"...อันที่จริง การผ่อนปรนมาตรการการปิดเมือง และการเข้าสู่ขั้นตอนของการฟื้นเศรษฐกิจ ควรจะต้องยึดจากข้อมูลการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด 19 การติดตามตัวผู้ติดเชื้อ และขีดความสามารถในการรักษาผู้ติดเชื้อของประเทศเป็นสำคัญ เพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้ออีกครั้งหนึ่ง แต่การจะทำให้ได้ทั้งหมดนั้นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในหลายสิ่งหลายอย่าง นับตั้งแต่ในระดับรัฐบาล ร่วมมือกับภาคส่วนเอกชนต่างๆ ไปจนถึงในระดับพลเมือง ที่จะต้องมีวินัยในการสวมใส่หน้ากากอนามัยและการกักตัวเองเมื่อรู้ว่ามีอาการป่วยอันเกี่ยวกับไวรัสโควิด 19..."
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสหรือโควิด 19 ในอาเซียนยังคงทวีความรุนแรงในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ ที่ ณ เวลานี้ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันแซงหน้าประเทศอินโดนีเซียที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดในอาเซียนมาได้ประมาณ 3-4 วันแล้ว (ณ 8 ก.ค.2563 ฟิลิปปินส์ มีผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งสิ้น 1,540 ราย)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สืบค้นรายงานจากสื่อต่างประเทศ พบข้อมูลว่าในช่วงเดือน พ.ค. สำนักข่าว Diplomat ของสหรัฐอเมริกา ได้เคยนำเอาบทความของนายโรนัลด์ ยู เมนโดซ่า ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันการจัดการแห่งเอเชีย ประจำกรุงมะนิลา ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเชิงวิเคราะห์ปัญหาด้านระบบสาธารณสุข พร้อมทั้งหนทางที่ประเทศฟิลิปปินส์ควรจะดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด 19
นายโรนัลด์ ยู เมนโดซ่า ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันการจัดการแห่งเอเชีย ประจำกรุงมะนิลา (อ้างอิงรูปภาพจาก:https://www.australia.cmu.edu/about/events/event/5651)
สำนักข่าวอิศรา เห็นว่าข้อมูลมีความน่าสนใจในหลายส่วน จึงได้นำบทความดังกล่าวมานำเสนอต่อ มีรายละเอียดดังนี้
@ มาตรการแบบมีดผ่าตัด - ขวาน
ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกได้พยายามที่จะออกมาตรการต่างๆเพื่อลดการติดเชื้อโควิด -19 การดำเนินนโยบายทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม และการปิดเมือง ของ ประเทศฟิลิปปินส์ ก็ดูจะไม่มีอะไรแตกต่างกันมากนัก ต่อสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศ
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าระบบข้อมูลองค์รวมของระบบสาธารณสุข และระบบป้องกันโรคติดต่อของประเทศฟิลิปปินส์ ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและข้อมูลยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร
จึงทำให้ฟิลิปปินส์ไม่สามารถจะออกมาตรการที่มีลักษณะในรูปแบบของ 'มีดผ่าตัด' อาทิ การปิดเมืองแบบเลือกพื้นที่ การเว้นระยะห่างทางสังคม และมาตรการอื่นๆที่จะแก้ไขปัญหาการระบาดได้อย่างตรงจุด
ซึ่งการขาดข้อมูลนี้ ทำให้ฟิลิปปินส์ซึ่งมีระบบข้อมูลด้านสุขภาพที่อ่อนแออยู่แล้ว จำต้องเลือกใช้มาตรการในรูปแบบของ 'ขวาน' ซึ่งก็คือ การปิดเมืองในหลายๆจุดแบบขาดข้อมูล
ถ้าเทียบกับประเทศจีน ที่พยายามจะออกมาตรการปิดเมืองในส่วนที่เป็นต้นกำเนิดของการแพร่ระบาด หรือ ประเทศเวียดนาม ที่พยายามจะปิดเมืองอย่างเด็ดขาดตั้งแต่ตอนต้นของการแพร่ระบาด
มาตรการปิดเมืองของประเทศฟิลิปปินส์ดูจะรุนแรงกว่าประเทศเวียดนามและประเทศจีนเป็นอย่างมาก
เมื่อระบบสาธารณสุขมีความอ่อนแอ ก็ส่งผลทำให้การช่วยชีวิตของผู้ป่วยจากโรคโควิด 19 ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมีทางเลือกที่จำกัดมากขึ้นตามไปด้วย
@ ความหนาแน่นของประชากรที่ค่อนข้างสูง
ปัญหาอีกประการที่เป็นปัจจัยลบผนวกกับระบบสาธารรสุขที่ย่ำแย่ของประเทศ ก็คือ ปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนฟิลิปปินส์ ที่มีความหนาแน่นของประชากรที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพื้นที่สลัมในตัวเมือง ที่ทำให้ง่ายต่อการติดโรคระบาดเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น เมื่อประเทศฟิลิปปินส์ได้ออกมาตรการปิดเมือง จึงทำให้สถานการณ์ติดเชื้อเลวร้ายลงไปอีก
ในประเทศฟิลิปปินส์ มีความเหลื่อมล้ำกันค่อนข้างมาก ทั้งในประเด็นเรื่องการได้รับบริการจากระบบสาธารณสุขและการเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารต่างๆของประชาชน (ความแตกต่างของกลุ่มประชาชนที่จะสามารถทำงานออนไลน์ที่บ้านได้ และกลุ่มที่จะไม่มีงานทำ)
ซึ่งประเด็นนี้ทำให้สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศในช่วงต้นของการระบาดมีความรุนแรงอย่างมาก
หลังจากนี้ หนทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดของประเทศก็คงจะเป็นการลงทุนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบสาธารณสุข ทั้งในระยะกลางและระยะยาว น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่ฟิลิปปินส์ควรจะทำเพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้
ทั้งนี้ การเสริมสร้างระบบสาธารณสุขเพื่อให้ตอบสนองต่อวิกฤติไวรัสโควิด 19 ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องดูแลและป้องกันทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น
แต่ยังหมายถึงการช่วยเหลือสถานพยาบาลที่มีรายได้น้อยเพื่อไม่ให้รับภาระค่าใช้จ่ายมากจนเกินไปด้วย
ซึ่งก่อนหน้าวิกฤติโควิด 19 มีรายงานบ่งชี้ว่าหลายโรงพยาบาลในประเทศฟิลิปปินส์ ต้องเจอกับปัญหาด้านการคลัง และมีบางโรงพยาบาลที่ถูกตัดงบประมาณ เพราะระบบสาธารณสุขไม่สามารถดูแลไหว
จึงทำให้โรงพยาบาลเหล่านี้ต้องตัดการให้บริการบางอย่างและต้องตัดสินใจเลิกจ้างบุคลากร เพื่อที่จะลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งสิ่งนี้ได้กลายเป็นผลร้ายต่อสถานการณ์โรคระบาดในเวลาต่อมา
อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.thailandmedical.news/news/philippines-reports-that-nine-doctors-have-died-from-covid-19-and-many-more-infected
@ มาตรการการปิดเมือง -การเข้าสู่ขั้นตอนฟื้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ มีรายงานว่าฟิลิปปินส์ได้ตัดสินใจที่จะผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองบางส่วนในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
อันที่จริง การผ่อนปรนมาตรการการปิดเมือง และการเข้าสู่ขั้นตอนของการฟื้นเศรษฐกิจ ควรจะต้องยึดจากข้อมูลการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด 19 การติดตามตัวผู้ติดเชื้อ และขีดความสามารถในการรักษาผู้ติดเชื้อของประเทศเป็นสำคัญ เพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้ออีกครั้งหนึ่ง
แต่การจะทำให้ได้ทั้งหมดนั้นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในหลายสิ่งหลายอย่าง
นับตั้งแต่ในระดับรัฐบาล ร่วมมือกับภาคส่วนเอกชนต่างๆ ไปจนถึงในระดับพลเมือง ที่จะต้องมีวินัยในการสวมใส่หน้ากากอนามัยและการกักตัวเองเมื่อรู้ว่ามีอาการป่วยอันเกี่ยวกับไวรัสโควิด 19
และอีกปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต้องมีในการผ่อนปรนมาตรการการปิดเมืองเพื่อเฝ้าระวังไวรัสโควิด 19 ก็คือ การมีระบบสาธารณสุขที่มีความเข้มแข็งเพื่อจะครอบคลุมกับความต้องการของประชาชน เพื่อที่จะลดความเสี่ยงที่จะมีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง
หรือพูดง่ายๆ ก็คือการมีระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง เป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้ในระดับหนึ่งว่า เมื่อมีการผ่อนปรนและเข้าสู่ขั้นตอนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว สถานการณ์จะไม่กลับไปเลวร้ายอีก
มิฉะนั้น การประกาศเข้าสู่ขั้นตอนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเป็นสิ่งที่สร้างความตื่นกลัวและความไม่แน่นอน มากกว่าที่จะเป็นการฟื้นฟูจริงๆ
โดยเฉพาะถ้าหากภาคนักลงทุนและผู้บริโภคยังคงอยู่ในโหมดของการเอาตัวรอด และต้องใช้ชีวิตด้วยความกลัวว่าสถานการณ์จะกลับไปเลวร้าย เนื่องจากความไม่เชื่อมั่นในระบบสาธารณสุข ก็จะไม่มีอะไรที่ดีขึ้นมาเลย
ดังนั้น วิกฤติไวรัสโควิด 19 จึงถือว่าเป็นสิ่งที่เปิดโปงจุดอ่อนในระบบสาธารณสุข และระบบป้องกันโรคของประเทศฟิลิปปินส์อย่างแท้จริง
แต่ในทางกลับกันแล้ว มันได้กลายเป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนฟิลิปปินส์ให้กลับมาทบทวนถึงการปรับโครงสร้างและปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศทั้งหมดด้วยเช่นกัน
เรียบเรียงจาก: https://thediplomat.com/2020/05/fighting-covid-19-in-the-philippines-the-scalpel-vs-the-axe/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage