"...ครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อโควิด-9 นั้นอยู่ในกรุงจาการ์ตา ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของประเทศอินโดนีเซีย แต่สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่า ก็คือ พื้นที่ในชนบทของอินโดนีเซีย ยังไม่มีรายงานผู้ติดโควิด 19 เป็นจำนวนมาก ... แท้จริงแล้วสถานการณ์ในชนบท อาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าในเมืองหลวงก็เป็นได้..."
ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสในขณะนี้
ประเทศอินโดนีเซีย เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักในห่วงเวลานี้ โดยในแง่ตัวเลขผู้เสียชีวิต ปัจจุบันยอดทะลุ 2 พันศพไปแล้ว (ณ 15 มิ.ย.2563 ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 2,134 ศพ)
ล่าสุด สำนักข่าวแชนนอลนิวส์เอเชียของสิงคโปร์ ได้จัดทำรายงานข่าวเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย ระบุว่า ปัจจัยการเสียชีวิตของคนในประเทศอินโดนีเซีย ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากโรคโควิด-19 มีปัจจัยที่หลากหลายมาก ทั้งระบบสุขภาพที่ไม่มีคุณภาพและยังมีช่องว่างทางสังคม และสุขภาพที่ย่ำแย่อยู่แล้วของประชาชนส่วนใหญ่ในอินโดนีเซีย
ด้วยจำนวนอัตราของประชากรสูงอายุที่มีจำนวนมาก ผนวกกับผู้สูงอายุเหล่านั้นมีสุขภาพที่ย่ำแย่อยู่แล้ว จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อเรื่องนี้
แต่การสูบบุหรี่ในอัตราที่สูงของประชาชน ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน
โดย นายปันดู ริโอโน (Pandu Riono) นักระบาดวิทยาอินโดนีเซีย ออกเปิดเผยข้อมูลว่า นอกเหนือจากจำนวนผู้สูงอายุที่ป่วยอยู่จำนวนมากแล้ว ยังพบว่าประชาชนอินโดนีเซียจำนวนมากนั้นมีสุขภาพปอดที่ย่ำแย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากการสูบบุหรี่ด้วย
อ้างอิงรูปภาพจากเว็บไซต์ https://www.tribunnews.com/
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ย้อนไปถึงปี 2558 ว่า ประเทศอินโดนีเซียมีอัตราผู้สูบบุหรี่ต่อประชากรสูงที่สุดในโลก
โดยพบว่ามีผู้ชายถึง 75 เปอร์เซ็นต์เป็นนักสูบบุหรี่ตัวยง
นับตั้งแต่วันที่อินโดนีเซียมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิดรายแรกในกลางเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระยะเวลาไม่ถึง 10 วัน หลังจากที่นายโจโค วิโดโด้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้ประกาศว่าพบผู้ป่วย 2 รายแรกในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งก็หมายความว่าอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด -19 ในอินโดนีเซียนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยอัตราการเสียชีวิตนั้นจะอยู่ที่ 8-9 เปอร์เซ็นต์
ถ้าหากเอาข้อมูลมาเฉลี่ยกับจำนวนผู้ติดเชื้อในอินโดนีเซียก็หมายความว่าประเทศนี้มีอัตราการตายต่อการติดเชื้อสูงที่สุดในทวีปเอเชีย
ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์นั้นมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 6.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1 และ 1.7 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
ส่วนประเทศจีนมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 5.6 เปอร์เซ็นต์ ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2 และ 3 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
ข้อมูลจากธนาคารโลก ยังระบุด้วยว่า อินโดนีเซียมีเตียงแพทย์อยู่ที่ 1.2 เตียง ต่อประชากร 1,000 คน ขณะที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์มีเตียงแพทย์อยู่ที่ 1.9 เตียง และ 2.4 เตียง ต่อประชากร 1,000 คน ตามลำดับ
นายปันดู ยังกล่าวถึงข้อปัญหาของอินโดนีเซียที่เป็นสมการทำให้เกิดการติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ก็คือ การตอบสนองของทางการที่ล่าช้าในช่วงเริ่มต้นของการระบาด
ในช่วงต้นเดือน มี.ค. มีห้องแล็บแค่ 1 แห่งเท่านั้น ส่วนการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิดด้วยการเก็บสารคัดหลั่ง (ก้านสำลีแยงเข้าจมูก) ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ทราบผลได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อประสิทธิภาพของบุคลากรทางการแพทย์ในการวางแผนการรักษาผู้ป่วยด้วย
ซึ่งผลจากประสิทธิภาพในการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต่ำแล้ว สิ่งที่ตามมา ก็คือโรงพยาบาลในประเทศต้องพบกับสภาวะมีคนไข้เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วตามมา
โดยมีรายงานว่า มีนายแพทย์หลายคนทำงานหนักเกินขีดความสามารถในสภาวะที่ไม่มีชุดป้องกันการติดเชื้อ (ชุดPPE) ส่งผลทำให้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากกลายเป็นผู้ติดเชื้อเสียเอง
ซึ่งถ้าหากทางภาครัฐมีการตอบสนองที่เร็วต่อเหตุการณ์มากกว่านี้ และกำหนดให้โรงพยาบาลหลายแห่งสามารถรับมือกับโรคโควิด-19 ได้ ทรัพยากรมนุษย์ อุปกรณ์การแพทย์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ ได้รับการแจกจ่ายอย่างเหมาะสมที่สุดในโรงพยาบาล เตียงแพทย์ทั้งหมดที่มีถ้าหากมีการจัดการอย่างเหมาะสม อัตราการเสียชีวิตก็คงจะน้อยกว่านี้เช่นกัน
สอดคล้องกับความเห็นของ นางลีอา ปาร์ตาคูซุมา (Lia Partakusuma) เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลอินโดนีเซีย ที่ออกมาระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยในช่วงแรกมีอาการที่ไม่รุนแรง ไม่ได้รับการบริการด้านสุขภาพที่เหมาะสม จึงทำให้ร่างกายอ่อนแอลง
โดยครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อโควิด-9 นั้นอยู่ในกรุงจาการ์ตา ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของประเทศอินโดนีเซีย แต่สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่า ก็คือ พื้นที่ในชนบทของอินโดนีเซีย ยังไม่มีรายงานผู้ติดโควิด 19 เป็นจำนวนมาก
นางลีอา กล่าวย้ำว่า แท้จริงแล้วสถานการณ์ในชนบท อาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าในเมืองหลวงก็เป็นได้
การฝังศพผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิด 19 ที่อินโดนีเซีย (อ้างอิงรูปภาพจากจาการ์ตาโพสต์)
ปัญหาอีกประการที่สำคัญตามมาก็คือ จำนวนการตรวจหาเชื้อในประเทศอินโดนีเซียนั้น ก็อยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ถ้าเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย
โดยอินโดนีเซีย มีประชากรอยู่จำนวนถึง 260 ล้านคน แต่ในช่วงปลายเดือน เม.ย. กลับพบว่า มีการตรวจหาโรคโควิด- 19 ไปได้แค่ 55,000 ราย
ถ้าให้เปรียบเทียบแล้ว ประเทศมาเลเซียนั้นมีการตรวจอยู่ที่ 115,000 ราย จากจำนวนประชากร 32.6 ล้านคน และสิงคโปร์มีการตรวจอยู่ที่ 80,000 ราย ต่อประชากร 5.7 ล้านคน
จึงทำให้เชื่อได้ว่า ปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อโควิดที่ยังไม่ทราบข้อมูลอีกจำนวนมากในประเทศอินโดนีเซีย
ขณะที่ นาย จอห์น แมคอาเธอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ หรือซีดีซี สหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยระบุว่าการตรวจสอบเชื้อในประเทศอินโดนีเซียนั้นมีข้อจำกัด และมีเงื่อนไข ก็คือว่าจะต้องตรวจเฉพาะผู้ที่มีอาการหนักเท่านั้น
“นี่หมายความว่าจะนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น เพราะการไม่มีข้อมูลของผู้ที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการและแบบอาการไม่รุนแรงในอัตราที่ค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจจะกลายเป็นผู้แพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้”
เช่นเดียวกัน นายซูไบริ โจเออร์ยัน (Zubairi Djoerban) หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจด้านการยับยั้งโรคโควิด 19 สมาคมการแพทย์อินโดนีเซีย ที่ระบุว่าสถานการณ์ในช่วงเวลา เม.ย.ที่ผ่านมานั้นเปรียบเสมือนปลายของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น โดยสถานการณ์การระบาดในประเทศอินโดนีเซียนั้นน่าจะถึงจุดสุงสุดในเดือน มิ.ย. ซึ่งอินโดนีเซียน่าจะสามารถตรวจหาผู้ติดเชื้อไปได้ถึงประมาณ 106,000 ราย
เมื่อมีการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในจำนวนดังกล่าวแล้ว ก็จะทำให้อัตราผู้เสียชีวิตที่แท้จริงจากโรคโควิด-19 ในประเทศอินโดนีเซียเริ่มปรากฎเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นต่อสาธารณชนมากขึ้น
เรียบเรียงจาก: https://www.channelnewsasia.com/news/asia/covid-19-fatality-rate-highest-asia-indonesia-12669500
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage