สตง.เผยผลสอบโครงการแก้ปัญหาบุกรุกป่ายุครัฐบาล 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' หลัง กก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติปี 52 อนุมัติ ทส. ใช้เงิน 2,163 ล้านบาทจากกองทุนสิ่งแวดล้อม จัดทำแนวเขต-ฐานข้อมูลใหม่ ระบุ 8 ปีจ่ายคืนแค่ดอกเบี้ย 1.9 แสนบาท พบโครงการยังไม่ได้ใช้ เพราะอาจทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์
...............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สรุปผลการตรวจสอบการดำเนินโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ในยุคของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อปี 2552 ได้มีมติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยให้ใช้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อม 2,256 ล้านบาท และให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ชดเชยคืนเงินกองทุนฯเป็นรายปี โดยให้เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 เป็นต้นไป
โดยจากการตรวจสอบของ สตง. พบว่าที่ผ่านมา ทส. คืนเงินเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารจำนวน 198,844.52 บาท สำหรับเงินค่าดำเนินโครงการ จำนวน 2,163.16 ล้านบาท ที่ ทส.ต้องตั้งงบประมาณมาคืนตั้งแต่ปี 2554 พบว่าที่ผ่านมา 8 ปีงบประมาณ ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินคืนกองทุนฯแต่อย่างใด
ขณะที่สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่าได้รับแจ้งจากสำนักงบประมาณว่า ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติให้สำนักงานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้ให้กับกองทุนฯ และมาตรา 22 (4) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ยังกำหนดให้เงินกองทุนฯ ประกอบด้วย เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นคราวๆ และ พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491 มาตรา 12 กำหนดว่า การจ่ายเงินเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อการใดๆ ให้กระทำได้แต่โดยกฎหมาย ซึ่งการจะจัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนฯ เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลที่จะพิจารณาตามความจำเป็น โดยพิจารณาจากฐานะทางการเงินของกองทุนสิ่งแวดล้อม และกำลังเงินของแผ่นดินเพื่อเสนอจัดสรรไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจาปี ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้กองทุนฯ ไม่ได้รับการจัดสรรเงินคืนจากโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ สตง.เห็นว่า การที่กองทุนฯ ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินคืน ส่งผลกระทบให้ศักยภาพของกองทุนในการสนับสนุนเงินเพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมลดลง อีกทั้งการที่งบการเงินของกองทุนฯ ไม่ปรากฎรายละเอียดเกี่ยวกับมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2552 ไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ทำให้กองทุนฯ อาจเกิดความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินคืน อันจะส่งผลให้กองทุนฯไม่ได้รับเงินจำนวน 2,163.16 ล้านบาท มาจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆนำไปดำเนินโครงการ
สตง.จึงได้เสนอแนะ ให้ปลัด ทส. พิจารณาสั่งการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอสภาพปัญหาที่กองทุนสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินคืน จำนวน 2,163.16 ล้านบาท เพื่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาหาแนวทางเร่งรัดการคืนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กองทุนฯมีสภาพคล่อง สามารถจัดสรรเงินเพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
สำหรับโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ จัดทำขึ้นเพื่อดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลแนวเขตป่าไม้ของรัฐ ได้แก่ แนวเขตป่าสงวน แนวเขตอุทยานแห่งชาติ แนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และแนวเขตป่าชายเลน เป็นต้น นอกจากนั้นยังดำเนินโครงการเพื่ออนุรักษ์ พัฒนา และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ แบบมีส่วนร่วมของประชาคม โดยที่การจัดทำแนวเขตนี้จะต้องสอดคล้องกับกฎหมาย และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทั้งฐานข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศก่อนและหลังการประกาศกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่ง สตง.ตรวจสอบพบว่า โครงการดังกล่าว ยังไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และอาจทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์ เนื่องจกาแนวเขตที่จัดทำขึ้นตามโครงการนี้ มีความแตกต่างกับแนวเขตทรัพยากรป่าไม้ของกรมอุทนยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage