"...ขณะที่หลายฝ่ายก็คาดหวังอย่างสูงว่า กรณี เด็กหญิงในคณะทูต รวมไปถึงทหารอียิปต์ ที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายของไทย ที่จะต้องตระหนักและให้ความสำคัญเอาใจใส่กับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดมากขึ้นกว่านี้ เพราะความเสียหายที่จะตามมามันมีความรุนแรงยิ่งใหญ่อย่างมาก มันไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลขผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือการท่องเที่ยว แต่มันหมายถึง 'ชีวิตคนไทย' ที่อาจต้องสูญเสียไปจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้ายนี้เพิ่มเติม จากยอด 58 ราย ที่เราต้องสูญเสียไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา .."
สถานการณ์ไวรัสโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส กลับมาสร้างความวิตกกังวลให้กับคนในสังคมไทยอีกครั้ง!
หลังเกิดกรณี ทหารอียิปต์ และเด็กหญิงในคณะทูต ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยกรณีเด็กหญิงในคณะทูตซูดาน นั้น มีข้อมูลปรากฎว่า เดินทางมาพร้อมครอบครัวของคณะทูต รวม 5 คน โดยไม่มีมาตรการกักตัว 14 วัน ช่วงต้นไม่พบอาการของโควิด 19 แต่เมื่อนำตัวอย่างส่งตรวจพบว่ามีเชื้อ ทางบิดาจึงนำผู้ป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และนำสมาชิกที่เหลือไปพักที่คอนโดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
กรณีดังกล่าวส่งผลทำให้เรื่องธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูตของประเทศไทย ภายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ของประเทศไทย ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจจะเป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่ในประเทศก็เป็นได้
ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สืบค้นรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศต่างๆ พบว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในช่วงที่ผ่านมา ประเทศศรีลังกา ได้มีความพยายามจะแก้ไขปัญหาเรื่องระเบียบการทางการทูต เพื่อจะรับมือกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด แบบรัดกุมและเข้มงวดอย่างมาก
รายละเอียดมีดังต่อไปนี้
ประเทศศรีลังกา เป็นประเทศเกาะติดกับประเทศอินเดียที่มีผู้ติดเชื้อ 9 แสนคน อย่างไรก็ตาม ในประเทศศรีลังกา มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพียงแค่ 2,665 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 11 รายเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยกว่าประเทศไทยมาก
สาเหตุเป็นเพราะประเทศศรีลังกาได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อจะระงับการแพร่ระบาด เช่นการตรวจหาเชื้ออย่างเข้มข้น การกำหนดศูนย์กักกันโรคในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพื่อจะให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างได้ผล รวมถึงมาตรการบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่และครอบครัวบุคลากรทางการทูตของต่างประเทศด้วย
การสุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา (อ้างอิงวิดีโอจาก Times Online)
โดยเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการประธานาธิบดีศรีลังกาได้ออกมาตรการบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่และครอบครัวบุคลากรทางการทูตของต่างประเทศ เพื่อที่จะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ระบุรายละเอียดว่ากระทรวงว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของศรีลังกาได้ระบุว่าผู้ที่ต้องการจะเข้าประเทศศรีลังกาเพื่อทำภารกิจด้านการทูต ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากสหประชาชาติ เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่กงสุลกิตติมศักดิ์ที่มีที่พำนักอยู่ในกรุงโคลัมโบด้วยช่องทางการทูต ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลประเทศศรีลังกาเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ในทุกกรณี
โดยมาตรการของรัฐบาลที่จะบังคับใช้ต่อผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติภารกิจด้วยการทูตประกอบไปด้วย 6 ประการดังต่อไปนี้
1.ผู้ที่ต้องเข้ามาปฏิบัติภารกิจกิตติมศักดิ์ด้านการทูตประเทศศรีลังกา จะต้องแจ้งเตือนภารกิจให้กระทรวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยทราบด้วยข้อความ รายละเอียดที่ชัดเจนของทั้งตัวทูต และสมาชิกครอบครัวที่จะเดินทางเข้าประเทศ หรือกลับเจ้าประเทศศรีลังกาอีกครั้งหนึ่งด้วยภาคกิจทางด้านการทูต โดยจะต้องแจ้งล่วงหน้าเพื่อจะให้เวลากับทางการศรีลังกาได้พิจารณาคำร้องขอเจ้าทูต
2.ทีมงานเจ้าหน้าที่ทางการทูต และครอบครัวจำเป็นต้องส่งผลตรวจไวรัสด้วยการหาดีเอ็นเอของไวรัส หรือที่เรียกกันว่าการตรวจแบบ PCR (Polymerase Chain Reaction) จากประเทศต้นทางให้กับทางการศรีลังกา เพื่อตรวจสอบว่าติดไวรัสโควิด 19 หรือไม่ โดยผลตรวจ PCR จะต้องมีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนที่จะมาถึงทางการประเทศศรีลังกา
3. ถ้าหากทีมงานเจ้าหน้าที่ทางการทูต หรือครอบครัวไม่สามารถจะหาผลการตรวจจากประเทศต้นทางได้ เจ้าหน้าที่และครอบครัวจะต้องเข้าระเบียบรับการตรวจ PCR ที่สนามบินนานาชาติบันดารานายาเก กรุงโคลัมโบ ทุกกรณี
จุดสแกนอุณหภูมิที่สนามบินนานาชาติบันดารานายาเก กรุงโคลัมโบ (อ้างอิงรูปภาพจาก https://economynext.com)
4.หัวหน้าภารกิจคณะทางการทูตและครอบครัวจะต้องกักตัว 14 วันในสถานที่อันเป็นทางการ ส่วนเจ้าหน้าที่ทางการทูตรายอื่นๆรวมไปถึงครอบครัวที่ติดตามเข้าประเทศศรีลังกา ถ้าหากไม่สามารถจัดหาสถานที่พักที่มีลักษณะแยกต่างหากได้ ทางรัฐบาลจะดำเนินการจัดหาโรงแรมให้สำหรับกักตัว 14 วัน ซึ่งผู้พักอาศัยจะต้องปฏิบัติตามมาตรการของโรงแรมอย่างเคร่งครัด
โดยกระบวนการกักตัวนั้นจะเป็นความเห็นพ้องต้องกันกับหัวหน้าภารกิจทางการทูตที่จะทำหน้าที่ดูแลการกักตัวให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย
5.หัวหน้าภารกิจทางการทูต รวมไปถึงตัวแทนทางการทูตจำต้องทำหน้าที่แจ้งเตือนกระทรวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศศรีลังกา หลังจากที่กักตัว 14 วันเรียบร้อยแล้ว และจะต้องส่งผลการตรวจ PCR ที่กระทำโดยเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจทางการทูต แล้วหลังจากนั้นจึงจะสามารถปฏิบัติภารกิจทางการทูตต่อไปได้ ตามมาตรการที่หน่วยงานควบคุมภารกิจได้กำหนดเอาไว้เพื่อจะควบคุมและป้องกันการแพร่บาดไวรัสโควิด 19
6.ผู้ที่ปฏิบัติภารกิจทางการทูตจำเป็นต้องส่งแผนการเดินทางโดยละเอียดให้กับหัวหน้าหน่วยงานควบคุมภารกิจที่กระทรวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมงก่อนที่จะเดินทางออกนอกประเทศ
เมื่อย้อนกลับไปดูมาตรการของประเทศไทย ต่อกรณีเด็กหญิงในคณะทูตซูดาน มีข้อเท็จจริงปรากฎจากคำชี้แจงของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ว่า กรณีที่ลูกสาวอุปทูตประเทศซูดานประจำประเทศไทยติดเชื้อโควิด และคนในครอบครัวได้เข้าพักใน ONE X คอนโดมิเนียม กทม. นั้น จากการสอบสวนโรคทั้ง 5 คนได้ตรวจโรคและไม่พบเชื้อก่อนเดินทางมาถึงไทย กระทั่ง 10 ก.ค. ผู้ป่วยและครอบครัวเดินทางด้วยเที่ยวบิน MZ3277 ถึงไทยเวลา 05.40 น. มีคนไทยร่วมเดินทางมาด้วย 245 คน
เวลาประมาณ 09.25 น. ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัย เดินทางถึงที่พัก ขึ้นลิฟท์หมายเลข 3 และไม่ได้พูดคุยหรือใช้ลิฟท์ร่วมกับผู้อื่น กระทั่งเจ้าหน้าที่โทรศัพท์มารายงานผลว่าติดเชื้อโควิด จึงได้ประสานให้รถโรงพยาบาลมารับตัวไปรักษาเมื่อเวลา 11.38 น. ส่วนอุปทูตและครอบครัวเข้าพักในคอนโดดังกล่าวช่วงวันที่ 10-11 ก.ค. ทุกคนอยู่ในห้อง ไม่ได้ออกมาใช้บริการสระว่ายน้ำหรือฟิตเนส และมีเพียงผู้เป็นพ่อ ออกมาซื้ออาหาร 1 ครั้ง และลงมาเปลี่ยนรีโมทแอร์ 1 ครั้ง และต่อมา 12 ก.ค. เวลา 04.00 น. ทั้งหมดได้ย้ายไปบ้านพักสถานทูตซูดานที่ซอยสวนพลู
ทั้งนี้ จากการสำรวจสภาพสิ่งแวดล้อม ผู้ป่วยพักอยู่ที่ชั้น 19 ของโคดังกล่าว ในภาพรวมมีห้องพักรวม 329 ห้อง แต่มีผู้อาศัยจริง 200 ห้อง เป็นชาวต่างชาติ 70% ในพื้นที่มีลิฟท์ 3 ตัว และคอนโดนี้เคยมีผู้ติดเชื้อโควิดมาแล้ว 2 รายในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และได้ประกาศมาตรการป้องกันโรคโควิด จำกัดจำนวนคนเข้าลิฟท์ , ทำความสะอาดพื้นผิวสม่ำเสมอ การตรวจภาพจากกล้องวงจรปิดพบว่าลูกบ้าน 50% ไม่สวมหน้ากากอนามัย
สำหรับกรณีลูกสาวอุปทูตซูดาน มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด จำนวน 7 ราย คือ คนในครอบครัว 5 ราย คนขับรถ 1 ราย เจ้าหน้าที่สถานทูต 1 ราย ขณะเดียวกันมีผู้ที่สัมผัสมีความเสี่ยงต่ำ 15 ราย คือผู้ที่ใช้ลิฟท์หมายเลข 3 ต่อจากครอบครัวดังกล่าว
จากข้อมูลจะเห็นว่า มาตรการของประเทศไทย กับศรีลังกา มีความแตกต่างเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการกักตัว 14 วัน
ปัจจุบัน ที่ประชุม ศบค.มีมติให้ทบทวนการผ่อนคลายมาตรการกักกันของบุคคลในคณะทูต โดยเฉพาะคู่สมรส บิดามารดา หรือบุตร ต้องอยู่ในสถานกักตัวที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) เป็นเวลา 14 วัน เป็นทางการแล้ว
ขณะที่หลายฝ่ายก็คาดหวังอย่างสูงว่า กรณี เด็กหญิงในคณะทูต รวมไปถึงทหารอียิปต์ ที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายของไทย ที่จะต้องตระหนักและให้ความสำคัญเอาใจใส่กับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดมากขึ้นกว่านี้
เพราะความเสียหายที่จะตามมามันมีความรุนแรงยิ่งใหญ่อย่างมาก มันไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลขผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือการท่องเที่ยว
แต่มันหมายถึง 'ชีวิตคนไทย' ที่อาจต้องสูญเสียไปจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้ายนี้เพิ่มเติม จากยอด 58 ราย ที่เราต้องสูญเสียไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา
แค่คำว่า 'ขอโทษ' คำเดียว ไม่มีทางชดใช้อะไรได้!
เรียบเรียงจาก:http://www.newswire.lk/2020/06/05/6-revised-instructions-for-diplomats-on-covid-19-procedures/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage