รัฐบาลมองโกเลียนั้นมีกระบวนการสื่อสารกับประชาชนที่ชัดเจนเพื่อที่จะป้องกันการระบาดของโรค ซึ่งรูปแบบการสื่อสารของรัฐบาลไปยังประชาชนที่ใช้ชีวิตในรูปแบบของชนเผ่าต่างๆนั้นก็มีลักษณะแบบเดียวกับระบบที่เจงกิสข่านได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการส่งสารทั่วจักรวรรดิมองโกลในอดีต ซึ่งผลก็คือทำให้การบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และการออกกฎให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพ เพราะประชาชนนั้นเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาล
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส ทั่วโลก ณ เวลานี้ ยังถือว่าอยู่ในขั้นที่รุนแรง
แม้ว่าแต่ละประเทศจะเริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลงบ้างแล้ว แต่ก็ยังคงอีกนานกว่าที่เชื้อโควิด 19 จะหมดไป หากไม่มีการผลิตวัคซีนออกมารักษาโรคได้
อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อมูลปรากฎว่า มีอยู่ 1 ประเทศ ที่เวลานี้ ยังไม่พบการติดเชื้อที่เกิดจากคนในประเทศด้วยกันเองเลย
ประเทศที่ว่านี้ ก็คือ ประเทศมองโกเลีย
มองโกเลีย เป็นประเทศที่มีชายแดนอยู่ติดกับประเทศซึ่งเป็นต้นกำเนิดเชื้อไวรัสโควิด 19 อย่าง ประเทศจีน แต่จนถึงเวลานี้ มีรายงานการติดเชื้อจากชาวต่างชาติเป็นจำนวน 204 รายเท่านั้น
ทั้งๆที่ประเทศมองโกเลีย ไม่ได้มีระบบสุขภาพที่มีความทันสมัย เทียบเท่ากับประเทศอื่นๆ ที่กำลังเจอการระบาดของเชื้อโควิดอย่างรุนแรงในขณะนี้
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ของฮ่องกง ได้เผยแพร่รายงานผลศึกษากรณีการไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศมองโกเลีย จนได้ข้อสรุปว่า มีปัจจัยสำคัญหลายประการทั้งอากาศที่สะอาด การบริภาคผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเป็นประจำโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เนื้อและนม ซึ่งเป็นส่วนช่วยในการต้านการติดเชื้อ
ขณะที่ชาวมองโกลจำนวนมากนั้น มีความเชื่อว่า วิถีการทำงานและการใช้ชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น อาทิ การขี่ม้า ต้อนแกะ และการที่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิผกผันอย่างรุนแรง ตั้งแต่ -60 องศาเซลเซียสไปจนถึง 45 องศา ทำให้ชาวมองโกลมีสุขภาพดี และมีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ
โดยนาง Enkh-Ouyn Byambadorj ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนกับหมอผี ทำพิธีกรรมต่างๆ ได้เล่าให้ฟังว่า ธรรมชาติของชาวมองโกลซึ่งอยู่กับธรรมชาติและไม่พบกับความเครียด การยึดติดกับวัตถุแบบในประเทศอื่นๆ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเกี่ยวกับการต้านไวรัสโควิด
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องการใช้ชีวิตของชาวมองโกลที่จะพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนั้นมาจากการที่ชาวมองโกลใช้ชีวิตแบบชนเผ่า ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดำเนินมาตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นจักรวรรดิมองโกล
โดยในช่วงเวลาที่เจงกิสข่านได้นำทัพมองโกลจำนวนมหาศาลเข้าพิชิตโลกในช่วงยุคกลาง ชาวมองโกลแต่ละคนถูกปลูกฝังว่าจะต้องพึ่งพาตนเอง และจะไม่มีการช่วยเหลือจากทางส่วนกลาง หรือจะต้องรอทัพเสริมจากชนชาติอื่นแต่อย่างใด
“ในขณะที่ชาวตะวันตกเมื่อมีปัญหา ก็จะหาวิธีและพยายามแก้ปัญหา แต่ชาวมองโกลกลับเลือกที่จะอยู่กับสภาวะที่มีปัญหาให้ได้ ถ้าหากมีแค่เนื้อ ชาวมองโกลก็จะกินเนื้อ แต่ถ้าหากไม่มีปัจจัยใดเลย ชาวมองโกลก็จะอยู่แบบไม่มีปัจจัยนั้นๆ” นาย Enkh ระบุ
หมอผีชาวมองโกล ยังกล่าวด้วยว่า ในชนบทของประเทศนั้น ไม่มีแม้กระทั่งหมอสำหรับผู้หญิงที่จะคลอดบุตร ส่วนมากจะคลอดบุตรกันทั้งที่ไม่มีหมอ ซึ่งสำหรับชาวมองโกลแล้วไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาใดๆเลย แม้กระทั่งกับความตายและการมีชีวิตอยู่ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นสาระสำคัญมากสำหรับชาวมองโกล
นาง Enkh-Ouyn Byambadorj หมอผีชาวมองโกล
ขณะที่พระรูปหนึ่งนามว่า Ukhaanzaya Dorjnamnan ให้ความเห็นว่า ปัญหาทุกอย่างของชาวมองโกลนั้นก็เปรียบเสมือนกับประเภทของงูนากา ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในตำนานของชาวมองโกล
โดยจากการคาดการณ์ของพระรูปนี้ ระบุว่า โคโรน่าไวรัสก็เปรียบเสมือนกับงูนากาอีกประเภทหนึ่งที่มีความทรงพลังมาก แต่งูนากาตัวนี้ก็ไม่ได้จะประสงค์ร้ายกับชาวมองโกล เพราะชาวมองโกลเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติและไม่ไปยุ่งกับงูตัวนี้ก่อน
ขณะที่นาย Chinburen Jigjidsuren ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข นายกรัฐมนตรีมองโกเลีย กล่าวว่า รัฐบาลมองโกเลียนั้นมีกระบวนการสื่อสารกับประชาชนที่ชัดเจนเพื่อที่จะป้องกันการระบาดของโรค ซึ่งรูปแบบการสื่อสารของรัฐบาลไปยังประชาชนที่ใช้ชีวิตในรูปแบบของชนเผ่าต่างๆนั้นก็มีลักษณะแบบเดียวกับระบบที่เจงกิสข่านได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการส่งสารทั่วจักรวรรดิมองโกลในอดีต ซึ่งผลก็คือทำให้การบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และการออกกฎให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพ เพราะประชาชนนั้นเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาล
“ย้อนไปในอดีต กองทัพเจงกิสข่าน เป็นกองทัพที่มีวินัยเป็นอย่างยิ่ง และความมีวินัยที่ว่านั้นก็ยังส่งต่อมาถึงคนรุ่นเราในปัจจุบัน ” นาย Chinburen กล่าว
นาย Chinburen Jigjidsuren (อ้างอิงรูปภาพจาก Youtube)
ขณะที่นายแจ็ค เวทเธอร์ฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือเจงกิสข่านกับการสร้างโลกสมัยใหม่ (Genghis Khan and the Making of the Modern World) ได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า ในอดีตนั้น ชาวมองโกลมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานและต้องสัมผัสกับผู้คนนับล้านๆจากหลายภูมิภาคทั่วโลก ทำให้ต้องเจอกับโรคประจำถิ่นในหลายๆโรคด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะอธิบายได้ว่าชาวมองโกลนั้นน่าจะมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าชนชาติอื่นๆ
นายแจ็ค เวทเธอร์ฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือเจงกิสข่านกับการสร้างโลกสมัยใหม่ (อ้างอิงรูปภาพจาก Youtube)
แต่อย่างไรก็ดี นาย Chinburen ได้คัดค้านข้อสันนิษฐานของนายแจ็ค โดบระบุว่า เขายังไม่เห็นข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่จะไปสนับสนุนสมมติฐานนี้ เพราะที่ผ่านมาพบเพียงแค่ข้อมูลเดียวที่พอจะสนับสนุนสมมติฐานของนายแจ็คได้ ก็คือมีนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสรายหนึ่งที่ถูกพบว่าติดเชื้อโควิด 19 ได้ไปพบปะกับชาวมองโกลจำนวนกว่า 200 คน แต่กลับไม่มีชาวมองโกลคนใดติดเชื้อโควิด 19 เลย
แต่เขาขอให้น้ำหนักไปที่การที่ชาวมองโกลมีวินัยในการสวมใส่หน้ากากน่าจะเป็นเหตุผลที่สำคัญกว่าที่ทำให้ไม่มีการติดเชื้อในประเทศเกิดขึ้น
ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข นายกรัฐมนตรีมองโกเลีย ยังกล่าวต่อว่า อีกปัจจัยที่น่าสนใจก็คงจะเป็นจำนวนการเกิดกลุ่มแพร่เชื้อใหม่หรือกลุ่มคลัสเตอร์ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียตอนใน ซึ่งอยู่ในประเทศจีน มีจำนวนที่น้อยมาก
โดยข้อมูลพบว่า เขตการปกครองมองโกเลียตอนในนั้นมีชาวมองโกลมากกว่า 1.5 เท่าของประเทศมองโกเลีย แต่กลับพบว่ามีแค่ชาวจีนฮั่นเท่านั้นมีติดเชื้อในเขตนี้
เรียบเรียงจาก:https://www.scmp.com/week-asia/health-environment/article/3089934/mongolia-has-few-coronavirus-cases-and-some-say-its
ทั้งหมดนี่ เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื่อโควิด ในประเทศมองโกเลีย ที่ ณ เวลานี้ ยังไม่พบการติดเชื้อที่เกิดจากคนในประเทศแม้แต่รายเดียว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage