"... ตามเอกสารสรุปรายงานน้ำมันและปริมาตรดินประจำวัน ประกอบกับทะเบียนการรับ-จ่ายน้ำมันดีเชล มีการระบุการจ่ายน้ำมันดีเซลใช้กับรถขุด (เช่า) ไฮดรอลิคตีนตะขาบ จำนวน 17 คัน รวมทั้งสิ้น 413,336 ลิตร (เฉลี่ยวันละ 7.36 ชั่วโมง/คัน) สูงกว่าปริมาณน้ำมันที่ได้จากการประมวลผล ชั่วโมงการปฏิบัติงานจริง ถึง 244,052 ลิตร ส่งผลให้มีการจ่ายน้ำมันดีเซลโดยมิชอบ รวม 288,052 ลิตร ประกอบกับการตรวจนับน้ำมันดีเซล คงเหลือ ณ คลังน้ำมันชั่วคราว..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ในรายงานผลการปฏิบัติงาน ประจำปีงบประมาณ 2562 ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่มีการเผยแพร่เป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุข้อมูลว่า มีการตรวจสอบงานการใช้จ่ายเงินประเภทต่างๆ มากถึง 17,095 เรื่อง สามารถดำเนินการป้องกันมิให้เกิดค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6,273.77 ล้านบาท
(อ่านประกอบ : ซื้อจ้างเจอปัญหาค่า K เพียบ! สตง.โชว์รายงานประจำปี 62 ป้องกันเงินแผ่นดินรั่วไหล 6.2 พันล.)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลในรายงานผลการปฏิบัติงาน ประจำปีงบประมาณ 2562 ของ สตง. เพิ่มเติม พบว่า มีการระบุตัวอย่างคดีตรวจสอบ เกี่ยวกับการเบิกจ่ายน้ำมันดีเซลสำหรับรถขุด (เช่า) ไฮดรอลิคตีนตะขาบ จำนวน 17 คัน ของหน่วยงานรับตรวจแห่งหนึ่ง ที่สร้างความเสียหายให้กับราชการเป็นจำนวนเงินกว่า 7.72 ล้านบาท
เบื้องต้น หน่วยงานรับตรวจ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและดำเนินการทางละเมิดแล้ว
ผลการสอบสวน สตง. ระบุว่า จากการตรวจสอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อป้องกันอุทกภัยบริเวณพื้นที่อำเภอแห่งหนึ่ง พบข้อตรวจสอบที่สำคัญ ดังนี้
1. จากการตรวจสอบการเบิกจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของรถขุด (เช่า) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัยบริเวณพื้นที่อำเภอ พบว่า มีการเบิกจ่ายน้ำมันดีเซล สำหรับรถขุด (เช่า) ไฮดรอลิคตีนตะขาบ จำนวน 17 คัน โดยมิชอบ ซึ่งตามเอกสารสรุปรายงานน้ำมันและปริมาตรดินประจำวัน ประกอบกับทะเบียนการรับ-จ่ายน้ำมันดีเชล มีการระบุการจ่ายน้ำมันดีเซลใช้กับรถขุด (เช่า) ไฮดรอลิคตีนตะขาบ จำนวน 17 คัน รวมทั้งสิ้น 413,336 ลิตร (เฉลี่ยวันละ 7.36 ชั่วโมง/คัน) สูงกว่าปริมาณน้ำมันที่ได้จากการประมวลผล ชั่วโมงการปฏิบัติงานจริง ถึง 244,052 ลิตร ส่งผลให้มีการจ่ายน้ำมันดีเซลโดยมิชอบ รวม 288,052 ลิตร ประกอบกับการตรวจนับน้ำมันดีเซล คงเหลือ ณ คลังน้ำมันชั่วคราว
พบว่าน้ำมันขาดบัญชี จำนวน 65 ลิตร ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ รวมเป็นเงิน จำนวน 7.7 ล้านบาท
2. หน่วยรับตรวจ ชี้แจงว่า การปฏิบัติงานของเครื่องจักรที่เช่าเป็นไปตามหลักฐานรายงานประจำวัน และรายงานแจ้งการปฏิบัติงานแล้วเสร็จ และการบิกจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เครื่องจักรกลเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานและการเบิกจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถือปฏิบัติตามคำสั่งของหน่วยรับตรวจ ที่ 15/2555 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555 เรื่อง การบริหารงานด้านการพัสดุซึ่งเป็นไปตามหลักฐานใบจ่ายพัสดุ และตารางสรุปปริมาณและค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
3. สตง. พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อชี้แจงของหน่วยรับตรวจมีความไม่สอดคล้องและขัดแย้งกับข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าจอแสดงผลข้อมูลด้วยเทคโนโลยีของเครื่องจักร ซึ่งเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และมีความน่าเชื่อถือมากกว่าข้อชี้แจงของหน่วยรับตรวจ การเบิกจ่ายน้ำมันดีเซลสำหรับรถขุด (เช่า) ไฮดรอลิคตีนตะขาบ จำนวน 17 คัน ของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อป้องกันอุทกภัยบริเวณพื้นที่อำเภอ จึงถือเป็นการทำหลักฐานการเบิกน้ำมันดีเซลที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง และขัดต่อระเบียบการเบิกจ่ายน้ำมันของหน่วยรับตรวจและแบบแผนการปฏิบัติราชการในการทำการเบิกจ่ายน้ำมันตามคำสั่งของหน่วยรับตรวจ ที่ 15/2555 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555 เรื่อง การบริหารงานด้านการพัสดุ
4. สตง. ได้แจ้งผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจ ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายแก่หน่วยรับตรวจ จำนวน 7.72 ล้านบาท ผลการแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงานของหน่วยรับตรวจ หน่วยรับตรวจ ได้มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง.เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 และวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 แจ้งว่า ในส่วนของการดำเนินการทางวินัย ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และในส่วนของการดำเนินการทางละเมิด อยู่ระหว่างการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
ทั้งนี้ สตง. ระบุในรายงานผลการตรวจสอบเรื่องนี้ ว่า ผลสัมฤทธิ์จากการตรวจสอบ จากผลการตรวจสอบและการแจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงานดังกล่าว ส่งผลให้หน่วยรับตรวจมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนและพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
ส่วนหน่วยงานรับตรวจแห่งนี้ มีชื่อว่าอะไร สตง. ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเอาไว้เป็นทางการ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/