"...ในการปฏิบัติงานที่โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ในเมืองไทยนั้นมักจะมีข้อบังคับที่เข้มข้นอยู่แล้วในเรื่องการที่พนักงานจะต้องใส่ถุงมือ หน้ากากอนามัย การบังคับให้ล้างมือบ่อยๆและอุปกรณ์ที่ใช้จะต้องมีการทำความสะอาดอย่างเข้มข้นด้วย ..ส่วนเรื่องวัตถุดิบนั้น ทางสมาคมฯ คำนึงว่าทุกวัตถุดิบไม่ใช่แค่ปลาแซลมอนที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ เราก็ให้ความสำคัญหมดเช่นกัน โดยกำหนดว่าจะต้องมีการล้างและทำความสะอาดที่สร้างความมั่นใจให้กับทางแรงงานและผู้บริโภค..."
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอข้อมูลปัญหาเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยอ้างอิงข้อมูลรายงานจากสื่อในประเทศจีน ที่ระบุว่า การแพร่ระบาดรอบใหม่นั้นน่าจะเกิดจากสภาพแวดล้อมในตลาดสินค้า มากกว่าที่เชื้อจะอยู่ในตัวปลาแซลมอน
(อ่านประกอบ:ส่องรายงานสื่อจีน เบื้องลึกโควิดระบาดตลาดกรุงปักกิ่ง-'แซลมอน' ติดไวรัสได้หรือไม่?)
ไม่นานหลังจากนั้น ก็เกิดกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่เกี่ยวข้องกับอาหารอีกครั้งหนึ่ง เมื่อประเทศอังกฤษ ตรวจสอบการติดเชื้อโควิดของพนักงานโรงงานแปรรูปเนื้อไก่จำนวนกว่า 150 คน ในพื้นที่เร็กซ์แฮมและเวสต์ยอร์กไชร์
โดยนายเบฟ คลาร์กสัน ตัวแทนสหภาพแรงงานงานยูไนท์ ของอังกฤษ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาสหภาพฯ เคยเตือนมาตลอดว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ในประเทศอังกฤษ
จากนั้น ก็พบเหตุการณ์ระบาดที่คล้ายคลึงกันอีก ในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ ที่เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน และสหรัฐอเมริกา
สหภาพแรงงานงานยูไนท์ (อ้างอิงรูปภาพโลโก้จากบีบีซี)
ประเด็นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 จากอาหารแปรรูป จึงเป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีการถกเถียงให้เกิดความกระจ่างกันอีกครั้ง
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลข่าวจากสื่อต่างประเทศ ถึงกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด ที่เกี่ยวข้องกับอาหารแปรรูป ในต่างประเทศพบข้อมูลที่น่าสนใจหลายประเด็นดังนี้
@ ข้อเท็จจริงการแพร่ระบาดเชื้อโควิดจากอาหาร
ณ จนถึงเวลานี้ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลเป็นทางการว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อหรืออาหารแปรรูป จะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด 19 ด้วยหรือไม่
ขณะที่หน่วยงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร หรือ The Food Standards Agency ได้ออกมาชี้แจงว่า เป็นเรื่องที่ยากมากที่คนจะติดเชื้อโควิดจากอาหาร เพราะนี่ไม่ใช่รูปแบบที่ไวรัสจะฝังตัวและแพร่กระจายเชื้อได้
@ แต่ทำไมพนักงานโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์จึงติดโควิด 19
อย่างไรก็ดี มีการวิเคราะห์ข้อมูลว่า ส่วนมากแล้วการติดไวรัสโควิด 19 นั้นจะมีที่มาจากละอองทั้งการไอ จาม และการหายใจที่มาจากผู้ติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อนั้นอาจจะเกิดขึ้นจากการสัมผัสกับพื้นผิวของสิ่งต่างๆที่ปนเปื้อนเชื้อโควิด 19
นายลอ์เรนซ์ ยัง ศาสตราจารย์ด้านเนื้องอกวิทยา มหาวิทยาลัยวอร์วิก ระบุว่า “โรงงานและสถานที่ที่มีลักษณะปิด มีความเย็น และมีความชื้น จะเป็นสภาพแวดล้อมที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับไวรัสโคโรน่าในการฟักตัวและแพร่กระจาย ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เกิดไวรัสก็มาจากละอองของเหลวจากผู้ติดเชื้อที่ทำงานอยู่ในพื้นที่โรงงาน”
และเหตุผลสำคัญอีกประการที่ทำให้มีการแพร่กระจายของไวรัสได้มากก็คือ อากาศในโรงงานแปรรูปที่มีอากาศเย็น มีเครื่องจักรที่มีเสียงดัง ทำให้คนงานที่ทำงานต้องตะโกนอยู่ตลอดเวลา ก็อาจจะกลายเป็ปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้เกิดการแพร่กระจายของละอองที่ติดเชื้อโควิดได้
นายลอ์เรนซ์ ยัง ศาสตราจารย์ด้านเนื้องอกวิทยา มหาวิทยาลัยวอร์วิก (อ้างอิงรูปภาพจากhttps://warwick.ac.uk)
@สภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความเสี่ยง
ขณะที่ นางทาร่า สมิธ ศาสตราจารย์ด้านการระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยเคนต์สเตธ รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะเว้นระยะห่างในระยะ 2 เมตร ในโรงงานแปรรูป เพราะสายงานผลิตในโรงงานแปรรูปเนื้อที่มีการผลิตสินค้าอย่างรวดเร็ว และสภาพของโรงงานเนื้อที่แทบจะไม่มีแสงแดดส่องมาถึงเลย ทั้งหมดนี้ ก็เป็นปัจจัยที่จะเอื้อให้ไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้เช่นกัน
“เมื่อคุณอยู่ในสภาพแวดล้อม ของคนงานที่ต้องยืนติดกัน และต้องทำงานหนัก เพราะว่าเป็นงานที่ยาก ทำให้ต้องมีการหายใจหนักๆตลอดเวลา คุณก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อและแพร่เชื้อไปสู่อีกหลายคนในพื้นที่ปิดได้ และหลังจากนั้นก็จะเกิดการติดเชื้อตามกันมาเป็นโดมิโน่” นางทาร่า สมิธระบุ
นางทาร่า สมิธ ศาสตราจารย์ด้านการระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยเคนต์สเตธ รัฐโอไฮโอ (อ้างอิงรูปภาพจากhttps://twitter.com/aetiology)
ส่วน นายไมเคิล เฮด นักวิจัยอาวุโสด้านสุขภาพโลก มหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตันกล่าวว่า “ในบางโรงงานที่มีหอพัก หรืออยู่ใกล้กับสถานที่อยู่อาศัย ซึ่งจะมีรถบัสขนส่งจากที่อยู่อาศัยไปที่โรงงาน สภาวะแบบนี้จะทำให้คนงานจะต้องอยู่ในระยะใกล้ชิดกันตลอดแทบทั้งวันในสถานที่ปิด”
นายไมเคิล เฮด นักวิจัยอาวุโสด้านสุขภาพโลก มหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตัน (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.southampton.ac.uk)
ขณะที่ทางด้านของสหภาพแรงงานยูไนต์ ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า สภาพการณ์ในโรงงานแปรรูปเนื้อนั้น มักจะมีการจ้างแรงงานต่างชาติที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะไม่ได้รับสิทธิด้านค่าจ้างแรงงานเต็มจำนวนในกรณีที่ต้องลาป่วย ดังนั้น ถ้าหากมีการลาป่วยของแรงงานต่างชาติ แรงงานเหล่านี้ก็จะเสียรายได้ตามมาด้วย จึงส่งผลทำให้แรงงานต่างชาติเกิดความลังเลที่จะกักตัวเอง หรือบอกว่ามีอาการป่วย
@มาตรการคุ้มครองแรงงานที่สามารถจะทำได้
ล่าสุดมีการเสนอแนวทางคุ้มครองความปลอดภัยในกระบวนการผลิตอาหารของโรงงานแปรรูปอาหารหลายลักษณะ ดังนี้
รัฐบาลควรมีการออกแนวทางสำหรับความปลอดภัยในกระบวนการผลิตอาหาร รวมไปถึงการออกแนวทางให้คนงานเว้นระยะห่าง 2 เมตร ถ้าหากเป็นไปได้
ส่วนสมาคมผู้ผลิตเนื้อแปรรูปประเทศอังกฤษ ได้มีการออกแนวทางปฏิบัตินี้เช่นกัน รวมถึงการทำความสะอาดโรงงานให้บ่อยขึ้น การกักตัวคนงานที่มีอาการป่วย รวมไปถึงการกำหนดช่วงเวลาการทำงานและเวลาพักให้มีความเหลื่อมกันในแต่ละกะเวลาทำงานเพื่อไม่ให้เกิดความแออัดของคนงาน
และคนงานควรจะใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อหรือชุดพีพีอีรวมถึงหน้ากากป้องกันติดเชื้อเพิ่มเติม ถ้าหากโรงงานสามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ดี มาตรการนี้ไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง
ขณะที่นางอีวอนน์ ดอยล์ ผู้อำนวยการด้านสุขภาพสาธารณะ ประเทศอังกฤษ ได้กล่าวว่าขณะนี้มีความพยายามในการแก้ปัญหาการติดเชื้อในโรงงานด้วยการวางหน่วยตรวจโควิดเคลื่อนที่เร็วทั้งภายในโรงงาน และภายนอกโรงงาน
ส่วนที่เยอรมนี รัฐบาลได้มีการสั่งห้ามการใช้คนงานโรงฆ่าสัตว์ที่เป็นคนนอกหรือเอาท์ซอร์ส โดยผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์จะต้องเป็นลูกจ้างของบริษัทเท่านั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติมอีก
เพราะที่ผ่านมามีรายงานว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดเป็นเพราะบริษัทเยอรมนีได้ใช้ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างชาติที่มาจากประเทศในแถบยุโรปตะวันออก ที่มีทักษะทางด้านภาษาที่ต่ำ จึงส่งผลทำให้เกิดการละเลยระเบียบการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในโรงงาน
สำหรับที่ประเทศไทยนั้น สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อสอบถามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในโรงงานแปรรูปอาหาร เพิ่มเติม
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ให้ข้อมูลว่า ปกติมาตรฐานการผลิตอาหารแปรรูปในประเทศไทยนั้นมีความเข้มงวดมากอยู่แล้ว
"มาตรฐานการผลิตของเราไม่ใช่แค่มาตรฐานพื้นฐาน GMP (มาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์) เท่านั้นที่เราได้ยึดเป็นหลักการ แต่เราทำถึงมาตรฐาน HACCP (มาตรฐานระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร) และเราก็สามารถยึดหลักมาตรฐานที่สูงกว่านี้ได้ ในการที่จะส่งออกอาหารต่างๆ ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้ บอกได้ถึงเรื่องของความปลอดภัยทางอาหาร และพอมีเรื่องของโควิด 19 ขึ้นมา มาตรการในการดูแลพนักงานนั้นก็เข้มข้นขึ้นมาก จนถึงระดับที่เราเชื่อว่าสามารถทำให้พนักงานของเราปลอดภัย บางโรงงานเราแบ่งพนักงานออกเป็น 2 หรือ 3 กะด้วยซ้ำไป หากเกิดปัญหาติดเชื้อก็ยังมีพนักงานกะอื่นมาทำงานได้ แล้วกะที่มีการติดเชื้อก็จะไปกักตัวอยู่ 14 วัน" นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ระบุ
นายวิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ในการปฏิบัติงานที่โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ในเมืองไทยนั้นมักจะมีข้อบังคับที่เข้มข้นอยู่แล้วในเรื่องการที่พนักงานจะต้องใส่ถุงมือ หน้ากากอนามัย การบังคับให้ล้างมือบ่อยๆและอุปกรณ์ที่ใช้จะต้องมีการทำความสะอาดอย่างเข้มข้นด้วย
"ส่วนเรื่องวัตถุดิบนั้น ทางสมาคมฯ คำนึงว่าทุกวัตถุดิบไม่ใช่แค่ปลาแซลมอนที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ เราก็ให้ความสำคัญหมดเช่นกัน โดยกำหนดว่าจะต้องมีการล้างและทำความสะอาดที่สร้างความมั่นใจให้กับทางแรงงานและผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่นกรณีเขียง เราได้มีการออกข้อบังคับชัดเจนว่าต้องแยกกันให้ชัด สำหรับของที่ยังดิบก็ต้องใช้อีกเขียงหนึ่ง ส่วนของที่ปรุงสุกแล้วก็จะต้องใช้อีกเขียงหนึ่ง"
นายวิศิษฐ์ ยังกล่าวย้ำว่า ส่วนตัวเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้น่าจะสร้างความมั่นใจได้กับทั้งพนักงานในโรงงาน ผู้บริโภคในไทย รวมไปถึงผู้บริโภคในต่างประเทศด้วย
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป (อ้างอิงรูปภาพจากฐานเศรษฐกิจ)
เรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนจาก:https://www.bbc.com/news/53137613
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/