"...แม้แต่ในประเทศที่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ได้อย่างดี ความท้าทายประการหนึ่งก็คือ ประเทศเหล่านี้จะยังคงระดับการ์ดการป้องกันของตัวเองต่อไปได้เรื่อยๆ พร้อมกับปรับรูปแบบการใช้ชีวิตแบบใหม่ได้หรือไม่ ..."
ในช่วงเดือน มิ.ย.2563 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น นับเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัสทั่วโลก กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง โดยเฉพาะในหลายประเทศที่ดูเหมือนจะควบคุมการระบาดได้แล้ว ก็กลับมามีการระบาดใหม่อีก จนกล่าวได้ว่ามีบางประเทศเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 2 แล้ว ขณะที่บางประเทศ ก็ยังคงมีการระบาดจำนวนมาก และยังคงมีการระบาดอยู่อย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นภาพสถานการณ์การแพร่บาดของเชื้อโรคโควิด 19 ในปัจจุบันมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมรายงานจากสื่อต่างประเทศตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อประมวลสถานการณ์เกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด โดยจำแนกกลุ่มประเทศให้ชัดเจนว่า ประเทศใดที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ ประเทศใดที่กำลังเข้าสู่การแพร่ระบาดที่ระลอก 2 บ้าง โดยมีรายละเอียดดังนี้
@ประเทศที่ยังมีการระบาดขึ้นอย่างรวดเร็ว
สหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกา ยังถือว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิดสูงที่สุดในโลก
โดยเริ่มมาตั้งแต่การระบาดในช่วงแรก ที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และช่วงเวลาไม่กี่วันตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ทะลุ 40,000 รายต่อวัน และนับจากนั้นแนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่มาของการระบาดนั้นมาจากกลุ่มติดเชื้อใหม่ในรัฐอริโซน่า รัฐเท็กซัส และรัฐฟลอริดา
อย่างไรก็ดี หากจะตั้งเกณฑ์การระบาดระลอก 2 ว่า จะเป็นต้องประเทศที่เคยมีการระบาด จนกระทั่งตรวจไม่พบเชื้อในประเทศแล้ว ก่อนที่จะกลับมามีการตรวจพบการแพร่ระบาดของเชื้อใหม่อีกครั้ง
การแพร่ระบาดที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐฯ ขณะนี้ ไม่ถือว่าเป็นการระบาดในระลอก 2 แต่อย่างใด
แต่การแพร่ระบาดที่เพิ่มสูงขึ้นมากในขณะนี้ เป็นผลมาจากการที่หลายรัฐ เลือกที่จะผ่อนปรนมาตรการปิดเมือง และมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่เร็วเกินไป
บราซิล
ขณะที่ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นอีกประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 1 ล้านราย ก็ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างเซาโปโล และริโอ เดอจานีโร นับเป็นเมืองที่ประสบกับความรุนแรงของสถานการณ์มากที่สุด
อย่างไรก็ดี ในเมืองใหญ่ของบราซิล ปัจจุบันมีการตรวจหาไวรัสโควิด 19 จำนวนน้อยมาก ดังนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อจริงนั้นอาจจะมีมากกว่าที่ปรากฏเป็นข่าวก็ได้
หลุมฝังศพหมู่ในประเทศบราซิล (อ้างอิงวิดีโอจากช่องโกลบอลนิวส์)ฃ
อินเดีย
ทั้งนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบราซิลนั้น ก็เกิดขึ้นกับประเทศอินเดียด้วย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ของอินเดียเคยพุ่งสูงถึง 15,000 ราย ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของอินเดีย ก็คือ การตรวจหาเชื้อโควิดจำนวนน้อย ในบางรัฐของอินเดียซึ่งมีความหนาแน่นของประชากรเป็นจำนวนมาก ปัญหาการตรวจเชื้อโควิด 19 ที่น้อยดังกล่าว จึงนำไปสู่วิกฤติที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ นพ.เดวิด นาบาร์โร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับไวรัสโควิด 19 องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้กล่าวยอมรับว่า ไวรัสโควิด 19 นั้นเป็นโรคที่มีความอันตรายสำหรับคนยากจน โดยเฉพาะในชุมชนแออัดของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการระบาดสูงสุด
เพราะวิถีการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ค่อนข้างจะแออัด และเป็นการยากที่จะเว้นระยะห่างทางสังคม ระบบประปาที่ยังเข้าไม่ถึงก็ทำให้การล้างมือนั้นเป็นเรื่องยาก
เช่นเดียวกับ ชนเผ่าพื้นเมืองอเมซอนในประเทศบราซิลเองก็ประสบปัญหาในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข หรือในบางพื้นที่ก็ไม่มีระบบสาธารณสุขเลย
เม็กซิโก
ส่วนสถานการณ์ในประเทศเม็กซิโกนั้น ก็ยังน่าเป็นห่วง เพราะว่าในการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ที่ประเทศเม็กซิโก พบว่ามีผู้ติดเชื้อถึงจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของการตรวจหาเชื้อ ซึ่งอัตราการตรวจและพบผู้ติดเชื้อที่ประเทศเม็กซิโกนั้นถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่มากกว่าจุดแพร่ระบาดอื่นๆอย่างเช่นที่เมืองนิวยอร์ก หรือทางตอนเหนือของประเทศอิตาลีในช่วงเวลาที่สถานการณ์การระบาดเลวร้ายที่สุด
และปัญหาอีกประการก็คือการขาดแคลนชุดป้องกันการติดเชื้อหรือชุดพีพีอีอย่างรุนแรงในบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ที่เม็กซิโก เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณยังมีจำนวนที่น้อย
เอกวาดอร์
ส่วนที่ประเทศเอกวาดอร์ สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศก็เลวร้ายถึงที่สุดเช่นกัน
โดยขณะนี้มีรายงานว่าต้องมีการทิ้งศพของผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก เพราะว่าทางการไม่สามารถจะรับมือกับสถานการณ์การติดเชื้อได้ อีกทั้งห้องแล็บในประเทศก็ยังประสบกับปัญหาการขาดแคลนสารเคมีที่จำเป็นต้องใช้ในการตรวจหาเชื้อโคโรนาไวรัส
สถานการ์โควิดในประเทศเอกวาดอร์(อ้างอิงวิดีโอจากช่องสกายนิวส์)
โดยประเทศอย่างเอกวาดอร์นั้น มีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างจะอ่อนแออยู่แล้ว การออกมาตรการปิดเมืองเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อนั้นถือเป็นภาระที่ใหญ่หลวงมากสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา
ซึ่ง นพ.เดวิด นาบาร์โร เชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับไวรัสโควิด 19 องค์การอนามัยโลก ระบุว่า การลดจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเหล่านี้นั้นเป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนจากต่างประเทศนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
"ก่อนที่สถานการณ์แพร่ระบาดจะลุกลามจนเกินการควบคุม ยังมีความท้าทายอีกประการหนึ่งก็คือ ในตอนนี้อาจจะมีบางประเทศที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยอยู่เช่นประเทศในแถบแอฟริกา แต่ความเป็นจริงแล้วประเทศเหล่านี้ยังขาดระบบสาธารณูปโภคและสิ่งที่จำเป็นในการตรวจหาผู้ติดเชื้อ จึงทำให้เป็นอุปสรรคและไม่ทราบแน่ชัดเลยว่าประเทศเหล่านี้มีผู้ติดเชื้อที่แท้จริงเท่าไร หรือมีการระบาดไปแล้วหรือไม่"
นพ.เดวิด นาบาร์โร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับไวรัสโควิด 19 องค์การอนามัยโลก (อ้างอิงรูปภาพจาก https://economictimes.indiatimes.com)
@สถานการณ์การระบาดระลอกที่ 2
ขณะที่ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศประเทศหมู่เกาะ ก็เป็นอีกปัจจัยบวกที่สำคัญในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค อีกทั้งการมีรัฐบาลของนางจาซินด้า อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ที่ใช้วิธีการควบคุมการระบาดอย่างเข้มข้นและได้ผล ทำให้ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกันถึง 24 วัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ช่วงเวลาที่นิวซีแลนด์ไม่มีผู้ติดเชื้อได้ยุติลงแล้ว เมื่อมีการตรวจพบพลเมืองของประเทศที่กลับมาจากต่างประเทศติดเชื้อจำนวนมาก
ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นก็คล้ายกับที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่แม้จะมีความพยายามในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตามตัวผู้ติดเชื้อ จนทำให้มีผู้ติดเชื้อใหม่มีจำนวนที่น้อยมาก และไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกันเป็นระยะเวลาถึง 3 วัน แต่ในที่สุดก็เกิดการระบาดระลอก 2 ขึ้นเป็นทางการ
เมื่อพบว่ามีกลุ่มผู้ติดเชื้อใหม่ที่มาจากไนต์คลับย่านอิแทวอน ในกรุงโซล ของเกาหลีใต้
ซึ่งขณะนี้ มีรายงานว่านายกเทศมนตรีเมืองโซลได้ออกประกาศแล้วว่า ถ้าหากมีกรณีของการติดเชื้อใหม่เกิน 30 รายต่อวัน กรุงโซลก็จะต้องกลับไปใช้มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมทันที
เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ซึ่งแม้ว่าการระบาดจะยังไม่เข้าสู่ระยะที่ 2 อย่างเป็นทางการ เพราะยังคงมีผู้ติดเชื้อในเมืองหลวงอย่างต่อเนื่อง
โดยในช่วงกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในกรุงโตเกียวเหมือนว่าจะควบคุมได้แล้ว มีบางวันที่มีผู้ติดเชื้อใหม่อยู่แค่ในจำนวนหลักหน่วย จึงทำให้มีการประกาศยกเลิกมาตรการรับมือกับโรคโควิด 19 นับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.เป็นต้นมา
แต่ในช่วงวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อจากย่านสถานบันเทิงในชินจูกุ ทำให้โตเกียวกลับมามีผู้ติดเชื้อในจำนวนที่สูงขึ้นถึง 48 ราย และจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันของโตเกียวก็มีความผกผันตลอด
จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. โตเกียวมีผู้ติดเชื้อใหม่จำนวน 54 ราย ซึ่งจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ดังกล่าวนั้นทำให้ทางการกรุงโตเกียวต้องออก 7 หลักเกณฑ์การประเมิน อาทิ การประเมินจำนวนผู้ป่วยที่มีความรุนแรง ความสามารถในการตรวจไวรัส และขีดความสามารถในการรับผู้ป่วยของโรงพยาบาล เพื่อนำเกณฑ์เหล่านี้มาใช้ประเมินว่าโตเกียวจะออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ใหม่หรือไม่
ส่วนที่ประเทศจีนนั้นถือว่าเข้าสู่การระบาดระยะที่ 2 อย่างเป็นทางการแล้วเช่นกัน
เพราะนับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมานั้นประเทศจีนไม่ปรากฎผู้ติดเชื้อในประเทศแม้แต่รายเดียว แต่ในช่วงวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลับมีรายงานการติดเชื้อจากตลาดอาหารซินฟาตี้ในกรุงปักกิ่งจำนวน 36 ราย และหลังจากนั้น กรุงปักกิ่งก็กลายเป็นแหล่งที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อใหม่เป็นระยะ
โดยทางรัฐบาลจีนในขณะนี้ กำลังพยายามทำงานแข่งกับเวลาให้เร็วที่สุดเพื่อจะตรวจสอบว่ามีกรณีผู้ติดเชื้อจากตลาดอาหารแห่งนี้เป็นจำนวนที่แท้จริงเท่าไรกันแน่ ก่อนที่เชื้อจะส่งต่อไปยังคนหมู่มาก จนควบคุมไม่ได้
เช่นเดียวกับ ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งแม้ว่าในหลายเมืองของประเทศออสเตรเลียนั้นจะมีการประกาศเป็นพื้นที่ปลอดไวรัสแล้ว
แต่ปรากฏว่าที่เมืองเมลเบิร์น ในรัฐวิกตอเรีย กลับมีรายงานการติดเชื้อใหม่อยู่ที่ 13 รายโดยเฉลี่ย และยอดตัวเลขการติดเชื้อดังกล่าวพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 36 รายในช่วงวันที่ 1 ก.ค.
ขณะที่รัฐวิกตอเรียเองตอนนี้ก็มีผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ที่ ใหม่อยู่ที่ 73 ราย ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าสาเหตุที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อนั้นเพิ่มสูงขึ้นก็เป็นเพราะการใช้ชีวิตของครอบครัวและการรวมกลุ่มกันของผู้คนในชานเมือง
ซึ่งขณะนี้ทางด้านรัฐบาลท้องถิ่นรัฐวิกตอเรียก็ได้พยายามควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสแล้ว โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เคาะประตูตามบ้านหลังต่างๆเพื่อสอบถามอาการป่วย และดำเนินการตรวจเพื่อหาตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงว่ามีจำนวนเท่าไรกันแน่
ล่าสุด นพ.เดวิด นาบาร์โร เชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับไวรัสโควิด 19 องค์การอนามัยโลก ได้สรุปสถานการณ์ของไวรัสว่า แม้แต่ในประเทศที่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ได้อย่างดี ความท้าทายประการหนึ่งก็คือ ประเทศเหล่านี้จะยังคงระดับการ์ดการป้องกันของตัวเองต่อไปได้เรื่อยๆ พร้อมกับปรับรูปแบบการใช้ชีวิตแบบใหม่ได้หรือไม่
หรือสรุปง่ายๆก็คือ จนกว่าวันที่จะมีการคิดค้นวัคซีนรักษาโรคโควิด 19 ที่มีประสิทธิภาพและผลิตวัคซีนดังกล่าวได้เพียงพอกับความต้องการในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดแล้ว
ไม่มีประเทศใดที่จะมีความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นเอง
เรียบเรียงจาก:https://news.cgtn.com/news/2020-06-13/Beijing-Xinfadi-wholesale-market-closed-to-curb-coronavirus-RhoNZemXlK/index.html,https://www.bbc.com/news/health-53210553,https://english.kyodonews.net/news/2020/06/a786d3495372-urgent-tokyo-confirms-48-new-coronavirus-infections-source.html
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage