"...ผลผลิตของโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชนได้ตามผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้ เช่น แนวเขตใหม่ของโครงการดังกล่าวพบความแตกต่างกับเส้นแนวเขตทรัพยากรป่าไม้ หากนำแนวเขตของโครงการเร่งด่วนฯ มาใช้จะมีทั้งกรณีที่รัฐ-ประชาชน อาจเสียประโยชน์..."
...............................................
หนึ่งในปัญหาที่แก้ไม่ตกสำหรับประเทศไทยคือ ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน มีความพยายามแก้ไขปัญหานี้เกิดขึ้นทุกยุคสมัย หนึ่งในโครงการความหวังเกิดขึ้นมาในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในชื่อว่า 'โครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้'
โครงการนี้เป็นโครงการจัดทำฐานข้อมูลแนวเขตที่ดินของรัฐให้เป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่แนวเขตไม่ตรงกัน นำผลลัพธ์ไปแก้ปัญหาแนวข้อพิพาทที่ดินและแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนต่าง ๆ
ภายใต้กรอบงบประมาณวงเงิน 2,256 ล้านบาท ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ตามสัญญาเลขที่ 0201.2/101/2552 เพื่อปฏิบัติงานตามโครงการวงเงิน 2,254 ล้านบาท โดยที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ใช้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อมฯ และให้ ทส.ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีชดเชยคืนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมฯเป็นรายปี โดยให้เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 เป็นต้นไป
สำหรับโครงการสำรวจแนวเขตป่าใหม่นี้ ทำขึ้นเพื่อดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลแนวเขตป่าไม้ของรัฐ ได้แก่ แนวเขตป่าสงวน แนวเขตอุทยานแห่งชาติ แนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และแนวเขตป่าชายเลน เป็นต้น และยังดำเนินโครงการเพื่ออนุรักษ์ พัฒนา และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ แบบมีส่วนร่วมของประชาคม โดยที่การจัดทำแนวเขตนี้จะต้องสอดคล้องกับกฎหมาย และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทั้งฐานข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศก่อนและหลังการประกาศกฎหมายแต่ละฉบับ รวมระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 910 วัน (1 ก.ย.52 - 29 ก.พ.55)
ในการทำโครงการดังกล่าวมีการท้วงติงจากหลายฝ่าย เกี่ยวกับขั้นตอนวิธีการทำโครงการและที่มาที่ไปของงบประมาณ รวมถึงผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้ว่าคุ้มค่าหรือไม่
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าตรวจสอบโครงการ และมีข้อสังเกตหลายประการ ดังนี้
สตง.พบว่า ผลผลิตของโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชนได้ตามผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้ เช่น แนวเขตใหม่ของโครงการดังกล่าวพบความแตกต่างกับเส้นแนวเขตทรัพยากรป่าไม้ หากนำแนวเขตของโครงการเร่งด่วนฯ มาใช้จะมีทั้งกรณีที่รัฐ-ประชาชน อาจเสียประโยชน์
ส่วนรายละเอียดของที่ตั้งหมุดภาคพื้นดิน (Description) พบว่า มีการตั้งอยู่ในพื้นที่เหมาะสมพร้อมสำหรับการใช้งาน 26 หมุด และอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมใช้งาน 12 หมุด อีกทั้งพบว่ากรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ยังไม่ได้รับมอบข้อมูลดังกล่าวในรูปแบบดิจิทัลไฟล์
ผลผลิตของโครงการเร่งด่วนฯ ขาดความถูกต้องเมื่อเทียบกับแผนที่ท้ายกฎหมาย หน่วยงานรับผิดชอบที่ดินของรัฐอื่น ๆ ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความถูกต้อง ไม่มีความเหมาะสม ไม่มีการลงพื้นที่ตรวจสอบภูมิประเทศจริง ทำให้ไม่เกิดการยอมรับ อีกทั้งไม่มีการดำเนินกิจกรรม ออกกฎหมายรับรองตามผลการปรับปรุงแนวเขตพื้นที่ป่าไม้
สตง.เสนอแนะว่า เพื่อให้ประเทศมีแนวที่ดินของรัฐที่ชัดเจน ให้รัฐมนตรีกระทวงยุติธรรมในฐานะประธานกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) เพื่อพิจารณาดำเนินการ 1.เร่งรัดผลักดันแผนที่บูรณาการมาตราส่วน 1:4000 ให้สำเร็จ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งเรื่องแนวเขต 2.เร่งรัดการทำแนวเขตป่าไม้ที่ปรับปรุงใหม่ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย
ในส่วนของโครงการเร่งด่วนฯ สตง.เสนอว่า 1.ส่งมอบหมุดหลักฐานภาคพื้นให้หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ 2.ส่งมอบตำแหน่งสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ป่าไม้ก่อนปี 2545 และหมุดหลักภาคพื้นดินในรูปแบบดิจิทัลไฟล์ 3.ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนทราบถึงบริการข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ 5 ชั้นปี ของโครงการ 4.ชี้แจงกรณีไม่ดำเนินการออกกฎหมายรับรองผลการปรับปรุงแนวพื้นที่ป่าไม้
นอกจากเรื่องผลลัพธ์ของโครงการแล้ว สตง.ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการคืนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมของโครงการเร่งด่วนฯนี้ พบว่า ที่ผ่านมา ทส. คืนเงินเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารจำนวน 198,844.52 บาท สำหรับเงินค่าดำเนินโครงการเร่งด่วนฯ จำนวน 2,163.16 ล้านบาท ที่ ทส.ต้องตั้งงบประมาณมาคืนตั้งแต่ปี 2554 พบว่าที่ผ่านมา 8 ปีงบประมาณ ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินคืนกองทุนสิ่งแวดล้อมฯแต่อย่างใด
ในส่วนนี้สตง.ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯให้ ทส. ตั้งงบประมาณรายปืคืนแก่กองทุนสิ่งแวดล้อมฯ ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป ต่อมาในปี 2557 , 2558 , 2559 ได้มีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับมติคณะกรรมกรรมสิ่งแวดล้อมไว้ กระทั่งปี2560 ก็ไม่ระบุรายละเอียดดังกล่าวไว้เช่นกัน
ขณะเดียวกันทาง สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สป.ทส.)ได้ชี้แจงว่า ได้รับแจ้งจากสำนักงบประมาณว่าตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติให้ ปลัด ทส. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้ให้กับกองทุนสิ่งแวดล้อมฯ และพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในมาตรา 22(4) กำหนดให้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อมฯ ประกอบด้วย เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นคราว ๆ และพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มาตรา 12 กำหนดว่า การจ่ายเงินเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อการใด ๆ ให้กระทำได้แต่โดยกฎหมาย ซึ่งการจะจัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนสิ่งแวดล้อมฯ เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ที่จะพิจารณาตามความจำเป็น โดยพิจารณาจากฐานะทางการเงินของกองทุนสิ่งแวดล้อมฯและกำลังเงินของแผ่นดิน เพื่อเสนอจัดสรรไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จึงเป็นเหตุให้กองทุนสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ได้รับการจัดสรรเงินคืนจากโครงการดังกล่าว
สตง.ได้เสนอแนะในส่วนนี้ว่า การที่กองทุนสิ่งแวดล้อมฯ ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินคืน ส่งผลกระทบให้ศักยภาพของกองทุนในการสนับสนุนเงินเพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมลดลง อีกทั้งการที่งบการเงินของกองทุนสิ่งแวดล้อมฯไม่ปรากฎรายละเอียดเกี่ยวกับมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2552 ไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ทำให้กองทุนสิ่งแวดล้อมฯ อาจเกิดความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินคืน อันจะส่งผลให้กองทุนสิ่งแวดล้อมฯไม่ได้รับเงินจำนวน 2,163.16 ล้านบาท มาจัดสรรให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปดำเนินโครงการ
สตง.เสนอให้ทางปลัดทส.สั่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอสภาพปัญหากองทุนสิ่งแวดล้อมฯ ที่ยังไม่ได้รับเงินคืนจำนวน 2,163.16 ล้านบาท เพื่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯหาแนวทางเร่งรัดการคืนเงินกองทุน
สำหรับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในชุดปัจจุบันมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
น่าจับตาก้าวต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร สำหรับโครงการที่ใช้งบประมาณประเทศ 2,256 ล้านบาท ที่ยังไม่เห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรม และปมปัญหาคืนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะจบอย่างไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ!
อ่านประกอบ :
8 ปี ทส.ยังไม่ได้ใช้คืน! สตง.ทวงเงินแก้ปัญหาบุกรุกป่า 2.1 พันล.ให้กองทุนสิ่งแวดล้อมฯ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage