"...ส่วนการพิจารณาผ่อนคลายกิจการกิจกรรมในระยะที่ 3 นายกรัฐมนตรี สั่งการว่าให้ทำบนพื้นฐานของการให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การเดินทางข้ามจังหวัด การส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงมาตรการป้องกันโรคทางสาธารณสุขส่วนกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงให้ผ่อนคลายในระยะที่ 4..."
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเตรียมเสนอให้ที่ประชุม ศบค. พิจารณามาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 ในวันที่ 29 พ.ค.
พล.สมศักดิ์ ระบุว่า ที่ประชุม ศบค.จะได้ผลสรุปชัดเจนเกี่ยวกับกิจกรรมและกิจการที่ได้รับการผ่อนคลาย อาทิ กิจกรรมในห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ นวดแผนโบราณ ที่ต้องมีการปรับรูปแบบการให้บริการ รวมถึงผ่อนคลายการเดินทางข้ามจังหวัด ในส่วนนี้รวมถึงการลดเวลาเคอร์ฟิวลง 1 ชั่วโมง
(พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สมช.)
ก่อนที่ประชุม ศบค.จะมีมติอย่างเป็นทางการ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ย้อนดูผลการประชุม ศบค.สัปดาห์ก่อน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุผลที่การผ่อนคลายระยะที่ 3 และ ลดเวลาเคอร์ฟิวที่น่าสนใจ ดังนี้
ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) โดยกองบัญชาการกองทัพไทย รายงานว่าตั้งแต่วันที่ 3-21 พ.ค. ได้จัดชุดลงพื้นที่ตรวจกิจการและกิจกรรม 300,000 แห่ง พบว่ามีการรักษามาตรฐานได้ดี ส่วนผู้ปฏิบัติไม่ครบตามมาตรการมีจำนวนน้อย
ส่วนมาตรการ ห้ามออกนอกเคหสถาน และห้ามรวมกลุ่มชุมนุมมั่วสุม โดยตรวจประชาชนแล้ว 1 ล้านคน จับกุมดำเนินคดีสะสม 18,000 คดี การจับกุมส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่เสี่ยง และเส้นทางรองมากกว่าเส้นทางหลัก แต่ภายหลังขยายเวลาการใช้เคอร์ฟิว พบการดำเนินคดีเฉลี่ย 362 คดีต่อวัน ลดลงจากเดิม 45%
“ทั้งนี้เห็นควรขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากยังพบผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถานในห้วงเวลาเคอร์ฟิว และการรวมกลุ่มชุมนุมมั่วสุมเกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค นอกจากนี้การขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังเอื้อประโยชน์ในการตรวจสอบกิจการ กิจกรรม เพื่อควบคุมผู้ประกอบการและผู้รับบริการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข” รายงาน ศปม. ระบุ
(พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้า ศปม.)
ด้านศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน โดยกระทรวงมหาดไทย รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.- 21 พ.ค. มีคนไทยเดินทางกลับประเทศ 13,227 คน และพ้นระยะการกักตัว 14 วันแล้ว 8,892 คน อยู่ระหว่างการกักตัว 4,335 คน ส่วนการทำ Local Quarantine และ Home Quarantine ยังดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ กรุงเทพมหานคร รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 4-20 พ.ค. ลงพื้นที่สุ่มตรวจความเรียบร้อย 30,000 แห่ง พบผู้กระทำความผิด 66 ครั้ง โดยกิจกรรมที่ละเมิดการผ่อนปรนมากที่สุดคือ ร้านอาหาร
ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดแนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดสถานศึกษา 4 เรื่อง
1.เด็กปฐมวัยถึงอนุบาล 3 ให้ปรับสัดส่วนครูผู้สอนต่อจำนวนนักเรียน จากเดิมใช้อัตราเด็ก 20 คนต่อ ครู 1 คน ปรับเป็น เด็ก 7 คนต่อครู 1 คน
2.กำหนดให้โรงเรียนจัดการเรียนเป็นผลัด ให้มีนักเรียนห้องละไม่เกิน 20 คน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคของสาธารณสุข
3.กำหนดให้โรงเรียนนานาชาติเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 มิ.ย.และให้เป็นต้นแบบสำหรับการทดลองเปิดสถานศึกษาประเภทอื่น เนื่องจากโรงเรียนนานาชาติ มีความพร้อมด้านการสอนในระบบออนไลน์ , การจัดสัดส่วนนักเรียนต่อห้องเรียน และสามารถจัดการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับระบบออนไลน์และระบบปกติ
4.กำหนดให้โรงเรียนประจำเปิดในวันที่ 1 มิ.ย. เพื่อให้ทำการกักตัวเองที่หอพัก 14 วัน ก่อนเริ่มการเรียนการสอน 15 มิ.ย.
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.)
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสร้างความรับรู้กับประชาชน และให้ใช้มาตรการทางสังคมในการเฝ้าระวัง และตรวจตราผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถานในห้วงเวลาเคอร์ฟิว การรวมกลุ่มชุมนุมมั่วสุม และให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ส่วนการพิจารณาผ่อนคลายกิจการกิจกรรม ในระยะที่ 3 นายกรัฐมนตรี สั่งการว่าให้ทำบนพื้นฐานการให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การเดินทางข้ามจังหวัด การส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงมาตรการป้องกันโรคทางสาธารณสุข เช่น ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง (fit to fly health certificate) สำหรับการเดินทางอากาศในประเทศ ส่วนกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงให้ผ่อนคลายในระยะที่ 4
ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การพิจารณามาตรการผ่อนคลายเกี่ยวกับกิจการด้านขนส่ง การกระจายสินค้าและบริการ การท่องเที่ยว โรงแรม และสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระจายรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
ทั้งหมดเป็นสาระการประชุมของ ศบค. ซึ่งเป็นการประเมินจากสถานการณ์เมื่อสัปดาห์ก่อน ส่วนการารผ่อนคลายกิจกรรมระยะที่ 3 ที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามการประชุมในวันพรุ่งนี้อย่างใกล้ชิด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/