“...กระสุนมันมีจำกัด การกู้เงินก้อนใหม่ ถ้าจะออกต้องคิดดีๆ เพราะเงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท ถ้ากู้เต็ม หนี้สาธารณะกระโดดไปเกือบ 60% ของจีดีพี เราไม่ใช่ประเทศที่มีหนี้สาธารณะ 40% เหมือนก่อนแล้ว ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลเลือกได้ คือ จะปรับปรุงงบที่จัดสรรไปแล้วอย่างไร แต่ละกระทรวงต้องมาคุยกันว่า ถ้าไม่จำเป็นขอกันมาเยียวยาผลกระทบได้หรือไม่...”
อีกไม่กี่วันข้างหน้า ‘ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่' ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2/2 จะเข้าปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มตัว หลังการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ แล้ว
แม้ว่า ‘หัวหน้าทีม’ เศรษฐกิจรัฐบาล จะยังคงมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ‘แกนกลาง’ ในการขับเคลื่อนนโยบายและประสานงานกับรมว.เศรษฐกิจจากพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ให้มีการ ‘แตกแถว’
แต่แน่นอนว่ารมว.เศรษฐกิจใหม่ทั้ง 2 คน คือ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน และ ปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นรัฐมนตรีใน ‘โควตา’ ของพล.อ.ประยุทธ์ ต่างก็ถูกตั้งความหวังจากภาคธุรกิจและประชาชนว่า จะเข้าเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ไปได้จนตลอดรอดฝั่ง
ในขณะที่ ‘โจทย์ใหญ่’ ที่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ต้องเผชิญมีทั้งปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า และการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่จะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติในอีกอย่างน้อย 2 ปี
“โจทย์หลักๆของทีมเศรษฐกิจตอนนี้ น่าจะเป็นเรื่องการรับมือกับผลกระทบของโควิด ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน คือ โควิดเป็นเหมือนกับแผลที่กว้าง และลึก อีกทั้งยังทิ้งแผลเป็นไว้ในระบบเศรษฐกิจ เช่น การว่างงาน และการปิดกิจการ” ดร.กําพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ดร.กําพล กล่าวต่อว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้น เนื่องจากการเปิดเมืองและผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างใหญ่ แต่มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการชั่วคราว และบางมาตรการกำลังจะหมดอายุลง นี่จึงเป็นจุดที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อว่าทีมเศรษฐกิจจะทำอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะการจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเติม
“ตอนนี้เปิดเมืองแล้ว บางกลุ่มกลับมาทำงานได้ มีรายได้กลับมา แต่คนบางกลุ่มยังไม่มีรายได้กลับมา เช่น กลุ่มที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว ทีมเศรษฐกิจจะต้องไปคิดว่าเงินกู้ในส่วนของเยียวยาที่เหลืออยู่ จะนำไปช่วยคนที่ยังได้รับผลกระทบอย่างไร จะช่วยแบบทั่วไปหรือแบบเจาะจง และด้วยเงื่อนไขอะไร เพราะโควิดมันยาวกว่าที่คาด” ดร.กําพลกล่าว
(กําพล อดิเรกสมบัติ)
ดร.กําพล ย้ำด้วยว่า ในภาวะที่กระสุนมีจำกัด เพราะเงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาทเหลืออยู่ไม่เท่าไหร่แล้ว แต่ถ้าโควิดไม่ได้หายไปเร็ว ยังไม่เจอวัคซีนเสียที หรือเจอแล้ว แต่ไม่มีการฉีดวัคซีนเป็นการทั่วไปเสียที โควิดก็จะยังอยู่ต่อไป เมื่อถึงเวลานั้น รัฐบาลและทีมเศรษฐกิจจำเป็นต้องมาจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณปี 64 กันใหม่
“กระสุนมันมีจำกัด การกู้เงินก้อนใหม่ ถ้าจะออกต้องคิดดีๆ เพราะเงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท ถ้ากู้เต็ม หนี้สาธารณะกระโดดไปเกือบ 60% ของจีดีพี เราไม่ใช่ประเทศที่มีหนี้สาธารณะ 40% เหมือนก่อนแล้ว ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลเลือกได้ คือ จะปรับปรุงงบที่จัดสรรไปแล้วอย่างไร แต่ละกระทรวงต้องมาคุยกันว่า ถ้าไม่จำเป็นขอกันมาเยียวยาผลกระทบได้หรือไม่” ดร.กําพลระบุ
ส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 นั้น ดร.กำพล เสนอว่า ทีมเศรษฐกิจจะต้องมองไปที่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ และปรับโครงสร้างการจ้างงานอนาคต เช่น การท่องเที่ยวที่เน้นเชิงปริมาณนั้น จะปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร หรือบางธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้แล้ว เพราะแข่งขันไม่ได้ คงต้องปล่อยให้ล้มลงไป
“ถ้าพูดไปอาจดูโหดร้าย คือ เราคงไม่อยากอุ้มคนที่ไม่มีอนาคต เราต้องอุ้มคนที่มีอนาคต เพราะเงินที่รัฐเอาไปอุ้มไม่ใช่ของฟรี เพราะมันคือเงินงบประมาณ และหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ถ้าจะช่วย ต้องช่วยคนที่มีศักยภาพและมีอนาคต เพราะถ้าช่วยคนที่ไม่มีศักยภาพ อีกไม่นานเขาก็ล้มอยู่ดี เป็นโจทย์ที่ต้องคิด ทุกอย่างไม่ฟรี” ดร.กำพลกล่าว
(ที่มา : คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันที่ 4 ส.ค.63)
ขณะที่ ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ได้เปลี่ยนแปลงดีขึ้นจากเดิมเลย เพียงแต่มีการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ ซึ่งเราคาดหวังว่าทีมเศรษฐกิจ และรมว.คลัง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและธนาคาร จะเข้ามาช่วยเหลือพวกเราก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป
“ท่านรมว.คลัง รู้ปัญหาทั้งหมดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่แล้ว เพราะเราเคยประชุมกันหลายรอบ และต้องดูว่าท่านจะแอ๊คชั่นอย่างไร อย่างต้องนี้พวกเราเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้เลย ท่านเองก็รู้เรื่องนี้อยู่ ก็หวังว่าท่านจะเข้ามาช่วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก่อนที่สายเกินไปได้หรือไม่” ชัยรัตน์กล่าว
ชัยรัตน์ เสนอให้ทีมเศรษฐกิจผลักดันนโยบายจับคู่ประเทศท่องเที่ยว (Travel Bubbles) ให้เกิดขึ้นภายในปลายปีนี้ เพราะลำพังมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศคงไม่เพียงพอ และด้วยเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะหายไป 1.7-1.8 ล้านล้านบาทในปีนี้ จะทำให้เศรษฐกิจพัง และมีคนตกงานเพิ่มขึ้นอีกนับล้านคน
“ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าภายในปีนี้ เงินจะต้องหายไป 1.7-1.8 ล้านล้านบาท ส่วนการกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนในประเทศนั้น จะกระตุ้นอย่างไรก็ลำบาก เพราะเศรษฐกิจในประเทศไม่ดี จึงอยากให้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องนี้ และที่น่าห่วงที่สุด คือ แรงงานจะต้องตกงานกันอีกหลายล้านคน ถ้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปไม่ได้” ชัยรัตน์กล่าว
ชัยรัตน์ ยังกล่าวว่า การเปิด Travel Bubbles ที่จะไม่ทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกนั้น มีความเป็นไปได้ เพียงแต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เช่น เลือกเปิดกับประเทศหรือมณฑลที่ไม่ผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 2 เดือน มีการตรวจคัดกรองตั้งแต่ต้นทางและก่อนเข้าไทย และต้องเปิดท่องเที่ยวในวงจำกัด เช่น บางเกาะหรือบางจังหวัด เช่น ภูเก็ต เกาะสมุย
“เราไม่จำเป็นต้องเปิดทั้งประเทศ หาเมืองใดเมืองหนึ่งเปิดก่อน เช่น ภูเก็ต สมุย ให้เขาเที่ยวได้แต่เฉพาะตรงนี้ และเส้นทางก็ขีดไว้เลย ห้ามออกนอกกรอบนี้ ถ้าออก เราจะส่งกลับทันที และนักท่องเที่ยวจะต้องทำประกันตนเอง 1 แสนดอลลาร์ โรงแรมที่นักท่องเที่ยวชุดเดิมเข้าพักแล้ว นักท่องเที่ยวชุดใหม่จะเข้าไปไม่ได้ เป็นต้น” ชัยรัตน์กล่าว
ชัยรัตน์ ย้ำว่า “ถ้าไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเลยจะแย่ และทราบว่าตอนนี้เริ่มเจรจากันอยู่ และรมว.ท่องเที่ยวก็รับเรื่องไปแล้ว ตอนนี้น่าแง้มประตูแล้ว”
ด้าน สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุ ภาคเอกชนต้องการให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ เข้ามาช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องของผู้ประกอบการ การกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งอยากให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อหารือถึงการแก้ปัญหาต่างๆ
“สิ่งที่เราอยากให้ทีมเศรษฐกิจเข้ามาช่วยเหลือ เรื่องแรกเป็นเรื่องสภาพคล่อง สองเป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำลังซื้อในประเทศ และสาม คือ การเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอี ขณะเดียวกัน เราอยากให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างทีมเศรษฐกิจใหม่และภาคเอกชน เพื่อร่วมแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งตอนนี้ปัญหามีเยอะมาก” สุพันธุ์กล่าว
ส่วน กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าท่าเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ประเด็นที่ผู้ส่งออกต้องให้ทีมเศรษฐกิจเข้ามาดูแล คงเป็นเรื่องเดิมที่เคยคุยกันมาแล้ว คือ การแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องของผู้ผลิตเพื่อการส่งออก หลังจากการส่งออกมีทิศทางที่แย่ลง โดยเฉพาะในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.ที่การส่งออกไทยติดลบเกิน 20%
“ภาพส่งออกที่ไม่ดีขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องสภาพคล่อง จึงอยากให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาช่วยผ่อนปรนเงื่อนไขของซอฟท์โลน เพราะตอนนี้ยังใช้เงื่อนไขการกู้เงินแบบปกติ ทำให้ซอฟท์โลนไม่ถึงมือผู้ประกอบการเท่าไหร่เลย โดยทำอย่างไรก็ได้ ให้เงินเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น” กัญญภัคกล่าว
(กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์)
กัญญภัค เรียกร้องให้ภาครัฐและธปท.ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของไทยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และหากเป็นไปได้อยากเห็นเงินค่าเงินบาทอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะแม้ว่าธปท.จะบอกว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินบาทมีทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค แต่หากดูย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค
“ถ้าเงินบาทแข็ง เราก็ขายของยาก แต่ถ้าเงินบาทอ่อนค่าไปอยู่ในระดับที่เราคิดว่าเหมาะสม คือ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากตอนนี้ที่อยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้ในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งนอกจากจะบรรเทาปัญหาการขาดสภาพคล่องได้แล้ว ยังทำให้กรมสรรพากรเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นด้วย” กัญญภัคกล่าว
กัญญภัค ย้ำว่า “ถ้าไม่มีเงินใหม่มาให้เราหมุน ผู้ประกอบการก็จะมีปัญหาจนปิดธุรกิจไป และตอนนี้มีข่าวการปิด มีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งถ้าผู้ประกอบการไม่มีเงินภาษีมาจ่ายเพิ่ม เงินรัฐจะร่อยหรอลงเรื่อยๆ”
กัญญภัค ยังเห็นว่า ธปท.ควรเพิ่มสภาพคล่องของเงินบาทในระบบให้มากกว่านี้ เพราะปัจจุบันเงินดอลลาร์ที่ไหลเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้เงินบาทในตลาดมีไม่เพียงพอ ที่เห็นชัดเจน คือ การค้าขายตามแนวชายแดน ตอนนี้ผู้ซื้อจากเพื่อนบ้าน เช่น ลาว ซึ่งซื้อสินค้าไทยในรูปเงินบาทนั้น มูลค่าเงินกีบเขาหายไป 20% เมื่อแลกเป็นเงินบาท
ทั้งหมดนี้เป็นเสียงสะท้อนและข้อเรียกร้องของเอกชนต่อ ‘ทีมเศรษฐกิจ’ ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่เรียกได้ว่ารุนแรงที่สุดครึ่งหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย
อ่านประกอบ :
โปรดเกล้าฯ 7 รมต.ใหม่! ‘ดอน-สุพัฒนพงษ์’รองนายกฯ-‘เสี่ยแฮงค์-สุชาติ-นฤมล’มาตามโผ
การเมืองร้อน-เศรษฐกิจติดลบ สารพัดมรสุมรับ 'ครม.ประยุทธ์2/2'
‘คลัง’ เผย 8 เดือนแรกปีงบ 63 รัฐจัดเก็บรายได้ต่ำเป้า 1.89 แสนล้าน
ธปท.ร่อนจม.เปิดผนึก! คาดเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายไตรมาส 2/64 แนะรัฐมุ่งจ้างงาน-ช่วย SMEs
ทั่วโลกอัดฉีดฟื้นเศรษฐกิจ ‘ยังไม่เห็นผล’ ส่งออกไทย รอสร่าง ‘ไข้โควิด’ ปีหน้า
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/