"... ณ เวลานี้ ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการพัฒนาวัคซีนสำหรับโคโรน่าไวรัส อาเซียนก็จะถูกแรงกดดันจากมหาอำนาจต่างๆทั้งจีน สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆให้เลือกข้างในเกมการแข่งขันเรื่องวัคซีนนี้ แต่รัฐบาลในประเทศอาเซียนก็ยังคงมีทางเลือกด้วยการกระจายความเสี่ยงในการเลือกวัคซีนที่มีความหลากหลายจากประเทศต่างๆ หลายประเทศ แทนที่จะผูกขาดอยู่กับแค่ประเทศเดียว ในช่วงเวลาที่วัคซีนสำหรับไวรัสโควิด 19 ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของรัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนรวมไปถึงรัฐบาลไทยว่าจะเล่นเกมการทูตวัคซีนกันอย่างไร ..."
..................................................
ประเด็นติดตามความคืบหน้าการผลิตและวิจัยวัคซีนที่ใช้สำหรับการรักษาโรคโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส ที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกในขณะนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลมาเสนอไปก่อนหน้านี้ ว่า “วัคซีนชาตินิยม (Vaccines Nationalism)” ที่ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำการครอบครองวัคซีน ประเทศที่มีฐานะร่ำรวย จะมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนมากกว่าประเทศที่มีฐานะยากจน เป็นเรื่องที่หน่วยงานนานาชาติหลายหน่วยออกมาแสดงความกังวลว่าจะมีการใช้ “วัคซีนชาตินิยม" เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้หลายประเทศนั้นขาดโอกาสเข้าถึงวัคซีนได้
(อ่านประกอบ : จับกระแส 'วัคซีนชาตินิยม' กับผลกระทบไวรัสโควิด ปท.ฐานะปานกลาง-ยากจน เข้าถึงลำบาก)
ล่าสุด มีประเด็นใหม่เกี่ยวกับการแข่งขันแผ่อิทธิพลการเป็นผู้นำโลกด้านระบบสาธารณสุข ผ่านวัคซีนโควิด ระหว่างจีน สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อสำนักข่าว The Diplomat ของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่บทความฉบับหนึ่งใช้ชื่อว่า "ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับโอกาสด้านวัคซีนที่กำลังจะมาถึง" มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศจีนและสหรัฐฯ แต่จุดนี้ ก็ถือได้ว่า เป็นประโยชน์ต่ออาเซียนเช่นกัน
ณ เวลานี้ ที่โลกกำลังพยายามหาวัคซีนที่ได้ผลสำหรับไวรัสโควิด- 19 อาเซียนได้กลายมาเป็นจุดสนใจในการที่มหาอำนาจนอกภูมิภาคจะได้ใช้ประโยชน์เพื่อที่จะขจัดอิทธิพลและความพยายามของประเทศจีนที่เคยกล่าวอ้างเอาไว้ว่าต้องการที่จะเป็นผู้นำโลกในด้านระบบสาธารณสุข
ในขณะที่เกมการทูตวัคซีนกำลังจะเริ่มเปิดฉากในภูมิภาคอาเซียนเพื่อที่จะขยายอิทธิพลผ่านนโยบายหน้ากากที่ได้เคยดำเนินไปแล้ว โดยรัฐบาลกรุงปักกิ่ง
ล่าสุด มีรายงานว่า ทั้งรัฐบาลและบริษัทยาชั้นนำของประเทศจีน ต่างให้คำยืนยันกับภูมิภาคอาเซียนว่า ถ้าหากประเทศจีนสามารถพัฒนาวัคซีนจนเสร็จสิ้นแล้ว อาเซียนจะสามารถเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวได้
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 ส.ค. นายหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีประเทศจีน ได้ให้คำมั่นสัญญากับประเทศที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง อันได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า และไทยว่าจะสามารถเข้าถึงวัคซีนที่ถูกผลิตโดยบริษัทยาหลายแห่งของประเทศจีนได้ ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่นายหลี่เค่อเฉียงได้ประกาศว่า บริษัทซีโน่แว็คจองประเทศจีนได้มีการประกาศความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจพีทีไบโอฟาร์มาของประเทศอินโดนีเซียในการพัฒนาวัคซีนที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองในประเทศอินโดนีเซีย
ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ ได้รับข้อเสนอว่า จะได้เป็นประเทศแรกๆ ที่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงวัคซีนของจีน ขณะที่ มาเลเซียก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาข้อตกลงวัคซีนกับจีนซึ่งมีรายละเอียดที่คล้ายกับประเทศอื่นๆเช่นกัน
นายหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีประเทศจีน (อ้างอิงรูปภาพจาก https://news.cgtn.com/news/2020-08-24/Chinese-premier-attends-Lancang-Mekong-Cooperation-leaders-meeting-Td46ncDL9K/index.html)
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคำยืนยันจากนายหวางยี รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนที่ระบุว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิด 19 ที่ผลิตโดยประเทศจีนจะเป็นเวชภัณฑ์ที่สามารถเข้าถึงได้ทั่วโลก แต่ก็มีเหตุผลหลายประการที่รัฐบาลในประเทศอาเซียนจะต้องดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศอันเกี่ยวกับวัคซีนด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
มีรายงานความเป็นไปได้ว่า กรุงปักกิ่งอาจจะใช้คำมั่นสัญญาเรื่องการเข้าถึงวัคซีนแลกเปลี่ยนกับการเข้าถึงสัญญาสัมปทานที่สำคัญต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับเขื่อนที่ตั้งอยู่ในประเทศจีนและเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง อันจะส่งผลต่อการอ้างสิทธิเหนือดินทางทั้งทางทะเล และทางบกในภูมิภาคทะเลจีนใต้กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน
แต่ถ้าหากภูมิภาคอาเซียนมีความระมัดวังและมีความฉับไวต่อข้อเสนอของประเทศจีน ก็จะสามารถตอบสนองต่อการดำเนินนโยบายที่แฝงไว้ด้วยผลประโยชน์ของรัฐบาลกรุงปักกิ่งได้อย่างเหมาะสมเช่นกัน โดยเฉพาะในเวลานี้ภูมิภาคอาเซียนมีหลายตัวเลือกที่จะเข้าถึงวัคซีนได้อย่างมากมายนอกเหนือจากประเทศจีน
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนที่ผ่านมานั้น ประเทศออสเตรเลีย ได้ประกาศว่าจะมีการอัดฉีดเงินจำนวน 58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,820,620,000 บาท) ในกลุ่มประเทศพันธมิตรวัคซีน Gavi ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการระดมเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อวัคซีนรักษาโรคโควิด-19 (COVAX) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อรับประกันว่าพันธมิตรในกลุ่มฯจะมีวัคซีนไว้ใช้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้ประเทศยากจนทั่วโลกเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกับประเทศที่มีฐานะร่ำรวย
ซึ่งรัฐบาลกรุงแคนเบอราได้ระบุว่า การจ่ายเงินดังกล่าวนั้นก็เพื่อจะยืนยันว่าวัคซีนจะสามรถเข้าถึงกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้แก่ อินโดนีเซีย,กัมพูชา,พม่า,ลาว ฟิลิปปินส์,ติมอร์เลสเต,เวียดนาม และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกสามารถเข้าถึงวัคซีนได้
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของประเทศออสเตรเลียที่สร้างคำมั่นด้านโอกาสการเข้าถึงวัคซีนของประเทศในแถบภูมิภาคแปซิฟิกนั้น ก็สามารถมองได้อีกเช่นกันว่าเป็นความกังวลต่อประเทศจีนที่พยายามจะล่วงล้ำภูมิภาคอาเซียนและในภูมิภาคแปซิฟิก
ขณะที่ประเทศรัสเซียที่เพิ่งจะให้การอนุมัติวัคซีนสปุตนิก 5 ก็มีรายงานว่าประเทศเวียดนามได้ตัดสินใจซื้อวัคซีนดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 150 ล้านโดส
ส่วนที่ประเทศฟิลิปปินส์ ก็ได้แสดงความสนใจในเรื่องของวัคซีนจากประเทศรัสเซียเช่นกัน โดยนายโรดริโก้ ดูเตอร์เต้ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ถึงกับออกมาพูดว่าตัวเขาเสนอตัวที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนสปุ๊ตนิก 5 เพื่อยืนยันว่าวัคซีนนี้ปลอดภัย แม้ว่า ณ เวลานี้จะมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการข้ามขั้นทดลอง,ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนสปุตนิก 5 ก็ตาม
หรือแม้แต่กับประเทศสหรัฐอเมริกาก็เริ่มที่จะมีการหารือในประเด็นเรื่องวัคซีนกับประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนแล้วเช่นกัน
โดยเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยดุ๊กและบริษัทยาอาร์คทูรัสได้ประกาศความร่วมมือกับประเทศสิงคโปร์ในการพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ที่ชื่อว่า Lunar Cov19 ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่ระยะที่ 1 ในกระบวนการการทดลองการรักษาในร่างกายมนุษย์ หรือบริษัทอย่างโนวาแวกซ์ที่ได้ประกาศเมื่อตอนต้นเดือน ส.ค. ว่าจะมีความร่วมมือกับสถาบันเซรุ่มแห่งชาติประเทศอินเดีย ในด้านการพัฒนาวัคซีน
ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมานั้นประเทศสหรัฐฯ โดยทีมที่ปรึกษาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะออกมาระบุชัดเจนว่าจะต้องให้คนชาติสหรัฐฯได้มีสิทธิเข้าถึงวัคซีน และปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการช่วยเหลือให้นานาประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ อย่างไรก็ตามก็มีรายงานจากทางกรุงวอชิงตันว่าสหรัฐฯนั้นยังคงมีเวลาพอที่จะเปลี่ยนท่าทีได้ในภายหลัง
โดยศูนย์การศึกษาด้านยุทธศาสตร์และการต่างประเทศในกรุงวอชิงตันได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า ณ เวลานี้รัฐบาลกรุงวอชิงตันได้พยายามที่จะไล่ตามประเทศจีนให้ทันในเรื่องของการให้การสนับสนุนประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 เนื่องจากมีรายงานว่าในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สหรัฐฯได้เพิ่มเงินสนับสนุนในภูมิภาคอาเซียนจากเดิมสี่เท่า จากเดิมที่มีการสนับสนุน 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (533,630,000 บาท) ก็เพิ่มเป็น 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,417,030,000 บาท)
ซึ่งถ้าหากคิดเป็นจำนวนเงินแล้ว ก็หมายความว่าสหรัฐฯได้กลายเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดให้กับภูมิภาคอาเซียน
อ้างอิงรูปภาพจาก https://asean.usmission.gov/fact-sheet-u-s-support-for-asean-in-fighting-covid-19/
พฤติกรรมทั้งหมดของสหรัฐฯนั้นถือเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าสหรัฐฯซึ่งมีบริษัทหลายแห่งที่กำลังวิจัยวัคซีนไวรัสโควิด 19 กำลังจะทำให้บริษัทเหล่านี้กลายเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในฐานะผู้ผลิตวัคซีนเพื่อที่จะช่วยชีวิต
ดังนั้น ณ เวลานี้ ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการพัฒนาวัคซีนสำหรับโคโรน่าไวรัส อาเซียนก็จะถูกแรงกดดันจากมหาอำนาจต่างๆทั้งจีน สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆให้เลือกข้างในเกมการแข่งขันเรื่องวัคซีนนี้
แต่รัฐบาลในประเทศอาเซียนก็ยังคงมีทางเลือกด้วยการกระจายความเสี่ยงในการเลือกวัคซีนที่มีความหลากหลายจากประเทศต่างๆ หลายประเทศ แทนที่จะผูกขาดอยู่กับแค่ประเทศเดียว ในช่วงเวลาที่วัคซีนสำหรับไวรัสโควิด 19 ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ
แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของรัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนรวมไปถึงรัฐบาลไทยว่าจะเล่นเกมการทูตวัคซีนกันอย่างไร
เพื่อให้ประเทศสามารถเข้าถึงและได้ประโยชน์จากวัคซีนที่มาจากการแข่งขันขยายอิทธิพลของต่างประเทศให้ได้มากที่สุด
เรียบเรียงจาก: https://thediplomat.com/2020/09/southeast-asias-coming-covid-19-vaccine-windfall/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage