“...ผมกับท่านเลขาฯ (นายสนธิรัตน์) ร่วมกันจัดตั้งพรรคนี้ และสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ตามลำดับ ซึ่งของพรรคการเมืองไม่มีที่สิ้นสุด เราทำมาได้ระดับหนึ่ง มีรัฐบาลตามที่มุ่งหวัง ส่วนวันข้างหน้าก็ต้องดูกันต่อไป นายอุตตม กล่าวก่อนร่วมประชุมพรรค...”
“วันนี้ถือเป็นวันที่เราเริ่มต้นกันในการสร้างพรรคให้เกิดความเข้มแข็งที่ดี มีองค์กรที่ชัดเจนในการที่จะทำงานให้กับพวกท่าน ผมจะนำพาพรรคให้เกิดความเข้มแข็งไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตลอดไป”
เป็นคำยืนยันผ่านคลิปวีดีโอของ ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ รองนายกรัฐมนตรี ในวันที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ พร้อมแต่งตั้งกรรมการบริพรรครวม 27 คน (ข่าวประกอบด้วย : ตามคาด!มติ พปชร.เลือก'บิ๊กป้อม'นั่งหัวหน้า'อนุชา'เลขาฯพ่วง กก.บริหารชุดใหม่รวม 27 คน)
(อนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรค แถลงข่าวหลังได้รับตำแหน่ง)
เช่นเดียวกับ ‘อนุชา นาคาศัย’ ที่ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรค ทำหน้าที่ขุนพลข้างกาย พล.อ.ประวิตร ประกาศตัวพร้อมทำงานให้พรรค เพื่อเดินหน้าคู่ขนานกับรัฐบาลอย่างเต็มที่
“ผมได้รับเลือกให้เป็นเลขาฯ ไม่ใช่เพราะว่าอยู่กลุ่มก๊วนการเมือง หรือหวังผลว่าจะได้ตำแหน่งอะไร ผมมันคนทำงาน ไม่ใช่นักพูด เป็นพวกนักคิด นักปฏิบัติ ขอทำงานให้ดีที่สุดก็พอ” นายอนุชา กล่าว
การประชุมใหญ่ครั้งนี้ ชื่อของ ‘พล.อ.ประวิตร’ ถูกเสนอ-ได้รับเลือกแบบ ‘ไร้คู่แข่ง’ เช่นเดียวกับกรรมการบริหารอีก 26 คน ที่ล้วนแต่เป็น ‘กรรมการชุดเก่า’ แต่ได้รับตำแหน่งใหม่อย่างครบถ้วน
อย่างไรก็ตามการประชุมใหญ่สามัญ เพื่อคัดเลือกหัวหน้าพรรค ‘แคนดิเดตหัวหน้า’ ไม่ได้เดินทางมาด้วย
ซึ่ง ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ยืนยัน เรื่องนี้ไม่มีนัยยะสำคัญ และ พล.อ.ประวิตร ต้องการให้ ‘อิสระ’ กับสมาชิกพรรคทุกคนในการพิจารณาเลือกหัวหน้าพรรค และไม่ปิดโอกาสหากจะมีการเสนอชื่อบุคคลอื่นด้วย
“ในการประชุมครั้งก่อน พรรคได้แก้ไขข้อบังคับไปแล้ว ทำให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นหัวหน้าพรรคไม่จำเป็นต้องเดินทางมาร่วมประชุม ซึ่งเป็นการดำเนินการเช่นเดียวกับ การเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ได้เดินทางเข้าสภาเช่นกัน”
“ท่าน พล.อ.ประวิตร ให้อิสระกับสมาชิกทุกคนให้ใช้ดุลพินิจในการเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการชุดใหม่ วันนี้ต้องยอมรับว่าท่านอยู่สูงเกินกว่าที่จะเป็นหัวหน้าพรรค และเราไปขอร้องให้ท่านลงมาเป็นหัวหน้า แค่นี้ก็ถือว่าเสียสละเพื่อบ้านเมืองพอแล้ว” นายไพบูลย์ กล่าว
(อุตตม สาวนายน และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์)
ขณะที่ ‘อุตตม สาวนายน’ รมว.คลัง และ ‘สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์’ รมว.พลังงาน ปรากฏตัวทำหน้าที่ ‘หัวหน้า-เลขาฯ’ ครั้งสุดท้าย หลังกล่าวเปิดประชุมและดำเนินการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ พวกเขาก็เดินทางกลับทันที โดยไม่ได้รอฟังมติที่ประชุมแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ ‘อุตตม’ ตอบคำถามเพียงสั้นๆ เกี่ยวกับการทำหน้าที่ในพรรคพลังประชารัฐ ว่ามีสิ่งใดที่เขาอยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา
เขาบอกว่า “ผมกับท่านเลขาฯ (นายสนธิรัตน์) ร่วมกันจัดตั้งพรรคนี้ และสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ตามลำดับ ซึ่งของพรรคการเมืองไม่มีที่สิ้นสุด เราทำมาได้ระดับหนึ่ง มีรัฐบาลตามที่มุ่งหวัง ส่วนวันข้างหน้าก็ต้องดูกันต่อไป”
ด้าน ‘ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ’ รมว.ศึกษาธิการ และ ‘พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์’ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำทีม ส.ส.กทม. เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง
‘ณัฏฐพล’ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรคครั้งนี้ว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในพรรคการเมือง การเมืองได้ดีระดับหนึ่ง และเมื่อถึงเวลาก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง
ขณะที่ ‘พุทธิพงษ์’ ยืนยัน แม้ชื่อหัวหน้าพรรคจะเป็นทหาร แต่ ‘พลังประชารัฐ’ ไม่ใช่ ‘พรรคทหาร’ เพราะพรรคเดินทางมาถึงวันนี้ ล้วนแต่ผ่านเส้นทางประชาธิปไตยเหมือนกับทุกพรรคการเมือง
“ผมว่าเราเดินเลยจุดที่ต้องมาพูดเรื่องสืบทอดอำนาจ วันนี้ทุกคนผ่านการเลือกตั้งมาทั้งนั้น แม้แต่เลือกกรรมการบริหารพรรค เรายังใช้วิธีการเลือกตั้ง ไม่ใช่แต่งตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการตามประชาธิปไตย” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่าชื่อของ พล.อ.ประวิตร จะแก้ปัญหารอยร้าวภายในพรรคได้หรือไม่ ‘พุทธิพงษ์’ บอกว่า แม้ ส.ส.จะมาจากหลายกลุ่ม แต่บุคลิกและวิธีทำงานของ พล.อ.ประวิตร จะทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น
“วันนี้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า พล.อ.ประวิตร ท่านมีนิสัยน่ารัก เข้ากับทุกคนได้ดี ผมเชื่อว่าทุกคนในพรรคให้ความเกรงใจท่าน แม้ว่าเราจะมาจากหลายกลุ่ม เป็น ส.ส.จากหลายภูมิภาค แต่ท่านเป็นคนกลางที่จะทำให้พวกเราได้พูดคุยกันในพรรคได้มากขึ้น” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
(พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ)
ขณะที่ ‘ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า’ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ พรรคจำเป็นต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง กล้าตัดสินใจเดินหน้าเพื่อประเทศ และชื่อของ พล.อ.ประวิตร ตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว
“ส่วนตัวผมมองว่าจะทำให้พลังประชารัฐเป็นหนึ่งเดียวกัน ส่วนอดีตหัวหน้าพรรค และเลขาฯ ท่านเป็นสุภาพบุรุษ เราเข้ามาเล่นการเมือง เมื่อถึงเวลาไปก็ต้องไป” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว
เมื่อถูกถามย้ำถึงความสัมพันธ์กับ ‘กลุ่ม 4 กุมาร’ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวย้ำ “เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละท่าน เราไม่ไปก้าวล่วง ผมคุยกับทุกคน และวางตัวเป็นกลาง ผมอยู่กลุ่มพรรคพลังประชารัฐ พูดอย่างนี้ชัดเจนใช่หรือไม่”
(สุชาติ ชมกลิ่น ประธาน ส.ส.)
ด้านประธาน ส.ส. อย่าง ‘สุชาติ ชมกลิ่น’ เชื่อว่า การมาของ ‘พล.อ.ประวิตร’ ช่วยทำให้พรรคเป็นปึกแผ่น ถือเป็น ‘ศูนย์รวมจิตใจ’ ของทุกคน และเชื่อว่าจะหล่อหลอมกให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้การทำงานจากนี้ ‘ไม่มีร้อยร้าว’
เงื่อนไขพิเศษที่ ‘พล.อ.ประวิตร’ จะรับตำแหน่ง ทุกขั้ว ‘ห้ามมีกลุ่ม’ ป้องกันการต่อรองทางการเมือง แต่ให้ ‘มีแกน’ เพื่อช่วยกันพาพรรคเดินต่อไปข้างหน้า
“ท่านบอกว่าขอให้ทุกคนอยู่ด้วยกันทำเพื่อประเทศชาติ ทุกอย่างจบแล้ว เป็นข้อตกลงร่วมกันว่า ถ้า พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรค ต้องห้ามมีกลุ่ม และขอให้ทุกคนที่ไปเชิญท่านเป็นแกนหลักในการทำงานให้กับพรรค” นายสุชาติ กล่าว
เขาเชื่อว่า หลังจากนี้การขับเคลื่อนระหว่าง ‘พลังประชารัฐ-รัฐบาล’ จะทำงานได้อย่างคล่องตัว เพราะ พล.อ.ประวิตร รับผิดชอบการทำงานของพรรค-ฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โฟกัสเฉพาะงานของฝ่ายบริหารเพียงอย่างเดียว
เมื่อถามว่า สรุปแล้วใครเป็นหัวหน้าพรรคตัวจริง ระหว่าง ‘พล.อ.ประวิตร’ ที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค หรือ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ที่พรรคเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกฯในสภา ‘สุชาติ’ ย้ำชัด “ไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรค เพราะพลังประชารัฐเป็นสถาบันการเมือง คนเป็นเจ้าของพรรคคือประชาชน"
เขาย้ำต่อไปว่า ยังตอบไม่ได้การทำงานของคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ใครอยู่สั้นหรืออยู่ยาว แม้แต่ พล.อ.ประวิตร จะเป็นหัวหน้าพรรคนานหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตอบไม่ได้
“ผมเชื่อว่าในอนาคต เมื่อถึงเวลาหรือมีคนที่เหมาะสม พล.อ.ประวิตรก็ต้องไป แต่จะมีคนมีบารมีเท่าท่านหรือไม่ ผมไม่ทราบ” นายสุชาติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ‘พล.อ.ประวิตร – พลังประชารัฐ’ เป็นสิ่งที่ปรากฏคู่กันเสมอมา นับตั้งแต่ 22 ก.ค.2562 เขาเปิดหน้า ลงสนามการเมืองเต็มตัว จากการเข้าร่วมงานสัมมนาพรรค อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เพื่อพูดคุยกับ ส.ส. ก่อนที่จะมีการแถลงนโยบายในวันที่ 25-26 ก.ค.2562
การปรากฏตัวครั้งนี้ เพื่อประสานรอยร้าวหลังมีความไม่ลงรอยมาตั้งแต่การจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี รวมถึงสถานการณ์ ‘ปริ่มน้ำ’ ในสภาที่ต้องกำกับ ‘ทุกเสียง’ ให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน
พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า ลงมาลุยงานการเมืองเต็มตัวหรือไม่ แต่กล่าวปิดในงานสัมมนาครั้งนั้น ว่า พรรคพลังประชารัฐคือครอบครัวเดียวกัน
แต่ถือเป็นครั้งแรกที่เขาเปิดตัวเป็น ‘ผู้สนับสนุนพรรค’ หลังจากก่อนหน้านี้ส่งสัญญาณ ‘ไม่รู้-ไม่เห็น’ เกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐมาโดยตลอด
ต่อมา 13 ส.ค.2562 พล.อ.ประวิตร ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคอย่างเป็นทางการ
และจากนั้นชื่อของ ‘พล.อ.ประวิตร’ มักปรากฏขึ้นพร้อมความเคลื่อนไหวภายใน ‘พลังประชารัฐ’ เสมอมา
จาก 22 ก.ค.2562 – 27 มิ.ย.2563 เขาได้รับเลือกให้เป็น ‘หัวหน้าพรรค’ ในวาระครบ 1 ปี ที่ พล.อ.ประวิตร เปิดหน้าลุยงานการเมืองอย่างเต็มตัว
ข่าวประกอบ :
ตามคาด!มติ พปชร.เลือก'บิ๊กป้อม'นั่งหัวหน้า'อนุชา'เลขาฯพ่วง กก.บริหารชุดใหม่รวม 27 คน
จับสัญญาณ'บิ๊กตู่'ทำรัฐบาลแบบ New Normal ถึงเวลาปรับ ครม.?
ก่อนรอยร้าวจะแตก!รู้จัก‘4 กุมาร’บนเส้นทาง'พลังประชารัฐ'
18 ใบลาออก กก.พปชร.สู่การปรับทัพ 'ครม.ประยุทธ์ 2/2'
ทำความรู้จัก 'กลุ่มสามมิตร' ก่อน'สมศักดิ์'พูดถึง'สมคิด'ไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/