"...ประกาศฉบับนี้กำหนดให้การขอใช้ ‘เงินทุนสำรองจ่าย’ ให้กระทำได้ใน 4 กรณี คือ 1.เป็นรายจ่ายเพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ 2.เป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง..."
จนถึงขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่าวิกฤติการณ์ ‘โควิด-19’ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยและโลกต่างอยู่ในอาการโคม่า จะคลี่คลายลงเมื่อใดแน่
แต่สำหรับเศรษฐกิจไทยยามนี้ จะพบว่า ‘เครื่องยนต์’ เพียงตัวเดียวที่ทำหน้าที่ ‘พยุง’ เศรษฐกิจไม่ให้ดิ่งลึก ท่ามกลางการส่งออกที่ย่ำแย่ นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นศูนย์ การลงทุนเอกชนและการบริโภคเอกชนหดหาย นั่นก็คือ ‘การใช้จ่ายของภาครัฐ’ ผ่านทั้งเงินงบประมาณประจำปี และพ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท
“เดือนเม.ย.เป็นเดือนที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบชัดเจนจากโควิด ซึ่งเราจะเห็นได้เครื่องยนต์เศรษฐกิจเกือบทุกเครื่องยนต์หดตัว ส่วนที่ยังขยายตัวได้มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐเท่านั้น” ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนเม.ย.2563 เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา
สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่า “การแพร่ระบาดในต่างประเทศ ยังทำให้เศรษฐกิจไทยต้องหันกลับมาพึ่งพิงตลาดในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยมาตรการภาครัฐที่กำลังดำเนินการอยู่จะช่วยประคับประคองการดำรงชีพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้สามารถผ่านวิกฤตินี้ไปได้”
อย่างไรก็ตาม ภายใต้มาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 กำหนดมีเงินทุนก้อนหนึ่งเรียกว่า ‘เงินทุนสํารองจ่าย’ จำนวน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในกรณีที่มีความจําเป็นและเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดิน และงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น มี 'ไม่เพียงพอ'
และปีนี้งบฯ 2563 นี้ นับเป็นปีงบประมาณแรก ที่รัฐบาลได้นำร่องเบิก ‘เงินทุนสำรองจ่าย’ มาใช้จ่ายแล้ว โดยนำไปใช้จ่ายในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณออกประกาศ ‘วิธีปฏิบัติในการใช้เงินทุนสำรองจ่ายตามมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561’ เพื่อให้การใช้เงินทุนสำรองจ่ายเป็นไปตามความมุ่งหมายแห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2563
เริ่มจากข้อกำหนดให้การขอใช้ ‘เงินทุนสำรองจ่าย’ ประกาศฉบับนี้ กำหนดให้กระทำได้ใน 4 กรณี คือ
1.เป็นรายจ่ายเพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ
2.เป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง
3.เป็นรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว แต่มีจำนวนไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว
4.เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการและต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว
ทั้งนี้ หน่วยรับงบประมาณจะขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย ได้แต่เฉพาะกรณีที่หน่วยรับงบประมาณได้ตรวจสอบแน่ชัดแล้วว่าไม่สามารถนำงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณมาใช้จ่ายได้หรือนำมาใช้จ่ายได้แต่มีจำนวนไม่เพียงพอ
ส่วนการขอใช้เงินทุนสำรองจ่ายให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียด ดังนี้
1.คำชี้แจงเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นในการขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย
2.วัตถุประสงค์ของการขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย
3.แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเป็นรายเดือน
4.สำนักงานที่จะดำเนินการเบิกจ่าย
5.รายละเอียดประกอบการพิจารณาตามที่สำนักงบประมาณกำหนด เช่น คุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ แบบรูปรายการและประมาณการราคาที่ดิน หรือสิ่งก่อสร้าง อัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดโดยกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นตัน
ขณะที่ขั้นตอนการเสนอขอใช้เงินทุนสำรองจ่ายนั้น ให้หน่วยรับงบประมาณที่จะขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย เสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล แล้วแต่กรณี พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งคำขอให้สำนักงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม กรณีที่หน่วยรับงบประมาณขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามขั้นตอนของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นแล้ว
แต่ปรากฏว่างบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นมีไม่เพียงพอ และสมควรให้ใช้จ่ายจากเงินทุนสำรองจ่าย ให้ถือว่าคำขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นนั้น เป็นคำขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย
จากนั้นให้สำนักงบประมาณรวบรวมรายการและวงเงินที่หน่วยรับงบประมาณขอใช้จากเงินทุนสำรองจ่ายโดยจะพิจารณาความเหมาะสของวงเงินที่จะใช้จ่ายเสนอต่อนายกรัฐนตรี เพื่อให้ครม.พิจารณาอนุมัติ และเมื่อครม.อนุมัติแล้วสำนักงบประมาณจะจัดสรรเงินทุนสำรองจ่ายไปยังสำนักงานที่จะดำเนินการเบิกจ่าย
นอกจากนี้ กรณีมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรายการหรือการเพิ่มวงเงินเกินวงเงินที่ครม.อนุมัติ ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยต้องส่งรายละเอียดอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้สำนักงบประมาณพิจารณาเพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของครม.ด้วย
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แถลงหลังการประชุมครม. เมื่อวันที่ 12 พ.ค.63 ขอบคุณภาพ : ทำเนียบรัฐบาล)
ส่วนการรายงานผลการใช้เงินฯนั้น เมื่อหน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายเงินทุนสำรองจ่ายบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้รับอนุมัติแล้วหรือดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วมีเงินเหลือจ่ายให้แจ้งสำนักงบประมาณภายใน 50 วัน นับแต่วันที่ทราบยอดเงินเหลือจ่าย
พร้อมทั้งให้หน่วยรับงบประมาณที่ได้รับอนุมัติเงินทุนสำรองจ่าย รายงานผลการดำเนินการตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายต่อสำนักงบประมาณภายใน 50 วันนับแต่วันสิ้นไตรมาสและวันที่การใช้จ่ายแล้วเสร็จ เพื่อสำนักงบประมาณรายงานผลต่อครม.ต่อไป
ทั้งนี้ ให้หน่วยรับงบประมาณเบิกจ่ายเงินทุนสำรองจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2563
เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้เบิก ‘เงินทุนสำรองจ่าย’ ไปแล้ว 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
ส่วนวงเงินที่เหลืออยู่อีก 2.5 หมื่นล้านบาท คงไม่ต้องใช้แล้ว เพราะรัฐบาลสามารถเบิกจ่ายได้จากพ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท และพ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ ซึ่งโอนงบจากส่วนราชการต่างๆ 8.8 หมื่นล้านบาท ไปตั้งเป็นงบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็นเพิ่มเติม ในปีงบประมาณ 2563
“กรณีที่งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น มีไม่เพียงพอ ก็สามารถมาเบิก ‘เงินทุนสำรองจ่าย’ ได้ ซึ่งตอนนั้นที่กระทรวงการคลังขอเงิน 2.5 หมื่นล้านบาทเข้ามา เพราะงบกลางฯมีไม่ถึงแล้ว จึงต้องใช้เงินทุนสำรองจ่ายส่วนนี้ แต่จากนี้ไปถ้าเป็นการของบไปดูแลโควิด ก็ให้ไปใช้เงินกู้หรืองบกลางฯที่ได้จากพ.ร.บ.โอนงบ” เดชาภิวัฒน์ระบุ
ส่วนการตั้งงบประมาณชดเชย ‘เงินทุนสำรองจ่าย’ ที่ใช้ไป 2.5 หมื่นล้านบาทนั้น เดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า จะมีการตั้งคืนงบในปีงบประมาณ 2565 เพราะในปีงบ 64 ไม่มีการตั้งงบรองรับไว้
ในขณะที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชิมลางเบิก ‘เงินทุนสำรองจ่าย’ มาใช้จ่ายในการเยียวยาผลกระทบโควิด นอกเหนือจากการใช้งบประมาณปกติและพ.ร.ก.เงินกู้ฯ แต่จากนี้ไปคงต้องติดตามว่ารัฐบาลจะงัด ‘กระสุนสำรอง’ ก้อนนี้ ออกมาใช้อีกหรือไม่ และใช้จ่ายเพื่อจุดประสงค์ใด
โดยเฉพาะนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ที่หลายฝ่ายมีข้อห่วงใย นั่นก็คือการ 'เปิดช่อง' ให้นำเงินทุนสำรองจ่ายไปใช้ “เป็นรายจ่ายเพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ”
ที่สำคัญรัฐบาลไม่ต้องรายงานให้สภาฯหรือประชาชนทราบรายละเอียดการใช้เงินก้อนนี้แต่อย่างใด
อ่านประกอบ :
เศรษฐกิจเม.ย.หดแรง! ธปท.ห่วงตกงานพุ่ง-ทุนไทยขนเงินกลับปท.เดือนเดียว 2.2 แสนล้าน
เช็กกระสุนฟื้นโควิด ‘บิ๊กตู่’ เหลือ 'เงินกู้-งบกลาง' ในมือ 4 แสนล้าน-จับตาพายุหนี้ 19 ล้านล.
สศช.ลดเป้าจีดีพีปี 63 เป็นติดลบ 5-6% ชี้เงินกู้ 1 ล้านล.แค่ประคองเศรษฐกิจ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/