“...โดยธรรมชาติของไวรัสโควิด 19 จะต้องพึ่งพาส่วนรับสัมผัส ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบบนพื้นผิวของเซลล์ของผู้ที่รับไวรัส ในการที่จะแพร่เชื้อผ่านเซลล์ ถ้าไม่มีส่วนรับสัมผัสบนพื้นผิวเซลล์ เป็นไปไม่ได้เลยที่ไวรัสจะเข้าสู่เซลล์ได้ ซึ่ง ณ เวลานี้สิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์พร้อมด้วยส่วนรับสัมผัส พบว่ามีแค่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น ไม่ใช่ปลา...”
การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 หรือโคโรนาไวรัสระลอกใหม่ที่ประเทศจีนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
สื่อต่างประเทศหลายสำนัก นำเสนอข้อมูลว่า สาเหตุของการแพร่ระบาดเชื้อโรคครั้งใหม่ว่า เป็นผลมาจากการบริโภคปลาแซลมอน ณ ตลาดซินฟาตี้ (Xinfadi) กรุงปักกิ่งประเทศจีน
ข้อมูลดังกล่าว ได้สร้างความกังวลและสับสนให้กับอุตสาหกรรมสัตว์น้ำในหลายประเทศเป็นอย่างมาก ว่าสุดท้ายแล้ว ปลาแซลมอน จะกลายเป็นพาหะการแพร่เชื้อโควิด 19 หรือไม่
ล่าสุด สำนักข่าวไชน่าโกลบอลเทลิวิชั่นเน็ตเวิร์ก (CGTN) ของประเทศจีน ได้นำเสนอรายงานสาเหตุการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในตลาดซินฟาตี้ ของจีน ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายละเอียดดังนี้
ตลาดซินฟาตี้ (Xinfadi) ถือว่าเป็นตลาดสินค้าขายอาหารที่ใหญ่ที่สุดในกรุงปักกิ่ง แต่ถูกสั่งปิดไปเมื่อวัน 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากมีรายงานกรณีการติดเชื้อของผู้ติดเชื้อใหม่จำนวน 6 ราย และมีผู้ติดเชื้อใหม่แบบไม่แสดงอาการอีกจำนวน 45 ราย
ตลาดปลาซินฟาตี้ ณ กรุงปักกิ่ง
สำหรับข้อมูลสาเหตุการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 นั้น ระบุว่า อยู่บนอุปกรณ์ของพ่อค้าอาหาร โดยเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขท้องถิ่น แจ้งว่า มีการตรวจพบเชื้อ อยู่บนเขียงสับอาหารของพ่อค้าที่ขายเนื้อปลานำเข้าจากต่างประเทศ
จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าเนื้อปลาสามารถจะแพร่เชื้อโควิด 19 ได้หรือไม่
นายหวู่ ซุนหยู่ หัวหน้านักระบาดวิทยา ประจำศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ(ซีดีซี)ประเทศจีน ได้ชี้แจงกับคณะกรรมการตรวจสอบของรัฐบาลกลางเอาไว้ตอนหนึ่งว่า ณ เวลานี้นั้นยังเป็นการยากที่ระบุว่าแหล่งต้นกำเนิดเชื้อโควิดในตลาดซินฟาตี้นั้นมาจากที่ใดกันแน่ และที่สำคัญก็คือยังไม่สามารถจะสรุปได้ว่าปลาแซลมอนจะเป็นแหล่งต้นกำเนิดของไวรัส เพียงเพราะว่าพบเชื้อโควิด 19 อยู่บนเขียงสับปลา
เพราะมีความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งว่า เขียงสับปลาดังกล่าวนั้นอาจจะปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากลูกค้าของตลาด หรือไม่ก็ปนเปื้อนจากตัวเจ้าของเขียงสับปลาอยู่แล้ว
ขณะที่นายเฉิงกง นักไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยชิงหวา ประเทศจีน ระบุว่า ตอนนี้เท่าที่รู้ก็คือพาหะนำเชื้อโควิด 19 นั้น เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นหลัก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ปลาแซลมอนจะติดเชื้อโควิด 19
“โดยธรรมชาติของไวรัสโควิด 19 จะต้องพึ่งพาส่วนรับสัมผัส ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบบนพื้นผิวของเซลล์ของผู้ที่รับไวรัส ในการที่จะแพร่เชื้อผ่านเซลล์ ถ้าไม่มีส่วนรับสัมผัสบนพื้นผิวเซลล์ เป็นไปไม่ได้เลยที่ไวรัสจะเข้าสู่เซลล์ได้ ซึ่ง ณ เวลานี้สิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์พร้อมด้วยส่วนรับสัมผัส พบว่ามีแค่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น ไม่ใช่ปลา” นายเฉิงกงกล่าว
การติดเชื้อโควิด 19 สู่เซลล์ของมนุษย์ (อ้างอิงรูปภาพจาก:https://theconversation.com)
ขณะที่ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนก็ระบุเช่นกันว่า เชื้อโควิด 19 สามารถแพร่กระจายไปได้เป็นวงกว้างในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ไม่ใช่ในสัตว์ประเภทอื่นเช่นปลา นก หรือสัตว์เลื้อยคลาน
แต่นายหวู่ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตลาดที่มีการเข้าออกของทั้งผู้คนและสินค้าเป็นจำนวนมากนั้นเป็นการยากที่จะตามหาแหล่งต้นกำเนิดเชื้อได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งสิ่งที่ทางซีดีซี ประเทศจีนทำได้ ณ เวลานี้ก็คือการเก็บตัวอย่างจากหลายช่องทางเพื่อที่จะยืนยันข้อมูล และเก็บข้อมูลจากบุคคลที่เกี่ยวกับการติดเชื้อรวมไปถึงสินค้าในตลาดต่างๆ เพื่อจะทำให้เห็นภาพรวมการติดเชื้อทั้งหมด
@เรายังสามารถรับประทานแซลมอนได้หรือไม่
ความสำคัญ ณ เวลานี้ก็คือการหาต้นตอของเชื้อโควิด 19 ที่ถูกตรวจพบบนเขียง
โดยนายฉงไค่ ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมเวชศาสตร์ในเชิงป้องกันโรค ประเทศจีนได้ออกคำแนะนำว่า ณ เวลานี้ยังไม่ควรมีการรับประทานเนื้อปลาแซลมอนดิบ จนกว่าที่ผลการสอบสวนจะเสร็จสิ้นและปรากฎต่อสาธารณชน
นายฉง กล่าวต่อว่าไม่มีหลักฐานที่ระบุชัดเจนว่าเชื้อโควิด 19 นั้นสามารถส่งต่อกันไปได้ผ่านอาหารและเครื่องดื่มที่มนุษย์บริโภค
"ณ เวลานี้ แหล่งแพร่เชื้อโควิด 19 ที่สำคัญที่สุดก็ยังคงเป็นละอองที่ออกมาจากระบบหายใจของมนุษย์ทั้งทางจมูกและปาก และการสัมผัสร่างกายกันอย่างใกล้ชิด"
“เชื้อไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่ได้บนพื้นผิวของสิ่งของต่างๆได้นานหลายชั่วโมง และอาจจะนานไปถึงเป็นวัน ซึ่งลักษณะของปลาแซลมอนนั้นจะถูกแช่แข็ง และถูกขนส่งมาทางอากาศด้วยอุณหภูมิที่ต่ำ ซึ่งภายใต้สถานะเหล่านี้ ในทางทฤษฎีแล้วก็ถือว่ามีความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสจะอยู่รอด แต่ความเป็นไปได้นี้ก็ยังถือว่าต่ำอยู่ดี” นายฉงกล่าว
แต่ถ้าหากเทียบกันแล้ว กระบวนการทั้งการซื้อ การปรุงอาหาร การรับประทานนั้นถือได้ว่ามีความเสี่ยงมากกว่าในการที่จะติดเชื้อโควิด 19
ดังนั้นทางซีดีซี ประเทศจีนได้ออกคำแนะนำจำนวน 4 ประการ ตามรูปด้านล่าง ในการปรุงอาหารเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคโควิด 19
การปรุงอาหารเพื่อรับประทานอาหารช่วงโควิด 19
1.เนื้อ ไข่ และผัก จะต้องทำให้สุกก่อนที่จะรับประทาน
2.ใช้ภาชนะแยกกันระหว่างอาหารที่ปรุงสุกแล้ว กับอาหารที่ยังดิบอยู่
3.กินอาหารหลังจากที่ปรุงสุกแล้วทันที
4.ล้างมือทุกครั้งหลังจากปรุงอาหาร และก่อนจะรับประทานอาหาร
@ปลาสามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อโควิด 19 ได้หรือไม่
นายฉง ยังกล่าวต่อว่าสิ่งที่ยังไม่ควรที่จะละเลยสำหรับผู้บริโภคอาหารก็คือการป้องกันตัวเองจากไวรัสในทุกๆวัน อาทิ การสวมใส่หน้ากากเวลาออกไปข้างนอก การล้างมืออย่างพิถีพิถันเมื่อจะกลับเข้าบ้าน และล้างมือทุกครั้งทั้งก่อนและหลังทำอาหาร
ส่วนประเด็นที่ว่า ปลาสามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อโควิด 19 ได้หรือไม่ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ปลาไม่เหมือนกับสัตว์ป่าทั่วไปทั้งชะมดและค้างคาว ซึ่งเป็นพาหะของโคโรน่าไวรัส โดยตามธรรมชาติแล้วปลาจะไม่มีเชื้อโคโรน่าไวรัสในร่างกายของตัวมันเอง ดังนั้นความเป็นไปได้ก็คือว่าผลิตภัณฑ์ปลานั้นน่าจะถูกปนเปื้อนเชื้อไวรัสโดยคนงานที่รับผิดชอบเรื่องปลา
“เมื่อปลาที่ถูกปนเปื้อนถูกส่งต่อมายังประเทศจีน ก็มีความเป็นไปได้ที่คนงานจีนจะติดเชื้อในกระบวนการจัดการกับปลาแซลมอน และก็ส่งต่อเชื้อไปยังคนอื่นจนกลายเป็นการแพร่เชื้อระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมพูดมานั้นยังเป็นแค่หนึ่งในการคาดคะเนเท่านั้น คงต้องรอผลการสืบสวนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดในครั้งนี้ให้ออกมาประจักษ์ชัดก่อน”นายหวู่ ซุนหยู่ หัวหน้านักระบาดวิทยา ซีดีซี ประเทศจีนกล่าว
ณ เวลานี้ทางซีดีซี ประเทศจีนได้เรียกร้องให้ทางรัฐบาลกลางประเทศจีนได้ออกมาตรการตรวจอย่างเข้มข้นและกักกันสินค้าแช่แข็งที่มาจากต่างประเทศแล้ว เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้มีการส่งต่อไวรัสเพิ่มขึ้นอีก
เรียบเรียงเนื้อหาข่าวและรูปภาพบางส่วนจาก: https://news.cgtn.com/news/2020-06-14/Off-the-shelves-in-Beijing-is-salmon-guilty-of-spreading-coronavirus--Rj33sh4b8Q/index.html
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage