"...ทั้งปัญหาทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงจะขยายผลเป็นความขัดแย้ง วาระเศรษฐกิจที่รอการฟื้นฟูและแก้ไข รวมถึงวิกฤติความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็น ‘มรสุม’ ที่รัฐบาลในฐานะคณะผู้บริหารประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้..."
.....................................................
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ภายใต้การนำของ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถูกคาดการณ์ว่าจะพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค.เป็นต้นไป
โดยภาพรวม ‘ครม.ประยุทธ์ 2/2’ มีรัฐมนตรีทั้งสิ้น 36 คน 41 ตำแหน่ง ในส่วนนี้มีรองนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 6 คน โดยเพิ่ม ‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ ได้รับตำแหน่งรองนายกฯ ควบ รมว.การต่างประเทศ และ ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ เป็นรองนายกฯ ควบ รมว.พลังงาน
ส่วนที่เหลือเป็นการจัดสรรเก้าอี้ แทนที่บุคคลที่ลาออกจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย ‘อนุชา นาคาศัย’ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , ‘ปรีดี ดาวฉาย’ รมว.คลัง , ‘อเนก เหล่าธรรมทัศน์’ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม , ‘สุชาติ ชมกลิ่น’ รมว.แรงงาน และ ‘นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ รมช.แรงงาน
เป็นโฉมหน้า ครม.ใหม่ ท่ามกลางความคาดหวังในหลายประเด็น หลังจากต้นปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ปรากฏให้เห็นมรสุมร้อนทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
@ชุมนุมปลดแอก แก้ รธน.-ยุบสภาเลือกตั้งใหม่
การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางการเมืองรอบใหม่ ที่มาพร้อมเงื่อนไขเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตาม คือ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) 3.ยุบสภาเลือกตั้งใหม่
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวส่งผลให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ นัดหมายชุมนุม ‘แฟลชม็อบ’ แบบไปเช้าเย็นกลับที่ปรากฏให้เห็นทุกวัน-ทั่วสารทิศ
แม้รัฐบาลจะประกาศจุดยืน พร้อมสนับสนุนกระบวนการแก้ไข รธน. แต่ ‘กลุ่มเยาวชนปลดแอก’ ที่ยกระดับ-รวมกลุ่มใหม่เป็น ‘คณะประชาชนปลดแอก’ ได้ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ต่อจากนี้
ขณะที่วันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา แกนนำการเคลื่อนไหว 2 คน คือ ‘อานนท์ นำภา’ และ ‘ภานุพงศ์ จาดนอก’ ถูกจับกุมฐานกระทำความผิดข้อหาปลุกปั่นยุยงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ
แม้ว่าล่าสุดศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยตีราคาประกันคนละ 1 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหากระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้
แต่ความเคลื่อนไหวก็มีสัญญาณ-ลุกลามจากเดิม ซึ่งเห็นได้จากการรวมพลังของกลุ่มชุมนุมเพื่อให้กำลังใจแกนนำที่สถานีตำรวจ 2 แห่ง หรือแม้กระทั่งการจัดการชุมนุมแฟลชม็อบที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน ล่าสุดแกนนำยังนัดชุมุมที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 10 ส.ค. และในช่วงเย็นจะมีการชุมนุมที่ม.ธรรมศาสตร์ รังสิตอีก ก่อนที่จะมีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 16 ส.ค.
(การชุมนุมบริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน วันที่ 8 ส.ค.)
@เศรษฐกิจติดลบหนักตลอดปี 63
ฟากฝั่งปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤติระดับโลก อย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ส่งผลกระทบให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก และเป็นภารสำคัญลำดับแรกที่ ‘ครม.ประยุทธ์ 2/2’ ต้องเร่งแก้ไข
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวติดลบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
“ที่ประชุมกนง.ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 63 เป็นติดลบ 8.1% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 5.3% และการที่หลายประเทศ รวมถึงไทยต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบมาก ซึ่งส่งผลให้การท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยลดมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม” นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. แถลงผลการประชุมเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่สำนักงานสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการณ์เศรษฐกิจทั้งปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 5-6% จากเดิมที่ประการการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 1.5-2.5%
‘ทศพร ศิริสัมพันธ์’ เลขาธิการ สศช. ประเมินว่า แม้ว่าประเทศไทยจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และปรับเข้าสู่โหมดฟื้นฟูแล้ว แต่สถานการณ์ต่อจากนี้จะทำได้แค่ ‘ประคับประคอง’ เนื่องจากทั่วโลกเจอปัญหาพร้อมกันและยังไม่ฟื้นตัว
“ไตรมาส 2 ปีนี้น่าจะหนักที่สุด เพราะมันล็อคดาวน์หมด สนามบินปิด นักท่องเที่ยวเดินทางไม่ได้ และธุรกิจปิดแต่ขณะนี้เริ่มคลี่คลายขึ้น และหลังจากผ่านไตรสมาส 2 ไปแล้ว เมื่อเรามีมาตรการผ่อนคลาย สถานการณ์จะทุเลาลงไปได้ แต่เราคงใช้คำว่าประคองมากกว่า เพราะอาการครั้งนี้หนักหนามาก และเป็นกันทั่วโลก” นายทศพร กล่าวขณะรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา
(รายงานภาวะเศรษฐไทยโดย สศช.)
@วิกฤติความเชื่อมั่นจาก 'คดีบอส-บ่อนพระราม3'
นอกจากด้านการเมือง – เศรษฐกิจ ในหนึ่งแง่มุมรัฐบาลกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นของสังคม
ทั้งกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ที่แม้ว่าจะมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งจากอัยการ-ตำรวจ
แต่นายกรัฐมนตรี ยังตัดสินใจแต่งตั้ง ‘วิชา มหาคุณ’ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหัวหน้าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
เพื่อไขความจริงให้กระจ่าง และปูทางไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ
ไม่นับรวมกรณีล่าสุดกับเหตุยิงกันในบ่อนการพนันใจกลางกรุง ถนนพระราม 3 ซอย 66 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และหนึ่งในนั้นยังเป็นตำรวจระดับสารวัตร
แม้ว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะขีดเส้นตาย-เร่งรัดให้คณะทำงานหาตัวคนร้ายให้ได้ภายในวันที่ 10 ส.ค. แต่ปฏิเสธได้ยากว่าคดีนี้ ล้วนมีแต่คำถามและความเคลือบแคลงสงสัยจากสังคมไม่แพ้กัน
ทั้งปัญหาทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงจะขยายผลเป็นความขัดแย้ง วาระเศรษฐกิจที่รอการฟื้นฟูและแก้ไข รวมถึงวิกฤติความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็น ‘มรสุม’ ที่รัฐบาลในฐานะคณะผู้บริหารประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
และเป็นปัญหาที่ต้องร่วมกันฝ่า-ทำงานทันทีหลังจากที่ได้รับตำแหน่งของ ‘ครม.ประยุทธ์2/2’ ที่ล้วนแต่เป็นโจทย์ที่สังคมคาดหวัง และรอการพิสูจน์ผลงานในเวลานี้
ภาพจาก : เยาวชนปลดแอก , แนวหน้า , www.freepik.com
อ่านประกอบ :
เช็คสัญญาณพรรคการเมือง ตรวจจุดยืนวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ใครเป็นใคร? โพรไฟล์ 7 รมต.ป้ายแดง ครม.ประยุทธ์ 2/2
โปรดเกล้าฯ 7 รมต.ใหม่! ‘ดอน-สุพัฒนพงษ์’รองนายกฯ-‘เสี่ยแฮงค์-สุชาติ-นฤมล’มาตามโผ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage