"...มีหลักฐานอันเชื่อได้ว่าการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของไวรัส D614G เป็นสาเหตุสำคัญเกี่ยวกับการลดจำนวนอัตราการเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งนี่เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าไวรัสโควิด 19 มีความอันตรายละน้อยลง ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นเรื่องดีที่ไวรัสนั้นมีความสามารถในการระบาดที่มากขึ้นแต่มีอัตราการเสียชีวิตที่น้อยลง ..สิ่งที่อยู่ในตัวของไวรัสก็คือมันมีความสนใจที่จะแพร่เชื้อให้กับผู้คนมากขึ้น แต่ไวรัสนั้นไม่ได้ตั้งใจที่จะฆ่าร่างพาหะแต่อย่างใด เพราะว่าไวรัสก็ยังคงต้องอาศัยร่างพาหะเพื่อหาที่พักพิงและหาอาหาร...”
........................................
ในช่วงวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย ได้ประกาศถึงการค้นพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ D614G ในประเทศ เป็นการทาง
ระบุว่า มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยจำนวน 3 ราย จาก 45 ราย เป็นกลุ่มเจ้าของร้านอาหารที่เดินทางกลับจากอินเดียและฝ่าฝืนการกักกันตัวที่บ้านเวลา 14 วัน
ทางการมาเลเซีย ยังระบุด้วยว่า เชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ดังกล่าว มีความสามารถในการระบาดที่สูงกว่าสายพันธุ์ปกติถึง 10 เท่า และยังพบด้วยว่าไวรัสสายพันธุ์นี้ยังได้ระบาดในกลุ่มของผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับมาจากฟิลิปปินส์
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สำรวจข้อมูลเกี่ยวข้องกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ เพิ่มเติมจากสื่อต่างๆทั่วโลก พบว่าสำนักข่าว The Times of India ของประเทศอินเดีย เคยนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับไวรัสสายพันธ์นี้ไว้คร่าวๆ มีรายละเอียดสำคัญ ดังต่อไปนี้
ไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ D614G ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด
แต่เป็นไวรัสสายพันธุ์เดียวกับที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศแถบยุโรปเป็นหลักนับตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และกลายเป็นไวรัสสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดไปทั่วโลก จากการตรวจสอบหาสายพันธุกรรมในท้องที่ต่างๆ
มีนักวิเคราะห์บางรายคาดการณ์ว่าไวรัสนั้นเกิดการกลายพันธุ์จนถึงขอบเขตทางชีวภาพ เพื่อที่จะเพิ่มความสามารถในการระบาดไปทั่วโลก
@ อะไรคือไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ D614G
ไวรัสโควิด 19 มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าไวรัสซาร์ โคฟ 2 (Sars-Cov 2) และสายพันธุ์ D614G ถือเป็นหนึ่งในการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด 19
โดยความเปลี่ยนแปลงของไวรัสที่เกิดจากการกลายพันธุ์นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของหนามซึ่งจะเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำให้ไวรัสสามารถเจาะแทรกซึมเข้าไปยังเซลล์ของร่างกายมนุษย์ได้
ทั้งนี้ การกลายพันธุ์ดังกล่าว ยังได้เปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนในตำแหน่งที่ 614 จึงเป็นที่มาของชื่อสายพันธุ์ 614G ซึ่งที่ผ่านมามีการสันนิษฐานว่าการกลายพันธุ์นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่มีการระบาดจากเมืองอู่ฮั่นประเทศจีนไปยังประเทศอิตาลี
โดยช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวบีบีซี ได้รายงานว่าในตัวอย่างเชื้อไวรัสที่เก็บเกี่ยวมาจากหลายพื้นที่ทั่วโลกพบว่า เป็นสายพันธุ์ D614 G
@ ไวรัสสายพันธุ์นี้กลายเป็นสายพันธุ์หลักได้อย่างไร
ที่ผ่านมานางเบทธี คอร์เบอร์ นักชีววิทยาด้านการศึกษาจำนวนพันธุกรรม ระบุว่า สายพันธุ์ D614G ที่ปรากฎอยู่ในทุกที่รวมไปถึงที่ประเทศจีนได้บ่งชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์นี้อาจจะมีขีดความสามารถในการแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม
โดยบทความวิจัยที่เผยแพร่ในช่วงเดือน ก.ค. นั้น นางคอร์เบอร์กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ว่าในช่วงเวลาที่เกิดการระบาดในประเทศอังกฤษและในฝั่งตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกา ไวรัสได้เกิดการกลายพันธุ์ในช่วงเวลานั้น
ซึ่งในเวลานี้แม้จะมีหลักฐานเพิ่มเติมว่ารูปแบบการกลายพันธุ์ของไวรัสนั้นไม่ใช่เรื่องปกติ แต่ก็ยังไม่ถึงกับที่สาธารณชนจะต้องเปลี่ยนแปลงความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการแพร่พันธ์ของเชื้อไวรัสแต่อย่างใด
ความแตกต่างของไวรัสโคโรน่าระหว่างสายพันธุ์ปกติกับสายพันธุ์ D (อ้างอิงวิดีโอจาก D Seetaram )
@ สายพันธุ์ D614G เพิ่มขีดความสามารถของการแพร่พันธุ์ของไวรัสโควิด 19 หรือไม่
ไวรัสทุกประเภทในโลกนั้นจะมีการกลายพันธุ์เมื่อเกิดการแบ่งตัวเป็นระยะเวลาหนึ่งอย่างสม่ำเสมอ แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบางประการนั้นจะทำให้ไวรัสมีขีดความสามารถในการแบ่งตัวมากยิ่งขึ้นไปอีก
การเปลี่ยนแปลงบางประการก็อาจจะขัดขวางการเติบโตของไวรัส และการเปลี่ยนแปลงบางประการก็ไม่ได้สร้างความแตกต่างเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสเลยแม้แต่น้อย
ซึ่งผลจากการทดสอบในห้องแล็บที่มหาวิทยาลัยสคริปส์ในรัฐฟลอริดา ได้บ่งชี้ว่าไวรัสที่มีการกลายพันธุ์นั้นจะมีความสามารถในการเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ดีกว่าไวรัส ที่ยังไม่ถูกกลายพันธุ์
การเปลี่ยนแปลงของโปรตีนหนามนั้นถือเป็นกลไกหนึ่งที่ไวรัสได้ปรับรูปแบบเพื่อสามารถเข้าเกาะติดเซลล์ของมนุย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ความแตกต่างของโปรตีนหนามในไวรัสซึ่งกลายพันธุ์
ขณะที่ผลการศึกษาที่ศูนย์การศึกษาด้านจีโนม มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้บ่งชี้ว่าการกลายกลายพันธุ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแพร่เชื้อของไวรัสนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากการทดลองในห้องแล็บ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าไวรัสที่ถูกกลายพันธุ์ซึ่งมีโครงสร้างเดียวกับที่ห้องแล็บได้ทดลองไปอยู่ในตัวผู้ป่วยได้อย่างไร
ที่ผ่านมามีผลการศึกษาจำนวน 2 ฉบับทั้งของนางคอร์เบอร์ในนิตยสาร Cell และจากองค์การอนามัยโลกที่ออกมาคล้ายกันเกี่ยวกับการวิจัยไวรัสสายพันธุ์ D614G จนได้ข้อสรุปว่าไวรัสนี้เป็นสายพันธุ์ที่มีขีดความสามารถในการแพร่เชื้อได้มากกว่า 10 เท่าของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มาจากเมืองอู่ฮั่น
อย่างไรก็ตามนิตยสาร Cell ยังได้พิมพ์บทวิเคราะห์การวิจัยโดยนายนาธาน ดี กรูเบิร์ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการระบาดวิทยา ในโรคติดต่อทางจุลชีวที่มหาวิทยาลัยเยลได้กล่าวว่ารายงานดังกล่าวยังเป็นข้อแนะนำเท่านั้นแต่ยังไม่อาจจะพิสูจน์ได้ว่าไวรัสสายพันธุ์ D614G มีขีดความสามารถในการระบาดได้มากกว่าสิบเท่าจริง
@ การกลายพันธุ์จะส่งผลกระทบต่อการวิจัยพัฒนาวัคซีนหรือไม่
ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าจะต้องมีการพัฒนาวัคซีนที่แตกต่างกันออกไปเพื่อรับมือกับแต่ละสายพันธุ์ของไวรัสโคโรน่า อย่างไรก็ตามวัคซีนส่วนมากนั้นได้ถูกพัฒนาขึ้นตามพื้นที่ที่มีการระบาดแตกต่างกันออกไปทั่วโลก
เพราะฉะนั้นแล้วการกลายพันธุ์ของไวรัสจึงไม่น่าที่จะส่งผลต่อการพัฒนาวัคซีน
ซึ่งแม้ว่าไวรัสสายพันธุ์ D614G จะเกิดขึ้นมาจากการกลายพันธุ์ในไวรัสในส่วนของโปรตีนรูปหนาม แต่การกลายพันธุ์นั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงอวัยวะในส่วนสัมผัสหรือ receptor-binding domain (RBD) ที่อยู่บนโปรตีนรูปหนามแต่อย่างใด
โดยอวัยวะในส่วนสัมผัสนี้จะถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้อวัยวะรูปหนามนั้นสามารถเข้าถึงเซลล์ของมนุษย์ได้ ซึ่งจะสัมผัสกับส่วนของเซลล์มนุษย์ที่เรียกว่า ACE2
และอวัยวะในส่วนสัมผัสหรือว่า RBD นั้นก็ยังเป็นเป้าหมายที่วัคซีนจะต้องไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเพื่อให้ดำเนินการดักจับและกำจัดสิ่งแปลกปลอมเช่นกัน
การเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ของไวรัสโควิด 19 (อ้างอิงรูปภาพจาก https://pubs.rsc.org/en/content/articlehtml/2020/ra/d0ra05434h)
ทั้งนี้ ในรายงานการศึกษาขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่ได้วิเคราะห์ตัวอย่างสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีของผู้ป่วยที่ประเทศจีนยังได้ระบุอีกว่าไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ D614G ยังคงเป็นไวรัสที่สามารถถูกตรวจจับได้อย่างรวดเร็วโดยระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ และยิ่งไปกว่านั้นไวรัสสายพันธุ์นี้อาจจะสามารถถูกยับยั้งได้อย่างง่ายดายโดยใช้วัคซีนแค่เพียง 1 โดสเท่านั้น
หรือสรุปก็คือการกลายพันธุ์ก็อาจจะเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์อีกด้านหนึ่งในแง่ของการระงับยับยั้งไวรัสนั่นเอง
โดยนายพอล แทมบยาห์ ที่ปรึกษาอาวุโสมหาวิทยาลัยสิงคโปร์และประธานสมาคมโรคติดต่อนานาชาติได้กล่าวว่า มีหลักฐานอันเชื่อได้ว่าการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของไวรัส D614G เป็นสาเหตุสำคัญเกี่ยวกับการลดจำนวนอัตราการเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งนี่เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าไวรัสโควิด 19 มีความอันตรายละน้อยลง ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นเรื่องดีที่ไวรัสนั้นมีความสามารถในการระบาดที่มากขึ้นแต่มีอัตราการเสียชีวิตที่น้อยลง
“สิ่งที่อยู่ในตัวของไวรัสก็คือมันมีความสนใจที่จะแพร่เชื้อให้กับผู้คนมากขึ้น แต่ไวรัสนั้นไม่ได้ตั้งใจที่จะฆ่าร่างพาหะแต่อย่างใด เพราะว่าไวรัสก็ยังคงต้องอาศัยร่างพาหะเพื่อหาที่พักพิงและหาอาหาร” นายแทมบยาห์ระบุ
เรียบเรียงจาก:https://timesofindia.indiatimes.com/india/ten-times-more-infectious-than-coronavirus-all-you-need-to-know-about-d614g/articleshow/77586073.cms
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage