 4 ปี หรือก็คือประมาณปี 2567 ที่สายการบินต่างๆจึงจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมก่อนที่จะมีการระบาดเกิดขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สำรวจข้อมูลในรายงานสื่อต่างประเทศ พบว่าเว็บไซต์ Leeham News ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวข้องกับข่าวสารในแวดวงการบินได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าทำไมสายการบินจึงต้องใช้เวลาที่จะฟื้นตัวถึง 4 ปี มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
@ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างและยังไม่รู้ว่าการระบาดจะสิ้นสุดเมื่อไร หมายความว่าทิศทางธุรกิจจะอยู่ในสภาวะขาลงเป็นระยะเวลายาวนาน
จากสถานการณ์ระบาดของไวรัส ทำให้ภาคการลงทุนนั้นต้องลดหรือแม้แต่ยุติกิจกรรมลงในหลายพื้นที่ทั่วโลก
โดยนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน เม.ย. ที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องยกเลิกแผนการประมาณการรายได้ตลอดทั้งปี นับตั้งแต่ธุรกิจใหญ่ๆไปจนถึงธุรกิจขนาดเล็ก เนื่องจากความไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต
ซึ่งเหตุการณ์ขาลงของธุรกิจเป็นวงกว้างแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆที่ผ่านมาเลย และขณะนี้ก็ยังไม่รู้ด้วยว่าสถานการณ์โรคระบาดนั้นจะยุติเมื่อไร โดยเมื่อสถานการณ์โรคระบาดนั้นยุติ ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่ประเทศกำลังพัฒนานั้นจะกลับมามีอัตราจ้างงานเต็มกำลังเพื่อให้สภาวะเศรษฐกิจกลับมาเป็นเหมือนกับตอนก่อนหน้าการระบาด
@แม้ว่าจะมีการเร่งพัฒนาวัคซีน แต่การแจกจ่ายวัคซีนอาจจะต้องใช้เวลานานกว่านั้น
ณ เวลานี้ มีการทดสอบหาผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว และมีการพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคไปอย่างก้าวหน้า เพื่อที่จะลดความจำเป็นในการเว้นระยะห่างทางสังคม และลดความจำเป็นในการที่แต่ละพื้นที่ทั่วโลกจะต้องบังคับมาตรการปิดเมือง
อย่างไรก็ตาม สายการบินนานาชาติจะยังคงต้องประสบกับปัญหาเนื่องมจาก 1.นโยบายการจำกัดการข้ามพรมแดนที่บังคับใช้ในแต่ละประเทศ 2.ความกังวลของผู้โดยสารเกี่ยวกับการติดเชื้อ 3. ความรู้สึกไม่สบายกายในการต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการติดเชื้อ (การส่วมใส่หน้ากาก,การไปถึงสนามบินก่อนเวลาขึ้นบินเพื่อการตรวจเชื้อ) และ 4.ความไม่สะดวกในการต้องปฏิบัติตามมาตรการกักตัวเป็นระยะเวลาหลายวันเมื่อไปถึงประเทศปลายทางแล้ว
ซึ่งการจะยกเลิกมาตรการที่ว่ามานั้นหมายความว่าจะต้องมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดคุ้ม หมายความว่าผู้คนจำนวนมากจะต้องเคยสัมผัสกับไวรัสมาแล้วครั้งหนึ่ง หรือไม่ก็ได้รับวัคซีนมาแล้ว
โดยวัคซีนที่มีความรวดเร็วในกระบวนการทดลองมากที่สุด ณ เวลานี้ก็คือวัคซีนที่ถูกพัฒนาโดยสถาบันเจนเนอร์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการอนุมัติในช่วงเดือน ต.ค.
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยทั้งจากสถาบัน และจากบริษัทแอสตร้า เซนเนก้า ซึ่งเป็นคู่ค้าของมหาวิทยาลัยได้ออกมาเตือนว่าการอนุมัติอย่างรวดเร็วนั้นหมายความว่าจะมีข้อมูลจากการดำเนินการทดลองการรักษาที่ค่อนข้างจะจำกัดมาก และคาดว่าจะมีการอนุมัติให้กับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพเท่านั้นที่จะเป็นผู้ใช้วัคซีนก่อน
โดยถ้าหากมีการทดลองเป็นจำนวนหลายครั้ง พบว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพจริง ก็คาดว่าน่าจะมีการอนุมัติอย่างเต็มรูปแบบในช่วงต้นเดือน 2564
ซึ่งวิทยาลัยสาธารณสุข จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ได้ประเมินเอาไว้ว่าถ้าหากจะให้มีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นได้จริงนั้น หมายความว่าประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลกทั้งหมด หรือประชากรจำนวน 5.6 พันล้านคน จะต้องเคยติดเชื้อโควิด 19 หรือเคยได้รับวัคซีน เพื่อที่จะมีภูมิคุ้มกันหมู่สำหรับประชากรทั้งโลก
อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ยังไม่มีบริษัทใด ซึ่งร่วมในการแข่งขันพัฒนาวัคซีนจะมีขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนได้เป็นจำนวนถึง 2 พันล้านโดสต่อไป
โดยแม้ว่า ณ เวลานี้ จะมีบางบริษัทที่เตรียมตัวจะเปิดสายการผลิตก่อนที่จะได้รับการอนุมัติวัคซีนแล้วก็ตาม แต่ก็มีการประมาณการว่านับตั้งแต่การเตรียมการผลิตก่อนได้รับการอนุมัติ การผลิตสำหรับใช้ทั่วโลก และการแจกจ่ายจะต้องใช้เวลาประมาณ 18-24 เดือน ซึ่งขั้นตอนนี้รวมไปถึงการที่วัคซีนจะได้รับอนุมัติในแต่ละประเทศทั่วโลกซึ่งมีระเบียบการแตกต่างกันออกไปแล้ว
สรุปก็คือการมีภูมิคุ้มกันหมู่ทั่วโลกนั้นจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2565 โดยเร็วที่สุด แม้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกาจะสามารถมีวัคซีนพร้อมใช้งานได้เร็วกว่านั้นก็ตาม
@ภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีก่อนที่จะมีการเปิดพรมแดน และจำเป็นที่จะต้องมีเพื่อสร้างความมั่นใจในการสัญจรทางอากาศ
จากการเร่งพัฒนาวัคซีนในเวลานี้ ทำให้เรายังไม่มีโอกาสจะรู้แน่ชัดว่าวัคซีนใดจะมีประสิทธิภาพจนกว่าจะมีการแจกจ่ายให้ใช้เป็นวงกว้างในชั่วระยะเวลาหนึ่ง และยิ่งไปกว่านั้นยังไม่ปรากฏความชัดเจนด้วยว่า วัคซีนจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ตลอดไปหรือไม่ หรือจะต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เพื่อกระตุ้นตามมา
และยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนด้วยว่า ไวรัสจะกลายพันธุ์ไปเป็นสายพันธุ์ใหม่และส่งผลทำให้วัคซีนที่ฉีดในครั้งแรกไม่ได้ผลหรือไม่
ต้องคำนึงด้วยว่า แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีวัคซีนแล้ว รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกจะไม่มีทางที่จะย้อนกลับไปใช้มาตรการปิดเมืองอีกครั้งอย่างแน่นอน
ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกน่าจะใช้เวลารอสักประมาณ 6-12 เดือน หลังจากที่ประชากรในประเทศมีภูมิคุ้มกันหมู่ ก่อนที่ประเทศนั้นๆ จะเริ่มเปิดประเทศให้กับนักท่องเที่ยว และผู้ที่ไม่ใช่ผู้อยู่อาศัยเดินทางเข้าออกประเทศได้อีกครั้ง ซึ่งการรอดังกล่าวก็เพื่อสร้างความมั่นใจว่าภูมิคุ้มกันหมู่นั้นได้ผลจริง และจะไม่มีการระบาดพุ่งสูงในประเทศเกิดขึ้นมาอีกหลังจากที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้ว
หรือหมายความว่าการเดินทางข้ามพรมแดนจะถูกระงับไว้จะกว่าจะถึงปี 2566 โดยนี่ถือเป็นการประเมินในแง่บวกที่สุดแล้ว
ซึ่งสายการบินที่ต้องพึ่งพาเที่ยวบินต่างประเทศเป็นหลัก อาทิ สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ หรือสายการบินเอมิเรตส์ จะเป็นสายการบินท้ายๆที่จะสามารถกลับมาเปิดกิจการเต็มรูปแบบได้อีกครั้ง
@การเปิดพรมแดน การเปิดภาคเศรษฐกิจเป็นหัวใจสำคัญในฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว
การนำธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยเครื่องบินให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้นมาก่อน และจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยให้ชัดเจน ซึ่งนี่ถือเป็นภารกิจที่สำคัญสำหรับสายการบิน ถ้าสายการบินสามารถกำหนดมาตรการเหล่านี้และดึงลูกค้ากลับมาได้มากเท่าไรก็หมายความว่าสายการบินจะกลับมามีกำไรมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากย้อนไปยังเหตุการณ์ 9-11 หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว สายการบินไม่เคยกลับไปเป็นเหมือนเดิมก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ได้อีกเลย แต่ผู้ที่โดยสารสายการบินหลังจากนั้นก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเองให้เข้ากับมาตรการและระเบียบการใหม่ๆของสายการบินเพื่อที่จะรองรับในด้านของความปลอดภัย
ดังนั้นจากเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 ก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องมีการกำหนดมาตรการใหม่ๆและกานำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆมาปรับใช้สำหรับสายการบินเพื่อที่จะทำให้สามารถปฏิบัติการณ์ได้ในช่วงเวลาที่การทำธุรกิจสายการบินนั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่ง
@นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องมีรายได้พอสมควรก่อนที่จะกลับไปใช้บริการอีกครั้ง
ความสำคัญของการท่องเที่ยวนั้นหมายความว่าผู้บริโภคจำเป็นที่จะต้องมีรายได้เพียงพอและมีอนาคตที่แน่นอนเสียก่อนจึงจะสามารถนำเงินไปใช้จ่ายในส่วนของการท่องเที่ยวได้ ดังนั้นในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ก็หมายความว่านักท่องเที่ยวจะขาดกำลังที่จะนำมาใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงซบเซา เพราะมีลูกค้าที่น้อย ก็หมายความว่าราคาโรงแรมนั้นอาจจะสูงขึ้นตามไปด้วย และเมื่อราคาสูงขึ้นแล้ว ก็จะกลับไปลดความต้องการของผู้ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวนั่นเอง
นอกจากนี้การที่สายการบินได้ประกาศให้มีการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมบนเครื่องบินนั้น ก็อาจจะส่งผลทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินสูงขึ้นไปอีก ทำให้มีสายการบินที่ให้บริการแบบโลว์คอสต์น้อยลงตามมา และก็จะส่งผลทำให้ความต้องการใช้บริการสายการบินลดลงด้วยนั่นเอง
นั้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า จะต้องรอให้เวลาผ่านไปอีกสักพัก จนกว่าจะมีกำลังในด้านการใช้จ่ายเหมือนเดิม แล้วเมื่อนั้นสายการบินจึงจะปรับรูปแบบการให้บริการ รูปแบบที่นั่ง และรูปแบบสายการบินโลว์คอสต์ ในลักษณะก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัสโควิด 19
เรียบเรียงเนื้อหาและรูปภาพบางส่วนจาก:https://leehamnews.com/2020/07/13/an-economic-crisis-on-top-of-a-medical-one-why-airline-traffic-wont-fully-recover-until-the-mid-late-2020s/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage