"...ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีผลการปฏิบัติงานด้านการตรวจเงินแผ่นดิน จากทุกลักษณะงานตรวจสอบ คือ การตรวจสอบการเงิน (FinancialAudit) การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Audit)และการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Performance Audit) รวมกันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 17,095 งบ/เรื่อง/สัญญา/ประกาศ/โครงการ...ป้องกันความเสียหาย และดำเนินการมิให้เกิดค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6,273.77 ล้านบาท.."
เป็นประจำทุกปี ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะมีการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ เพื่อสรุปผลการดำเนินงานตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินจากทุกลักษณะงานตรวจสอบ และนำมาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ
ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เปิดเผยข้อมูลรายงานผลการปฏิบัติงาน ประจำปีงบประมาณ 2562 พบว่า มีการตรวจสอบงานการใช้จ่ายเงินประเภทต่างๆ มากถึง 17,095 เรื่อง สามารถดำเนินการป้องกันมิให้เกิดค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6,273.77 ล้านบาท
มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีผลการปฏิบัติงานด้านการตรวจเงินแผ่นดิน จากทุกลักษณะงานตรวจสอบ คือ การตรวจสอบการเงิน (FinancialAudit) การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Audit)และการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Performance Audit) รวมกันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 17,095 งบ/เรื่อง/สัญญา/ประกาศ/โครงการ
จากผลการปฏิบัติงานด้านการตรวจเงินแผ่นดิน ดังกล่าว สตง. ได้แจ้งผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจดำเนินการแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องข้อสังเกต และข้อตรวจพบที่พบจากการตรวจสอบ เพื่อให้การปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการรวมทั้งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการแจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจดำเนินการเกี่ยวกับข้อบกพร่องที่มีมูลค่าความเสียหายเป็นตัวเงินเพื่อให้มีการชดใช้เงินคืน จัดเก็บรายได้เพิ่ม ป้องกันความเสียหาย และดำเนินการมิให้เกิดค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6,273.77 ล้านบาท
ผลการปฏิบัติงานด้านการตรวจเงินแผ่นดิน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำแนกตามลักษณะงาน ดังนี้
1. การตรวจสอบการเงิน (Financial Audit)
ตรวจสอบการเงิน 10,002 งบ/เรื่อง พบข้อสังเกต 2,510 งบ/เรื่อง พบมูลค่าความเสียหายที่เรียกเงินคืนและรายได้ที่ต้องจัดเก็บเพิ่ม รวม 127.92 ล้านบาท โดยจำแนกเป็น
1.1 การตรวจสอบรายงานการเงิน
ตรวจสอบรายงานการเงิน เข้าตรวจสอบ 8,706 หน่วย รวม 9,552 งบ/เรื่อง โดยในการแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินของหน่วยรับตรวจ จำนวนทั้งสิ้น 9,552 รายงาน ได้แสดงความเห็นในรายงานของผู้สอบบัญชีอย่างไม่มีเงื่อนไข จำนวน 7,999 รายงาน แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข จำนวน 1,236 รายงาน แสดงความเห็นว่ารายงานการเงินไม่ถูกต้องจำนวน 34 รายงาน และไม่แสดงความเห็น จำนวน 283 รายงาน นอกจากนั้น พบข้อสังเกต 2,013 หน่วย รวม 2,125 งบ/เรื่อง พบมูลค่าความเสียหายที่เรียกเงินคืนและรายได้ที่ต้องจัดเก็บเพิ่มรวม 89.37 ล้านบาท
ข้อสังเกตที่สำคัญจากการตรวจสอบรายงานการเงิน เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่
1. ข้อสังเกตด้านการควบคุมภายใน จำนวน 1,569 หน่วยงาน
2. ข้อสังเกตด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย จำนวน 1,214 หน่วยงาน
3. ข้อสังเกตด้านผลสัมฤทธิ์ ประสิทธิภาพ ความประหยัด ความคุ้มค่า จำนวน 30 หน่วยงาน
ข้อเสนอแนะที่สำคัญ ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งหน่วยรับตรวจให้มีการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่
1. ข้อเสนอแนะด้านการควบคุมภายใน จำนวน 1,588 หน่วยงาน
2. ข้อเสนอแนะด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย จำนวน 1,014 หน่วยงาน
3. ข้อเสนอแนะด้านการเพิ่มผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน จำนวน 62หน่วยงาน
1.2 การตรวจสอบการเงินอื่น
เข้าตรวจสอบ 429 หน่วยรวม 450 เรื่อง พบข้อสังเกต 371 หน่วย รวม 385 เรื่อง พบมูลค่าความเสียหายที่เรียกเงินคืนและรายได้ที่ต้องจัดเก็บเพิ่ม รวม 38.55 ล้านบาท
ข้อสังเกตที่สำคัญจากการตรวจสอบการเงินอื่น เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่
1. ข้อสังเกตด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย จำนวน 257 หน่วยงาน
2. ข้อสังเกตด้านผลสัมฤทธิ์ ประสิทธิภาพ ความประหยัด ความคุ้มค่า จำนวน 162 หน่วยงาน
3. ข้อสังเกตด้านการควบคุมภายใน จำนวน 109 หน่วยงาน
ข้อเสนอแนะที่สำคัญที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งให้หน่วยรับตรวจแก้ไขข้อบกพร่อง เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่
1. ข้อเสนอแนะด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย จำนวน 249 หน่วยงาน
2. ข้อเสนอแนะด้านการควบคุมภายใน จำนวน 147 หน่วยงาน
3. ข้อเสนอแนะด้านการเพิ่มผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน จำนวน 89 หน่วยงาน
2. การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Audit)
ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย 7,036 เรื่อง/สัญญา/ประกาศ/โครงการ พบข้อบกพร่อง รวม 3,492 เรื่อง/สัญญา/ประกาศ/โครงการ พบมูลค่าความเสียหายที่เรียกเงินคืนรายได้ที่ต้องจัดเก็บเพิ่ม มูลค่าความเสียหายจากการดำเนินงาน และประมาณการมูลค่าความเสียหายจากการดำเนินงานและความเสียหายที่ป้องกันได้รวม 1,381.95 ล้านบาท
โดยจำแนกเป็น
2.1 การตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง
เข้าตรวจสอบ 1,682 หน่วย รวม 5,496 สัญญา/ประกาศ/โครงการ พบข้อบกพร่อง 924 หน่วย รวม 2,168 สัญญา/ประกาศ/โครงการ พบมูลค่าความเสียหายที่เรียกเงินคืน 169.04 ล้านบาท
ข้อบกพร่องที่สำคัญ ที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ไม่ตรวจสอบค่า K /ตรวจสอบล่าช้า/คำนวณสูตรปรับราคาไม่ถูกต้อง จำนวน 184 หน่วย
2. พบความชำรุดบกพร่องในช่วงระยะเวลาประกันแต่ไม่แจ้งผู้รับจ้าง/ผู้ขาย จำนวน 181 หน่วย
3. ไม่นำสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) มาใช้กับสัญญาก่อสร้าง จำนวน 165 หน่วย
4. การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการที่กำหนด จำนวน 125 หน่วย
5. รายละเอียดสัญญาหรือข้อตกลง ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ไม่รัดกุม ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไม่เป็นไปตามกฎหมายระเบียบ จำนวน 124 หน่วย
ข้อเสนอแนะที่สำคัญที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งให้หน่วยรับตรวจ แก้ไขข้อบกพร่อง สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ให้กำชับผู้รับผิดชอบปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีแบบแผนการปฏิบัติราชการ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด จำนวน 426 หน่วย
2. ให้ดำเนินการเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐหรือหน่วยรับตรวจจำนวน 130 หน่วย
3. ให้นำสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) มาใช้กับสัญญาจ้างก่อสร้าง โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด จำนวน 123 หน่วย
4. ให้แจ้งผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขและซ่อมแซมให้สิ่งก่อสร้างอยู่ในสภาพปกติโดยเร็วจำนวน 123 หน่วย
5. ให้ตรวจสอบและเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าก่อสร้าง (ค่า K) ให้ถูกต้อง จำนวน 112 หน่วย
2.2 การตรวจสอบสืบสวน
เข้าตรวจสอบ 216 หน่วย รวม 239 เรื่อง พบข้อตรวจพบ 191 หน่วย รวม 208 เรื่อง พบมูลค่าความเสียหายที่เรียกเงินคืน 643.75 ล้านบาท
ข้อตรวจพบที่สำคัญ ที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต, เจ้าพนักงานหาประโยชน์ในหน้าที่การงาน, ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ราชการเสียหาย, หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบ จำนวน 61 เรื่อง
2. การจัดหา (ไม่มีรายงานความจำเป็นในการจัดหา, หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบ,วิธีการจัดหาไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ขอ, เงื่อนไขในการจัดหาไม่เหมาะสม, จัดซื้อจัดจ้างในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด, การดำเนินการจัดหาทำโดยไม่เปิดเผย, ไม่ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุ ฯลฯ)จำนวน 38 เรื่อง
3. เบิกจ่ายเงินไม่ถูกต้อง/ไม่เป็นไปตามกฎหมายระเบียบ จำนวน 36 เรื่อง
4. ปลอมแปลงเอกสาร/รับรองเอกสารอันเป็นเท็จ จำนวน 29 เรื่อง
5. ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯในการปฏิบัติงาน, แต่งตั้งคณะกรรมการฯไม่ถูกต้องตามระเบียบ, แต่งตั้งคณะกรรมการฯไม่เหมาะสม จำนวน 28 เรื่อง
ข้อเสนอแนะที่สำคัญที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งให้หน่วยรับตรวจแก้ไขข้อบกพร่องและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ จำนวน 133 เรื่อง
2. แจ้งให้ดำเนินการเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐหรือหน่วยรับตรวจจำนวน 98 เรื่อง
3. ให้ดำเนินการทางวินัย จำนวน 87 เรื่อง
4. ให้ดำเนินการทางวินัยร้ายแรง จำนวน 78 เรื่อง
5. แจ้งให้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องและควบคุมหรือกำกับมิให้เกิดข้อบกพร่องขึ้นอีก,แจ้งให้ผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามที่แบบรูปรายการที่กำหนด, แจ้งให้ผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขความชำรุดบกพร่องหรือความเสียหายของงานให้เรียบร้อย จำนวน 42 เรื่อง
2.3 การตรวจสอบการจัดเก็บรายได้
เข้าตรวจสอบ 412 หน่วยรวม 418 เรื่อง พบข้อบกพร่อง 387 หน่วย รวม 393 เรื่อง พบรายได้ที่ต้องจัดเก็บเพิ่ม 32.85 ล้านบาท
ข้อบกพร่องที่สำคัญ ที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. มิได้จัดทำแผนที่ภาษี ทะเบียนทรัพย์สิน รายละเอียดผู้ชำระภาษีฐานข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้หรือจัดทำไว้ไม่ถูกต้อง/ไม่ครบถ้วน/ไม่เป็นปัจจุบัน จำนวน 275 หน่วย
2. การจัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม และรายได้อื่น ๆ จัดเก็บไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้องไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือสัญญา จำนวน 154 หน่วย
3. ไม่ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลการจัดเก็บรายได้จำนวน 77 หน่วย
4. มิได้แจ้งการประเมินไปยังผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี หรือแจ้งการประเมินไม่ถูกต้องไม่ครบถ้วน, ไม่แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินค่ารายปี หรือแต่งตั้งแต่ไม่ปฏิบัติหน้าที่จำนวน 47 หน่วย
5. มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีหรือยื่นแบบแต่ระบุรายละเอียดไม่ถูกต้องไม่ครบถ้วน จำนวน 33 หน่วย
ข้อเสนอแนะที่สำคัญที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งให้หน่วยรับตรวจ แก้ไขข้อบกพร่อง สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ให้จัดทำและปรับปรุงฐานข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ แผนที่ภาษีทะเบียนทรัพย์สินรายละเอียดผู้ชำระภาษี ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน และนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์จำนวน 295 หน่วย
2. ให้จัดเก็บภาษี/รายได้/ค่าธรรมเนียม/ผลตอบแทน ให้ถูกต้องครบถ้วน/เป็นไปตามกฎหมายหรือสัญญา จำนวน 158 หน่วย
3. ให้ตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการให้มีการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วน จำนวน 47 หน่วย
4. ให้แจ้งประเมินไปยังผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีและประเมินภาษีให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด จำนวน 42 หน่วย
5. ให้จัดทำเป้าหมายการจัดเก็บภาษี/ประมาณการรายได้ที่จะจัดเก็บให้สอดคล้องกับฐานข้อมูล/สภาพข้อเท็จจริง จำนวน 23 หน่วย
2.4 การตรวจสอบเชิงป้องกัน
เข้าตรวจสอบ 695 หน่วย รวม 883 เรื่อง พบข้อบกพร่อง 577 หน่วย รวม 723 เรื่อง ประมาณการมูลค่าความเสียหายจากการดำเนินงานและความเสียหายที่ป้องกันได้536.31 ล้านบาท
ข้อบกพร่องที่สำคัญ ที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. การปฏิบัติเกี่ยวกับด้านการเงิน การบัญชี งบประมาณ การเบิกจ่าย ไม่ถูกต้อง/ไม่เป็นไปตามกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง จำนวน 103 เรื่อง
2. การคำนวณราคากลางไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลาง, เสนอราคา แตกต่างจากราคากลางตั้งแต่ร้อยละ 15 ขึ้นไป จำนวน 77 เรื่อง
3. โครงการมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่คุ้มค่าและไม่เกิดประโยชน์, จัดทำโครงการที่ซ้ำซ้อนและไม่มีความจำเป็น, การดำเนินงานมิใช่เป็นการให้ประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป จำนวน 73 เรื่อง
4. การกำหนดรายละเอียดในประกาศประกวดราคาฯ ไม่ถูกต้อง จำนวน 50 เรื่อง
5. มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ/หลักการบริหารจัดการที่ดี จำนวน 46 เรื่อง
ข้อเสนอแนะ ที่สำคัญที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งให้หน่วยรับตรวจแก้ไขข้อบกพร่อง สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ให้กำชับผู้รับผิดชอบปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีแบบแผนการปฏิบัติราชการ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด จำนวน 222 เรื่อง
2. ให้พิจารณาทบทวนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง/การประกาศ/การทำสัญญา/คุณลักษณะและราคาวัสดุที่จะจัดซื้อ ให้ถูกต้องตามระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องจำนวน 109 เรื่อง
3. ให้พิจารณาทบทวนการเสนอโครงการ/รูปแบบโครงการ/งบประมาณโครงการ/ระยะเวลาดำเนินงาน/ความเป็นไปได้/ความจำเป็น/ความเหมาะสม/ความคุ้มค่า/ผลกระทบของโครงการ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มีความคุ้มค่า เป็นไปตามกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องจำนวน 79 เรื่อง
4. ให้ตรวจสอบให้เป็นไปตามสัญญาและแบบรูปรายการ จำนวน 40 เรื่อง
5. ให้ทบทวนและกำกับการปฏิบัติด้านการเงิน การบัญชี การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายให้ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 35 เรื่อง
3. การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Performance Audit)
ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวม 96 หน่วย 57 เรื่อง/โครงการ พบข้อตรวจพบ รวม 96 หน่วย 57 เรื่อง/โครงการ แจ้งข้อเสนอแนะเพื่อให้หน่วยรับตรวจดำเนินการมิให้เกิดมูลค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงานรวม 4,763.90 ล้านบาท
โดยตรวจสอบด้านเกษตรกรรม 22 เรื่องด้านเศรษฐกิจ 9 เรื่องด้านสิ่งแวดล้อม 6 เรื่อง ด้านกฎหมาย 4 เรื่อง ด้านการท่องเที่ยว 4 เรื่อง ด้านทรัพยากรธรรมชาติ2 เรื่อง ด้านพลังงาน2 เรื่อง ด้านการศึกษา 2 เรื่องด้านคมนาคม 1 เรื่องด้านสาธารณูปโภค 1 เรื่องด้านสังคม 1 เรื่องและด้านอื่น ๆ 3 เรื่อง
ข้อตรวจพบที่สำคัญ ที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ด้านประสิทธิผล/ผลสัมฤทธิ์จำนวน 45 เรื่อง
2. ด้านประสิทธิภาพ/ความประหยัด จำนวน 41 เรื่อง
3. ด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย/ระเบียบ/ข้อบังคับ/มติคณะรัฐมนตรี/แบบแผนการปฏิบัติราชการ/หลักเกณฑ์จำนวน 39 เรื่อง
4. ด้านความคุ้มค่า จำนวน 29 เรื่อง
5. ด้านการควบคุมภายใน จำนวน 4 เรื่อง
ข้อเสนอแนะที่สำคัญที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งให้หน่วยรับตรวจเพิ่มผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งแก้ไขข้อบกพร่อง สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ให้กำชับผู้รับผิดชอบปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีแบบแผนการปฏิบัติราชการ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด จำนวน 32 เรื่อง
2. ให้มีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการ จำนวน 31 เรื่อง
3. ให้กำกับติดตามการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายโครงการที่ตั้งไว้จำนวน 29 เรื่อง
4. ให้ปฏิบัติหน้าที่/ดำเนินโครงการให้เป็นไปตามหลักวิชาการ/หลักการบริหารจัดการที่ดีจำนวน 29 เรื่อง
5. ให้ปรับปรุงแผนงานและขั้นตอนการดำเนินงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพ จำนวน 20 เรื่อง
สรุปสถิติจำนวนหน่วยรับตรวจที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเข้าตรวจสอบจำนวนหน่วยรับตรวจที่พบข้อบกพร่อง/ข้อสังเกตจำนวนผลผลิตการตรวจสอบ และมูลค่าความเสียหายเป็นตัวเงินที่พบ จำแนกตามประเภทหน่วยงานและลักษณะงานตรวจสอบ ตามตาราง ดังต่อไปนี้
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage