"...ประเทศสหรัฐฯได้จัดหาวัคซีนไปแล้วแล้ว 800 ล้านโดส จากบริษัทยา 6 แห่ง อังกฤษได้จัดหาวัคซีนไปแล้ว 280 ล้านโดสจากบริษัทยา 5 แห่ง และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปก็ได้จัดหาวัคซีนจากบริษัทแอสต้ราเซนเนก้าอีกทั้งสิ้น 300 ล้านโดสจากบริษัทซาโนฟี่ซึ่งเป็นบริษัทยาสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งทางบริษัท Airfinity ได้คาดการณ์ว่าถ้าหากมีการจัดหาวัคซีนในรูปแบบเช่นนี้ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยก็คือในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 ทั่วโลกจึงจะสามารถเข้าถึงวัคซีนจำนวนอย่างน้อย 1 พันล้านโดสได้..."
....................................................
ความคืบหน้าการผลิตและวิจัยวัคซีนที่ใช้สำหรับการรักษาโรคโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก
แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นใหม่เกี่ยวกับ“วัคซีนชาตินิยม (Vaccines Nationalism)” กำลังถูกกล่าวถึงอย่างมาก
เมื่อหน่วยงานนานาชาติหลายหน่วยได้เริ่มออกมาแสดงความกังวลว่าจะมีการใช้ “วัคซีนชาตินิยม" เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้หลายประเทศนั้นขาดโอกาสเข้าถึงวัคซีนได้
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา สำนักข่าว India Express ของประเทศอินเดีย ได้นำเสนอบทความอธิบายคำว่า "วัคซีนชาตินิยม" เอาไว้โดยละเอียด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เห็นว่ามีข้อมูลสำคัญหลายส่วน จึงได้สรุปเรียบเรียงมานำเสนอ ณ ที่นี้
ในช่วงเข้าใกล้ระยะสุดท้ายของการทดลองวัคซีนในร่างกายมนุษย์ ณ เวลานี้ ปรากฎเป็นข่าวว่าประเทศร่ำรวยหลายๆประเทศ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ได้ทำสัญญากับบริษัทเอกชนหลายแห่งเกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาวัคซีน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ได้ถูกกล่าวถึงว่ากำลังจะกลายเป็นเรื่อง “วัคซีนชาตินิยม”
โดยการทำข้อตกลงล่วงหน้าของประเทศเหล่านี้นั้น ทำให้เกิดความกลัวกันว่าจะมีวัคซีนไม่เพียงพอสำหรับประชาชนจำนวนกว่า 8 พันล้านคนทั่วโลก และวัคซีนจะไม่สามารถเข้าถึงได้ ถ้าหากไม่ใช่ประชาชนที่มาจากประเทศที่ร่ำรวยเหล่านี้
ทำให้เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา นายเทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ต้องออกมาคัดค้านไม่ให้เกิดคำว่า “วัคซีนชาตินิยม” ที่ว่านี้ขึ้น
นายเทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก(อ้างอิงวิดีโอจาก Bloomberg Markets and Finance)
@ อะไรคือ “วัคซีนชาตินิยม”
เมื่อประเทศหนึ่งได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนเป็นจำนวนมหาศาลสำหรับประชาชนและมุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ โดยเร่งที่จะดำเนินการตัดหน้าประเทศอื่นๆ สิ่งนั้นเรียกว่า “วัคซีนชาตินิยม” หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ การทำข้อตกลงจัดซื้อล่วงหน้าระหว่างรัฐบาลกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน
ยกตัวอย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มสหภาพยุโรป ได้จัดหาวัคซีนคิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯล่วงหน้าจากบริษัทพัฒนาวัคซีนที่มีความคืบหน้าเช่น บริษัทไฟเซอร์ บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ก่อนที่วัคซีนเหล่านี้จะมีการถูกพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด 19
คำอธิบายเรื่องวัคซีนชาตินิยม (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวสเตรทไทม์)
@ “วัคซีนชาตินิยม”ไม่ใช่เรื่องใหม่
การแข่งขันกันเพื่อกักตุนวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด 19 นั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่แต่อย่างใด แต่เรื่องเหล่านี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อช่วงปี 2552 ในระหว่างการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 โดยประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่สามารถคิดค้นวัคซีนได้กลับกีดกันการส่งออกวัคซีน
ขณะที่ประเทศร่ำรวยได้ทำข้อตกลงกับบริษัทยาหลายแห่ง โดยสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวได้ทำข้อตกลงในกรซื้อวัคซีนเป็นจำนวนมากถึง 6 แสนโดส
ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ประเทศอื่นๆจะต้องรอจนกว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัส H1N1 ในประเทศที่พัฒนาแล้วลดลงก่อน ประเทศเหล่านี้จึงจะสามารถบริจาควัคซีนให้กับประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ยากจนกว่าได้
อย่างไรก็ตาม ไวรัส H1N1 นั้นก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงน้อยกว่าไวรัสโควิด 19 ที่ ณ เวลานี้มีผู้ติดเชื้อไปมากกว่า 22 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 777,000 ราย
@สหรัฐฯ,อังกฤษ และสหภาพยุโรปได้ทำสัญญาเข้าถึงวัคซีนคิดเป็นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์
ล่าสุด มีตัวเลขเบื้องต้น จากบริษัท Airfinity ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษระบุว่า ประเทศสหรัฐฯ,อังกฤษ กลุ่มสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นได้ทำสัญญาเพื่อเข้าถึงวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1.3 พันล้านโดส และภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการผลิตวัคซีนเพิ่มตามข้อตกลงอีกอย่างน้อย 1.5 พันล้านโดส
โดยประเทศสหรัฐฯได้จัดหาวัคซีนไปแล้วแล้ว 800 ล้านโดส จากบริษัทยา 6 แห่ง อังกฤษได้จัดหาวัคซีนไปแล้ว 280 ล้านโดสจากบริษัทยา 5 แห่ง และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปก็ได้จัดหาวัคซีนจากบริษัทแอสต้ราเซนเนก้าอีกทั้งสิ้น 300 ล้านโดสจากบริษัทซาโนฟี่ซึ่งเป็นบริษัทยาสัญชาติฝรั่งเศส
ซึ่งทางบริษัท Airfinity ได้คาดการณ์ว่าถ้าหากมีการจัดหาวัคซีนในรูปแบบเช่นนี้ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยก็คือในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 ทั่วโลกจึงจะสามารถเข้าถึงวัคซีนจำนวนอย่างน้อย 1 พันล้านโดสได้
@ มีกฎหมายป้องกัน “วัคซีนชาตินิยมหรือไม่”
ณ เวลานี้ แม้ว่าจะมีแนวโน้มว่าจะเกิด “วัคซีนชาตินิยม” ไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนั้นยังไม่มีกฎหมายนานาชาติที่ป้องกันไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งทำสัญญาซื้อและกักตุนวัคซีนแต่อย่างใด โดยมีการคาดการณ์กันว่าผลกระทบจาก “วัคซีนชาตินิยม” นั้นจะส่งผลทำให้ประเทศที่มีทรัพยากรเป็นจำนวนน้อยและมีอำนาจการต่อรองในเวทีระดับโลกที่น้อยกว่าจะต้องเสียผลประโยชน์มากขึ้นไปอีก
สิ่งที่จะตามมาต่อไปก็คือถ้าหากมีแค่ประมาณ 30-40 ประเทศสามารถเข้าถังวัคซีนได้อย่างเต็มที่ แต่อีกหลายประเทศที่ยังคงมีผู้ป่วยโควิด 19 เป็นจำนวนมากและยังคงประสบปัญหากับการจัดหาวัคซีน ก็หมายความว่าโรคระบาดก็จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและเศรษฐกิจทั่วโลกไปอีกยาวนาน
ปัจจุบันแม้ว่าทาง WHO,กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด หรือ (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations) และกาวี กลุ่มพันธมิตรด้านวัคซีน ได้ร่วมมือกันทำงานในโครงการเพื่อที่จะทำให้วัคซีนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมโดยประชากรส่วนใหญ่ของโลก
แต่ล่าสุดก็มีรายงานว่าประเทศจำนวนกว่า 170 ประเทศที่แสดงความสนใจจะเข้าสู่ความร่วมมือด้านวัคซีนนี้ มี 90 ประเทศยังคงเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้ต่ำ ขณะที่อีก 80 ประเทศนั้นเป็นประเทศที่สามารถพึ่งพาตัวเองทางด้านการเงินได้อย่างเต็มที่
ซึ่งแม้ว่าประเทศที่เข้าร่วมโครงการความร่วมมือจะได้รับคำมั่นว่าจะได้รับวัคซีนทันทีหลังจากที่วัคซีนมีความพร้อมสำหรับใช้งานแล้ว
แต่ถ้าดูจากตัวเลข ณ เวลานี้ มีการประเมินกันว่าแต่ละประเทศจะได้รับวัคซีนจากโครงการความร่วมมือนี้เพียงแค่จำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเท่านั้น
เรียบเรียงจาก:https://indianexpress.com/article/explained/what-is-vaccine-nationalism-how-does-it-impact-the-fight-against-covid-19-6561236/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage