รฟม.เผยเปิดขายซองวันแรกโครงการรถไฟฟ้า ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วันแรก มีเอกชน 4 ราย ‘บีอีเอ็ม-บีทีเอสซี-บีทีเอส-ซิโนไทย’ ตบเท้าเข้าซื้อซอง ขณะที่ ‘ศักดิ์สยาม’ หารือ ‘เอกอัครราชทูตวิสามัญฯญี่ปุ่น’ หารือสานต่อรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่
รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค. รฟม.ได้เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นวันแรก โดยมีเอกชนให้ความสนใจติดต่อขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ ในวันนี้ จำนวนทั้งสิ้น 4 ราย ดังนี้
1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
2.บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC
3.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS
4.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC
ทั้งนี้ รฟม.เปิดให้ผู้ที่สนใจซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตั้งแต่วันที่ 10-24 ก.ค.63 เวลา 9.00 น. ถึง 15.00 น. ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 1 อาคาร 1 รฟม.
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นโครงการร่วมทุนแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะรับภาระลงทุน 110,673 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์เป็นเงิน 14,666 ล้านบาท และสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธา ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร ไม่เกิน 96,012 ล้านบาท ซึ่งเอกชนต้องจ่ายเงินลงทุนค่างานโยธาไปก่อน และภาครัฐทยอยจ่ายเงินคืนเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
ขณะที่เอกชนจะต้องรับภาระในการจัดหาเงินลงทุน 32,116 ล้านบาท สำหรับลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า และจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเป็นเงิน 31,000 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาฯ 1,116 ล้านบาท
นอกจากนี้ เอกชนมีหน้าที่รับผิดชอบให้บริการการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษา รถไฟฟ้าสายสีส้มตั้งแต่ช่วงขุนนนท์-มีนบุรี ซึ่งมีระยะเวลาในการเดินรถ 30 ปี นับตั้งแต่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี เปิดให้บริการในปี 2566 โดยภาครัฐจะให้เอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร และรับความเสี่ยงด้านรายได้ค่าโดยสาร รายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ รวมทั้งต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินงานทั้งหมดด้วย
วันเดียวกัน H.E. Mr. NASHIDA Kazuya เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และคณะ เข้าพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นความร่วมมือระหว่างกันในโครงการต่างๆ เช่น โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน (Road Safety) และการยกระดับความร่วมมือด้านขนส่งและโลจิสติกส์
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า หลังจาก รฟม. ปิดการขายเอกสารประมูลในวันที่ 24 ก.ค.63 มีเอกชนขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ จำนวนทั้งสิ้น 10 ราย ดังนี้
1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
4. บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
9. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด
10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ 1.42 แสนล.
ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/